ทำไมสิงคโปร์จึงยอมรับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ?
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีลักษณะเรียกว่านครรัฐ( city state) ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ปลายคาบสมุทรมาเลย์ ทางตอนใต้ของรัฐยะโฮร์ประเทศมาเลเซีย และอยู่เหนือเกาะรีเยา ของประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นเมืองท่าสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม
ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประเทศใหม่เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงบรรดาประเทศอาณานิคมที่ได้รับการปลดปล่อย สิงคโปร์ในตอนนั้นได้อาศัยแอบอิงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย เพื่อให้พ้นจากการปกครองของอังกฤษ แล้วแยกตัวออกมาประกาศเอกราชในปี 2508 ด้วยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ เพราะคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่เป็นคนจีน แต่ในมาเลเซียมีคนจีนเป็นชนกลุ่มน้อย
นับตั้งแต่ประกาศเอกราชเป็นต้นมา สิงคโปร์มีผู้บริหารประเทศเปลี่ยนหน้าค่าตาไป 3 รุ่นเท่านั้น คือนายลี กวน ยิว นายโก๊ะ จ๊ก ตง และนายลี เซียน หลุง(ซึ่งเป็นบุตรชายผู้นำคนแรก) หรือจะเรียกว่านับตั้งแต่ตั้งประเทศมา สิงคโปร์ผูกขาดการบริหารประเทศโดยครอบครัวตระกูลลีมาตลอด ก็ย่อมได้
การที่สิงคโปร์ไม่เคยก้าวพ้นเงาของตระกูลลี ก็เพราะนโยบายคุณพ่ออุปถัมภ์ที่ทำให้คนสิงคโปร์ได้รับสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานอย่างพอเพียง คนในประเทศนี้โดยส่วนใหญ่จึงให้ความสนใจกับการเมืองน้อย และให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการค้าขายเป็นหลัก
สิงคโปร์มีกฎหมายที่เด็ดขาด ขนาดพื้นถนนก็ยังสะอาดเอี่ยมอ่อง ผู้คนอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยเคร่งครัด ไม่มีเวลาแม้แต่จะหาคู่ครอง จนรัฐบาลต้องมีนโยบายจัดให้คนหนุ่มสาวได้พบเจอกัน เพื่อจะได้มีทายาท เป็นพลเมืองสิงคโปร์โดยแท้ แต่ถึงขนาดนั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก จึงมีการจัดจ้างแรงงานจากต่างด้าวอยู่มาก รวมถึงแรงงานไทย
กฎหมายที่เข้มงวดของสิงคโปร์ ด้านหนึ่งเพื่อรักษาความสันติสุขของประเทศ แต่อีกด้าน เป็นการรักษาความมั่นคงทางการเมืองให้กับตระกูลลี เพราะไม่มีใครกล้ากระด้างกระเดื่อง และแท้จริงนอกจากสวัสดิการที่ประชาชนได้รับอย่างพอเพียงแล้ว ผลประโยชน์ของรัฐส่วนใหญ่ ล่มอยู่ในหนองของตระกูลลีแทบทั้งสิ้น บรรษัทข้ามชาติของสิงคโปร์บางบริษัท จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐสิงคโปร์อย่างแยกไม่ออก
ห้วงปีที่แล้ว นับแต่ต้นปีใหม่ คนไทยได้ข่าวว่านายกรัฐมนตรี(ในเวลานั้น)ของไทย ได้ไปฉลองปีใหม่กับครอบครัวที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ในความรับรู้ต่อมา ปรากฏว่าอดีตนายกฯของเราไม่ได้ไปฉลองปีใหม่อย่างเดียว แต่ไปสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการค้าระหว่างบริษัทของเขากับกองทุนเทมาเสกโฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ ด้วยการขายกิจการในเครือชินคอร์ปอเรชั่นเกือบทั้งหมด ในมูลค่าไม่น้อยกว่า 73,300 ล้านบาท และเป็นการค้าที่หลบเลี่ยงภาษี(ซิกแซก) มูลค่ากว่าสองหมื่นล้านบาท
ที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายกิจการคลื่นความถี่ให้กับต่างชาติ เท่ากับเป็นการบั่นทอนความมั่นคง มีความเสี่ยงต่อการถูกดักฟังในเชิงยุทธศาสตร์ ดังนั้น อดีตนายกฯของไทยจึงถูกกล่าวหาว่าขาดจริยธรรมอย่างยิ่งยวด โดยการขายสมบัติชาติและหลบเลี่ยงภาษีมานับแต่นั้น และนั่นเองที่เป็นส่วนสำคัญให้กองทัพนำมากล่าวอ้างในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
เมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเข้าประเทศไทยอีก เพราะคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)มีความหวั่นเกรงจะเป็นชนวนแห่งการปะทะกันของประชาชน และกลัวอำนาจป่วนจากขุมข่ายซึ่งเป็นคนของอดีตนายกฯ ในภาคส่วนราชการต่างๆ โดยก่อนหน้านี้บรรดาข้าราชการสายไทยรักไทยได้พร้อมใจกันปลดเกียร์ว่างในการทำงานมาพักหนึ่งแล้ว
เมื่อไม่ได้รับการเปิดทางให้เข้าประเทศ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มิได้ยอมล่าถอยในเกมแห่งอำนาจ เขาใช้วิธีการ ทางจิตวิทยาขย่มขวัญ คมช. ด้วยการบินไปประเทศต่างๆ ในภูมิภาคใกล้เคียงประเทศไทย รวมถึงจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ จนคมช.ร้อนรนถึงขนาดต้องระงับหนังสือเดินทางทางการทูต(พาสปอร์ตแดง)ของอดีตนายกฯ ผู้นั้น เป็นการส่งสัญญาณต่อประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยว่า ในระดับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ แล้ว ไม่ควรมีการเจรจาใดๆ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ อีก เนื่องจากเขาไม่ได้รับการยอมรับโดยสิ้นเชิงจากรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน และการต้อนรับเขาในระดับผู้นำ อาจทำให้มีข้อบาดหมางทางการทูต
หากว่านั่นกลับเป็นการเพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยแท้ เมื่อเขาอาศัยสถานการณ์เช่นนั้นเดินทางเข้าไปพบปะกับบุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ถึง 2 คน คือ นายหว่อง กันเส็ง และ นายเอส จายากุมาร พร้อมกับได้รับโอกาสให้อดีตนายกฯไทยสัมภาษณ์สดกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น และหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล แบบเจาะลึก ในวันที่ 15 มกราคม 2550
สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้รัฐบาลไทยตึงเครียดกับรัฐบาลสิงคโปร์โดยทันที โดยไทยได้มีมาตรการตอบโต้ตามมาในวันรุ่งขึ้น คือ กระทรวงต่างประเทศของไทยประกาศระงับความร่วมมือภายใต้กรอบโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานข้าราชการ พลเรือนไทย-สิงคโปร์ (Civil Service Exchange Program หรือ CSEP), ยกเลิกการประชุม CSEP ครั้งที่ 8 ซึ่งเดิมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29-31 มกราคม 2550 รวมถึงการถอนคำเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ ที่จะมาเยือนไทย ในวันที่ 29-30 มกราคม 2550 เพื่อร่วมกิจกรรมในการประชุม CSEP ด้วย
ด้วยมาตรการดังกล่าวนี้เอง ทำให้ต่อมาเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็รีบส่งสัญญาณออกมาว่า เขาพร้อมจะมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันเท่านั้น และอดีตนายกฯไทยจะไม่ได้รับการรับรองให้เข้าพบกับคนในรัฐบาลเป็นกรณีพิเศษ
กรณีสิงคโปร์เป็นเรื่อง คมช. หวั่นเกรงมานานแล้ว โดยเคยแจ้งเตือนเรื่องสถานะของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้กับรัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ นายจอร์จ เอี๋ยว และเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย นายปีเตอร์ ชาน ถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่อาจทัดทานสิงคโปร์ จนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
มีคำถามอยู่สองข้อก็คือ ทำไมสิงคโปร์จึงต้องต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ? และ อะไรจะทำให้สิงคโปร์หวั่นเกรงในความสัมพันธ์กับประเทศไทย ?
อธิบายข้อแรก รัฐบาลสิงคโปร์เป็นรัฐบาลแบบผูกขาด สืบทอดอำนาจกันมาตั้งแต่ปี 2508 ในกิจการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขายให้กับ กองทุนเทมาเส็กโฮลดิ้ง นั้น เจ้าของก็คือตระกูลลี โดยชื่อเทมาเส็ก คือชื่อเดิมของเกาะสิงคโปร์ ซึ่งคงพอทำให้เราเข้าใจได้ว่า เทมาเส็ก กับ สิงคโปร์ คืออันเดียวกัน และในที่นี้ เดิมทีเอกชนเป็นรัฐด้วยกันทั้งคู่ และปัจจุบันแม้กองทุนเทมาเส็กจะคงความเป็นรัฐอยู่ฝ่ายเดียว แต่คู่เจรจาการค้ายังเป็นคนเดิม บทบาททางการค้ายังเหมือนเดิม ดังนั้น สิงคโปร์จึงจำเป็นต้องต้อนรับเพื่อนของเขา ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ทราบดีอยู่ก่อนแล้ว และนี่คือยุทธศาสตร์เพื่อการตอบโต้มาตรการของ คมช. โดยเฉพาะ
อธิบายข้อที่สอง สิงคโปร์แม้จะเป็นประเทศร่ำรวย แต่ก็มีข้อจำกัดประการสำคัญที่สุดคือที่ดิน กับประเทศมาเลเซียนั้นสิงคโปร์มิได้มีความสัมพันธ์ที่ดีนัก ทหารและฝูงบินของสิงคโปร์จึงต้องอาศัยน่านฟ้าไทยในการฝึกร่วม การตอบโต้ของรัฐบาลไทยจึงทำให้สิงคโปร์หวั่นไหวอย่างยิ่งยวด เพราะเกี่ยวพันถึงเรื่องการรักษาอธิปไตยของประเทศ เรื่องนี้คมช. ซึ่งเป็นทหารเข้าใจดี จึงกล้าใช้มาตรการเข้มข้นกับสิงคโปร์ เพื่อเตือนสติ ที่สำคัญกว่านั้น ไทยยังมีประเด็นเรื่องคอคอดกระ ที่ถ้าขุดเมื่อไร ประเทศสิงคโปร์จะสูญเสียรายได้มหาศาล เมืองท่าในภูมิภาคอาจจะเปลี่ยน โดยเรือไม่ต้องแล่นอ้อมและไม่ต้องเสี่ยงกับโจรสลัดที่ชุกชุมในช่องแคบมะละกา นี่คือเรื่องที่สิงคโปร์กังวลกับไทยมากที่สุด
นอกไปจากนี้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่คมช.อ้างถึงว่ามีการดักฟังโทรศัพท์ จนต้องเลิกใช้ระบบจีเอสเอ็ม เพราะหวั่นเกรงต่อความมั่นคง น่าจะเป็นการกล่าวหาสิงคโปร์ที่หวังผลในเชิงจิตวิทยาในประเทศมากกว่า คือให้คนไทยยิ่งไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ และเห็นสิงคโปร์เป็นเหมือนพม่าในแบบเรียน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับมาตรการทางการทูตที่เด็ดขาด ให้คนไทยชื่นชมความเด็ดเดี่ยว โดยมีฉากหลังของความหาญกล้าดังได้อธิบายไว้ในข้อที่สอง
ทั้งหมดนี้คือการต่อสู้กันในเกมการเมืองของ 2 ฝ่าย ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วภูมิภาค ทำให้เราได้เห็นกระบวนการสร้างองค์ความรู้เรื่องชาตินิยมขึ้นมา(โดยมีประเทศอื่นเป็นศัตรู) ว่าแท้จริงสิ่งที่เราเรียนรู้มาแต่เล็กแต่น้อย ก็คือเรื่องของวิธีการรักษาอำนาจของชนชั้นปกครองในประเทศเรา มากหรือน้อยกว่านี้ไม่ไกลนัก ส่วนในเรื่องที่ลึกซึ้งกว่านั้น มักไม่มีคำอธิบาย