มือที่สาม-คลื่นใต้น้ำ
ในบรรยากาศที่กฎอัยการศึกยังไม่ถูกยกเลิกไปขณะนี้ โดยที่รัฐบาลคณะปฏิรูปได้อ้างถึงการเคลื่อนไหวของพวก คลื่นใต้น้ำ หรือตัวแทนกลุ่มอำนาจเดิมที่จ้องจะสร้างสถานการณ์แห่งความไม่ชอบธรรมในอำนาจของคณะปฏิรูปให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ตัวของรัฐบาลคณะปฏิรูปเองก็ได้พยายามสร้างชุดความเชื่อแบบคู่ตรงข้ามขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง โดยเฉพาะการมุ่งชำระสะสางผลผลิตที่เกิดมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน นั้น มีปัจจัยสำคัญมาจากกลไกแห่งคุณธรรมได้ถูกชอนไชไปแล้วทั้งระบบ หากปล่อยไว้นานกว่านั้น สังคมคงจะต้องวิบัติในไม่ช้า
ภายใต้ชุดความคิดความเชื่อแบบคู่ตรงข้ามนี้ รัฐบาลคณะปฏิรูปจึงเป็นสิ่งดีที่เข้ามาเพื่อชำระสะสางสิ่งเลว
มองในกรอบนี้ เราจะเห็นได้ว่าการทำงานของรัฐบาลคณะปฏิรูป พยายามจะก้าวไปให้พ้นจากกรอบที่เคยถูกตั้งคำถามจากนักวิชาการ ในเรื่องที่ว่าการโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น เป็นเรื่องการโค่นล้มตัวบุคคลเท่านั้น แต่ไม่อาจสลายระบอบทักษิณไปได้ ยิ่งเมื่อตอนที่รัฐบาลนี้ก้าวเข้ามาทำงานแรกๆ ได้ยึดเอาแนวทางประชานิยมไว้เดิมด้วยแล้ว กลับยิ่งตอกย้ำความไม่ชอบธรรมในการยึดอำนาจของตัวเอง ที่สุด แนวคิดเรื่องเปลี่ยนของเดิมให้หมดจึงเกิดขึ้นภายหลัง
วันนี้ เราได้เห็นแนวทางของโครงการ 30 บาท ที่ว่าจะเปลี่ยนมารักษาฟรีในตอนแรก เป็นช่วยเหลือเฉพาะคนยากจน ซึ่งก็จะเหมือนกับยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ,ในเรื่องนโยบายกรุงเทพฯเมืองแฟชั่นก็มีทีท่าว่าล้มเลิก(อันนี้เป็นมาตรฐานศีลธรรมใต้ตมโดยแท้) ,รายการโทรทัศน์หลายรายการโดยเฉพาะทางช่องโมเดิร์น 9 จะถูกถอดถอนเปลี่ยนแปลง ทั้ง ถึงลูกถึงคน คุยคุ้ยข่าว และที่ฮือฮามากคือข่าวที่ว่าจะถอดรายการสารคดี กบนอกกะลา ออกไปด้วย ผลปัจจุบันทันด่วนคือทำให้หุ้นของ อ.ส.ม.ท. ร่วงกราวรูด แม้ว่าคณะที่มาใหม่จะเป็นดรีมทีมของ สุทธิชัย หยุ่น สมเกียรติ อ่อนวิมล และสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ตาม
ในทางสังคม ปัญหาเรื่องเหล้า เรื่องหวย เหมือนจะถูกจัดการขั้นเด็ดขาดในห้วงแรก แต่สุดท้ายก็นำสู่นโยบายแบบผ่อนปรน อันแสดงให้เห็นว่า ความเด็ดขาดของการดำเนินโยบายต่างๆ เมื่อแรกเริ่มนั้น เป็นการสร้างภาพแบบคู่ตรงข้ามขึ้นมาเพื่อหาความชอบธรรมให้กับการอยู่ในอำนาจของรัฐบาลคณะปฏิรูปทั้งสิ้น หาได้มีอำนาจเด็ดขาดโดยแท้จริง เพราะสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้กลัวมากที่สุด คือการต่อต้านของมวลชน
สิ่งเดียวที่เป็นความชอบธรรมตามสูตรการรัฐประหารที่เหลืออยู่ ก็คือการสะสางเรื่องทุจริต คอรัปชัน ของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งก็มิได้คืบหน้ามากนัก ซ้ำคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นยังมีการงัดข้อกันเสียเองต่างหาก ดังนั้น หากไม่สร้างวาทกรรม คลื่นใต้น้ำ ขึ้น และคงกฎอัยการศึกเอาไว้ โอกาสที่รัฐบาลคณะปฏิรูปจะหมดความชอบธรรมโดยเร็วก็มีอยู่สูง
คำว่า คลื่นใต้น้ำ ในสำนวนไทยนั้น หมายถึง เหตุการณ์ที่กรุ่นอยู่ภายใน แต่ภายนอกดูเหมือนสงบเรียบร้อย ด้วยความหมายเช่นนี้ คลื่นใต้น้ำจึงเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ชี้ลงไปชัดๆ ก็ไม่ได้ ใครที่ถูกกำจัดหรือทอนอำนาจไปในห้วงเวลานี้ เราก็ได้แต่สันนิษฐานกันว่า พวกนั้นอาจเป็นพวกคลื่นใต้น้ำ ซึ่งเป็นคนละพวกกับรัฐบาลคณะปฏิรูป หรือเป็นพวกของรัฐบาลคนไม่ดีชุดที่แล้วนั่นเอง
เรื่องของการสร้างวาทกรรมเพื่อความชอบธรรมในการยึดครอง เป็นสิ่งที่มีมานมนานนับแต่ยุคล่าอาณานิคม หรือยุคเริ่มต้นทุนนิยมเสรี ดังตัวอย่างที่ ไมเคิล ทอส์สิก สะท้อนภาพไว้ใน Culture of Terror-Space of Death: Roger Casements Putumayo Report and the Explanation of Torture ว่า ข่าวลือ มายาคติ(myth) ไปจนถึงจินตนาการต่างๆ ที่ชาวอาณานิคมมีเกี่ยวกับความลึกลับน่ากลัวของชาวพื้นเมือง มีบทบาทสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแห่งความน่าสะพรึงกลัวโดยชาวอาณานิคม ไมเคิลยกตัวอย่างถึงมูลเหตุแห่งการใช้ความรุนแรงในเขตพูตูมาโย ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของโคลัมเบียที่คนขาวสามารถเฆี่ยนตีชนอินเดียนพื้นเมืองจนเห็นกระดูก ทิ้งศพพวกเขาไว้ให้สุนัขกัดกิน และใช้คนอินเดียนเป็นเป้ายิงเล่นในเทศกาลอีสเตอร์ ก่อนจะราดน้ำมันจุดไฟเผาศพพวกเขาอย่างสนุกสนาน ว่ามีเหตุผลมาจากความหวาดกลัวในเรื่องเล่าเกี่ยวกับพิธีกรรมของชาวฮุยโตโตในการประหารชีวิตคน ซึ่งบรรดาผู้ชายในเผ่าจะมานั่งล้อมวงดื่มน้ำใบยาสูบอย่างสบายอารมณ์ โดยมีเชลยถูกมัดไว้ ณ มุมหนึ่งของลานประชุม แล้วพวกเขาจะพากันมาร่ายรำอยู่รอบตัวของเชลย ก่อนที่แต่ละคนจะผลัดกันเข้าไปเฉือนเนื้อเชลยออกมาทีละชิ้น แล้วนำไปย่างกินครึ่งดิบครึ่งสุกท่ามกลางเสียงร้องคร่ำครวญของเชลย และเมื่อเชลยสิ้นใจ พวกเขาก็จะยุติการเฉือนเนื้อเหยื่อ แต่จะนำร่างส่วนที่เหลือไปย่างหรือต้มเพื่อกินจนถึงชิ้นสุดท้าย..
การวาดภาพความรุนแรงเช่นนี้ขึ้น ทำให้นักล่าอาณานิคมสามารถใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับชนเผ่าดั้งเดิมเสียเองอย่าไม่ผิดศีลธรรม เพื่ออ้างว่าพวกเขาจะต้องจัดการเสียก่อนถูกจัดการ เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่ขยายเข้าเป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิทุนนิยม การวาดภาพคอมมิวนิสต์ให้น่ากลัวในแบบเดียวกับชาวฮุยโตโตก็เกิดขึ้น ยิ่งกับประเทศที่ถูกใช้เป็นฐานบินไปถล่มเวียดนามอย่างประเทศไทย ภาพคอมมิวนิสต์ยิ่งน่ากลัวกระทั่งว่าจะมาล้มล้างศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมความเป็นชาติที่เข้มข้นอย่างยิ่ง(ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) นั่นจึงนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และหลังจากนั้น คำว่า การกระทำของมือที่สาม ก็ทรงอำนาจยิ่ง ในการรักษาฐานอำนาจของนักการเมืองไทย และการกำจัดศัตรูทางการเมือง จนถึงปี 2534 ที่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยกลุ่มสุดท้ายกลับคืนเมืองที่จังหวัดพัทลุง ตามนโยบาย66/23
ในปี 2534 นั้นเองการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง และนำไปสู่ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 ถึงตอนนั้นเราได้เห็นภาพชัดเจนว่า มือที่สาม แท้จริงคือกลุ่มบุคคลใด แต่หลังจากนั้น เมื่อมีการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้น ไม่ว่าครั้งใด ก็มักจะมีการปล่อยข่าวมือที่สาม เพื่อสร้างความชอบธรรมหากมีการสลายการชุมนุมขึ้นเสมอ ไม่เว้นแม้แต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ภายใต้บรรยากาศของความสมานฉันท์ ทหารเป็นมิตรกับประชาชน และด้วยแนวคิดแบบคู่ตรงข้าม ทำให้ภาพศัตรูของรัฐบาลคณะปฏิรูป มีแต่กลุ่มอำนาจเดิมเท่านั้น จึงจะอ้างมือที่สามไม่ได้อีก นี่เองจึงทำให้เกิดวาทกรรม คลื่นใต้น้ำ ขึ้น เพื่อความชอบธรรมในการคงรักษากฎอัยการศึก หรืออำนาจเหนือกฎหมายปรกติในการจัดการกับคนที่ไม่ยอมรับอำนาจแบบที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การคงมีกฎอัยการศึกไว้จะเป็นความกดดันหนักอึ้งต่อประชาชน และอาจส่งผลสะท้อนถึงเสถียรภาพของรัฐบาลนี้ได้ง่ายๆ ยิ่งภายหลังการฆ่าตัวตายของ นวมทอง ไพรวัลย์ แท็กซี่ที่เคยขับพุ่งชนรถถัง ซึ่งยิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามต่อการยึดอำนาจมากขึ้น เพราะเกิดการตายเพื่อประชาธิปไตย(?)ที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา
ถ้ารัฐบาลชุดนี้คงกฎอัยการศึกไว้ เพราะกลัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย เห็นทีเขาอาจต้องรับมือกับกองทัพประชาชนที่มีผู้อาศัยสถานการณ์คอยเสี้ยมอยู่เป็นแน่ ไม่ช้าก็เร็ว โดยเฉพาะถ้ามีศพที่สองหรือเหตุการณ์อื่นเกิดขึ้นอีก
ถ้าจะต้านระบอบทักษิณไม่ให้กลับมา ต้องยกเลิกกฎอัยการศึกครับ คลื่นใหญ่ก่อตัวขึ้นแล้ว