อำนาจของวรรณกรรม?

by หมี่โต๊ะสาม @25 พ.ย.46 21.15 ( IP : ) | Tags : กระดานข่าว

เป็นคำถามสุดฮอตและฮิตมานานนม  จนกระทั่งปัจจุบันคำถามนี้ดูเหมือนจะถูกลบเลือนหายไปอย่างไร้ความสนใจ


ผมไม่ได้มานั่งทบทวนว่าเมื่อก่อนคำถามนี้เคยเป็นคำถามร้อนแรงเพียงใด

เพียงแค่อยากรู้ว่าคุณคนที่เข้ามา ณ ที่นี้  ตีความคำว่า "อำนาจวรรณกรรม"  อย่างไร  และเช่นไร


ผมขอเป็นผู้นั่งฟังเงียบๆก่อนได้ไหม?  ด้วยนี่เป็นกระทู้ถามเอาจากคุณทุกคน    ซึ่งผมจะคิดยังไงและอย่างไรนั้น-ค่อยมาต่อหลังจากรับฟังคุณๆทั้งหลายครับ

Comment #1
Posted @26 พ.ย.46 11.47 ip :

อยากเห็นอำนาจวรรณกรรม ลองไปดูตามหาวิทยาลัย อิทธิพลของการ์ตูน Japan ซับซาบไปทั่ว ร้านหนังสือเช่าการ์ตูนหน้ามหาวิทยาลัยมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ การ์ตูนนิสต์ติดกันงอมแงม อ่านจบเล่มหนึ่ง รอออีกเล่มฉบับหน้า มันเป็นอำนาจวรรณกรรมไหมหนอ?

ฤ ผมเข้าใจผิดเป็นอื่นไป

Comment #2
กิรณี (Not Member)
Posted @27 พ.ย.46 11.30 ip :

ขอบคุณพี่หมี่ค่ะ สำหรับกระทู้เบิกโรงชื่อลึกซึ้งถึงใจคนอ่าน (แซว..) เลยขอแจมด้วยความคิดจากสมองกระจิดริดของตนเองสักหน่อย หากคุณภาพของแนวคิดและการอ้างอิงจะอยู่ในระดับที่ด้อย คนเขียนขอน้อมรับข้อบกพร่องนั้นอย่างเต็มใจค่ะ

มองคำจำกัดความของ  อำนาจวรรณกรรม ออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ ในรูปของอิทธิพลแฝง ที่ส่งผ่านองค์ประกอบทางวัฒนธรรม ซึ่งยังคงแทรกตัวอยู่คู่กับพลวัตรของสังคมไทยทุกยุคสมัยค่ะ ซึ่งจะส่งผลชัดเจนหรือไม่ขึ้นอยู่กับค่านิยมและสภาพสังคมในขณะนั้น หากพิจารณากันดูดีๆ จะพบว่าทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะไปจนถึงวรรณกรรมลายลักษณ์ที่เรารู้จักนั้น มีไม่น้อยเลยที่เป็น ขุมพลังแห่งศาสตร์และศิลป์ร่วมสมัย อย่างมิอาจปฏิเสธได้ ตัวอย่างที่พอจะเห็นได้ชัดเจนก็เช่น

1.  อำนาจวรรณกรรมในฐานะเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดแนวคิดและปลูกฝังมโนทัศน์ เพราะในความเป็นจริง วรรณกรรม มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่คงสถานะความเป็นวรรณกรรมอยู่ได้โดยอาศัย ผู้สร้าง และ ผู้อ่านหรือผู้เสพ อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า ไตรภูมิ  เนื่องจากวรรณกรรมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ และมนุษย์ต่างถูกหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไตรภูมินี้มีความเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ (เจตนา นาควัชระ)

เมื่อการถ่ายทอดแนวคิดหรือการปลูกฝังมโนทัศน์ก็ดี จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือ  จึงเป็นที่มาของการนำเอาวรรณกรรม มาเป็นกุศโลบายอันแยบยลในการถ่ายโอนแนวคิด ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดารหรือตำนานสดุดีวีรชนของชาติ ซึ่งถ่ายทอดความห้าวหาญและเสียสละผ่าน ฮีโร่ ซึ่งเป็น คนเก่ง-คนดี ทั้งในหมู่ชนชั้นกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้นำประเทศหรือสามัญชนอย่างชาวบ้านบางระจัน ให้คนไทยได้ภูมิใจในเกียรติและเอกราชของชาติเรื่อยมาท่านว่าจริงไหม?

แม้แต่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ต่างยุคอย่างเช่น กรุงแตก ของหลวงวิจิตรฯ ไปจนถึง ไปเก็่บแผ่นดินที่สิ้นชาติ ของ นายพันดี ในยุคสหัสวรรษ ต่างก็สร้างกระแสแนวคิดเตือนชนรุ่นหลังให้รู้รักสามัคคี  แม้ว่าวรรณกรรมหลายๆ ชิ้นของหลวงวิจิตรฯ จะเกิดขึ้นเพื่อสนองนโยบาย ลัทธิชาตินิยม ของจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ตามที  (ซึ่งจะว่าไปนี่ก็ถือเป็นอำนาจวรรณกรรมต่อสังคมยุคนั้น)  หรือเอาง่ายๆ ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด ประโยคหนึ่งจากเพลงชาติ ที่ปลูกฝังมโนทัศน์ ขัดเกลาจิตสำนึกของชาวไทย ให้พึงวางตนเป็นชนชาติเรียบร้อยรักสันติ ไม่รุกรานผู้ใด (แต่เขมรอย่ามาเผาธงชาติหยามกันอีกนะเฟ้ย...ทำนองนั้น)

2.  อำนาจวรรณกรรมในฐานะต้นกำเนิดของศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ด้วยเหตุที่คนเขียนเติบโตมากับนาฏศิลป์และดนตรีไทย จึงใคร่ขอยกตัวอย่างของการแตกยอดทางวรรณกรรมของวรรณคดีเรื่อง พระลอ อันถือกำเนิดจากบทประพันธ์ร้อยกรองโดยกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ซึ่งต่อมาได้รับการเพิ่มคุณค่าทางวรรณศิลป์ เมื่อมีผู้ประพันธ์ดนตรีไทยโดยใช้เครื่องสาย ที่ให้กลิ่นอายเอกลักษณ์พื้นเมืองภาคเหนือตามท้องเรื่องเป็นสื่อ รวมทั้งชุดของบทร้องและทำนองที่รู้จักกันดีในชื่อ ตับพระลอ เช่น ลาวดำเนินทรายและลาวจ้อย (ไก่ฟ้า) เป็นต้น

เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อให้เกิดความบันเทิงรื่นรมย์ จึงได้มีการประดิษฐ์ท่ารำขึ้นมาเพื่อให้เป็นบทละครที่สมบูรณ์แบบ จึงเป็นที่มาของนาฏศิลป์ที่มีลีลาชดช้อยอย่าง ฟ้อนรัก ฟ้อนแพนและระบำไก่ ให้คนรุ่นหลังได้ยินยล เหล่าศิษย์ทางนาฏศิลป์และดนตรีไทยย่อมทราบดีว่าเทคนิคการจัดเครื่องทรงให้ ถูกสี นั้นศึกษาได้จากบทร้อยกรอง สวัสดิรักษา ของสุนทรภู่ ซึ่งแม้แต่สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ จอห์น โรเบริ์ต พาวเวอร์ส ก็ยังยืนยันว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเลือกจับคู่สีเสื้อผ้าได้จนถึงปัจจุบัน  และที่กำลังฮิตกันอยู่ในขณะนี้ในเรื่อง พลอยบำบัด หรือการประดับอัญมณีให้ถูกโฉลกกับราศีเกิดนั้น แท้จริงมีมานมนานแล้วค่ะ ไม่เชื่อก็ลองไล่ศึกษาเนื้อเพลง ระบำนพรัตน์ ทีละประโยคดูเถิด ไม่ต้องปรึกษาดาราสาวเจ้าของร้าน มณีปุรา เสียให้ยุ่งยาก

เป็นที่รู้กันว่าระบำโบราณคดีทั้ง 7 ชุดให้ประโยชน์สองต่อแก่ผู้รับต่อเพลง คือนอกจากได้ต่อท่ารำที่ประดิษฐ์ขึ้นจากรูปจำลัก หรือประติมากรรมในเทวสถานแล้วยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลป์ไปในตัว เช่น การลำดับช่วงเวลาที่อาณาจักรต่างๆ เคยรุ่งเรืองในอดีต การแยกความแตกต่างของเอกลักษณ์ทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้คนในแต่ละยุค ซึ่งได้รับอิทธิพลจากดินแดนใกล้เคียง ทีนี้ก็เที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ ชมการแสดงแสงเสียงสนุกขึ้นเป็น เรียกว่าสนองนโยบาย unseen in Thailand อย่างมีคอนเซ็ปท์ไงคะ

Comment #3
กิรณี (Not Member)
Posted @27 พ.ย.46 11.32 ip :

3.  อำนาจวรรณกรรมทั้งในฐานะองค์ความรู้และแหล่งความรู้  (Knowledge and Knowhow &นี่)

ขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญาดีๆ นี่เองค่ะ ไม่เชื่อลองนึกถึงบทสวดทำนองสรภัญญะที่เคยขับสมัยมัธยมดูสิคะ สังเกตให้ดีๆ มีฉันทลักษณ์ไม่ต่างจากร้อยกรองไทยเลย ทั้งกลอนแปดและกาพย์ยานี 11 ด้วย นั่นยืนยันถึงอำนาจวรรณกรรม ที่มีแทรกอยู่แม้แต่ในองค์ประกอบของพิธีกรรมทางศาสนา อย่างมิอาจปฏิเสธได้ จริงไหม?

วรรณกรรมมุขปาฐะอย่างเพลงกล่อมเด็กนี่ ก็ให้อะไรมากมายทั้งในเชิงสังคมศาสตร์และจิตวิทยา  คุณเกิดทันเพลงกล่อมเด็กที่ชื่อ วัดโบสถ์ กันหรือเปล่า.....วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ มีต้นโตนดอยู่เจ็ดต้น เจ้าขุนทองไปปล้น.......นั่นล่ะค่ะ ใช่เลย  ขอยกท่อนที่ว่า  เจ้าขุนทองตายแล้ว เหลือแต่กระดูกแก้ว เมียรักจะไปปลง ขุนศรีจะถือฉัตร ยุกกระบัตรจะถือธง ถือท้ายเรือหงส์ ปลงศพเจ้าพ่อนา.... จะพบว่า ไม่ว่าเจ้าขุนทองบ้านเราหรือจะโรบินฮู้ดของฝรั่งก็ตาม อุดมคติของสังคมเชิดชูวีรบุรุษจากสิ่งเดียวกัน คือเจตนารมณ์ของการทำความดีนั่นเอง

อันนี้แปลกแต่จริง  พบว่ามีนักบริหารที่มีชื่อเสียงแห่งโลกตะวันตกไม่น้อย ที่สนใจศึกษาตำราพิชัยซุนวู และสามก๊กอย่างเอาจริงเอาจัง ด้วยเห็นว่าเป็นศาสตร์สากลที่สามารถเอื้อประโยชน์ ในเชิงกลยุทธิ์ด้านการบริหารจัดการ อีกทั้งสอนกระบวนการคิดและตัดสินใจอย่างเป็นระบบอยู่ในที เป็นการยืนยันว่าองค์ความรู้ที่ตกทอดมาจากอดีต ในรูปวรรณกรรมนั้นยังคงส่งอิทธิพลมาถึง การประยุกต์ยุทธศาสตร์ให้เข้ากับปรัชญา การทำงานของคนอย่างไร้พรมแดนทางวัฒนธรรมจนทุกวันนี้

ถ้ายังไม่หนำใจก็จะยุให้อ่านกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานกันดูสักครั้ง จะประจักษ์แจ้งถึงความมหัศจรรย์ของภูมิปัญญาแม่บ้านกุลสตรีไทย ที่เวิร์คกิ้ง วู้แม่นทั้งหลายในยุคนี้ต้องอายหลบตกขอบไปเลย ให้มันรู้กันไปว่าหญิงไทยโบราณนอกจาก เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง แกร่งจริงหนอ แล้ว ยังมีความเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักสร้างสรรค์ศิลปะ (creative) ชั้นยอดอยู่ในสายเลือดมาแต่บรรพกาล ไล่มันตั้งแต่การรู้จักสรรหา คัดเลือกวัตถุดิบและทรัพยากร และใช้ให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดทั้งคุณค่าทางโภชนาการ และการสร้างมูลค่าเพิ่มของชิ้นงานด้วยคุณค่าทางสุนทรียภาพ ที่บ่งบอกถึงอารยะธรรมและรสนิยมการบริโภคที่ไม่เป็นสองรองใคร ศิลปะการทำอาหารของฝรั่งเศสที่ว่าแน่ก็เหอะ เจอกับเสน่ห์ปลายจวักครัวชาววังบางกอกเป็นชิดซ้าย มีอย่างที่ไหนขนาดผลน้อยหน่าสุกยังสามารถประดิดประดอยได้..... ขอบอก


4.  อำนาจวรรณกรรมด้านการสร้างความสะเทือนใจ อันนำสู่การ แปรรูป ผ่านสื่อสาธารณะในทางศิลปะมหาชน

พบว่าวรรณกรรมมากมายที่น่าประทับใจ และได้รับความนิยมจนมีผู้นำไปแปรรูปเป็นละครทีวีก็ดี ละครเวทีก็ดีหรือแม้แต่ภาพยนตร์ เป็นการกระตุ้นให้ความคิดรวบยอดของวรรณกรรมนั้นๆ ที่ผู้ประพันธ์ต้องการนำเสนอ ถูกถ่ายทอดให้เกิดเป็นมโนทัศน์ของสาธารณชนในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนถึงพลวัตรของสังคมคติ และวัฒนธรรมการบริโภคสื่อเพื่อความบันเทิงในสังคมนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี  โรเมโอ-จูเลียต, คู่กรรม ไปจนถึง เมืองมายา เดอะ ซีรีส์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

อำนาจวรรณกรรมที่ส่งอิทธิพลต่อตัวบุคคลก็มีไม่น้อย เล่าสู่กันฟังถึงเมื่อครั้งที่คนเขียนศึกษาอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์  สำหรับคนที่นั่นแล้วเดือนเมษายนแทบทั้งเดือน คือฤดูกาลที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้และเปรียบเสมือนเครื่องหมาย แสดงถึงบทเรียนจากความโหดร้ายในครั้งนั้นก็คือ วรรณกรรมที่เกิดจากสมุดบันทึกของแอนน์ แฟรงค์ เด็กหญิงชาวยิวผู้ใช้ชีวิตอยู่ในฮอลแลนด์ในเวลานั้น และได้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ลงในสมุดบันทึกของตนนับตั้งแต่เหตุการณ์ได้เริ่มต้น ไปจนถึงระหว่างที่หลบซ่อนตัวจากเกสตาโปจ นกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งอิสรภาพ

วรรณกรรมเรื่องนี้นอกจากจะถูกนำมา แปรรูป ให้เป็นศิลปะมหาชนทั้ง 3 แขนงเพื่อเผยแพร่สร้างกระแสเชิดชูสันติภาพในฤดูกาลดังกล่าว ของทุกปีแล้ว ยังได้รับการแปลเป็น 44 ภาษารวมทั้งภาษาไทย (ฉบับดั้งเดิมโดย ธ. นาวิน) เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจถึงบทเรียนในอดีตแก่ชนทั่วโลก และได้ถูกบรรจุให้เป็นหนังสือนอกเวลา สำหรับหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นในหลายๆ ประเทศทั่วสหภาพยุโรป

ด้วยอิทธิพลรุมเร้าของสื่อรอบตัวในขณะนั้น ทำให้คนเขียนแม้จะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อเหตุการณ์สูญเสียที่เกิดขึ้นในอดีต ยังต้องยอมรับว่ามีอารมณ์สะเทือนใจ ร่วมไปกับวาระรำลึกดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่ยิ่งกว่านั้นคืออดไม่ได้ที่จะศึกษาวรรณกรรมเล่มที่ว่าแล้ว เดินทางไปเยี่ยมชมยังสถานที่ต่างๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือด้วยความอยากรู้อยากเห็น จนครอบครัวอุปถัมภ์ในขณะนั้นออกจะประหลาดใจอยู่ไม่น้อย วันสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย พ่ออุปถัมภ์เดินทางมาส่งที่สนามบิน ก่อนจากได้ยื่นหนังสือเรื่องบันทึกของแอนน์ แฟรงค์ ฉบับภาษาดัทช์ให้หนึ่งเล่ม พร้อมกับบอกในสิ่งที่จดจำได้ขึ้นใจว่า ชีวิตนี้ขอให้เข้มแข็งและอดทนได้สักครึ่งหนึ่งของแอนน์ แฟรงค์ แล้วจะอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จ

ถ้อยคำข้างต้นกลายมาเป็นข้อคิดที่ส่งผลต่อทัศนคติ และมุมมองการดำเนินชีวิตของคนเขียนในหลายๆ ด้านนับแต่นั้น ซึ่งที่แน่ๆ มันคืออิทธิพลของอำนาจวรรณกรรมอย่างมิอาจปฏิเสธได้

Comment #4
กิรณี (Not Member)
Posted @27 พ.ย.46 11.33 ip :

กล่าวโดยสรุป  อำนาจวรรณกรรมจะว่าไป ก็เหมือนกลุ่มดาวในจักรราศีที่ยังคงโคจรอยู่บนท้องฟ้า จะเห็นได้ชัดเจนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของดินฟ้าอากาศ ทว่าส่งอิทธิพลไม่มากก็น้อยต่อทั้ง คติความเชื่อ พิธีกรรมต่างๆ ของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งการทำนายเหตุการณ์ในอนาคต และยังมีส่วนในการกำหนดวิถีชีวิตของมวลมนุษยชาติในทุกๆ สังคมอย่างแทบแยกไม่ออก เป็นทั้งองค์ประกอบพื้นฐานของศิลปวิทยาการในสหสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นอักษรศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์และจิตวิทยา

ตราบใดที่นักดาราศาสตร์ยังคงศึกษาวิทยาศาตร์จากดวงดาว นักเดินเรือและชาวประมงยังเรียนรู้เส้นทางจากการสังเกตดวงดาว ในขณะที่นักโหราศาสตร์พยากรณ์เรื่องราวจากลักขณาสถิตของดวงดาว ศาสตร์สากลนี้ก็จะยังคงแทรกซึม และถูกถ่ายทอดในรูปขององค์ความรู้และภูมิปัญญาไปยังผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น

อย่างไรก็ตาม อำนาจวรรณกรรมก็เฉกเช่นอำนาจอื่นๆ ที่เป็นเสมือนเครื่องมือซึ่งสามารถชี้นำความคิด และให้คุณให้โทษแก่สังคมได้ ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องมือนั้นๆ จะถูกนำไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์หรือบ่อนทำลาย  จริงอยู่ ตัววรรณกรรมเองมีส่วนสำคัญไม่น้อยต่อพลวัตร และปรากฏการณ์ทางสังคมในทุกยุค แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทัศนคติ และวิจารณญาณของผู้ใช้เครื่องมือโดยมีการตีความบนพื้นฐานของเหต ุและผลเป็นเครื่องขัดเกลา และรองรับการกระทำหรือวิถีทางในการใช้ประโยชน์จากอำนาจวรรณกรรม อีกชั้นหนึ่งนั่นเอง

Comment #5
หมี่เป็ด ไอ้รูปหล่อ (Not Member)
Posted @27 พ.ย.46 21.21 ip :

ลุกขื้นยืน  และปรบมือให้กับคำตอบของ เจ้ย  ครับ

Comment #6
อัญชา (Not Member)
Posted @27 พ.ย.46 23.16 ip :

ชอบคำตอบของเจ้ยข้อ 2-3 มากเลย เห็นด้วย ๆ

มีเสริมอีกนิด ถ้าจะพูดถึงอิทธิพลทางภาษาแล้วล่ะก็ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีการสอดแทรกเรื่องบาปบุญคุณโทษอยู่ด้วย และการใช้คำของคนไทยก็ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมมาก เห็นได้ชัดจากที่ คนไทยนิยมพูดคำคล้องจอง

สะท้อนภาพทางด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดีไทยมี "ปรับ" ไปตามสภาวะการเมืองในช่วงนั้น ๆ อย่างในสมัยรัชกาลที่ 1 บ้านเมืองยังอยู่ในช่วงศึกสงคราม  วรรณคดีจะเป็นไปเพื่อ การจดบันทึกเพื่อรักษาและรวบรวมของเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า  มีต้นฉบับวรรณคดีมากมายที่สูญหายไป  รัชกาลที่ 1 จึงทรงระดมปราชญ์-กวี มาจดบันทึกขึ้นมาใหม่  โดยมีวรรณดีที่สำคัญคือเรื่อง รามเกียรติ์

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 2-3 บ้านเมืองเริ่มว่างเว้นจากศึกสงคราม  วรรณคดีในช่วงนี้จะมีความปราณีตทางภาษามากขึ้น  รามเกียรติ์ในยุคนี้ถูกแก้ไขปรับปรุงทางด้านภาษาจนมีความสละสลวยมากขึ้น  และเนื่องด้วยอยู่ในภาวะที่ปลอดจากศึกสงครามนี้เอง ทำให้พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชดำริที่ปลอบขวัญประชาราษฎร์ จึงเริ่มมีการประดิษฐ์ท่ารำประกอบการแสดง ทั้งเพื่อความรื่นเริงในพระราชสำนักและเพื่อความบันเทิงของประชาชน

ช่วงรัชกาลที่ 4-5 ยุคล่าอาณานิคม  ชาติตะวันตกเริ่มทวีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น  ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและการปกครอง วัฒนธรรมตะวันตกเผยแผ่เข้ามาในไทยมากขึ้น  วรรณคดีในช่วงนี้จะไม่มุ่งเน้นเพื่อความสำราญแต่เพียงอย่างเดียว  แต่จะมีการสะท้อนวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของชนพื้นบ้าน ตลอดจนมีการจดบันทึกเรื่องราวภายนอกประเทศมากขึ้น  ดังจะเห็นได้จาก จดหมายที่ทรงพระอักษรขณะเสด็จประพาสยุโรปของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5  แต่ในระหว่างนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง เงาป่า ไปด้วย

ครั้นล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงที่วรรณคดีไทยมีความเจริญจนถึงขีดสุด เพราะมีการตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้นเป็นครั้งแรก  มีการจำแนกแยกแยะวรรณคดีออกเป็นประเภทต่าง ๆ อย่างมีระบบ  ในช่วงต้นรัชกาล บ้านเมืองสงบสุข มีบทพระราชนิพนธ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น มัทธนพาทา  เรื่องแปล เวณิชวาณิช  แต่ในช่วงปลายรัชกาล ซึ่งเริ่มเข้าสู่สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง  วรรณกรรมเริ่มมีลักษณะเป็นไปเพื่อปลุกขวัญและกำลังใจของประชาชน ดังจะเห็นได้จาก พระราชนิพนธ์เรื่อง หัวใจนักรบ  หรือแม้แต่เพลงสามัคคีชุมนุมที่พวกเรารู้จักกันดีก็เกิดขึ้นในรัชกาลนี้

มาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 อิทธิพลอันเนื่องมาจากการที่ข้าราชบริพารไทยได้ไปศึกษาในต่างประเทศ ทำให้ได้รับอิทธิพลของคำว่า "ประชาธิปไตย" มาเต็มทรวง  วรรณกรรมช่วงนี้ไม่มีอะไรเด่นนัก  จะมีก็เป็นข้อเขียนสะท้อนความคิดเห็นทางด้านการเมืองเสียมากกว่า

นี่ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากลักษณะของวรรณคดีในช่วงเวลานั้น ๆ  ซึ่งประวัติศาสตร์ถูกบันทึกลงด้วยวรรณกรรมผ่านทางชิ้นงาน และข้อเขียนต่าง ๆ มากมายจนถูกกลั่นกรองออกมาเป็นตัวอักษรในรูปแบบต่าง ๆ กัน  ปัจจุบันมีวรรณกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายและด้วยความเสรีในการแสดงความคิด  รูปแบบของวรรณกรรมจึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามยุคสมัย  กลอนเปล่าหรือกลอนแปลก หรือกลอนไม่ใช่กลอน สารพัดคำจะจำกัดความ  วรรณกรรมยุคปัจจุบันที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นไทยในยุคนี้มาก คือ วรรณกรรมเพลง  สารพัดเพลงที่เขียนออกมา ไม่มีสุข เศร้า เหงา รัก อกหัก สมหวัง  หรือชีวิตรันทด  เหล่านี้ล้วนสะท้อนภาพความคิดของคนในสังคมได้ในระดับหนึ่ง  ลักษณะของ "เพลงตลาด" เป็นไปเพื่อความบันเทิงใจ น้อยนักที่จะให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต  ออกจะเน้นไปทางความโก้เก๋มากกว่า  ในขณะที่วัฒนธรรมเพลงท้องถิ่นก็กำลังพยายามดิ้นรนเพื่อรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวไว้อย่างถึงที่สุด

อ่ะค่ะ ออเดิร์ฟอ่ะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมาเท่านั้นเองอ่ะค่ะ :d

Comment #7
อัญชา (Not Member)
Posted @27 พ.ย.46 23.19 ip :

อ๊ากกกกกกกกกก แก้คำผิดค่ะ เรื่อง เงาะป่า นะคะ มะใช่ เงาป่า
//พิมพ์ตกอ่ะค่ะ - - ""

Comment #8
ปุถุชน (Not Member)
Posted @28 พ.ย.46 11.04 ip :

อำนาจวรรณกรรม ทำให้ผมชอบอ่านในสิ่งที่ผมอยากจะอ่าน และละไม่อ่านในสิ่งที่ผมคิดว่าไม่จำเป็นต่อตัวผม (เขาตอบกันยาว ๆ จริง ฮา ไม้ยมก)

Comment #9
หมี่โต๊ะสาม (Not Member)
Posted @28 พ.ย.46 20.55 ip :

แล้วอำนาจของวรรณกรรม  ก็ถูก "อัญชา" ย้ำอีกครั้งด้วยการเสนอสังคมที่มีผลกระทบโดยตรง    เป็นการยืนยันว่าสังคมกับวรรณกรรม  หรือให้ถูกต้องที่สุด  สังคมกับศิลปวัฒนธรรมนั้น-เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เพราะวรรณกรรมและศิืลปะทั้งปวงมีความเป็นพลวัตร  มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงถ่ายเทสู่กัน  มีพลังบางอย่างที่พร้อมจะผลักดันสังคมให้ก้าวไปสู่อุดมคติบางอย่าง  มุมกลับ-แม้สังคมจะเป็นผู้ขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรม  แต่ศิลปวัฒนธรรมนี่แหละ  ที่จะเป็นรูปธรรมยืนยันถึงความเคลื่อนไหวนั้นนั้นได้ดียิ่ง

อัญชาพูดถึงสังคม  ในขณะที่ ปุถุชน  พูดในแง่ของปัจเจก  คำตอบในลำดับที่ ๑ ของปุถุชน    การ์ตูนนั้นจัดเป็นวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น  ญี่ปุ่นมีการใช้การ์ตูนสื่อความคิด-ปรัชญามานมนาน    กระทั่งปัจจุบันการ์ตูนก็ยังคงได้รับการถ่ายทอดสู่สังคมอย่างสม่ำเสมอ    มีนักอ่านการ์ตูนหลายท่านที่พบว่า  การ์ตูนญี่ปุ่นนั้นดีเยี่ยมยิ่งกว่าวรรณกรรมหลายต่อหลายเรื่องที่เขาเคยอ่าน

การ์ตูนจัดเป็นวรรณกรรมได้ไหม?

ได้แน่นอน  ถ้าเรายังจัดบทกวีรูปของ จ่าง  แซ่ตั้ง  เป็นวรรณกรรมได้

Comment #10
คนไท (Not Member)
Posted @26 ธ.ค.53 15.11 ip : 125...53

comment#9 เห็นด้วย คิดตรงกันกับเค้าเลยอ่ะ แล้วอีกอย่างป่านนี้ยังไม่เข้าใจบทกวีของ จ่าง  แซ่ตั้ง เลยอ่ะ  สงสัยอารมณ์ศิลปินของเค้ามันอยู่ลึกมาก ขุดไม่ถึงสักที

แสดงความคิดเห็น

« 1430
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 75 user(s)

User count is 2435459 person(s) and 10214787 hit(s) since 23 พ.ย. 2567 , Total 550 member(s).