ลาวกับไทยในกระจกสะท้อน

by ภู @22 ม.ค.49 11.46 ( IP : 61...16 ) | Tags : กระดานข่าว

ลาวกับไทยในกระจกสะท้อน
บนแผ่นดิน จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีความพิเศษอย่างมาก มีเขตพรมแดนที่เชื่อมต่อระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านถึงสามจุด คือที่อำเภอแม่สายซึ่งเชื่อมต่อกับจังหวัดท่าขี้เหล็กของสหภาพพม่า อำเภอเชียงแสน(จุดที่แม่น้ำรวกไหลบรรจบกับแม่น้ำโขง กลายเป็นสามเหลี่ยมทองคำ)ซึ่งเชื่อมต่อกับสหภาพพม่าและเมืองต้นผึ้งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และอำเภอเชียงของซึ่งเชื่อมต่อกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้วยลักษณะทางภูมิประเทศที่พิเศษนี้ ทำให้จังหวัดซึ่งอยู่เหนือสุดของไทย ได้ถูกเลือกให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนนำร่องเป็นแห่งแรก เป็นฐานเศรษฐกิจในแนวเหนือ-ใต้ ที่มุ่งพัฒนาการค้าเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ระหว่างประเทศไทยกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(Greater Mekong Sub-region :GMS) โดยมีแผนพัฒนาในทั้ง 3 จุดดังรูป


ในสายน้ำ ลำน้ำโขงซึ่งมีต้นกำเนิดจากหิมะที่ละลายบนที่ราบสูงธิเบต บริเวณเทือกเขาตังกุลา ในมณฑลฉิงไห่ ของประเทศจีน กลายเป็นแม่น้ำสายสำคัญ ด้วยเหตุเพราะไหลผ่านประเทศต่างๆ ถึง 6 ประเทศ(จีน,พม่า,ลาว,ไทย,กัมพูชา,เวียดนาม) คิดเป็นระยะทางกว่า 4,880 กิโลเมตร โดยในระหว่างทางที่สายน้ำไหลผ่านนั้น ลำน้ำโขงยังกลายเป็นแหล่งประมงสำคัญ และถูกใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เส้นทางคมนาคม ให้กับผู้คนไม่น้อยกว่า 60 ล้านคน บริเวณริมฝั่ง และที่อาศัยอยู่เรียงรายตามลุ่มน้ำสาขา

นักวาดแผนที่ในยุคล่าอาณานิคม ขีดเส้นปากกาเป็นลำน้ำโขง กั้นแบ่งไทย-ลาวออกจากกัน โดยในต้นศตวรรษที่ 19 นั้น ประเทศลาวยังไม่เคยปรากฏขึ้นด้วยซ้ำ มีก็แต่รัฐเล็กรัฐน้อยที่อยู่กันในแบบแผนที่ยุ่งเหยิง และบางรัฐก็มีเจ้าอธิราชซึ่งต้องส่งเครื่องบรรณาการให้มากกว่าหนึ่ง เพื่อความสงบสุข และให้คานอำนาจกันเองระหว่างกลุ่มหัวเมืองที่เข้มแข็ง(เรียกรัฐเล็กๆ ในลาวเช่นนี้ว่า เมืองสองฝ่ายฟ้า-สามฝ่ายฟ้า)

การไม่สามารถรวมตัวกันได้ของลาว แม้จนกระทั่งยุคล่าอาณานิคมแพร่อิทธิพลมาถึง ทำให้ประเทศฝรั่งเศสฉวยโอกาสสถาปนาระบอบอาณานิคมในลาวขึ้นระหว่างปี 1885-1899 โดยอาศัยกำลังและการแอบอ้างอย่างคลุมเครือถึงการเป็นเจ้าอธิราชของเวียดนาม(ในอาณานิคมของฝรั่งเศส) เหนือดินแดนบางส่วนของลาวในอดีต จึงทำให้ไทยกับลาว(หรือไม่ก็ลาวกับคนอีสานของไทย) แยกออกจากกันนับแต่บัดนั้น

ด้วยขนาดความกว้างของลำน้ำโขงในระยะที่หนุ่มไทยฝั่งเชียงของยังสามารถแลเห็นแม่หญิงลาวฝั่งห้วยทรายทรายสลัดผ้าถุงอาบน้ำได้ หากด้วยระยะห่างเท่านั้นเองที่ว่ากันว่าเมื่อข้ามจากฝั่งไทยไปยังฝั่งลาว จะทำให้ได้เห็นสภาพชนบทของไทยในยุคสมัย 20-30 ปีก่อน ด้วยขนาดความห่างเท่ากับช่วงกว้างของแม่น้ำสายเดียว ฝรั่งเศสทำให้การพัฒนาของลาวล้าหลังจากไทยถึงเพียงนั้น นั่นจนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ “ทุกเส้นทางต่างมุ่งไปสู่จีน”

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายใต้บทบาทประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีอาณาเขตติดกับประเทศไทย ถูกเรียกขานอย่างเป็นกันเองในฐานะมีลักษณะร่วมใกล้เคียงกันทั้งภาษา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ว่า “บ้านพี่เมืองน้อง” แม้ลำดับกันเหมือนญาติ แต่รัฐไทยที่ตกอยู่ภายใต้อวิชชาของแผนที่ก็ไม่เคยให้ความใส่ใจลาวมากไปกว่าทรัพยากรที่พวกเขามี ทั้งคนไทยโดยส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกด้วยว่าเมืองไทยเป็นเมืองพี่ เมืองลาวเป็นเมืองน้อง แทนที่จะรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน เช่นที่คนลาวกับคนอีสานรู้สึกต่อกัน

สถานการณ์ชายแดนไทย-ลาวคลี่คลายลงจากการสู้รบ(ที่ถูกขีดทับเขตแดนเดิมด้วยความเชื่อ 2ลัทธิ คือประชาธิปไตย กับ คอมมิวนิสต์)ภายหลัง พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ในทศวรรษ 1990 แต่ด้วยฝั่งประเทศลาวยังไม่มีศักยภาพที่จะผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้เองมากนัก สินค้าบริโภคส่วนใหญ่ในลาวจึงได้มาจาก 2 ฝั่งชายแดน คือฝั่งไทยกับฝั่งจีน

จุดเด่นของสินค้าจากฝั่งไทยก็คือเครื่องอุปโภค-บริโภคที่มีคุณภาพ ขณะที่จุดเด่นของสินค้าจากฝั่งจีนก็คือสินค้ามีราคาถูก เหมาะกับผู้ที่มีกำลังซื้อต่ำ หากว่าในความเย้ายวนของธุรกิจการค้านั้น กำลังซื้อของลาวซึ่งมีประชากรเพียง 5 ล้านคนเศษ กับค่าเงินกีบที่ต่ำเสียจนรัฐบาลลาวต้องรณรงค์ให้ประชาชนถือเงินสกุลตัวเอง (เพราะประชาชนส่วนใหญ่พอใจที่จะถือเงินบาท เงินยูโร หรือเงินสกุลดอลล่าร์มากกว่า)ก็ทำให้บทบาทของลาวกำลังจะเหลือเพียงเส้นทางที่กั้นระหว่างการค้าของจีนกับไทย

หลักฐานสำคัญคือต้นทางและปลายทาง 4 เส้น ในแผนภาพ ซึ่งลาวได้ทั้งเงินให้เปล่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จากไทย(รวมไม่น้อยกว่า 2,635 ล้านบาท) จีน และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB) เพื่อการพัฒนาเส้นทางคมนาคม และอาจทำให้ลาวรู้สึกว่ากำลังได้รับความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาประเทศอย่างจริงใจจากทุกฝ่าย

ความจริง ด้วยประสบการณ์แบบเดียวกันนี้ ประเทศซึ่งไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมอย่างไทยซาบซึ้งดีนับแต่ยุคเพิ่งแยกประเทศกับลาว ว่าในการรับความช่วยเหลือทางด้านพัฒนาโครงข่ายคมนาคมนั้น ต่อไปลาวจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง

ย้อนไปปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ของไทย การพยายามที่จะรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคม ทำให้ประเทศไทย(หรือสยามในขณะนั้น) จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาหลายด้านเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจนั้น ได้มีการสร้างทางคมนาคม เช่น ทางรถไฟ ถนน และคลอง การไปรษณีย์สื่อสาร ปรับปรุงการคลัง ปรับปรุงเงินตรา พร้อมกับการปฏิรูปประเพณีตลอดถึงการศึกษา ด้วยการจัดตั้งโรงเรียน และส่งลูกท่านหลานเธอไปศึกษายังต่างประเทศ

ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศอย่างมโหฬารเช่นนั้น เป็นเหตุผลสำคัญให้ชนชั้นปกครองของไทยในสมัยนั้น ต้องเจรจาขอกู้เงินจากต่างประเทศเป็นการใหญ่ อาทิ พ.ศ.2448 กู้เงิน 1 ล้านปอนด์จากลอนดอนและปารีสแห่งละครึ่ง, พ.ศ.2450 กู้เงิน 3 ล้านปอนด์ ครึ่งหนึ่งจากเบอร์ลิน อีกครึ่งหนึ่งจากลอนดอนและปารีส,พ.ศ.2452 กู้เงิน 4 ล้าน 6 แสน 3 หมื่นปอนด์ จากมลายู รวมเป็นจำนวนเงิน 8,630,000 ปอนด์ ที่ไทยตกเป็นลูกหนี้เจ้าจักรพรรดินิยม

แม้มองผิวเผินจะเห็นถึงความแยบยลของชนชั้นปกครองไทย ที่ไม่ยอมตกเป็นลูกหนี้เจ้าอาณานิคมใดหนึ่งเพียงแห่งเดียว คล้ายกับรูปแบบเมืองหลายฝ่ายฟ้าในลักษณะกลับด้าน และสิ่งที่ได้มาก็คือ ทางรถไฟระยะทาง 932 กิโลเมตร ที่สร้างเสร็จในเวลาเพียงสิบปี กับระบบชลประทาน และการปรับปรุงเงินตรา อันจะนำสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนในภายภาคหน้า

แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ

“การแสวงหาทุนต่างประเทศเพื่อสถาปนาวิสาหกิจของสยาม ผลที่สุดไม่สามารถนำประโยชน์อันแท้จริงแก่สยามได้ ตรงกันข้ามเนื่องด้วยทุนต่างประเทศ สยามจึงได้ก้าวไปสู่ทางแห่งการเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้น สยามเพื่อจะสร้างทางรถไฟ การประปาและไฟฟ้า ได้กู้เงินจากอังกฤษถึง 5 ครั้ง จำนวนทั้งหมดประมาณ 9 ล้านปอนด์ ส่วนเงื่อนไขในการกู้ยืมนั้นเล่า แน่นอน สยามต้องยินยอมให้ทรัพยากรทั่วไปเป็นการแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงได้สิทธิ์ในการตัดโค่นไม้สัก สิทธิ์ในการผูกขาดเหมืองแร่ดีบุก สิทธิ์ในการควบคุมการผลิตยางพารา และอาศัยทุนเข้าครอบงำการผลิตปูนซีเมนต์ การเดินรถไฟ การเดินเรือ ธนาคาร และประกันภัยเป็นต้น ฝรั่งเศสก็ได้สิทธิ์ในการขุดทองคำและเปิดธนาคาร เดนมาร์กหนักไปทางไฟฟ้า เบลเยี่ยมหนักไปทางเรือและป่าไม้ ส่วนจีนก็แทรกเข้าทุกอย่าง ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีแง่ที่ได้เปรียบ”(แปลจากหนังสือ “Siam” ของ Shine you yong)

กล่าวสำหรับประเทศลาวในสมัยปัจจุบัน อันมีรายได้ร้อยละ 80 ของประเทศมาจากการขายไฟฟ้า “เขื่อน”กลายเป็นเครื่องหมายของรายได้ และเป็นเข็มทิศที่จะนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจแบบทุนนิยม ลำน้ำสาขาของลำน้ำโขงทั้ง น้ำเทิน แควที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในลำน้ำโขง ลำเซกามาน เซกอง จึงเต็มไปด้วยโครงการสร้างเขื่อนเพื่อขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย (ที่การไฟฟ้ากำลังพยายามแต่งตัวเพื่อเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้น สร้างความร่ำรวยอย่างเบ็ดเสร็จให้กับนักการเมือง) เช่นเขื่อนน้ำเทิน 1 น้ำเทินหินบูน น้ำเทิน 2 เซกามาน 1,2,3 และ4 เป็นต้น

เขื่อนทั้งหลายที่ผุดขึ้น นอกจากผลกำไรที่นักการเมืองฝั่งไทยและลาวจะได้รับแล้ว ผลกระทบของเขื่อนน้ำเทิน 2 ได้ทำลายพื้นที่ป่าไม้บนเขตที่ราบสูงนากาย ซึ่งได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์กว่า 17 ชนิด และในการต้องอพยพประชาชนกว่า 5,000 คนออกจากพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำ ยังทำให้นักมานุษยวิทยาออกมาระบุด้วยว่า พบชนพื้นเมืองซึ่งใช้ภาษาที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อนปะปนอยู่ด้วย

เขื่อนมากมายซึ่งกั้นลำน้ำโขง ทั้งที่อยู่ในประเทศลาว และเหนือขึ้นไปในเขตประเทศจีนอีกกว่า 8 เขื่อน ซึ่งรวมถึงเขื่อนเชี่ยววาน ขนาดความสูงของสันเขื่อนที่สุดในโลก 248 เมตรเข้าไปด้วยนั้น ได้ทำให้ระบบนิเวศตลอดลำน้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ชาวบ้านในเขต อ.เชียงของ จ.เชียงราย พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลง น้ำขุ่น และการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไป ความเสียหายฉับพลันที่เกิดขึ้นคือ ปริมาณไกหรือสาหร่ายน้ำจืด พืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน ซึ่งปกติต้องการน้ำสะอาดและไหลอย่างสม่ำเสมอ ได้ลดลงอย่างมาก

เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการโครงการนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า(TERRA)ซึ่งจับตามองความเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำโขงมากว่า 10 ปี ระบุว่า การพัฒนาของลาว คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของแนวคิดที่จะเปิดเศรษฐกิจแบบตลาด หรือทุนนิยมของประเทศในละแวกนี้ ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกผลักดันจากหน่วยงานข้ามชาติ ที่มีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสุดโต่ง เช่นธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือADB หน่วยงานเหล่านี้จะเข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนและเทคโนโลยีในการสร้างเขื่อน โดยชูความมั่งคั่งผ่านการขายกระแสไฟฟ้า

“ประเทศอย่างลาวถึงมีความคิดว่าจะต้องขายพลังงานให้กับไทย ก็ต้องสร้างเขื่อน เวียดนามเองก็พยายามเลียนแบบแนวคิดทั้งชุด โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศทุนนิยมอื่นๆ เช่น สวีเดน ยุโรป อเมริกา ที่เข้ามาเสนอแผนแม่บทในการสร้างเขื่อน เพื่อที่จะทำให้เกิดการลงทุน ทำให้อุตสาหกรรมบูมขึ้นมา จีนก็กำหนดให้ยูนนานเป็นเขตเศรษฐกิจ ซึ่งต้องการขายไฟฟ้าให้ไทยเช่นเดียวกัน”

นอกจากผลกระทบในลำน้ำโขงอันเกิดจากการสร้างเขื่อนแล้ว การลงนามร่วมกันของรัฐบาล 4 ชาติ คือ จีน พม่า ไทย และลาว ว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงร่วมกัน ตั้งแต่ 20 เมษายน 1997 ก็ยังส่งผลให้มีการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำไล่ตั้งแต่บริเวณแม่น้ำลานซางพรมแดนจีน-พม่า ไปจนถึงหลวงพระบางในประเทศลาว รวมระยะทาง 886 กิโลเมตร เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าและเรือท่องเที่ยวขนาด 300-400 ตันสามารถแล่นผ่านได้สะดวกเกือบตลอดปีภายในปี 2007 จากที่เคยมีเรือเล็กขนาด 100 ตันสามารถแล่นผ่านได้สะดวกในฤดูน้ำหลากเท่านั้น ช่วยเสริมส่งให้ลำน้ำโขงและชาวบ้านรายรอบกว่า 60 ล้านคน ต้องประสบกับวิกฤติรวดเร็วขึ้น

กล่าวสำหรับการรุกคืบในทางบก ในฐานะที่ลาวยังมีความสำคัญเพียงพรมแดนที่กั้นระหว่างจีนกับไทยเอาไว้นั้น การอพยพเข้ามาตั้งตลาดจีนขึ้นในฝั่งเมืองห้วยทรายของลาวด้านที่ติดกับไทย และได้รับการอะลุ้มอล่วยจากรัฐบาลลาวให้อยู่ต่อไปได้นั้น ย่อมเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดอันสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของการที่จีนเป็นเจ้าหนี้ เช่นเดียวกับที่ไทยจะได้ทางคมนาคมสู่จีน และไฟฟ้า ส่วนปลาและผู้คนทุกข์ยากริมฝั่งโขงนั้น จัดเป็นส่วนเกินของการพัฒนาที่ต้องแสวงหาวิธีการปรับตัวเพื่อจะอยู่รอดในกระแสทุนนิยมกันเอาเอง

เมื่อกระแสการพัฒนาก้าวเข้าสู่ทุนนิยมเต็มรูปแบบ หมู่ลาวเทิน(ลาวสูง)ซึ่งรัฐบาลย้ายได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่ริมตะเข็บชายแดนไทยจำนวนมาก จะต้องผันเปลี่ยนตัวเองเป็นชนชั้นแรงงานที่มีเงินเป็นเฟืองจักรในการขับเคลื่อน ระบอบสังคมนิยมในลาวก็จะเปลี่ยนแปรไปสู่การกำเนิดขึ้นของชนชั้นนายทุน ชนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงานฝ่ายผลิต อย่างไรก็ตาม ไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลลาวกับไทย หรือจีน หรือออสเตรเลีย จะเอื้ออาทรต่อกันอย่างแท้จริงนอกกรอบของผลประโยชน์ที่กลุ่มตนจะได้รับ

เช่นนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า ยุคล่าอาณานิคมใหม่กำลังเกิดขึ้นติดชายแดนของไทยนี้เอง โดยที่ประเทศเจ้าอาณานิคมแท้จริงอย่างจีน ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าเราล้วนใช้แม่น้ำสายเดียวกัน ต่างเพียงว่าใครอยู่ต้นน้ำหรือปลายน้ำ

ประเทศไทย โดยรัฐบาลปัจจุบัน แม้จะรู้ว่าในการร่วมจับมือแสวงประโยชน์กับจีนในครั้งนี้ มีหลายอย่างที่เราจะต้องสูญเสีย และมีหลายอย่างที่เราควรช่วยตั้งข้อสังเกตให้ลาวได้เฉลียวใจ ในฐานะที่ยุคหนึ่งเราต่างไม่เคยถูกแบ่งแยกต่อกันโดยเผ่าพันธุ์อื่น(คอเคซอยด์)ที่ไม่ใช่เผ่าพันธุ์อุษาคเนย์ด้วยกันเอง แต่นับถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าลัทธิทุนนิยม ได้แบ่งแยกเราจากกันอย่างเด็ดขาดและเห็นแก่ตัวยิ่งนัก โดยกลุ่มอภิมหาทุนเรียบร้อยแล้ว

อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ข้ามลำน้ำโขงไป นอกจากเราจะไม่ได้เห็นบ้านและต้นไม้ฉาบฝุ่น หมูบ้านที่วิ่งไปมาสองฟากถนน ชีวิตเรียบง่ายที่บางหมู่บ้านสานหญ้าคามุงหลังคา บางหมู่บ้านผลิตไม้กวาด บางหมู่บ้านทำกระดาษจากเยื่อไม้ไผ่ริมธารน้ำ..

เรายังอาจไม่ได้เห็นรอยยิ้ม และดวงตาซื่อใสแบบคนลาวในวันนี้ได้อีกแล้ว แต่จะโทษใครได้...

Comment #1
ภู (Not Member)
Posted @22 ม.ค.49 11.46 ip : 61...16

อ้าว ภาพไม่ขึ้นแฮะ

Comment #2
Posted @24 ม.ค.49 20.01 ip : 203...111

ต้องล็อคอินก่อนนะภู


เอ้อ  ยังไม่ได้อ่านนะ  กระทู้ที่ยาวๆทุกกระทู้ ช่วงนี้จะไม่ได้อ่าน  เพราะไม่มีเวลาเลย  นี่ก็ไม่ได้ต่อเนตมาหลายวันแล้ว  ต่อได้ก็คงมาเช็คเมล์  รีบนอนน่ะ  จะได้ตื่นแต่ตี2 ตี 3  มาทำงาน    แรงงานที่ร้านคนหนึ่งป่วย  เลยต้องรับภาระหมดเองทุกอย่าง  จากตี 3 ถึง 6 โมงเย็น  เหนื่อยชิบเป๋ง - -"


บอกกล่าวกับทุกคนในทู้นี้เลยละกันนะ  เด๋วว่างๆมากๆเหมือนเดิมอีกเมื่อไหร่ก็จะมาไล่อ่านให้ครบ  หลังจากเอาคอมฯไปลงวินโดวส์ใหม่

ขออภัยอย่างแรงครับ

Comment #3
Posted @24 ม.ค.49 21.08 ip : 203...111

เอาล่ะ  ไหนๆก็ตามตอบกระทู้อื่นๆมาแล้ว  ก้ตอบทู้ยาวๆหนักๆกระทู้นี่เลยละกัน


ผมรู้สึกรักลาวมาจะ 20 กว่าปีนี้แล้ว  ส่วนหนึ่งจากบทเพลงลูกทุ่งในอดีต โดยเฉพาะของ ปอง  ปรีดา  ที่พูดถึงคนอีสาน  อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า คนอีสานนั้นเขาใกล้ชิดสนิทสนมกับลาวมากกว่าสยามมาแต่โบราณ  เพราะเขาเป็น "พวกเดียวกัน" มานานนะครับ  จนกระทั่งสมัย ร.5 นั่นแหละ    ที่มีการจัดแบ่งเป็น "ลาวฝั่งซ้าย  ไทยฝั่งขวา"  จนเกิดกรณีผีบุญ  (หรือผู้มีบุญ)  มากมายเยอะแยะ  และดูท่าจะเกินกำลังของสยามจะจัเการได้  เลยต้องสร้าง "นิยาย" เรื่องท้าวสุรนารีขึ้นมา  สร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลเดียวกับกับลิ้มกอเหนี่ยวในปัตตานีนั่นแหละ

อีกสิ่งที่ทำให้รักลาวก็คือ  ลาวล้าหลังเราอยู่ประมาณ 50 ปี  เท่าที่ผมเคยอ่านเจอบทวิจัยมานะ  เขาว่า 50 ปี  ไมใช่ 20-30 ปี  แต่ที่ภูเขียนมานี้  อาจเพราะลาวเริ่มปฏิรูปตนเองขนานใหญ่ก็ได้    ผมชื่นชอบบรรยากาศบ้านเมืองแบบนั้นเป็นส่วนตัวน่ะครับ 


เคยสังเกตุลาวว่าน่าจะมีปารปรับตัวขนานใหญ่ไว้เมื่อสัก 10 ปีก่อน(มั้ง)  ที่มีการสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย - ลาว  ที่หนองคาย  ด้วยบทกวีชิ้นหนึง ผมจำชื่อไม่ได้ แหะๆ  ชิ้นนั้นได้ลง จุดประกาย  พูดถึงลาวที่กำลังพัฒนาตนตามทุนนิยมเมื่อสะพานนี้ได้เริ่มลงตอม่อ  จากที่เคยมีคนเดินสะพายปืน  ก็เป็นเดินสะพายกระเป๋าใส่เงินข้ามโขง  อะไรประมาณนั้นแหละ

ลาวเคยเป็นฐานที่มั่นของ พคท.  แล้วการเมืองระหว่างประเทศก็ทำให้ลาวกลายเป็นพื้นที่อันตรายของ พคท. ไปในที่สุด  อันนี้เรื่องยาววววววววววววววว  ขี้เกียจเล่าครับ


แต่เชืท่อว่าสักวันหนึ่ง  ลาวจะก้าวล้ำหน้าไทย  เหมือนอย่างที้เวียดนาม,เกาหลีใต้,ญี่ปุ่นและจีน  ได้ล้ำหน้าเราไปไกลมากแล้วในเวบาไม่นานครับ

Comment #4
คนลาวที่อยู่ต่างเเดน (Not Member)
Posted @16 ก.พ.54 19.19 ip : 223...190

ขอบใจหลาย ๆ ที่เอาข้อมูลดี ๆ มาลงให้คนทั่วไปได้มาเรียนรุ

แสดงความคิดเห็น

« 1430
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 62 user(s)

User count is 2442807 person(s) and 10254162 hit(s) since 28 พ.ย. 2567 , Total 550 member(s).