คำอธิบายของ THE PRINCE
เป็นปรากฏการณ์แบบสำเร็จรูปของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ประกอบกับความอัดอั้นขององค์กรอิสระตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในวันนี้เราจึงได้เห็นการตั้งคณะกรรมการตามล้างตามเช็ดความชั่วร้ายของรัฐบาลชุดเก่า(ไทยรักไทย) อย่างครึกครื้นและรวดเร็ว โดยคณะทำงานหลายชุด มุ่งประเด็นสำคัญไปที่ปัญหาคอรัปชั่น
ในทุกประเทศ คำว่า คอรัปชั่น คืออาวุธคุณธรรมที่ใช้ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเพื่อไม่ให้ได้ฟื้นขึ้นมาอีก ด้วยเป็นเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการปกครองในยุคที่ผ่านมาซุกซ่อนไว้ด้วยความชั่วร้าย และพร้อมกันก็ทำให้ประชาชนรู้สึกด้วยว่า เขาได้รัฐบาลใหม่ที่ซื่อสัตย์เข้ามาบริหารประเทศ
ความจำเป็นต้องปราบปรามคอรัปชั่นของรัฐบาลรัฐประหาร เป็นเรื่องธรรมดาในการให้ค่าตัวเองและทำลายฝ่ายตรงข้าม ในบางกรณี การยึดทรัพย์เกิดขึ้นรวดเร็ว ก่อนจะมีการจำหน่ายคืนให้นักการเมืองในภายหลัง (เช่น การรัฐประหารในปี 2534) ทั้งนี้เพราะเป็นการยึดทรัพย์เพื่อสร้างภาพว่ามีการคอรัปชั่นอย่างมโหฬารในคณะรัฐบาล จึงต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ทั้งที่ความจริงในเวลานั้น ก่อนเหตุการณ์จะลุกลามไปสู่ พฤษภาทมิฬ ก็ล้วนแต่เป็นความขัดแย้งกันเองในหมู่ทหารต่างรุ่น เท่านั้น
เมื่อภาพที่ถูกสร้างถูกทำลายลงอย่างย่อยยับพร้อมชีวิตประชาชนบนถนนราชดำเนิน เรื่อยไปกระทั่งในโรงแรมรัตนโกสินทร์ ทรัพย์ที่ยึดได้ส่วนใหญ่ก็ถูกส่งกลับคืนเจ้าของ เพราะไร้หลักฐานเอาผิด หรือจะด้วยกำลังภายในใดอื่น มิทราบ
แต่สำหรับการจัดการกับปัญหาคอรัปชั่นของอดีตรัฐบาลไทยรักไทยในคราวนี้ สันนิษฐานกันว่าเหตุการณ์ที่จำเลย ผิดจริง มีอยู่ไม่น้อย และเพราะนี่ไม่ใช่การรัฐประหารโดยความขัดแย้งกันเองในกองทัพเหมือนที่ผ่านๆ มา จึงทำให้เชื่อว่า ประเทศไทยจะได้รับทรัพย์ก้อนโตกลับคืนมาอย่างถาวรแน่ๆ จากหลายแหล่ง หลายบุคคล
นอกจากการจัดการดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหาคอรัปชั่นแล้ว ในการรัฐประหารคราวนี้ คณะที่นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยังได้ฆ่าตัดตอนพรรคไทยรักไทยด้วยแนวโน้มที่จะมีการยุบพรรค ภายใต้กติกาที่ว่าถ้าพรรคไหนถูกยุบ สมาชิกพรรคจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จนทำให้บรรดาลูกพรรค หรือแม้กระทั่งตัวหัวหน้าพรรคอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พากันร่อนจดหมายลาออกจากพรรคไทยรักไทยกันถ้วนหน้า
โดยลักษณะอันเป็นธรรมชาติของกฎหมายแล้ว สิ่งใดให้คุณจะเกิดผลย้อนหลังได้ แต่ถ้าให้โทษก็จะไม่ส่งผล หากมีการยุบพรรคจริงและใช้กฎหมายตามหลักการเดิม อดีตนักการเมืองสังกัดพรรคไทยรักไทยก็สามารถกลับไปเล่นการเมืองได้อีกในสมัยหน้า ในนามของพรรคต่างๆ ที่จะไปเข้าสังกัด
...แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ และด้วยวัตถุประสงค์แห่งการยุบพรรคคราวนี้ โดยโยงถึงเหตุการณ์สำคัญคือ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นบุคคลหนึ่งที่ยื่นใบลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคด้วยแล้ว คาดว่ากฎหมายฉบับนี้อาจต้องมีการทำงานแบบพิเศษ คือให้โทษย้อนหลังได้ มิฉะนั้นการออกกฎคราวนี้ก็จะนับว่าสูญเปล่า เพราะที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อาจกลับเข้าสู่การเมืองได้อีกในเร็ววัน
ในหนังสือ The Prince ซึ่งเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 15 โดยผู้เขียนชาวอิตาลี ชื่อ นิโคโล มาคิอาเวลลี กล่าวเอาไว้ว่า ในการยึดครองรัฐใหม่(หรือเปลี่ยนผู้ปกครอง) เพื่อที่จะให้การปกครองบรรลุผลสำเร็จอย่างดี ผู้ปกครองจะต้องเร่งรัดดำเนินการที่สำคัญ 2 ประการคือ หนึ่ง-จะต้องทำลายครอบครัวตลอดจนเชื้อสายของผู้ปกครองเก่าให้หมดสิ้น เพื่อมิให้มีโอกาสหวนคืนมาทวงอำนาจ หรือแก้แค้น และสอง-จะต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรืออัตราภาษีโดยเร็ว เพื่อทำให้รัฐใหม่ถูกรวมเข้ากับรัฐเก่าในเวลาอันสั้น เนื่องจากถ้าปล่อยให้เวลายืดยาวออกไป บุคคลซึ่งได้รับประโยชน์จากระบบเก่าจะพยายามต่อต้านและเป็นศัตรูต่อการเปลี่ยนแปลง
นี่เองคือเหตุผลที่ว่าทำไมจึงมีการคาดคะเนว่าพรรคไทยรักไทยน่าจะถูกยุบ และทำไมจึงมีรัฐธรรมนูญ 39 มาตรา ขึ้นมาใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชน
ในการฉีกรัฐธรรมนูญลงอย่างง่ายดาย ทั้งที่ประชาชนร่วมกันร่างขึ้นมาด้วยความต้องการของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ มาคิอาเวลลี ให้เหตุผลว่า เพราะแท้จริงแล้ว ประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาอำนาจของผู้ปกครองเท่านั้น สิ่งที่ผู้ปกครองต้องทำไม่ใช่เพื่อความสุขของประชาชน แต่เพื่อการธำรงรักษาอำนาจของผู้ปกครองเป็นสำคัญ
สังคมไทยนับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ถูกปลูกฝังให้ชื่นชมบารมีของผู้ปกครอง ถูกทำให้เชื่อว่าทุกข์-สุขของประชาชนเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณของผู้นำแบบไทยๆ พร้อมกันนั้นก็มีการปลูกฝังความภักดีต่ออำนาจใต้ปกครองและกฎหมายแห่งรัฐ อาทิ การสร้างตำนานพันท้ายนรสิงห์ ขึ้นเป็นต้น
มาคิอาเวลลี กล่าวไว้ด้วยว่า สำหรับผู้ปกครองที่ฉลาดนั้น ต้องหาหนทางที่จะทำให้ราษฎรต้องพึ่งพารัฐและผู้ปกครองเสมอในทุกสถานการณ์ ถ้าทำเช่นนั้นได้ราษฎรก็จะซื่อสัตย์ต่อผู้ปกครองเสมอ
ทีนี้ทบทวนกันนะครับ ว่าภาวะเขาควาย(Dilemma) หรือหนีเสือปะจระเข้ ที่กล่าวไว้ในฉบับที่แล้วนั้น หมายถึงสิ่งใด สถานการณ์ก่อนหน้านี้ หรือแม้ทุกวันนี้ เรายังต้องพึ่งพารัฐและผู้ปกครองอยู่เสมอใช่หรือไม่ ปรากฏการเช่นนี้มิได้เกิดจากความเมตตาโดยรัฐ แต่เป็นวิธีการสร้างความภักดีต่อรัฐและผู้ปกครองให้เกิดขึ้นในชีวิตและจิตใต้สำนึกของประชาชน ยิ่งรัฐไหนที่ผู้ปกครองยิ่งเข้มแข็งภายใต้วิธีการเช่นนี้ แปลว่ารัฐนั้นประชาชนยิ่งถูกทำให้อ่อนแอลง
คำว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ดีที่สุด ที่รับรองโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญที่เราจะต้องไปชื่นชมกันหรอกนะครับ ถึงเวลานี้ น่าจะหมดยุคผู้นำเข้มแข็ง และก้าวเข้าสู่ ชุมชนเข้มแข็งกันเสียที
นั่นเพราะความเข้มแข็งของอำนาจประชาชน ไม่อาจถูกปราบปรามให้ราบคาบลงได้ ไม่ว่าด้วยสิ่งใด เพียงแต่เราจะพร้อมกันหรือไม่ ในบทเรียนที่ผ่านมาแล้วตั้งขนาดนี้