ยุบพรรค

by ภู @1 ก.ค.49 18.55 ( IP : 61...97 ) | Tags : กระดานข่าว

มีพรรคการเมือง 5 พรรคได้รับการชี้มูลความผิดจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งบัดนี้อัยการได้ยื่นเรื่องส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ รอการวินิจฉัย ซึ่งบทลงโทษสูงสุดที่พูดถึงกันเวลานี้ก็คือการ “ยุบพรรค” เรื่องนี้อาจไม่ได้รับความสนใจมากเท่านี้ ถ้าปัจจุบันการเมืองไม่แบ่งเด็ดขาดเหลือเพียง 2 ขั้วอำนาจ คือขั้วไทยรักไทย กับ ขั้วประชาธิปัตย์

ที่สำคัญ 2 ใน 5 พรรคที่อาจมีคำตัดสินให้ยุบพรรค มี “ไทยรักไทย” กับ “ประชาธิปัตย์” ร่วมอยู่ด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคประชาธิปัตย์ นับได้ว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านอาชีพ โดยเริ่มต้นการเป็นพรรคฝ่ายค้านในยุค รัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ เป็นสมัยแรก ก่อนจะเข้าเป็นรัฐบาลรับเชิญของคณะรัฐประหาร พ.ศ.2490(ภาษาปัจจุบันเรียกว่าหุ่นเชิด) หลังจากนั้นก็เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่จอมพลสฤษดิ์จะยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ(2501-2511) หลังจากผ่านพ้นยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์มาได้ พรรคประชาธิปัตย์ยังได้รับบทฝ่ายค้านต่อไปในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนจะ “ได้รับเลือกตั้ง” เป็นรัฐบาลสมัยแรก ในการเลือกตั้ง 2518 ยุค “ดอกไม้จะบาน” แล้วกลับเป็นฝ่ายค้านของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชย์(อดีตเลขาธิการพรรคคนแรก) กระทั่งมาได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลอีกครั้งในปี 2519

พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อีกสมัย ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างยาวนานในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (1,2,3,4,5 ซึ่งในยุคนั้นไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร ที่สุดนายกรัฐมนตรีคือ พลเอกเปรม เท่านั้น! ...ก่อนที่ท่านจะเอ่ยออกมาเองว่าพอแล้ว) ต่อด้วยสมัยของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และถอนตัวออกมาก่อนพลเอกชาติชายจะถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.)ยึดอำนาจ  แต่งตั้งให้พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคประชาธิปัตย์จึงได้รับเลือกกลับเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

ในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น ได้แสดงพลานุภาพของขุนพลฝ่ายค้านอาชีพ กดดันให้นายบรรหารต้องยุบสภาในที่สุด และได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลอีกครั้งภายหลังสิ้นสุดเส้นทางแสนไมล์ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พร้อมกับของแถม “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

แต่แล้วด้วยวิกฤตนั้นเอง ที่เปลี่ยนเป็นโอกาสแห่งยุคของอัศวินคลื่นลูกที่ 3 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

พรรคไทยรักไทย ก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 (บางคนพยายามเชื่อมโยงกับวันชาติฝรั่งเศส ที่กษัตริย์ถูกโค่นอำนาจ) มีผู้ร่วมก่อตั้ง 23 คน โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคจนปัจจุบัน พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่มีความเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้านหนึ่งเกิดจากนโยบายที่ชัดเจน กับอีกด้านหนึ่งเกิดจากการเป็นพรรค “เถ้าแก่” สามารถรวบรวมเขี้ยวตันทางการเมืองเข้ามาอยู่ในพรรคเป็นจำนวนมาก(รวมถึง 28 ตันซึ่งเป็นมือปั้นนายกฯด้วย) ต่อมา เมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้ดำเนินนโยบายประชานิยม ครอบครองใจประชาชนฐานรากอย่างเหนียวแน่น พร้อมทั้งยังสามารถยุบเอาพรรคความหวังใหม่และชาติพัฒนาเข้ามารวมเป็นพรรคเดียว จนกลายเป็นยักษ์อ้วน ส่งผลให้การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการครั้งหลังสุด 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยกวาดที่นั่งในสภาถึง 376 จาก 500 ที่นั่ง และได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงถึง 18,993,073 เสียง

กลายเป็น “ซุปเปอร์รัฐบาล” ในเวลานั้น

ต่อมา ด้วยปัญหาทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะเรื่องทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด “ซีทีเอ็ก 9000” ตามด้วยทุจริตลำไยอบแห้ง กับการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ มูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท โยงใยกับบริษัทแอมเปิ้ลริชและเกาะบริติชเวอร์จิ้น โดยหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ขาดความชอบธรรมทางการเมือง จนประกาศยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วัน นำสู่การบอยคอตไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน และนำสู่ข้อกล่าวหาว่าคนในพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง

อันเป็นชนวนไปสู่การรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้

มีประชาชนจำนวนไม่น้อย อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทย หลายกลุ่มอยากให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ หลายกลุ่มอยากให้ยุบพรรคไทยรักไทย และมีกลุ่มของนักวิชาการที่ไม่อยากให้ยุบทั้ง 2 พรรค กลัวจะเป็นผลเสียกับระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง

มีคำถามไม่ค่อยสร้างสรรค์ตามมาเสมอว่า ถ้าไม่มีพรรคไทยรักไทย ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ แล้วใครจะเป็นนายกฯ ประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ?

บรรยากาศการเมืองเหมือนทุกวันนี้เราไม่ได้ต้องการเลือกตั้งส.ส. แต่เราต้องการเลือกนายกรัฐมนตรีกระนั้นหรือ? การชูนโยบายแบบตัวบุคคล และประชานิยมโดยรัฐ ทำให้ส.ส.เป็นเพียงปัจจัยแห่งการนำขึ้นสู่อำนาจ ขณะที่นโยบายของรัฐสามารถเข้าถึงประชาชนฐานรากมากขึ้น ความใกล้ชิดระหว่างผู้แทนราษฎรกับประชาชนในพื้นที่ยิ่งถ่างวงออกไป

ยุคหนึ่งในท้องที่ภาคใต้มีคำกล่าวไว้ว่า ต่อให้เอาเสาไฟฟ้าไปลงพรรคประชาธิปัตย์ก็มีคนเลือกให้เป็นส.ส. ปัจจุบันนี้ กับพรรคไทยรักไทยเองก็คล้ายอย่างนั้น(ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้อีกนั่นแหละ)

หากว่าประชาชนกลัวการไม่มีพรรคการเมือง เพราะเขากลัวจะไม่มีนายกฯชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การยุบพรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะไม่มีความหมายเท่ากับการยุบพรรคไทยรักไทย

มันทำให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่าแล้วถ้าพรรคไทยรักไทยถูกยุบไปพรรคเดียว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้คะแนนเสียงเลือกตั้งส่งเสริมให้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงหรือ ?

ทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้กังวลกับการยุบพรรค มีแต่พรรคเท่านั้นที่กังวลกับการที่จะถูกยุบ ถ้าหากไม่มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เชื่อว่าแม้พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบไปจริง แต่กระแสเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะดังกระหึ่ม

และเขามีวิธีในการกลับมาแน่ เหมือนคราวที่เว้นวรรคพักร้อนนั่นปะไร ช่างละม้ายกับการไปเจรจากับต่างประเทศในนามรัฐบาล ละม้ายกับการเดินทางไปต่างประเทศของจอร์ช บุช ผู้พ่อยิ่งนัก(ลองหาสารคดีของไมค์ มัวร์ มาย้อนดูอีกครั้ง)

ยุบพรรคหรือไม่ยุบ มันแค่เรื่องจั๊กกระจี้ทางการเมืองไม่ใช่หรือ ?

Comment #1
Posted @3 ก.ค.49 21.49 ip : 203...39

5555555555  ช่างประชดประชันเจงๆ

จนบัดนี้ผมยังไม่เห็นด้วยกับการพยายามให้เรามีเพียง ๒ พรรคการเมือง  นอกจากประชาชนของเราสำนึกทางการเมืองอ่อนแอแล้ว  อีกสิ่งที่สำคัญสุดคือสำนึกของนักการเมืองบ้านเรายังไม่เคยมี  มันจึงเหมือนการมัดมือชกไม่เอากูมึงจะเอาใคร?

หากยุบจริง  ผลก็ไม่ต่างอันใดเลยกับไม่ยุบ  เพราะกฏหมายยังเปิดช่องให้นักการเมืองสร้างพรรคใหม่หรือย้ายพรรคได้อยู่ดี  มันอาจเกิดพรรคไทยรักไทยสิวะ  กับพรรคนีโอประชาธิปัตย์ขึ้นมาก็ได้

ไม่มีความหมายครับ  ที่ประชาชนอยากให้ยุบจริงๆนั้นคือยุบนักการเมือง


การกลับมาของทักษิณรอบนี้ค่อนข้างดุเอาการ  ผู้มีบารมีคือใคร?  ถ้าหมายถึง พล.อ.เปรม  รัฐบุรุษและประธานองคมนตรีละก็  มันมีนัยซ่อนเร้นแอบแฝงเลยล่ะ  แล้วก็ต้องหวนกลับมาคิดถึงข่าวลือที่มีมานานนับ ๔-๕ ปีก่อนนี้ด้วย

การโยนปัญหาไฟใต้ให้พล.อ.สนธิ  ผบ.ทบ.ดูแลเด็ดขาดนั้นนับเป็นกลเกมซ่อนเงื่อนที่ทื่อๆอย่างไรชอบกล  ครั้งก่อน พล.อ.สนธิเคยออกปากขอรับผิดชอบเต็มที่พร้อมขออำนาจในการจัดการ  กลับถูกปฏิเสธ  จู่ๆเมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองของตัวเพลี่ยงพล้ำก็โยนให้  หากพล.อ.สนธิจัดการไม่ได้  มันก็คือวาระอันดีในการโยกย้ายนอกฤดูกาล  และใครหนอที่จะมาเป็น ผบ.ทบ. คนต่อไป?

มันเกี่ยวโยงกันนะครับ  กับการเอ่ยถึงผู้มีบารมี.....

Comment #2
ภู (Not Member)
Posted @4 ก.ค.49 1.00 ip : 61...88

อะไรคือข่าวลือ 4-5 ปีที่ผ่านมาครับ โปรดให้ความกระจ่าง(ใบ้ก็ได้ ไม่รู้จริงๆ ครับ)

เรื่องผู้มีบารมีที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อันนี้เป็นใครก็ไม่รู้..อีกเหมือนกัน แต่บทความที่ผมเขียนสัปดาห์ที่แล้ว(ไม่ได้นำมาโพสในที่นี้) มีเขียนถึงเรื่องรัฐธรรมนูญไว้นิดหน่อย เลยยกมาโค้ตครับ แหะๆ ไม่รู้เกี่ยวกันไหม

"ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น วันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นวันที่คณะราษฎร์ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนส่งผลต่อมาให้รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ สิ่งซึ่งคณะราษฎร์ตราขึ้นมาก็คือ “รัฐธรรมนูญ” อันมีเป้าหมายแท้จริงเพื่อจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์

จำกัดให้กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง หรือหมายถึงห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

น่าประหลาดใจที่ต่อมา รัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไขอีกหลายครั้ง และเป้าประสงค์ของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งหลังๆ กลับเป็นเพื่อ “ควบคุมพฤติกรรมของนักการเมือง”

เพราะอำนาจที่ได้จากการปฏิวัติของคณะราษฎร์ นำสู่ระบอบทักษิณในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความวุ่นวายหลายครั้งในบ้านเมือง กระทั่งวิกฤติรอบล่าสุด ล้วนผ่านพ้นไปได้ด้วยแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง จึงกลายเป็นอีกความหมายหนึ่งในเวลานี้"

Comment #3
Posted @4 ก.ค.49 23.15 ip : 203...58

แบะๆ 

แสดงความคิดเห็น

« 1430
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 68 user(s)

User count is 2441730 person(s) and 10248891 hit(s) since 27 พ.ย. 2567 , Total 550 member(s).