เด็กคิด-ผู้ใหญ่คิด: วัตถุดิบเดียวกันกับต้นทุนที่แตกต่าง
เด็กคิด-ผู้ใหญ่คิด: วัตถุดิบเดียวกันกับต้นทุนที่แตกต่าง
ปีแรกหลังจากจบการศึกษา ได้เคยทำงานเป็นผู้ช่วยสอนในโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง นับเป็นโชคดีที่ถูกส่งไปประจำชั้น Year 2 ให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับความน่ารัก(น่าชัง) ของเด็กๆ อายุ 6-7 ขวบ อย่างถึงแก่นเป็นครั้งแรกในชีวิต
วันนั้นเป็นชั่วโมงภาษาอังกฤษ จำได้ว่าให้เด็กๆ นำคำ 4 คำ คือ helicopter, a, is, fly มาแต่งให้เป็นประโยค โดยสามารถหาคำอื่นๆ มาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ใจความที่สมบูรณ์
มีนักเรียนถึง 2 คน เขียนประโยค A helicopter is eating a fly. มาส่งครู
คนตรวจเห็นแล้วอดอมยิ้มไม่ได้ อยากกาเครื่องหมายถูกตัวโตๆ ให้กับประโยคที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามหลักภาษาและไวยากรณ์
แต่ที่น่าสนใจกว่าคือการสื่อความหมายของประโยคที่ดูเหมือนจะไร้สาระ แต่กลับแฝงด้วยพลังมากมากมายที่ทำให้คนที่โตแล้วอย่างเราๆ ได้ย้อนมองดูอะไรๆ ในมุมกลับดูบ้าง
' fly ' คำๆ เดียวกัน แต่ให้มโนภาพที่ต่างกันในเด็กและผู้ใหญ่
คนโตแล้วสร้างเรื่องราวจากบริบทต่างๆ ในกรอบของพื้นฐานความเป็นจริงที่ได้รับการขัดเกลาแล้ว
เด็กๆ สร้างเรื่องราวมากมายจากจินตนาการอันไม่มีที่สิ้นสุด
ด้วยวัตถุดิบเดียวกัน.....
A helicopter is flying. อาจเป็นประโยคคำตอบที่แวบขึ้นมาในสมองเราได้ง่ายๆ .....เป็นอัตโนมัติและแทบไม่ต้องเสียเวลาคิด
A helicopter is eating a fly. ประโยคคำตอบอันน่าทึ่ง ที่ผ่านกระบวนการคิดและสร้างจินตภาพอย่างอิสระทว่าสร้างสรรค์ จากสมองของเด็กน้อยวัย 7 ขวบ
บ่งบอกถึงต้นทุนทางความคิดและจินตนาการที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และนั่นยังไม่รวมถึงเวลาที่ใช้ในการผูกเรื่องราวและเรียบเรียง
แม้ไม่อาจสรุปได้ว่าพลังแห่งจินตนาการของคนเราถูกริดรอนให้น้อยลงตามวัยวารจริงหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยสิ่งเล็กๆ นี้ก็ทำให้คนตรวจการบ้านทั้งขำและขบคิดได้ในคราวเดียว
'กิรณี'
8 สิงหาคม 2546