จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนผู้สะท้อนสังคมผ่านเรื่องสั้น

by ชิดชบา @24 ต.ค.49 16.01 ( IP : 58...170 ) | Tags : กระดานข่าว

วันนี้มาคุยกันเรื่องหนังสือของพี่ใหญ่อีกคนแห่งวงการวรรณกรรมดีกว่า จำลอง ฝั่งชลจิตร ครับ

ผมอ่านเรื่องสั้นของจำลอง  ฝั่งชลจิตร มากกว่างานประพันธ์ประเภทอื่น ๆ ของเขา ที่ติดใจเรื่องสั้นของจำลอง ก็เพราะว่า วิธีการนำเสนอ แบบเก็บรายละเอียดสมจริง ถ่ายทอดออกมาโดยไม่บิดเบือนเนื้อหาของสังคม ..  เป็นวรรณกรรมประเภท สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของสังคม วัฒนธรรม และจิตใจของผู้คนในยุคปัจจุบัน ในรูปแบบของเรื่องสั้น

เล่มเด่นๆของเขาที่น่าอ่าน น่าจะเป็นรวมเรื่องสั้น ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง พฤติกรรมของผู้คนในเมือง “ลิกอร์” (ชื่อ เดิมของ จังหวัด นครศรีธรรมราช)  9 เรื่องสั้นในเล่มนี้ จะสะท้อน ค่านิยม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างเด่นชัด

ข้อเด่นของเรื่องสั้นของจำลองคือ การถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ใดๆ อย่างโจ่งแจ้งนัก ไม่ชักนำแต่ชี้ชวนอยู่ในเชิง ดูเหมือน จำลอง จะให้เกียรติคนอ่าน และเชื่อว่าคนอ่านทุกคน มีความคิดเห็นของตัวเอง ใครคิดได้เท่าไรก็ได้เท่านั้น

คนกับเด็ก เป็นรวมเรื่องสั้นที่เกี่ยวข้องกับ “เด็ก”  ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง เป็นอีกหนึ่งหนังสือที่ผู้ใหญ่ควรอ่านด้วยความคำนึง  เด็กถูกกระทำด้วยกลวิธีต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการถูกยัดเยียดจนเกินไป ถูกตามใจจนเกินควร หรือถูกทิ้งๆขว้างๆอย่างไม่ใยดี  อ่านเรื่องสั้นในเล่มนี้แล้วทำให้ตระหนักขึ้นมาว่า จริงๆแล้ว เด็กๆก็มีหัวใจ และพวกเขามีศักยภาพและน่าจะเป็นอนาคตของประเทศ  สายตาของจำลอง ยังเอื้ออารีย์ และทะนุถนอมเด็กๆ ในเรื่องสั้นของเขา

ในจำนวนเรื่องสั้นของจำลอง จะว่าเนื้อหาหนักก็ใช่ แต่ว่าก็ยังอยู่ในจำพวกหนังสือบันเทิงอยู่ดี เพียงแต่ว่าเขาสอดแทรกแง่คิด มุมมองที่มีประโยชน์ไว้ด้วยเท่านั้นเอง มันก็เลยไม่หนักเหมือนงานวิชาการ แต่ถ้าหากกรองแล้ว ก็จะได้แง่คิด ข้อคิด สรุปรวบยอดเป็นข้อคิดเชิงวิชาการได้

เสน่ห์ของวรรณกรรมมันอยู่ตรงนี้แหละผมว่า มันทำให้เราเข้าถึงภาพของสังคมในยุคนั้น ซึ่งรวมถึงทุกแง่มุมของสังคม  ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ศาสนา ความเชื่อ โดยที่เราไม่ต้องเคร่งเครียดเหมือนอ่านตำรา  พออ่านวรรณกร ทำให้มองชีวิตด้วยความเข้าใจ แม้ว่าจะด้วยสายตาของคนอื่นที่สะท้อนภาพออกมาเป็นตัวหนังสือก็ตาม

คนกับเด็ก เป็นเล่มโปรดอีกเล่มหนึ่ง แทบทุกเรื่องเมื่อจบแล้วให้ความรู้สึกดีๆ ในตอนจบ ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับเด็ก” ในหลายๆแง่ๆมุม ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า หรือคนรอบข้าง ครอบคลุมทั้งจิตวิทยา การเลี้ยงดู

แต่โลกของเด็กก็แฝงไว้ด้วยความไร้เดียงสา ความซื่อบริสุทธิ์ การมีเด็กในสบ้าน ถ้าไม่ใช่พวกพ่อแม่ที่มีโลกส่วนตัว หรือเห็นแก่ความสุขของตัวเองมากเกินไป หรือพวกที่มีปัญหาเรื่องปัจเจกชนจนเกินเหตุ ผมว่า ต้องเห็นความน่ารักของเด็กๆอย่างแน่นอน

เอ้อ วรรณกรรมแบบ จำลอง น่าจะเรียกว่าเป็นวรรณกรรมแบบสร้างสรรค์นะครับ เท่าที่อ่านหลายๆเรื่อง พออ่านจบแล้วจะรู้สึกดี แม้ว่าหลายๆเรื่องจะจบอย่างหดหู่ก็ตาม แต่คงช่วยให้คนอ่านได้รู้ว่า มันเกิดขึ้นอย่างไร และจะป้องกันมันได้อย่างไร

บางเรื่องราว จำลอง เขียนออกมาได้สะทกสะท้อนหัวใจนะครับ ประเด็นไม่ไกลตัว บางทีอาจจะเพราะว่า สังคมเรามีด้านมืดมากเกินไป นักเขียนหลายคนเห็นแล้วอดเอามาเป็นประเด็นในการเล่าเรื่องไม่ได้  อย่างข้อเขียนล่าสุดของจำลอง  ที่ผมอ่าน ในเนชั่นสุดสัปดาห์ เป็นเรื่องจำลองเล่าว่า ไปเป็นวิทยากร แนะนำการเขียนเรื่องสั้น แล้วเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาขอให้ ลุงจำลอง เขียนสักเรื่อง .. เป็นเรื่องจริง .. เป็นโศกนาฎกรรม -- ลุงจำลองบอก .. มันจริงเกินไป .. ลุงไม่กล้าเขียน


น้ำใจยังหาได้ ขณะที่ ลิกอร์พวกเขาเปลี่ยนไป บันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในเมืองลิกอร์ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป น้ำใจยังหาได้ ก็มีนัยยะที่คล้ายๆกัน เพียงแต่เป็นการบันทึกเรื่องราวของสังคมของคนในประเทศไทย และขยายยุคออกไปอีกหน่อย คือ ย้อนอดีต เข้าไปในอนาคต และบางเรื่องก็เป็นยุคสมัยปัจจุบัน

เรื่องสั้นของ จำลอง มีลักษณะแบบเสียดสีสังคมอย่างชัดเจน เล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้น 9 เรื่อง (อีกแล้ว) โดยส่วนใหญ่จะให้อารมณ์แบบถามถึงความป่วยไข้ของสังคมอยู่เนืองๆ แต่ก็สอดแง่คิดไว้ให้คนอ่านได้คิดด้วย อดคิดไม่ได้ว่า จำลองเป็นนักเขียนที่ทำงานอย่างหนักคนหนึ่ง เพราะพยายามเสนอแง่มุมที่ โดน พยายามเสนอแง่มุมที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพ้อไปเรื่อย เหมือนเรื่องสั้นประเภทที่มุ่งเน้นความบันเทิงเป็นหลัก (ซึ่งก็คือเป็นงานเขียนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิง ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด)

ที่ชอบเรื่องสั้นของจำลองอีกอย่างคือ ความสมจริง รื่นไหล ตัวละครทุกตัวเหมือนมีชีวิตจริงๆ ไม่มีพฤติกรรมที่ประดักประเดิก ไม่มีคำพูดประเภทที่คนอ่านอ่านแล้ว คิดว่า ไม่น่าจะใช่ ...เรื่องสั้นแบบนี้ อ่านแล้วให้นึกว่า มันน่าจะเป็นเรื่องจริงซะมากกว่า :-)

เมืองน่าอยู่ เรื่องสั้น 12 เรื่อง พิมพ์ครั้งแรกในปี 2542 โดยรวมๆแล้ว 7-8 เรื่องของเรื่องสั้นเล่มนี้ (7-8 เรื่องนี่มันค่อนเล่มไปแล้วนะ) เป็น เรื่องสั้นสำหรับผู้ใหญ่ คนที่โตแล้ว มีครอบครัวแล้ว เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะหนัก เพราะพูดถึงสภาพสังคมปัจจุบัน พวกเราก็มีโอกาสที่จะผ่านไปเจอกับชีวิตแบบนี้อยู่แล้ว แต่ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้มันทนได้ ให้บ้านหรือเมืองมันน่าอยู่

ในลึก  หนังสือในรูปแบบนวนิยาย  เรื่องนี้มันไม่กินใจในด้านของความเป็นนิยายชีวิต (ผูกเรื่องไม่เรียกน้ำตา หรือสะเทือนใจ)  แต่ว่าในเรื่องของการบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผมว่าเข้มข้นทีเดียว นิยายเรื่องนี้พูดถึง เด่นพงศ์ ชายหนุ่มที่ถูกส่งไปเรียนจบปริญญาตรี และทำงานในเมืองหลวง แล้ววันหนึ่ง เมื่อฟองสบู่แตก เด่นพงศ์ก็กลับมายังบ้านเกิด เพื่อจะพบว่า มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย วิถีชาวบ้านเปลี่ยนไป ค่านิยมใหม่ๆ การแก่งแย่งแข่งขันเพื่อต่อสู้ที่จะมีชีวิตในวันต่อไป หรือเพื่อจะมีอะไรๆที่ดีกว่าคนอื่น

เรื่องการแข่งขันเพื่อจะให้เหนือกว่าคนอื่น เด่นกว่าคนอื่นนี่เป็นปมหนึ่งที่ทำให้คนเราลดความน่ารักลงไปนะผมว่า หัวจิตหัวใจมันน้อยลง

นิยายเขาดำเนินไปเรื่อยๆเหมือนฉายหนังสะท้อนสังคม ในเมืองก็อีกวิถี บ้านนอกก็อีกวิถี แต่ก็ไม่พ้นการแก่งแย่งแข่งขัน ในเมืองก็มีความเห็นแก่ตัวของในเมือง บ้านนอกก็มีความเห็นแก่ตัวของบ้านนอก .. คนในเมืองไร้น้ำใจ คนบ้านนอกก็ใช่ว่าจะมีน้ำใจเปี่ยมล้นเหมือนเมื่อก่อน เพียงแต่ว่า รูปแบบมันคนละอย่างกันเท่านั้นเอง

ครับ ใครที่ยังไม่เคยอ่านงานของจำลอง อาจจะอยากลองอ่านดูบ้าง

Comment #1
Posted @24 ต.ค.49 16.43 ip : 203...189

พี่ลองเป็นคนตรง  พูดตรงไม่อ้อมค้อม  และนักเลงพอตัวเลยล่ะ

แกเป็นพี่ที่น้องๆรักเคารพมากคนหนึ่งในวงการครับ

Comment #2
ฟ้าคลองหลวง FC (Not Member)
Posted @25 มี.ค.53 23.57 ip : 115...125

...

แสดงความคิดเห็น

« 1430
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 59 user(s)

User count is 2441245 person(s) and 10246544 hit(s) since 27 พ.ย. 2567 , Total 550 member(s).