Blog เครื่องมือสื่อสารยุคใหม่
Blog เครื่องมือสื่อสารยุคใหม่
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com
คิดว่าเคยพูดถึงบล็อก หรือเรียกกันง่ายๆ ว่าออนไลน์ ไดอารี่ ออนไลน์มาแล้ว แต่ให้พูดถึงอีกก็ยังได้ เพราะช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ตะลุยกับการค้นหาและสร้างขึ้นมาใหม่อีกสักอัน ทั้งเพื่อเอาไว้ขีดๆ เขียนๆ เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ตให้คนอื่นๆ เข้ามาอ่าน รวมทั้งทำให้ลูกสาวใหม่อันหนึ่งด้วย แต่ดูเหมือนเธอบอกว่ายังไม่ค่อยชอบรูปแบบเท่าไหร่ ลองดูตัวอย่างได้ที่ kidtalentz.com/plog/
บล็อก มาจากภาษาอังกฤษว่า Blog หรือเรียกกันอีกอย่างว่า web log ซึ่งถ้าเรียกว่า ออนไลน์ ไดอารี่ แล้วจะเป็นที่เข้าใจง่ายขึ้นทันที เพียงอาจจะทำให้ความหมายจำกัดแคบกว่าความหมายจริงๆ ไปสักนิด
ลักษณะของบล็อกก็เหมือนกับโฮมเพจ หรือเว็บไซต์สักแห่งหนึ่ง เนื้อหาที่ปรากฏส่วนใหญ่ในหน้าแรกก็คือ สิ่งที่เจ้าของบล็อกเขียนขึ้น อาจจะเป็นบันทึกประจำวันธรรมดา เป็นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่คนคนนั้นสนใจเป็นพิเศษ หรือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ หรือที่เป็นแบบเรียกว่า เจอร์นัล ซึ่งเจ้าของบล็อกจะเขียนรายงานความคืบหน้าของเรื่องต่างๆ รวมทั้งที่ดึงเอาข่าวสารมาจากเว็บไซต์ข่าวอื่นๆ ก็มี
และส่วนใหญ่ก็จะเปิดให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะว่าไปก็มีลักษณะคล้ายๆ เว็บบอร์ด เพียงแต่บล็อกนั้นคนเปิดประเด็นคือเจ้าของบล็อก คนอื่นที่เข้ามาอ่านมีสิทธิแสดงความคิดเห็น แต่ไปตั้งหัวข้อใหม่ไม่ได้
บนหน้าเดียวกันที่มีเนื้อหาซึ่งเจ้าของบล็อกเขียนไว้ ส่วนใหญ่จะมีตารางปฏิทินกำกับของเดือนนั้นๆ คลิกเข้าไปในแต่ละวันบนปฏิทินก็ได้พบกับเนื้อหาที่เจ้าของบล็อกเขียนไว้ต่างกรรมต่างวาระ
ความนิยมที่มีต่อบล็อกในปัจจุบันต้องนับว่ามหัศจรรย์ เพราะมีคนสร้างบล็อกขึ้นมานับล้านๆ บล็อก ครอบคลุมเนื้อหามากมายมหาศาล แบบเด็กๆ อย่างในบ้านเราก็นิยมรูปแบบออนไลน์ ไดอารี่ บันทึกอะไรเรื่อยเปื่อยลงไปในแต่ละวัน ระบายอารมณ์บ้างเมื่อโดนแรงกดดันมาจากทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจากเพื่อน ครู หรือผู้ปกครอง บ้างก็เขียนสะท้อนความรู้สึกนึกคิดต่อสิ่งที่พบเห็น ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อหนังสือที่อ่าน เพลงที่ฟัง หนังที่ดู
นอกจากนั้นบล็อกยังถูกนำไปใช้ในแวดวงธุรกิจ บางบริษัทสนับสนุนให้พนักงานแต่ละคน มีบล็อกของตัวเองเพื่อเป็นการติดต่อสื่อสารทั้งภายในองค์กรสำหรับคนทุกระดับชั้น และบางบริษัทก็ใช้เป็นการสื่อสารกับลูกค้า สื่อสารทางตรงระหว่างพนักงานกับลูกค้า
บิล เกตส์ แห่งไมโครซอฟท์ เพิ่งจะมาตื่นกับบล็อกเมื่อไม่นานมานี้ เกตส์พูดถึงบล็อกอย่างให้ความสำคัญโดยเฉพาะกับการบริหารธุรกิจยุคใหม่ หลังจากนั้นไม่นานไมโครซอฟท์ก็ไปเปิดบริการบล็อกฟรีขึ้นในญี่ปุ่น ถือเป็นการทดลองอย่างหนึ่ง
ที่น่าสนใจอีกอย่างสำหรับบล็อกก็คือการใช้สำหรับการศึกษา ซึ่งด้านหนึ่งคือใช้สำหรับการเรียนการสอน อาศัยบล็อกเป็นการติดต่อสื่อสาร การอธิบายขยายความเข้าใจในบทเรียน สร้างปฏิสัมพันธ์บนช่องทางใหม่ที่สามารถเปิดได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงระหว่างครูกับนักเรียน
แน่นอนว่าผลพวงที่ตามมาของบล็อก ที่ใช้ในการเรียนการสอนก็คือช่องว่างระหว่างวัยซึ่งอาจจะแคบลงได้ เพราะเท่าที่สังเกตจากบล็อกของเด็กๆ วัยรุ่นบ้านเรา คนอ่านจะได้พบกับอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของเด็กๆ เวลาเขียนไดอารี่แล้วเด็กจะปลดปล่อยตัวตนของเขาออกมามากกว่าการพูดคุยกัน ครูบาอาจารย์ที่ไหนสนใจจะลองเอาไปใช้ดูก็ได้นะครับ เช่น ครูอาจจะทำบล็อกของตัวเองขึ้นมาสักอัน เขียนบันทึกการเรียนการสอนในรูปแบบไดอารี่ไม่ซีเรียส แล้วบอกให้นักเรียนเข้าไปอ่านไปเขียนกันดู
การสร้างบล็อกมีอยู่สองแบบ แบบหนึ่งที่ทำกันอยู่โดยง่ายก็คือ เข้าไปสมัครที่เขามีบริการฟรีอยู่แล้ว ก็แค่กรอกๆ รายละเอียดลงไปไม่กี่นาทีก็สามารถมีบล็อกของตนเองได้แล้ว
ส่วนอีกแบบคือแบบที่สร้างเองโดยต้องมีพื้นที่เซิร์ฟเวอร์อยู่เอง
หาไม่ยากหรอกครับ ลองดูตัวอย่างบล็อกของครูคนหนึ่งก็ได้ แต่เป็นภาษาอังกฤษนะครับ iteach.blogspot.com
Relate topics
- ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับสมัครงาน
- ใครจะคิดบ้างว่าอยู่ใกล้หาดใหญ่แค่นี้ แต่ไฟฟ้าเพิ่งเข้าถึง!!!
- เหนื่อยนักกับการตามลบโฆษณาในเว็บ
- ขอความอนุเคราะห์ประชาสัมพันธ์ เวบไซท์ของชุมชนหลังบิ์กซี เทศบาลคลองแห
- แนะนำโฮมเพจอ่นนิยายฟรี
- เว็บไซท์ 'หมี่เป็ด' เหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง
- ส่งภาพสมาชิกได้ด้วยนะ
- ถามแหล่งงานหน่อย ครับ แนวโปรแกรมเมอร์ ที่หาดใหญ่
- คำแก้ตัวจากนายหมี ความจริงไม่ใช่ความผิดของผม
- การสมัครสมาชิกกับเว็บหมี่เป็ด