ยุบพรรค
มีพรรคการเมือง 5 พรรคได้รับการชี้มูลความผิดจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งบัดนี้อัยการได้ยื่นเรื่องส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ รอการวินิจฉัย ซึ่งบทลงโทษสูงสุดที่พูดถึงกันเวลานี้ก็คือการ ยุบพรรค เรื่องนี้อาจไม่ได้รับความสนใจมากเท่านี้ ถ้าปัจจุบันการเมืองไม่แบ่งเด็ดขาดเหลือเพียง 2 ขั้วอำนาจ คือขั้วไทยรักไทย กับ ขั้วประชาธิปัตย์
ที่สำคัญ 2 ใน 5 พรรคที่อาจมีคำตัดสินให้ยุบพรรค มี ไทยรักไทย กับ ประชาธิปัตย์ ร่วมอยู่ด้วย
พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค
พรรคประชาธิปัตย์ นับได้ว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านอาชีพ โดยเริ่มต้นการเป็นพรรคฝ่ายค้านในยุค รัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ เป็นสมัยแรก ก่อนจะเข้าเป็นรัฐบาลรับเชิญของคณะรัฐประหาร พ.ศ.2490(ภาษาปัจจุบันเรียกว่าหุ่นเชิด) หลังจากนั้นก็เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่จอมพลสฤษดิ์จะยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ(2501-2511) หลังจากผ่านพ้นยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์มาได้ พรรคประชาธิปัตย์ยังได้รับบทฝ่ายค้านต่อไปในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนจะ ได้รับเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลสมัยแรก ในการเลือกตั้ง 2518 ยุค ดอกไม้จะบาน แล้วกลับเป็นฝ่ายค้านของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชย์(อดีตเลขาธิการพรรคคนแรก) กระทั่งมาได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลอีกครั้งในปี 2519
พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อีกสมัย ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างยาวนานในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (1,2,3,4,5 ซึ่งในยุคนั้นไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร ที่สุดนายกรัฐมนตรีคือ พลเอกเปรม เท่านั้น! ...ก่อนที่ท่านจะเอ่ยออกมาเองว่าพอแล้ว) ต่อด้วยสมัยของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และถอนตัวออกมาก่อนพลเอกชาติชายจะถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.)ยึดอำนาจ แต่งตั้งให้พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคประชาธิปัตย์จึงได้รับเลือกกลับเป็นรัฐบาลอีกครั้ง
ในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น ได้แสดงพลานุภาพของขุนพลฝ่ายค้านอาชีพ กดดันให้นายบรรหารต้องยุบสภาในที่สุด และได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลอีกครั้งภายหลังสิ้นสุดเส้นทางแสนไมล์ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พร้อมกับของแถม วิกฤตต้มยำกุ้ง
แต่แล้วด้วยวิกฤตนั้นเอง ที่เปลี่ยนเป็นโอกาสแห่งยุคของอัศวินคลื่นลูกที่ 3 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
พรรคไทยรักไทย ก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 (บางคนพยายามเชื่อมโยงกับวันชาติฝรั่งเศส ที่กษัตริย์ถูกโค่นอำนาจ) มีผู้ร่วมก่อตั้ง 23 คน โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคจนปัจจุบัน พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่มีความเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้านหนึ่งเกิดจากนโยบายที่ชัดเจน กับอีกด้านหนึ่งเกิดจากการเป็นพรรค เถ้าแก่ สามารถรวบรวมเขี้ยวตันทางการเมืองเข้ามาอยู่ในพรรคเป็นจำนวนมาก(รวมถึง 28 ตันซึ่งเป็นมือปั้นนายกฯด้วย) ต่อมา เมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้ดำเนินนโยบายประชานิยม ครอบครองใจประชาชนฐานรากอย่างเหนียวแน่น พร้อมทั้งยังสามารถยุบเอาพรรคความหวังใหม่และชาติพัฒนาเข้ามารวมเป็นพรรคเดียว จนกลายเป็นยักษ์อ้วน ส่งผลให้การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการครั้งหลังสุด 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยกวาดที่นั่งในสภาถึง 376 จาก 500 ที่นั่ง และได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงถึง 18,993,073 เสียง
กลายเป็น ซุปเปอร์รัฐบาล ในเวลานั้น
ต่อมา ด้วยปัญหาทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะเรื่องทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็ก 9000 ตามด้วยทุจริตลำไยอบแห้ง กับการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ มูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท โยงใยกับบริษัทแอมเปิ้ลริชและเกาะบริติชเวอร์จิ้น โดยหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ขาดความชอบธรรมทางการเมือง จนประกาศยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วัน นำสู่การบอยคอตไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน และนำสู่ข้อกล่าวหาว่าคนในพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง
อันเป็นชนวนไปสู่การรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้
มีประชาชนจำนวนไม่น้อย อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทย หลายกลุ่มอยากให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ หลายกลุ่มอยากให้ยุบพรรคไทยรักไทย และมีกลุ่มของนักวิชาการที่ไม่อยากให้ยุบทั้ง 2 พรรค กลัวจะเป็นผลเสียกับระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง
มีคำถามไม่ค่อยสร้างสรรค์ตามมาเสมอว่า ถ้าไม่มีพรรคไทยรักไทย ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ แล้วใครจะเป็นนายกฯ ประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ?
บรรยากาศการเมืองเหมือนทุกวันนี้เราไม่ได้ต้องการเลือกตั้งส.ส. แต่เราต้องการเลือกนายกรัฐมนตรีกระนั้นหรือ? การชูนโยบายแบบตัวบุคคล และประชานิยมโดยรัฐ ทำให้ส.ส.เป็นเพียงปัจจัยแห่งการนำขึ้นสู่อำนาจ ขณะที่นโยบายของรัฐสามารถเข้าถึงประชาชนฐานรากมากขึ้น ความใกล้ชิดระหว่างผู้แทนราษฎรกับประชาชนในพื้นที่ยิ่งถ่างวงออกไป
ยุคหนึ่งในท้องที่ภาคใต้มีคำกล่าวไว้ว่า ต่อให้เอาเสาไฟฟ้าไปลงพรรคประชาธิปัตย์ก็มีคนเลือกให้เป็นส.ส. ปัจจุบันนี้ กับพรรคไทยรักไทยเองก็คล้ายอย่างนั้น(ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้อีกนั่นแหละ)
หากว่าประชาชนกลัวการไม่มีพรรคการเมือง เพราะเขากลัวจะไม่มีนายกฯชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การยุบพรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะไม่มีความหมายเท่ากับการยุบพรรคไทยรักไทย
มันทำให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่าแล้วถ้าพรรคไทยรักไทยถูกยุบไปพรรคเดียว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้คะแนนเสียงเลือกตั้งส่งเสริมให้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงหรือ ?
ทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้กังวลกับการยุบพรรค มีแต่พรรคเท่านั้นที่กังวลกับการที่จะถูกยุบ ถ้าหากไม่มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เชื่อว่าแม้พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบไปจริง แต่กระแสเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะดังกระหึ่ม
และเขามีวิธีในการกลับมาแน่ เหมือนคราวที่เว้นวรรคพักร้อนนั่นปะไร ช่างละม้ายกับการไปเจรจากับต่างประเทศในนามรัฐบาล ละม้ายกับการเดินทางไปต่างประเทศของจอร์ช บุช ผู้พ่อยิ่งนัก(ลองหาสารคดีของไมค์ มัวร์ มาย้อนดูอีกครั้ง)
ยุบพรรคหรือไม่ยุบ มันแค่เรื่องจั๊กกระจี้ทางการเมืองไม่ใช่หรือ ?