การต่อสู้เพื่อมาตรการบังคับใช้สิทธิ์ในการเข้าถึงยาของคนจน
เมื่อเราพูดถึงเรื่องการค้าระหว่างประเทศ การนำเข้า-ส่งออก เป็นไปไม่ได้ที่เราจะละเว้นเรื่องการพึ่งพิงทางการค้ากับประเทศผู้รับซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายการค้าแบบขาดดุลกับหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยมาโดยตลอด ด้วยการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยมูลค่าการส่งออกเป็นหลักนี้เอง ทำให้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย มีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเมืองเกือบทุกด้านในทุกรัฐบาลของไทย แน่นอนละ ไม่เว้นรัฐบาลเผด็จการอีกเช่นเคย
กับประเทศเล็กๆ ขนาดประชากรหกสิบกว่าล้านคน ซึ่งตั้งอยู่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นประเทศไทยนี้ นอกจากจะกล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงการส่งออก(แน่นอน หมายถึงพึ่งพิงกำลังซื้อของสหรัฐอเมริกา)เป็นหลักแล้ว ไทยยังเป็นประเทศที่ให้ความเอื้ออำนวยต่อนโยบายความมั่นคงของสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้สหรัฐอเมริกามีฐานทัพอากาศในไทยเพื่อใช้ต่อสู้ในสงครามเวียดนาม การอนุญาตให้ตั้งคุกลับ หรือแม้แต่การร่วมมือในการสกัดกั้นสงครามก่อการร้ายทั้งการส่งทหารไทยไปอิรัก และร่วมจับตัวนายฮัมบาลี ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ด้วยนโยบายที่ไทยมีต่อสหรัฐอเมริกาเช่นนี้ต่างหาก ที่ทำให้สหรัฐอเมริกายังยินดีที่จะเป็นที่พึ่งพิงทางเศรษฐกิจการส่งออกให้กับไทย ทั้งที่ในปัจจุบันนี้ สินค้าประเภทเดียวกันหลายชนิด ไม่ว่า สินค้าเกษตร สิ่งทอ อัญมณี หรือชิ้นส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีหลายประเทศ เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย สามารถจะผลิตสินค้าป้อนตลาดสหรัฐในราคาที่ถูกกว่าสินค้าของไทย
ดังนั้น ความได้เปรียบประการเดียวของผู้ค้าไทยก็คือการได้สิทธิ์พิเศษลดกำแพงภาษีการนำเข้า(GSP) ซึ่งนับเป็นมูลค่าแต่ละปีสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาด้วยน้ำหนักที่ส่งผลถึงนโยบายต่างๆ ระหว่าง 2 ประเทศ โดยทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ แต่ประเทศไทยเอง ในฐานะประเทศโลกที่ 3 ซึ่งจัดอยู่ในหมู่ประเทศยากจน ก็ยังดำรงสถานะที่เป็นสากลอยู่อีกสถานะหนึ่งควบคู่ไปด้วย นั่นคือการเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO)
WTO เป็นองค์กรนานาชาติที่ตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2538 ภายหลังที่การเจรจาในรอบอุรุกวัยของ ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร หรือ GATT ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2490 เพื่อให้เกิดการค้าเสรีโดยการลดภาษีศุลกากรระหว่างชาติเกิดมีปัญหาที่ซับซ้อน และใช้เวลานานกว่า 7 ปี ( พ.ศ.2529-2536) ก็ยังไม่สามารถจะเจรจาตกลงกันได้ ดังนั้น การเกิดขึ้นของ WTO จึงมุ่งเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องภาษีศุลกากรระหว่างประเทศเป็นจุดใหญ่ และได้ขยายบทบาทที่ชัดเจนขึ้นเป็น 3 ข้อหลัก ดังต่อไปนี้
1.ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (General Agreement on Tariff and Trade; GATT) ที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้
2.ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services; GATS)
3.ความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (The agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights; TRIPS)
โดยที่ปัจจุบันนี้ WTO มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 150 ประเทศ แยกออกเป็น 2 ฝักฝ่าย คือกลุ่มประเทศร่ำรวย กับกลุ่มประเทศยากจน และถือเป็นองค์กรนานาชาติในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ (UN)
การมีประเทศที่ยากจนและร่ำรวยเป็นสมาชิกองค์กรนานาชาติเดียวกันด้วยอุดมคติรัฐเสมอรัฐ ทำให้เวทีนานาชาติแห่งนี้ได้กลายเป็นเวทีระงับข้อตกลงพิพาทในหลายวาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสินค้าดัดแปลงพันธุวิศวกรรม(GMOs) และเรื่องของความสามารถในการเข้าถึงยาในประเทศด้อยพัฒนา
ภายใต้ข้อตกลงของ WTO ในหลายๆ เรื่อง กลุ่มประเทศยากจนได้รวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินนโยบายที่ทำให้ไม่เสียเปรียบประเทศร่ำรวย หรือประเทศแกนกลางทางการค้าเป็นผลสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ทำให้ในภายหลัง สหรัฐอเมริกาและบรรดาประเทศร่ำรวยหลายประเทศ เริ่มหันหลังให้กับข้อตกลงร่วมกันแบบพหุภาคีอย่าง WTO และได้เดินหน้าเจรจาทางการค้าเป็นรายประเทศด้วยข้อตกลงแบบทวิภาคี (Free Trade Area; FTA) ทั้งนี้ เนื่องเพราะหากขาดจากการรวมกลุ่มแล้ว บรรดาประเทศมหาอำนาจต่างทราบดีว่า กลุ่มประเทศยากจนไม่สามารถปฏิเสธข้อตกลงFTAได้ ทั้งด้วยเหตุที่กลัวจะเสียโอกาส และด้วยเหตุผลของการที่ยังต้องพึ่งพิงประเทศใหญ่เหล่านั้นในหลายด้าน
ภายใต้ข้อตกลงใน WTO ซึ่งให้ความสำคัญกับประเทศยากจน และพยายามที่จะทำงานสอดรับกับองค์การอนามัยโลก(WHO) จึงทำให้มีมาตรการที่เรียกว่า มาตรการบังคับใช้สิทธิ์ ซึ่งเป็นมาตรการในข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น เพื่อให้กลุ่มประเทศยากจนสามารถบังคับใช้สิทธิ์ในการเข้าถึงยาราคาถูกในกรณีที่จำเป็นได้ อันมีอยู่ 2 ลักษณะ ประกอบด้วย มาตรการบังคับใช้สิทธิ์โดยรัฐ(Government Use) และมาตรการบังคับใช้สิทธิ์โดยเอกชน(Compulsory Licensing)
แม้จะมีบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในWTO ว่าด้วยข้อตกลงเรื่องมาตรการบังคับใช้สิทธิ์ แต่เป็นที่รู้กันดีว่ามาตรการดังกล่าวนี้เป็นข้อบัญญัติที่สหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง นั่นเพราะสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถือสิทธิบัตรยารายใหญ่ของโลก โดยมีบริษัทผลิตยาที่เป็นเอกชนอยู่กว่า 500 ราย ในจำนวนนี้มีรายใหญ่อยู่ 10 ราย มีรายได้จากการขายยาแต่ละปีรวมกันทั่วโลกกว่า 400,000 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ทุกปี (การสำรวจนี้มีขึ้นในปี พ.ศ.2545 โดย International Medical Statistics)
การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์ของประเทศใดหนึ่ง อาจทำให้ประเทศอื่นๆ นำไปเลียนแบบ และเอกชนสหรัฐอเมริกาจะต้องสูญเสียรายได้ไปจำนวนมหาศาล ดังนั้นแม้ WHO จะมีนโยบายที่สนับสนุนแนวทางดังกล่าวกับกลุ่มประเทศยากจน แต่ก็ยังไม่มีประเทศใดกล้าลองของ จนกระทั่งมาช่วงปลายปี พ.ศ.2549-2550 รัฐบาลไทยได้ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ์ กับยารักษาโรค 3 รายการ คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี เอฟฟาเรนซ์ ที่มีบริษัท เอ็มเอสดี(ประเทศไทย) เป็นเจ้าของสิทธิบัตร, ยาคาเลตร้า ของบริษัทแอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด, และยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองพลาวิคซ์ ที่มีบริษัท ซาโนฟี อเวนตีส(ประเทศไทย)จำกัด เป็นเจ้าของสิทธิบัตร โดยเจ้าของสิทธิบัตรยาทั้งหมดนี้เป็นบริษัทยาขนาดใหญ่และมีอิทธิพลอย่างสูงในสหรัฐ
ผลจากการที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์นี้เอง ทำให้เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2550 ผู้แทนการค้าสหรัฐ จึงได้ประกาศเลื่อนสถานะประเทศไทยจากประเทศที่ถูกจับตามอง เป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ว่าด้วยการมีกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมทางการค้ากับสหรัฐ และอาจจะนำไปสู่การตัดสิทธิ์พิเศษทางการค้า GSP
นี่เองจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศของไทยอยู่ในเวลานี้ ด้วยท่าทีที่รัฐบาลไทยเองก็คงกำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจ ว่าจะยังยืนหยัดที่จะให้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์ เพื่อให้ผู้ป่วยที่ยากจนสามารถเข้าถึงยาราคาถูกจากอินเดียและแหล่งอื่นๆ ได้ หรือจะถอดใจเลือกพยุงเศรษฐกิจส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศในขณะนี้เอาไว้ การตัดสินใจใดหนึ่ง อาจมีความสำคัญเท่ากับการเปลี่ยนหลังพิงกับมหาอำนาจอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกาไปเลยก็ได้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนี้ ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของประเทศบราซิล เพิ่งมีคำตัดสินใจไปเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์ สำหรับยาต้านไวรัส แทนที่ยาเอฟฟาไวเลนซ์ ซึ่งบริษัท เมิร์ค ของสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าของสิทธิบัตร เรียบร้อยแล้ว การต่อสู้ทางจริยธรรมเช่นนี้ จึงไม่น่าจะใช่การต่อสู้ที่โดดเดี่ยวแน่ๆ และถ้าเป็นเช่นนั้น อินเดียจะเป็นอีกประเทศที่น่าจับตามอง ในฐานะคู่แข่งด้านธุรกิจยากับสหรัฐอเมริกา หลังจากที่กลายเป็นคู่แข่งทางด้านธุรกิจไอทีไปเรียบร้อยแล้ว