พัฒนาการของสกุลวรรณกรรม
ดูเหมือนปัจจุบัน วรรณกรรมกับสังคมจะแยกห่างออกจากกันสิ้นเชิง ไม่สอดคล้องผูกพันเหมือนเช่นเคยเป็นและควรเป็น คล้ายๆมันจะเป็นความแปลกแยกแปลกหน้าต่อกัน มันเกิดอะไรขึ้น? เรื่องนี้คงต้องพูดกันยาว ตั้งแต่เรื่องของจักรวรรดินิยมวัฒนธรรมข้ามชาติที่รุกรานเข้ามา เรื่อยไปจนกระทั่งเรื่องของโครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจสังคม กระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยม มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
วรรณกรรมคือเรื่องราวบอกเล่าผ่านตัวหนังสือ เป็นการแสดงความคิดเห็นและทัศนะต่อเรื่องหนึ่งๆ นั่นแน่นอนว่างานเขียนทุกชิ้นย่อมผูกพันแนบแน่นอยู่กับยุคสมัยและสังคมนั้นๆ มันอาจบอกเล่ากันอย่างตรงๆ หรืออ้อมค้อมปกปิดกลบเกลื่อนให้หลงเข้าใจไปอีกทางหนึ่ง แต่ที่สุดแล้ว แก่นแกนของมันก็จะสะท้อนเพียงความคิดและทัศนะที่มีต่อสังคมยุคสมัยนั้นนั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง นวนิยายเรื่องบ้านทรายทองเองก็อยู่ในขอบข่ายนี้ โดยตัวหนังสือของ ก. สุรางคนางค์ ทำให้ผู้อ่านหลงเข้าใจประเด็นผิดไปว่าเป็นเรื่องรักล้าหลัง จนมีผู้หลงเข้าใจผิดมากมายนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เป็นละครตามมา ยิ่งขยายความหลงเข้าใจผิดไปกันใหญ่โต ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด ที่ผู้อ่านจะหลงเข้าใจผิดประเด็น เพราะการตีความมันขึ้นอยู่กับปูมหลัง,องค์ความรู้เดิม,ทุนการใช้ชีวิตและรสนิยมของแต่ละคน แต่นักอ่านที่มีองค์ประกอบพื้นหลังต่างจากนี้ เขาย่อมเข้าใจดีว่านั่นเป็นนิยายการเมืองเข้มข้นที่สุดในยุคสมัยที่ผ่านมา
ขนบจารีตประเพณีศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตของผู้คน ย่อมยึดโยงผูกติดอยู่กับสังคมในสังกัด เป็นตัวบ่งชี้สภาพสังคมในห้วงเวลาหนึ่งและพื้นที่หนึ่ง ปัจจุบันก็เช่นกัน ความคล้ายๆจะแปลกแยกแปลกหน้า ความเหมือนๆกับว่าวรรณกรรมจะแยกตัวห่างออกจากสังคม มันก็เป็นเพียงแค่ความคล้ายๆความเหมือนกับว่าเท่านั้น เพราะที่จริงมันกำลังสะท้อนสภาพสังคมของเราได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว
คำกล่าวหาที่ว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ หรืออ่านกันเพียงคนละแปดบรรทัดต่อปี ดูจะเป็นการสบประมาทและหมิ่นแคลนภูมิปัญญาสังคมไทยเหลือเกิน โดยเฉพาะการชี้นิ้วไปที่เด็กรุ่นใหม่ว่าไม่อ่านหนังสือที่เปี่ยมสติปัญญา คำกล่าวหานี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะหนังสือจาก สนพ.ใยไหม,แจ่มใส,เลมอน,อักขระบันเทิง ล้วนแล้วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของ สนพ. เหล่านี้ก็คือวัยรุ่นคือเยาวชน เราต้องปล่อยให้เด็กเหล่านี้อ่านในสิ่งที่เหมาะกับวัยกับยุคสมัยของเขา เพราะมันจะเป็นก้าวแรกของการสั่งสมนิสัยรักการอ่าน เพื่อวันข้างหน้าเด็กเหล่านี้จะได้พัฒนาการอ่านไปสู่วรรณกรรมที่เข้มข้น มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กเหล่านี้จะอ่านหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวของการ์เบรียล กาเซย์ มาเกซ อ่านพี่น้องคารามาซอฟของดอสโตเยฟสกี้ อ่านสงครามและสันติภาพของตอลสตรอย หรือกระทั่งอ่านนิตยสารรวมเรื่องสั้นนักเขียนไทยช่อการะเกด ความรักของเด็กอายุ ๑๘ ย่อมแตกต่างไปจากความรักของคนอายุ ๔๐ อย่างแน่นอน แม้เขาจะอ่านนิยายรักเรื่องดวงตาที่สามของแดนอรัญ แสงทองแล้วชื่นชอบก็ตามที แต่เขาก็ย่อมชื่นชอบกล่องไปรษณีย์สีแดง ของอภิชาต เพชรลีลา ที่นำมาสร้างเป็นหนังชื่อเพื่อนสนิทมากกว่า ทุกๆการอ่านมันจะตกตะกอนนอนก้น จนเมื่อมากพอมันก็จะกลายเป็นระบบวิธีคิดที่ชัดเจนของคนคนหนึ่ง แน่นอนที่มันย่อมใช้เวลา การอ่านของเด็กวัยนี้สะท้อนสภาพสังคมของพวกเขา สังคมที่ซ้อนอยู่กับสังคมของผู้ใหญ่ ดำเนินควบคู่กันไปตามโครงสร้างใหญ่โตของสภาพสังคมองค์รวม
กว่าจะมาเป็นวรรณกรรมแนวแอ๊บแบ๊วคาวาอี้ในปัจจุบัน โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตมานับครั้งไม่ถ้วนนี้ ได้สั่นสะเทือนวรรณกรรมมากมายตามมา เมื่อครั้งที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารได้กระทบไปทุกภาคส่วนของสังคมทั่วโลก ชนชั้นนายทุนได้เข้ามามีบทบาทอำนาจชี้นำและการปกครองแทนที่ศักดินา ได้ทำการบุกเบิกสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เป็นของตนอย่างมีลักษณะเฉพาะ รุกล้ำก้าวล่วงไปยังพื้นที่ของเจ้าที่ดิน การแต่งกายที่ออกแบบให้มีความสง่างามทัดเทียมกับชุดราชสำนัก อิริยาบถต่างๆที่ถูกบัญญัติพิธีรีตองให้เข้มขลังทัดเทียมกับราชพิธี ยื้อแย่งอำนาจชี้นำของกษัตริย์ที่อิงอยู่กับกองทัพ ให้เป็นอำนาจของชนชั้นใหม่นายทุนที่เงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุด และที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญสุด ได้ถูกยึดครองเปลี่ยนมือแทนที่ รวมกับสภาพของสถาบันกษัตริย์ในแต่ละประเทศกำลังง่อนแง่นอับจน เหล่านี้คือการก่อเกิดขึ้นมาของชนชั้นใหม่ที่เรียกกันว่าชนชั้นกลาง
ชนชั้นกลางรุกคืบแทนที่ศักดินาอย่างได้ผล ปราสาทราชวังจำนวนไม่น้อยในยุโรปได้ถูกถ่ายเทไปสู่เอกชน มันกลายเป็นโรงแรม บ้านพักตากอากาศ สถานที่รับรอง และฉากภาพยนตร์ไปอย่างง่ายดาย รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมต่างๆก็ถูกชนชั้นกลางสร้างขึ้นมาแทนที่ของเดิมที่ราชสำนักเคยยึดครอง
ในส่วนของวรรณกรรมเองนั้น ชนชั้นกลางได้สร้างวรรณกรรมแนวใหม่ขึ้นมา มันถูกออกแบบให้มีรสนิยมใกล้เคียงกับวรรณกรรมของราชสำนัก วรรณกรรมสกุลโรแมนติกได้เผชิญหน้ากับวรรณคดีคลาสสิกอย่างท้าทาย งานเขียนเรื่องสั้น,นิยาย,บทกวีสกุลโรแมนติกได้เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วกว้างขวาง วรรณกรรมโรแมนติกยุคนี้จำลองวิถีชีวิตรสนิยมของยุควิกตอเรียในศตวรรษที่ ๑๗ ปรับเปลี่ยนเรื่องของจักรๆวงศ์ๆให้เป็นเรื่องของพ่อค้านายทุน การเผชิญหน้าเป็นไปอย่างดุเดือด และเนื่องจากราชสำนักทั้งหลายกำลังอ่อนแอทั้งในแง่ของความมั่งคั่งมั่นคง จึงเป็นการง่ายที่โรแมนติกจะยึดครองพื้นที่วรรณกรรมได้มากกว่าคลาสสิคที่ปิดตัวเองให้อ่านกันเพียงเฉพาะราชสำนัก สกุลโรแมนติกขยายขอบเขตไปถึงประชาชนอย่างทั่วถึง และช่วงนั้นเอง ที่กุสตาฟ โฟร์แบร์ได้สร้างงานสกุลสัจจนิยมขึ้นมา อันเป็นต้นแบบของสกุลเพื่อชีวิตที่เรารู้จักในประเทศไทย
เมื่อชนชั้นกลางช่วงชิงการนำสังคมได้เบ็ดเสร็จ ราชสำนักก็ยิ่งอยู่ในภาวะถอยหลัง แต่สิ่งที่ชนชั้นกลางไม่มีและไม่สามารถมีได้นั้นคือความจงรักภักดีของประชาชน ซึ่งสิ่งนี้ราชสำนักมี ด้วยได้สร้างเครือข่ายและสร้างภาพนี้มาเป็นเวลาแสนนาน ความจงรักภักดีฝังอยู่ในจิตใจของประชาชนทั่วทุกหัวระแหง ชนชั้นกลางจึงจับมือร่วมกับศักดินาเจ้าที่ดิน เพื่ออาศัยสิ่งที่ตนไม่มีให้มีขึ้น เพื่อให้ประชาชนยอมรับการมีอยู่ของชนชั้นนายทุนใหม่ที่เพิ่งก่อกำเนิดขึ้นมา และราชสำนักเองก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือนี้ ด้วยต่างพึ่งพาอาศัยกันอยู่ และนั่นส่งผลกระทบไปยังประชาชนผู้ต่ำชั้นกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้การกดขี่ที่นายทุนร่วมมือกับศักดินา ก่อเกิดความเคียดแค้นชิงชังขึ้น อันนำไปสู่การลุกฮือครั้งใหญ่ในรัสเซีย ในจีน และวรรณกรรมแนวสัจจนิยมก็ได้ทำหน้าที่เป็นอาวุธวัฒนธรรมขึ้นมา จนโลกเกิดการสั่นสะเทือนเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง
ร้อยแก้วแบบตะวันตกเริ่มแพร่หลายเข้ามายังเมืองไทยประมาณสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนหน้านี้ร้อยแก้วของไทยยังอยู่ในรูปแบบนิทาน-ตำนาน ไม่ได้เป็นเรื่องเล่า พจมาน สว่างวงศ์ที่เดินเข้าบ้านทรายทองด้วยชุดกระโปรงสีหวานถักเปียสองข้าง คือการก้าวย่างของงานสกุลโรแมนติกเข้าไปเผชิญหน้าสกุลคลาสสิกอย่างท้าทาย โดยมี สาย สีมา ตัวเอกในหนังสือเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ยืนมองข้างนอกด้วยดวงตาจับจ้องจริงจัง การเปิดเรื่องปีศาจด้วยประโยค ปีศาจตนหนึ่ง ปีศาจแห่งลัทธิคอมมิวนิสม์ กำลังสยายปีกเหนือฟากฟ้ายุโรป นั่นคือการยกประโยคสุดแสนจะคลาสสิกของ The Communisms Manifesto: แถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสม์มาขึ้นนำ บทความมากมายของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ก่อเกิดกระแสพลังของหนุ่มสาว ภาวะการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ การปกครองกดขี่ขูดรีดของนายทุนขุนศึก และภาวะอึดอัดหายใจไม่ออกในระบอบเผด็จการทหาร งานสกุลเพื่อชีวิตที่ได้รับอิทธิพลความคิดจากตอลสตรอยในศิลปะเพื่อชีวิต และจิตร ภูมิศักดิ์ได้ย้ำอีกครั้งในหนังสือเรื่องศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน จึงกลายเป็นงานสกุลใหญ่อีกสกุลหนึ่งที่ขึ้นมามีบทบาททางการเมือง ในฉากที่คุณพ่อของคุณรัชนี หญิงสาวสูงศักดิ์คนรักของสาย สีมาในเรื่องปีศาจ ได้เชิญสาย สีมาร่วมรับประทานอาหารเย็นท่ามกลางหมู่ญาติเพื่อนฝูง เพื่อกล่าวประณามความยากจนของสาย สีมาที่ไม่ยอมเจียมเนื้อเจียมตัว การประณามนั้นลุล่วงไปอย่างอึดอัด แล้วสาย สีมาก็ได้ลุกขึ้นพูดอะไรบางอย่างที่ยาวเหยียด ก่อนเดินออกจากห้องรับประทานอาหารนั้นอย่างสง่างาม ฉากนี้คือการตอกย้ำความจริงหนึ่ง นั่นคือการลุกขึ้นยืนอย่างอหังการ์ของวรรณกรรมเพื่อชีวิต วรรณกรรมฝ่ายก้าวหน้าว่ามีอยู่จริง และมีอยู่อย่างยิ่งใหญ่ไม่ด้อยน้อยหน้ากว่าสกุลคลาสสิกและโรแมนติกเลย
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์เมื่อ ๖ ตุลา ๑๙ หนังสือฝ่ายซ้ายฝ่ายก้าวหน้า ศิลปะเพื่อชีวิตทุกแขนงได้ถูกกำจัดออกไปจากสังคมไทย หนังสือหลายร้อยเล่มยังคงต้องห้ามอยู่ในปัจจุบัน การอ่านการเขียนของสังคมไทยจึงขาดช่วงตอนทางประวัติศาสตร์อย่างน่าเสียดายยิ่ง ในช่วงที่งานสกุลเพื่อชีวิตล้มหายตายจาก งานสกุลโรแมนติกก็ได้โอกาสกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และแตกแขนงตัวเองออกเป็นสองสายใหญ่ๆคืองานโรมานซ์ประโลมโลกย์ กับงานโรแมนติกเพ้อฝัน ช่วงนี้เองที่วัฒนธรรมญี่ปุ่นรุกคืบเข้ามา เด็กสาวหลายคนยุคนั้นอยากเป็นสาวญี่ปุ่น การ์ตูนซึ่งเป็นวัฒนธรรมหลักของชาวญี่ปุ่นถูกลำเลียงเข้ามาสังคมไทยอย่างหลามหลาก ส่วนใหญ่เป็นตัวการ์ตูนน่ารักๆตาโตๆ และเนื้อเรื่องที่วนเวียนอยู่เพียงเรื่องของความรักแบบป๊อบปี้เลิฟ นิตยสารวัยรุ่นอย่างเธอกับฉัน-วัยหวาน ก็เน้นไปที่ความบันเทิงไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์,เพลง,แฟชั่น และแน่นอนที่มันย่อมอิงกระแสญี่ปุ่นเป็นหลัก ฮาราจูกุเป็นสถานที่ในฝันของเด็กหนุ่มสาว และสยามสแควร์ก็ได้กลายเป็นฮาราจูกุย่อยๆขึ้นมา วัฒนธรรมใหม่ที่เรียกในปัจจุบันว่าแอ๊บแบ๊ว,คาวาอี้ ได้ถือกำเนิดในสังคมไทยมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๒๐ กว่าปีแล้ว
โลกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อกำแพงเบอร์ลินได้ถูกค้อนทุบทิ้งทำลาย จักรวรรดินิยมโซเวียตแตกย่อยเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย และจีนได้เข้าสู่แผนพัฒนาประเทศด้วยทุนนิยม ความโกลาหลอลหม่านครั้งมโหฬารนี้ ส่งผลกระเทือนไปยังศิลปะทุกแขนง สกุลงานศิลปะใหม่ที่เกิดขึ้นเรียกกันว่าอัลเทอร์เนถีฟ ได้เปิดตัวขึ้นมาอย่างงุนงงกับความเปลี่ยนแปลงของโลก จนคลี่คลายมาเป็นโพสต์โมเดิร์น กระแสนิยมเกาหลีได้เริ่มพรั่งพรูเข้ามาสังคมไทยแทนที่ญี่ปุ่น ด้วยยุทธศาสตร์ยุทธวิธีซ้ำรอยที่ญี่ปุ่นและฮอลลีวู้ดเคยประสบผลสำเร็จมาแล้ว โลกไร้พรมแดนด้วยโลกาภิวัตน์ อินเทอร์เนตเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของคนรุ่นใหม่ และที่นี่ ก่อเกิดนักเขียนหน้าใหม่วัยรุ่นมากมายหลายคน เวบบอร์ดอันเปิดกว้างที่ใครก็สามารถเข้าไปแต่งเรื่องให้อ่านกันได้ง่าย มากมายที่กลายมาเป็นหนังสือเล่ม เนื้อเรื่อง,ประเด็นเรื่อง,ภาษา,ทัศนะ,รสนิยม,ความสนใจของนักเขียนเหล่านี้สะท้อนได้ชัดเจนยิ่งถึงสังคมไทยปัจจุบัน เป็นบทสรุปที่ดีในประเด็นศิลปะกับสังคมแยกกันไม่ออก และเห็นพัฒนาการของวรรณกรรมไทยชัดเจนว่าเป็นอย่างไร
นักเขียนตามเวบบอร์ดส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ภาษาแสลงใหม่ๆที่เขาคิดกันขึ้นมา มันบอกเราว่าพวกเขาขาดการอ่านอันเป็นทักษะสำคัญของการเขียน ไม่ก็กำลังบอกเราว่า ภาษาและงานเขียนที่มีอยู่ มันไม่สอดคล้องต้องใจกับคนเยนเนอเรชั่นใหม่ ไม่ว่าคำตอบจะเป็นประเด็นไหนก็ตาม สิ่งที่เราพบได้ก็คือการขาดช่วงต่อของประวัติศาสตร์การอ่านการเขียน การอ่านการเขียนอันเป็นเรื่องของภูมิปัญญาสังคม มันบอกเราอีกว่าไม่มีมือใดที่จะหยิบยื่นภูมิปัญญานี้ให้แก่เด็กๆของเรา พวกเขาจึงต้องดิ้นรนขวนขวายหาอ่านกันเอาเอง และเมื่อมีการสำรวจวิจัยนิสัยการอ่าน เราจึงพบว่าสังคมไทยมีคนอ่านหนังสือน้อย เพียงปีละ ๘ บรรทัดต่อคน คำถามที่เด็กถามกลับไปยังผู้ใหญ่ จึงคือผู้ใหญ่สร้างงานเขียนกันอย่างไรเด็กจึงไม่อ่าน และทำไมไม่รับรู้ว่าโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวงดนตรี F4 ตระเวนเดินสายเล่นดนตรีไปทั่วโลก เมื่อทุนนิยมกำลังถูกตั้งคำถามหนักหน่วงจากหลายประเทศในละตินอเมริกา วรรณกรรมยุคหลังสมัยใหม่หรือที่เรียกกันว่าโพสต์โมเดิร์น กำลังตกหล่นลับหายไปจากเวทีประวัติศาสตร์ และนั่นดูเหมือนวรรณกรรมโลกปัจจุบันกำลังเคว้งคว้างหาที่ยืนที่อยู่ไม่เจอ เยาวชนของเราที่ขาดช่วงประวัติศาสตร์การอ่าน ไม่นานนัก พวกเขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ชี้นำและมีบทบาทในสังคมแทนที่ คาดเดาไม่ได้ว่าจะนำเราไปทิศทางไหน แต่ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กๆของเราวันนี้เท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า
......................................................................
เป็นบทความที่เขียนไว้อ่านเมื่อไปพูดตามโรงเรียนต่างๆ เอาเข้าจริง- มันก็อ่านได้ไม่หมด เพราะการพูดกับการอ่านนั้นมันคนละอย่าง แต่ก็ยังได้จับใจความสำคัญพูดได้
มันยังไม่สมบูรณ์นัก ด้วยข้อจำกัดเงื่อนไขของเวลา กระนั้นก็ได้พยายามที่จะถ่ายทอดออกมาให้เต็มที่แล้ว
ขอบคุณ พิเชฐ แสงทอง,หญิง ชามา ในด้านข้อมูลครับ