จดหมายบทความจากคุณ ฤทธิพร อินสว่าง ครับ

by หมี่เป็ด ผู้ชายนัยน์ตาสนิมเหล็ก @14 พ.ค.54 17.23 ( IP : 113...26 ) | Tags : กระดานข่าว

บทความ(ในใจ)
          การถูกละเมิดลิขสิทธิ์เพลงเป็นเรื่องเลวร้ายที่ผมต้องรับมือมาตั้งแต่อายุยังน้อย เพียงออกผลงานเพลงชุดแรกก็ถูกลักลอบทำซ้ำแบบเถื่อนและวางขายกันอย่างกลาดเกลื่อนทั่วประเทศแล้ว ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าจนถึงวันนี้ที่ผ่านมากว่าครึ่งชีวิตในวงการเพลง ผมยังต้องรับมือกับการถูกละเมิดลิขสิทธิ์หลายรูปแบบ ทั้งละเมิดด้วยการผลิตเป็น CD และ MP 3 เถื่อน, นำเพลงที่ผมประพันธ์ไปบันทึกเสียงแบบเถื่อน หรือแม้แต่บุคคลและองค์กรที่มีภาพลักษณ์สวยงามในสังคมบางรายก็ยังนำเพลงของผมไปใช้แบบเถื่อนด้วยเช่นกัน
ผมไม่อาจยอมรับการกระทำที่ไม่ถูกต้องนี้ แต่พยายามทำใจว่ามัน “เป็นเช่นนั้นเอง” และยังมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานเพลงต่อไป             เมื่อหลายปีก่อนมีคนมาเล่าให้ฟังว่าเพลง “ใบไผ่” ของผมถูกนำไปใช้ในละครโทรทัศน์ ตอนที่ได้ฟังก็รู้สึกงงเล็กน้อยเพราะไม่เคยมีผู้ผลิตละครโทรทัศน์รายใดติดต่อขออนุญาตใช้เพลงนี้ ผมยังไม่เชื่อในคำบอกเล่าจนกระทั่งได้พบหลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนจริงๆ ตั้งแต่นั้นมาจึงรู้ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้เกิดจากน้ำมือของพวกนอกกฎหมายที่แอบกระทำอยู่ในมุมมืดของสังคมเท่านั้น แม้แต่คนในวงการโทรทัศน์ที่น่าจะยืนอยู่ข้างความถูกต้องดีงามก็มีการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ในเวลาต่อมามีผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ทั้งรายการบันเทิง รายการข่าว และรายการพิเศษที่จัดขึ้นในโอกาสสำคัญต่างๆ นำเพลง “กำลังใจ” ที่ขึ้นต้นเนื้อร้องว่า “ในยามที่ท้อแท้ ขอเพียงแค่คนหนึ่ง จะคิดถึงและคอยห่วงใย...” ที่ผมเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง ทำนองและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ออกอากาศกันเป็นจำนวนมากโดยไม่มีการขออนุญาต บอกกล่าวและให้เครดิตในฐานะผู้ประพันธ์เพลงแต่อย่างใด             การกระทำดังกล่าวนี้บั่นทอนความรู้สึกของผม อนาถใจที่เห็นว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงมากขึ้นในแวดวงผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของผู้คนทั่วประเทศ             ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าเป็นห่วงไม่น้อยกว่าความเสื่อมถอยทางปัญญาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นใน        สังคมไทย การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับวงการเพลงและ            ผู้สร้างสรรค์ผลงานจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย      เมื่อถูกจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกที่มีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์
พูดแบบเข้าใจง่ายๆ คือคนไทยกำลังถูกต่างชาติมองว่าเป็น “หัวขโมย” ที่ถนัดเรื่องฉกฉวยทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นนั่นเอง แต่ถึงกระนั้น ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยที่ควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างค่านิยมแห่งการเคารพสิทธิของผู้อื่นกลับเป็นฝ่ายละเมิดลิขสิทธิ์เสียเอง ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับที่บรรดาผู้ผลิต CD และ MP 3 เถื่อนกระทำอยู่
            ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่เพลงของผมถูกนำไปเผยแพร่    เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในลักษณะ “ให้กำลังใจ” โดยเฉพาะการให้กำลังใจผู้ที่ประสบกับความทุกข์อย่างสาหัสจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย แต่การ “หยิบยื่น” กำลังใจให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยการ “หยิบฉวย” โดยไม่มีการขออนุญาตหรือบอกกล่าวให้ผู้ประพันธ์เพลงและเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับทราบ อีกทั้งไม่มีการให้เครดิตผู้ประพันธ์แต่อย่างใด ย่อมเป็นการกระทำที่น่าผิดหวังและถือเป็น “ภัยพิบัติทางจริยธรรม”      อันเกิดจากความมักง่ายและเห็นแก่ตัวของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงเขียนบทความ(ในใจ)นี้... ด้านหนึ่งเพื่อสะท้อนความรู้สึกลึกๆ ในช่วงเวลาที่ยาวนานเพื่อให้ท่านสื่อมวลชน เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงวรรณกรรม และนักคิดนักเขียนทั่วประเทศได้รับทราบ เผื่อว่าบางทีเรื่องราวของผมอาจนำไปใช้ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากมีท่านใดช่วยกระตุ้นจิตสำนึกผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการเคารพสิทธิของผู้อื่น และข้ามพ้นการทำงานแบบ “ขอไปที” เหมือนที่ผ่านๆ มา ก็ถือว่าได้ทำกิจอันเป็นกุศลไม่น้อยทีเดียว อีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือผมได้ส่งงานเขียนนี้ไปถึงผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หลายรายที่ได้กระทำสิ่งที่น่าละอายไปแล้ว แต่จะช่วยให้ “ได้คิด” มากน้อยแค่ไหนนั้นผมคงไม่อยากคาดหวังอะไร
ไม่ใช่ผมคนเดียวเท่านั้นที่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ควรให้ค่าในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน และเคารพในความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อให้เป็นนักแต่งเพลงที่    ไม่มีใครในประเทศนี้รู้จักก็ควร “ค้อมหัวใจ” ให้เช่นกัน ถ้าหากว่าต้องการนำเพลงของเขาไปใช้ ให้เกิดประโยชน์จริงๆ การทำหนังสือขออนุญาตหรือบอกกล่าวด้วยวาจาและให้เครดิตผู้ประพันธ์เพลงนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แล้วเหตุใดผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หลายรายการจึงไม่เลือกใช้วิธีที่ถูกต้องนี้
เพลง “ใบไผ่” ประพันธ์เนื้อร้อง ทำนอง เจ้าของลิขสิทธิ์: ฤทธิพร อินสว่าง                                                                                    บันทึกเสียง เผยแพร่และจำหน่ายครั้งแรกในผลงานของฤทธิพร อินสว่าง                                                                        *ศิลปินที่ขับร้องบันทึกเสียงเพลง “ใบไผ่” ในผลงานที่เผยแพร่และจำหน่ายโดยมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องในเวลาต่อมาคือ อี๊ด วงฟลาย, ไท ธนาวุฒิ, สุนารี ราชสีมา, วงสตาร์คอรัส, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ (ในนามศิลปิน “สหาย”), แฟ็บ เครือวัลย์ และ ผู้ขับร้องที่ไม่ระบุชื่อในผลงานของค่ายเพลง EVS
เพลง “กำลังใจ” ประพันธ์เนื้อร้อง ทำนอง เจ้าของลิขสิทธิ์: ฤทธิพร อินสว่าง    โฮป เป็นศิลปินวงแรกที่ขออนุญาตนำเพลง “กำลังใจ” ไปขับร้องบันทึกเสียงในผลงานที่เผยแพร่และจำหน่าย                  *ศิลปินที่ขับร้องบันทึกเสียงเพลง “กำลังใจ” ในผลงานที่เผยแพร่และจำหน่ายโดยมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องในเวลาต่อมาคือ อี๊ด วงฟลาย, เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, อรวี สัจจานนท์, อรวรรณ เย็นพูนสุข, โดม มาร์ติน, สุนารี ราชสีมา        หนุ่มสกล, ศุ บุญเลี้ยง (ในนามศิลปิน “สหาย”), วงคู่รัก, คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู, โฮป แฟมิลี และผู้ขับร้องที่  ไม่ระบุชื่อในผลงานของค่ายเพลง EVS                                                                                                                                                          *นอกจากนี้ยังมีการขออนุญาตนำเพลง “กำลังใจ” ไปใช้ในการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินที่มีชื่อเสียง, ประกอบภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์ขนาดสั้น และภาพยนตร์โฆษณาอีกเป็นจำนวนมาก
..............................................................www.ritthiporn.com..............................................................



มาช่วยเผยแพร่ให้ และเข้าใจความรู้สึกของคุณฤทธิพรดีครับ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สีนามิที่ญี่ปุ่น หรือน้ำท่วมภาคใต้ หรือเหตุการณ์ต่างๆ รวมไปถึงความไม่สงบในชายแดนใต้ รายการข่าวแห่งหนึ่งก็ได้ทำมิวสิกวีดีโอขึ้นมา โดยใช้เพลงต่างๆ และภาพจากเหตุการณ์ เห็นทีแรกก็สงสัยอยู่เหมือนกันครับ ว่าเขาได้ขออนุญาตเจ้าของแล้วหรือยัง?

บางคนอาจคิดว่าเรื่องแค่นี้ ช่วยๆกันไปไม่ได้หรือ ผมคงต้องตอบว่าได้ครับ แต่ก็ควรช่วยพวกเราบ้างด้วยการติดต่อขออนุญาต เพราะเจ้าของผลงานยังมีชีวิตอยู่ อย่างน้อยใส่ชื่อเป็นเครดิตก็ยังดี เด็กรุ่นหลังจะได้รู้ว่าใครแต่งใครเขียน มันเป็นเรื่องมรรยาท

คุณฤทธิพรคงทนไม่ไหวแล้วกับการถูกละเมิดซ้ำซาก จึงเขียนเป็นบทความมาบอกกล่าวกันครับ

Comment #1
Posted @17 พ.ค.54 18.08 ip : 202...202

การล่วงละเมิดทางปัญญากลายเป็นธรรมเนียมในสังคมไทยที่ใครบางคนอาจพูดว่า "ใครๆเขาก็ทำกัน" หรือ" นิดๆหน่อยๆ คงไม่เป็นไร" หรือ "ฯลฯ" และเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของคนบางคนที่หยุดนิ่งอยู่กับที่เพราะผลประโยชน์เข้ามาบดบังดวงตาและหัวใจให้มืดบอด

เช่นเดียวกับ เสรีภาพทางความคิดซึ่งทุกคนมีอยู่แล้วในตัวเองแต่มักจะลืมเลือนไป เมื่อพบว่าการเรียกร้องเสรีภาพด้านอื่นๆมันสนุก, ท้าทายหรืออาจจะได้รับผลประโยชน์มากกว่า

ประเทศของเรายังคงรอคอย พัฒนาการทางความคิดของคนใจชาติ เพื่อให้มาถึงจุดเดียวกันและก้าวเดินไปข้างหน้า ...........พร้อมกัน....

ขออวยพรให้ประชาชาติไทยก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ในเร็ววัน  ไชโย

ป.ล. บางครั้งผมก็ชอบดูหนังฝรั่งแบบแผ่นก๊อปเหมือนกัน เพราะมันถูกดี  อิอิ

แสดงความคิดเห็น

« 1430
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 59 user(s)

User count is 2436185 person(s) and 10220251 hit(s) since 23 พ.ย. 2567 , Total 550 member(s).