สงครามสมัยใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นับแต่เหตุการณ์สหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองอิรัก ความรู้สึกถูกรังแกของคนที่เป็นมุสลิมก็มีพลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะกองกำลังสหรัฐฯถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่พี่น้องมุสลิมมาเนิ่นนาน แม้ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ที่สหรัฐฯประกาศทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่มุสลิมจำนวนมากก็ยังเรียกสงครามชนิดนี้ว่าเป็น สงครามรุกรานอิสลาม
พลังของความอยุติธรรมที่ชัดเจนโดยจักรวรรดินิยมอเมริกา ทำให้พลังของการอธิบายเรื่องความอยุติธรรมของจักรวรรดินิยมในอดีตยิ่งมีอำนาจตามไปด้วย ศาสนาและชาติพันธุ์ดั้งเดิมกลายเป็นเงื่อนไขแห่งสงครามปลดปล่อย รอเพียงการจุดชนวน แล้วสงครามก็จะปะทุ
เหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2004 คือวันที่คนส่วนใหญ่นับกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แท้จริงในห้วงเวลาดังกล่าวแนวร่วมมีอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง และไม่อาจปฏิบัติการได้เต็มประสิทธิภาพ ถ้าไม่มีเงื่อนไขของความอยุติธรรมโดยรัฐไปส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นปากเสียงของพี่น้องมุสลิม, กรณียิงจรวดอาพีจีถล่มมัสยิดกรือเซะ, และยิ่งกับกรณีความตายที่ตากใบในเดือนรอมฏอน เหล่านี้ต่างหากที่จุดชนวนสงครามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น
เรื่องที่น่ากังวลของสงครามครั้งนี้ก็คือ มันไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้ด้วยกำลังอาวุธของทุกฝ่าย รัฐเองก็ย่อมไม่ยอมสูญเสียอธิปไตยจากสงครามที่เรียกกันว่า ปัญหาภายใน อย่างเด็ดขาด เพราะเมื่อไรที่ยินยอมให้เป็นเช่นนั้นได้ ก็เท่ากับเป็นการยอมรับไปในตัวด้วยว่าในอดีตเราไปได้ผืนดินและผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มาด้วยความเป็นจักรวรรดินิยมในภูมิภาคของอาณาจักรสยาม
กล่าวเช่นนี้ ที่จริงประวัติศาสตร์ที่พี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดรับรู้เกี่ยวกับพื้นที่ของตนก็มีความบิดเบือนอยู่มาก ไม่แพ้ประวัติศาสตร์โดยรัฐ เพียงแต่เมื่อที่ผ่านมาพวกเขารู้สึกว่าถูกกระทำจากประวัติศาสตร์ของรัฐ ดังนั้นประวัติศาสตร์อีกแบบจึงกลายเป็นความชอบธรรม(เพราะเป็นความภาคภูมิ และไม่ปรากฏผลเสีย เพราะไม่ได้ถูกนำมาใช้ก่อนหน้านี้)
เรื่องสำนึกความเป็นชาติ สำนึกทางประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำสงคราม ซึ่งผู้รักชาติ(ปัตตานี)เหล่านี้ มีความรู้สึกว่าตัวเองสู้อย่างมีศักดิ์ศรี และตายอย่างมีเกียรติ์ คือมีอนาคตของปัตตานีเป็นเดิมพัน ฉะนั้น จึงทำให้มีผู้อาสาเข้าเป็นกองกำลังสู้รบรายใหม่ๆ อยู่ต่อเนื่อง คล้ายกับในสมัยสงครามเวียดนาม
การสู้รบดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ กำลังฝ่ายกองทัพประชาชนกับแนวร่วมสูญเสียกำลังคนไปไม่น้อย แต่ก็ได้ชิงความเป็นฝ่ายกระทำ ทำให้เขตปลดปล่อยในชนบทขยายออกไปอีก ร้อนถึงอเมริกาได้ส่งกำลังทหารมาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา วิธีปราบปรามด้วยการสังหารชีวิตชาวเวียดนามผู้รักชาติ แม้กระทั่งผู้ต้องสงสัย ซึ่งอเมริกาถือว่าเป็นชัยชนะ แต่ผลกลับทำให้ผู้คนเข้าร่วมขบวนการปลดปล่อยมากขึ้น(ศุขปรีดา พนมยงค์ .โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มิ่งมิตร.2549)
ดังนั้น เมื่อมีบุคลากรของรัฐเสนอใช้วิธีการปราบปรามอย่างรุนแรง เราก็ควรจะคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาได้
ในการสู้กับกองกำลังที่ไร้รูปแบบ ไร้เครื่องแบบ ไร้เพศ-วัย แต่มีเป้าหมายในการทำสงครามอย่างชัดเจน ทำให้กองกำลังของรัฐมีแต่จะรอความเพลี่ยงพล้ำในการตั้งรับ เพราะไม่รู้จะรบกับใคร และไม่มีเป้าหมายการรบชัดเจนเหมือนฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่อาจอธิบายได้ว่า เป็นอื่น หรือพวกมือที่ 3(ต่างชาติ) อย่างที่รัฐเผด็จการชอบใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ขัดขวางผลประโยชน์
อำนาจรัฐถูกท้าทายด้วยอาณาจักรที่ยังไร้ผู้ปกครอง โดยการปฏิเสธการปกครองของรัฐ โดยกำจัดคนในพื้นที่ซึ่งยอมรับสถานภาพว่าเป็นคนของรัฐไทย
การจะคงอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ นอกจากต้องเป็นมุสลิมโดยกำเนิดแล้ว จึงยังต้องเลือกอยู่ข้างเดียวกับผู้ก่อความไม่สงบอีกด้วย
ทุกย่างก้าวของทหาร-ตำรวจที่ถูกส่งลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อยู่ในวงล้อมของพวกเขา สิ่งเดียวที่จะหยุดยั้งความไม่สงบ ก็คือการเจรจา และถึงที่สุด เราอาจต้องยอมให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตปลดปล่อย โดยรัฐบาลต้องรองรับด้วยนโยบายอพยพผู้คน(ซึ่งสวามิภักดิ์กับรัฐไทย)ออกนอกพื้นที่ การมีรัฐเกิดขึ้นใหม่อีกรัฐหนึ่ง เป็นกันชนระหว่างไทยกับมาเลเซีย อาจดีกว่าการต่อสู้กับสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น ด้วยความกระหายที่ดิน แรงงาน และทรัพยากร
หรือไม่ ถ้าเราไม่อยากสูญเสียผืนดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไป(โดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่ายิ่งการรบยืดเยื้อ เราก็จะยิ่งสูญเสียอาณาเขตของรัฐมากขึ้น เช่น อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งรัฐไทยต้องยิ่งเพิ่มกำลังต่อสู้อย่างดุเดือดแน่ๆ เพราะเป็นพื้นที่โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย) เราก็ต้องต่อสู้ด้วยการสร้างพลังศรัทธาที่ยิ่งกว่าประวัติศาสตร์การรุกรานรัฐปัตตานีขึ้นมา ซึ่งพลังศรัทธาที่ว่าจะต้องมีความเด่นชัดอย่างยิ่งในเรื่องของความยุติธรรม และความเสมอภาค
และในความจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ของตัวแทนรัฐไทยขณะนี้ เราจะเห็นได้ว่ายังไม่มีการทำลายโรงพยาบาลเกิดขึ้นเลย เหนือศรัทธาต่อองค์ความรู้ทั้งมวลเรื่องการสร้างรัฐปัตตานีขึ้นมาใหม่(ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีวัฒนธรรมการตรวจสอบข้อเท็จ-จริง เหมือนคนไทยทุกภาคส่วน ดังได้อธิบายวัฒนธรรมนี้แล้วในสัปดาห์ก่อน)จึงยังมีศรัทธาเรื่องการแพทย์สมัยใหม่ดำรงอยู่ด้วย ความเป็นรัฐไทยที่เข้มแข็งที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จึงอยู่ที่ โรงพยาบาล อันเป็นศูนย์คุณธรรมความดีแห่งเดียวที่พี่น้องมุสลิมปัตตานีแทบไม่มีความเคลือบแคลงใจ และเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาหน่วยการแพทย์สมัยใหม่นี้เอาไว้
นอกจากนี้แล้ว อะไรคือความเมตตาอย่างแท้จริง และเป็นรูปธรรมจากรัฐไทย ถ้าสิ่งนั้นมีอยู่และสามารถดำเนินไปต่อเนื่อง เราก็จะไม่ต้องสูญเสียอันใดไปอีก ในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า
ช่วยกันคิดนะครับ