การเปลี่ยนผ่านของอำนาจ
ผมมีคำถามมากมายเกี่ยวกับคำว่า อำนาจ เนื่องด้วยอำนาจเป็นนามธรรม จึงส่งผลต่อเมื่อมีคนสำแดงมันออกมาให้ปรากฏเป็นรูปธรรมเท่านั้น และคนที่สามารถแสดงอำนาจให้เป็นรูปธรรมขึ้นได้นั้น ต้องมีต้นทุนที่เราเรียกกันว่า บารมี ครอบคลุมชุดความเชื่อหรือฝังหัวผู้รับใช้อำนาจ หรือยอมรับอำนาจ อยู่ก่อนแล้ว
คำถามแรกของผมก็คือ อำนาจมีความหมายค่อนไปทางบวกหรือลบ เมื่อนักสัจนิยมบอกว่าการที่จะใช้อำนาจต่อมหาชนได้นั้น ต้องทำให้มหาชนหวั่นเกรงเสียก่อน พวกเขาจึงจะไม่กล้าโต้แย้งต่ออำนาจ ในทางตรงข้าม ถ้านักปกครองไม่ทำเช่นนั้น เขาจะถูกทรยศในภายหลัง เพราะธรรมชาติของมนุษย์ มักเลือกจะทรยศต่อคนที่ตัวเองรัก มากกว่าทรยศต่อคนที่ตัวเองหวาดกลัว
มองแบบสัจนิยม(Realism) อำนาจจึงมีความหมายค่อนไปทางลบ แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้อำนาจแบบนี้ ก็ยังมีด้านบวกสำหรับนักปกครอง คือ ทำให้ปกครองง่าย การดำเนินนโยบายต่างๆ รุดหน้ารวดเร็ว ผมเข้าไปดูการพัฒนาระบบคมนาคมในประเทศลาว เห็นเขาใช้อำนาจรูปแบบนี้ ประชาชนไม่มีสิทธิ์ต่อต้าน โดยยอมเป็นฝ่ายก้าวถอยหลัง เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า
อันที่จริงแล้ว การสร้างถนนในลาวก็เหมือนกับการสร้างเขื่อนในลาว เขื่อนในลาวนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดจากอัตรารายได้มวลรวมของประเทศ คือนับเป็นรายได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งขายให้กับประเทศไทย
ถนนในลาวเป็นถนนที่สร้างขึ้นโดยได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(Asian Develop Bank: ADB) ประเทศจีน และประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อจะกลายเป็นเส้นทางเชื่อมทางการค้าภายในภูมิภาค โดยมีลาวเป็นทางผ่านคั่นกลาง ซึ่งต่อไปจะอยู่ในวงจรเศรษฐกิจระหว่างประเทศคือเป็นประเทศชายขอบของการพัฒนา หรือเป็นประเทศผู้ซื้อสินค้า
กล่าวถึงระบบโลกอย่างคร่าวๆ เอ็มมานูเอล วอลเดนสไตน์ กล่าวว่า ในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โลกประกอบไปด้วยประเทศแกนกลาง(ในตอนนี้คือสหรัฐอเมริกา) เป็นผู้กำหนดทิศทางของโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคว่ำบาตร การประกาศสงคราม หรือแม้แต่การเลือกผู้นำในประเทศนั้นๆ ,ประเทศกึ่งแกนกลาง(กลุ่ม G 7+1) พวกนี้จะเป็นพันธมิตรกับประเทศแกนกลาง ดำเนินนโยบายแบบเดียวกัน รวมถึงการผลิตสินค้า กำหนดกลไกตลาด โดยมีประเทศชายขอบเป็นผู้ซื้อ, ประเทศกึ่งชายขอบ และประเทศชายขอบ สองแบบนี้มีความแตกต่างกันไม่มากนัก ประเทศกึ่งชายขอบอาจเป็นแหล่งผลิตแรงงานราคาถูกให้กับประเทศแกนกลาง และกึ่งแกนกลาง แต่ส่วนใหญ่ของสินค้าก็ยังรับเข้ามามากกว่าขายออกไป ส่วนประเทศชายขอบนั้น มีความสำคัญคือเป็นตลาดของผู้บริโภค และเป็นที่ตักตวงทรัพยากร ดังนั้น เมื่อประเทศปิดใดๆ เริ่มมีการเปิดประเทศ การลงทุนจากต่างชาติจะวิ่งเข้าไปทันที อย่างสวาปาม เพราะพวกเขาต้องการจะแบ่งเค้กทรัพยากร มิได้เกิดจากความหลงใหล หรือความหอมหวนอื่นใด กรณีลาว และเวียดนามเป็นเช่นนั้น และยิ่งเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในกรณีของ พม่า
เหตุที่ไทยและจีนมีบารมีเหนือลาว เพราะลาวต้องการเงินเข้าไปพัฒนาประเทศ จึงต้องยอมแลกกับบางสิ่งบางอย่าง ส่วนจีนนั้นต้องการขยายตลาดสู่ภูมิภาคโดยทางบก เช่นเดียวกับไทยที่ฝันหวานว่าจะขยายตลาดไปยังจีน ตรงนี้เราจึงมองเห็นว่า ในช่องว่างของการใช้อำนาจนั้น มีผลประโยชน์และความหวังร่วมกันซ่อนอยู่ ต่างเพียงปริมาณว่าใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ
รัฐบาลลาวใช้อำนาจกับประชาชนในประเทศ เพื่อมุ่งหวังการพัฒนาประเทศ แต่ในการพัฒนานั้น เราก็เห็นด้วยว่ามีอำนาจที่ใหญ่กว่าผลักดันให้ลาวต้องทำ ดังนั้น เมื่อมีปรากฏการณ์ใดๆ เกิดขึ้น เราจะมองเพียงผลลัพธ์อย่างเดียวย่อมไม่ได้คำตอบที่แท้จริง ต้องมองไปถึงต้นเหตุแห่งปรากฏการณ์นั้นด้วย
อำนาจในประเทศไทยขณะนี้ เด่นชัดที่สุดก็คืออำนาจในกองทัพ เพราะกองทัพได้ทำการยึดอำนาจจากอดีตนายกรัฐมนตรีที่เกือบจะทำให้คนไทยต้องประหัตถ์ประหารกันเอง ดังนั้นเมื่อมองในแง่นี้อำนาจที่กองทัพใช้จึงกลายเป็น อำนาจอันชอบธรรม
แต่อย่างที่กล่าวไว้ การมองปรากฏการณ์ต้องมองให้รอบด้าน สาวไปให้ถึงต้นเหตุ โดยพยายามเชื่อมโยงบริบทเหมือนต่อจิ๊กซอว์ ถ้ามองอย่างนั้นได้ เราจะได้คำตอบแท้จริงว่าเหตุใดการรัฐประหารจึงเกิดขึ้น และเหตุใดจึงเป็นการรัฐประหารที่ไม่มีการนองเลือด
ผมตอบเฉพาะข้อหลัง ว่าเพราะประวัติศาสตร์สอนเอาไว้ว่ากระสุนนัดแรกยิงมาจากกระบอกปืนของฝ่ายไหนก่อน ฝ่ายนั้นจะกลายเป็นจำเลยไปทันที(เพราะคนที่ตายมักเป็นประชาชน และเป็นฐานอำนาจ) นั่นจึงทำให้ไม่มีการยิงกระสุนนัดแรกเกิดขึ้น การเมืองภายในประเทศตรงนี้เองที่แตกต่างกับการเมืองระหว่างประเทศอย่างมาก เพราะในอดีตของสงครามระหว่างประเทศเกือบทุกครั้ง ความถูกต้องจะตกอยู่กับผู้ได้รับชัยชนะ
ตั้งคำถามแรกไปแล้ว ทีนี้มาถึงคำถามต่อมา คืออำนาจอันชอบธรรมนั้น จะสามารถสืบทอดความชอบธรรมจากรุ่นต่อรุ่นได้หรือไม่ เช่น อำนาจทางทหารที่มุ่งกอบกู้บ้านเมืองจากวิกฤต(ในที่นี้จะตัดประเด็นการลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนออกไปก่อน) จะดำเนินเช่นนั้นตลอดไปหรือไม่ เพราะเราพบว่าที่ผ่านมา หลายครั้งของการรัฐประหาร เป็นการแย่งชิงอำนาจกันเองของกลุ่มอำนาจหลายๆ กลุ่ม และมีวิธีใดบ้างที่ประชาชนสามารถจะควบคุมอำนาจให้อยู่ในกรอบอำนาจอันชอบธรรมเท่านั้น
มันควรมีหรือไม่ครับ รัฐธรรมนูญหลักที่ไม่อาจล้มล้างได้ และจะเชื่อถือได้แค่ไหน ในเมื่อขนาดสนธิสัญญาแวซาย เยอรมันยังกล้าฉีกทิ้งจนทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว
น่าเศร้าจังเลยนะครับ ที่ต้องบอกว่าเราทำได้เพียงภาวนาให้คนดีได้ขึ้นมาปกครองบ้านเมือง และต้องเป็นนักปกครองที่บริหารจัดการประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปได้ด้วย เพราะการปกครองด้วยความดีอย่างเดียว มันแทบจะเปล่าประโยชน์
และอย่าไปพูดถึงตอนที่อำนาจตกไปอยู่ในมือของคนที่ชั่วร้ายนะครับ ไม่อยากนึกสภาพ แม้จะรู้ดีว่าธรรมชาติของการปกครองย่อมต้องมีการเปลี่ยนผ่าน และบางการเปลี่ยนผ่าน ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือก เช่น การเติบโตของข้าราชการเป็นต้น ฯลฯ
คำถามอื่นๆ ไม่ถามแล้วครับ ขอเสนอแค่ 2 คำถามก่อน เพราะขณะนี้กำลังพยายามมองโลกในแง่บวก ดูอย่างนางงามจักรวาล นาตาลี เกลโบวา ยังเลือกมาทำงานบ้านเรากับบริษัท บุญรอด บริวเวอรี จำกัด เลยครับ แต่กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อต่างๆ นั้น ผมไม่รู้จะมีผลกระทบกับเธอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มองโลกในแง่บวกไว้ นาตาลี