ถ้าโลกนี้ไม่มีบทกวี?
ถ้าโลกนี้ไม่มีบทกวี?คือไฮไลต์ของหน้าแรกของหนังสือนิตยสารไรเตอร์กวีนิพนธ์ วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2546 ผมไปงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 8 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้เดินเข้าร้านหนังสือของ พี่ขจรฤทธิ์ (บก สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ) มีนิตยสารไรเตอร์เก่า ๆ หลายเล่มวางจำหน่าย ผมเลือกเอาฉบับที่ผมอยากอ่าน เช่นฉบับที่พูดถึง แคน สังคีต กับ นากิบมาห์ฟูซ แล้วเลือกไปเจอไรเตอร์กวีนิพนธ์ ปีที่ 1 ลำดับที่2 มิถุนายน 2537 เลยสอบถามคนขาย ทราบว่า นิตยสารไรเตอร์กวีนิพนธ์ มีวาระออกรายสามเดือน และออกได้เพียงแค่ 3 เล่ม ก็เป็นอันจบตำนาน ไรเตอร์กวีนิพนธ์ ผมจึงสอบถามว่ามีอีก 2 เล่มที่เหลือไหม( เล่มแรกกับเล่มสุดท้าย) ปรากฎว่าไม่มี พี่สาวคนที่นั่งขายในร้าน(ทราบภายหลังว่าเป็นคนหนึ่งร่วมทำนิตยสาร ไรเตอร์กวีนิพนธ์ด้วย) ผมรู้สึกเสียดายมากที่นิตยสารดี ๆ (ในความคิดของผม) ต้องมีอายุสั้นไป พี่สาวบอกว่าวันหลังจะหาดูในสต๊อกที่บ้าน
ตกลงวันนั้นผมซื้อหนังสือจากงานงานมหกรรมหนังสือได้หลายเล่มเหมือนกัน หอบเอาเหนื่อยเลย
เดินเข้าไปในบูธของ สกว(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ตั้งใจไปซื้อหนังสือสนุกกับงานวิจัย โดย สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
แต่ไปเจออีกสองเล่มที่น่าสนใจอย่างยิ่ง(ในความคิดของผม) กวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์ กวีนิพนธ์ฝรั่งเศสร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์
หนังสือเล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมธีวิจัยอาวุโสเรื่อง กวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย : ประสบการณ์จากวรรณคดีไทย อังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส และเยอรมัน เลยคิดว่า ต้องตามหามาอ่านอีก 3 เล่ม คือ อเมริกัน เยอรมัน และอังกฤษ
กวีนิพนธ์ฝรั่งเศสร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์
โดย อัจฉรา วรรณเชษฐ์ ธีรา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา และอุบลวรรณ โชติวิสิทธิ์
เนื้อหา หนังสือเล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมธีวิจัยอาวุโสเรื่อง กวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย : ประสบการณ์จากวรรณคดีไทย อังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส และเยอรมัน โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการวิเคราะห์กวีนิพนธ์ฝรั่งเศสร่วมสมัยในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมฝรั่งเศส ซึ่งผู้วิจัยได้พิจารณาบริบทด้านสังคม วัฒนธรรมการเมือง ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ วัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ วรรณคดีศึกษาวิพากษ์ และกวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญา ส่วนที่สองเป็นสรรนิพนธ์กวีนิพนธ์ฝรั่งเศสร่วมสมัย 50 บท พร้อมคำแปลและตีความ จากการวิเคราะห์กวีนิพนธ์ฝรั่งเศสร่วมสมัยพบว่า ความเป็นพลังทางปัญญาของกวีนิพนธ์ฝรั่งเศสร่วมสมัยอยู่ที่การเป็นกวีนิพนธ์แห่งการแสวงหา ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาความหมายให้กับการดำรงชีวิตในความสัมพันธ์กับโลกและภาษา การแสวงหารูปแบบของภูมิปัญญาเพื่อแสดงศิลปะและสุนทรียะแห่งภาษาวรรณศิลป์ การแสวงหาการมีส่วนเป็นปากเป็นเสียงให้กับมนุษยชาติ
ราคา 200 บาท ความยาว 304 หน้า พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545
ผมลองกลับมาอ่าน ไม่นึกว่า สกว จะมีงานวิจัยทางวรรณกรรมแบบนี้ด้วย ผมซื้อมาแล้วมาพบพี่โหด(ของไอ้ซ่า)โดยบังเอิญ เรานั่งคุยกัน พี่เขาถามว่าได้หนังสืออะไรบ้าง พอพี่โหดเห็นหนังสือ 2 เล่ม ของ สกว เล่มหนา พี่ถามว่า จะเอาไปสอนเหรอ ผมตอบว่า เปล่าหรอก อยากอ่านพวกงานกวีนิพนธ์
ผมกลับไปอ่านสองเล่มนั้น กวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์และ กวีนิพนธ์ฝรั่งเศสร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์ แล้วติดต่อทาง สกว ปรากฎว่า ฉบับอเมริกัน มีคนซื้อแต่ไม่ได้ใช้ ทางเจ้าหน้าที่เลยติดต่อ ผมเลยไปซื้อต่อ ส่วนฉบับ เยอรมันกับอังกฤษ ยังไม่มีการตีพิมพ์ แต่มีรูปเล่มในห้องสมุดสกว ผมเลยไปยืมขอถ่ายเป็นเอกสารรวมเป็นเล่ม ตกลงตอนนี้ผมมีหนังสือให้อ่านเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ 5 เล่ม รวมกันราว ๆ 1700 หน้า ข้อดีของหนังสือเหล่านี้คือ นักวิจัยล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวงวรรณกรรมของแต่ละภาษาเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เขาจะแปลบทกวีแล้ววิเคราะห์วิจารณ์ว่าทำไมกวีถึงเขียนแบบนั้น และเล่าเกริ่นภุมิประวัติย่อ ๆ ของกวีไปด้วย สรุปว่า ผมชอบนะ เป็นงานวิจัยที่อ่านแล้วไม่รู้สึกน่าเบื่อ
ถ้าโลกนี้ไม่มีบทกวี วกกลับประเด็น หน้า 125 เป็นบทสัมภาษณ์ผู้คนในแวดวงวรณรกรรมและนอกวง ว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีบทกวี?
ก็เหมือนคนอายน้ำ คือคนต้องอาบน้ำ เหนื่อยก็ต้องอาบน้ำ สกปรกก็ต้องอาบน้ำ
การอายน้ำทำให้สดชื่นได้นวดเนื้อนวดตัว ได้อิ่มลึกสงบกับตัวเอง เติมเรี่ยวแรงให้มีกำลัง
จะคิดทำอะไรต่อไป สร้างสรรค์ค์โลกต่อไป (หรือทำลายโลกต่อไปก็เถอะ)
บทกวีก็เหมือนการอาบน้ำ มันช่วยชโลมใจ แต่ต้องเป็นบทกวีที่มีชีวิต
หรือไม่มีก็ได้---แต่ต้องอ่านแล้วฟังแล้วรู้สึกดีน่ะ มีความหวัง
มีเรี่ยวแรงจะสู้ชีวิตต่อไป
[สุวิชานนท์ รัตนภิมล]
นักเขียนสารคดีจากภาเหนือ บรรณาธิการหนังสือ เสียงภูเขา
ไม่มีเพราะเหตุใด
เมื่อมีอยู่แล้วไซร็
ให้แรงใจกันเถิด
[วัฒ์ วรรลยางกูร ]
ถ้าโลกนี้ไม่มีบทกวี
ก็ไม่มีความคิดฝัน
และจะไม่มีสื่อสำคัญ
หมายความว่าสูญเผ่าพันธุ์มนุษย์ชน
แต่กวีมีอยู่แล้วในโลก
บทโศลกซ่อนอยู่ทุกหนแห่ง
มีอยู่ในความคิดจิตใจคน
จะยากจน มั่งมี ไม่สำคัญ
ขอจง อย่ามา สมมติ
บทกวีบริสุทธิ์ มีแล้วนั่น
มีอยู่ทั้งกลางคืนและกลางวัน
อย่าสมมติอันไม่เป็นจริง ฯ
สมคิด สิงสง
นักเขียน คนแต่งเพลง คนกับควาย
ถ้าโลกนี้ไม่มีบทกวี โลกนี้ก็ไม่มีดอกไม้
[สุนีย์ เหมืองสิน ]
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณืมหาวิทยาลัย
หากโลกนี้ปราศจากบทกวี ผู้คนในสังคมก็คงมีจิตใจ
ที่หยาบกระด้างเหมือนก้อนอิฐ ก้อนหิน เหมือนตึกหลังโต ๆ
ที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่อ่อนโยน เหมือนใบไม้ แมกไม้ สายธาร
บทกวีสามารถถ่ายทอดสื่อความหมายแล้วให้คน ๆ หนึ่ง
เข้าใจ ซาบซึ้ง มีจิตใจที่อ่อนโยนไม่เครียดจนเกินไป
ให้คนได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
[จีรนะ ขุนรักษ์พะเนาว์ ]
นักศึกษา วิทยาลัยครูบุรีรัมย์
บทกวีเป็นความงดงามในการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก
ที่เป็นจริงของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนด้านความงาม
ความอัปลักษณ์เลวร้าย...
บทกวีมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในโลกนี้แผ่นดินนี้
ในสายลมแสงแดด มหาสมุทร แม่น้ำลำธารใส
ป่าดงดอย จักรวาล.......
บทกวีเป็นดั่งสายฝน ธารใสชะโลมไล้ชีวิตมนุษย์ให้ชุ่มฉ่ำ
เพื่อกำลังใจในการดำรงอยู่
...เป็นดังเปลวไฟ แสงสว่าง ขับไล่ความมือมนอนธกาล
...เป็นชีวิตแห่งชีวิตที่เป็นจริง ใช่เพียงจินตนาการอันลื่น
ไหลล่องลอย
....ที่รัก..บทกวีคือชีวิต หากไร้ซึ่งบทกวี โลกมนุษย์ก็ดูช่าง
แห้งแล้งเงียบเหงา ไร้ชีวิตจริงหนอ
[แสงดาว ศรัทธามั่น ]
แล้วคุณ ๆ ละ คิดไว้ว่าอย่างไรถ้าโลกนี้ไม่มีบทกวี?