เมื่อเราไม่ต้องการสงคราม แต่ทำไมสงครามยังมีอยู่?
มีหลายคนกำลังเข้าใจผิดไปหรือเปล่าว่ามนุษย์เราในโลกปัจจุบันได้ถูกแบ่งแยกโดยอาณาเขตประเทศ และสัญชาติในพาสปอร์ต มันเป็นความยินยอมอยู่หรือที่เราเกิดมาเป็นคนไทย คนอเมริกัน คนอัฟกัน หรือคนมาลี ภายใต้คำว่า สัญชาติ... ที่เราสังกัด ยังประกอบไปด้วยความแตกต่างและหลากหลายอีกมากอยู่ในคำที่ทางการเรียกว่า พวกเดียวกัน และเราควรรู้มาตั้งนานแล้ว ว่าแทบทุกประเทศในโลก เกิดขึ้นมาจากการทำสงครามแบ่งแยกดินแดน
คนที่มีกองกำลังกล้าแข็งที่สุด และสามารถเอาชนะกลุ่มอื่นๆ มาได้ จะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่าโดยหลักประกันความมั่นคงแล้ว กลุ่มผู้นำโดยส่วนใหญ่มักจะสร้างกลไกที่เรียกว่า การสืบทอดอำนาจ เอาไว้ให้กับพวกของตัว และในการได้สิทธิ์ปกครองเป็นประเทศนั้น ไม่มีรัฐบาลใดในโลกที่จะไม่ละโมบในดินแดน ดังนั้น ภายใต้คำว่าอาณาเขตประเทศ(ซึ่งส่งผลไปในทางเดียวกับคำว่า-สัญชาติ) จึงไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม เพราะนั่นจะถือเป็นเรื่องท้ายๆ ของสิ่งที่ต่อไปจะถูกเรียกว่า ชุมชนชายขอบ
คำว่าชุมชนชายขอบในที่นี้ ไม่ได้มีความหมายเดียวกับคำว่า ชายแดน แต่ชุมชนชายแดนโดยส่วนหนึ่งก็มักจะเป็นชุมชนชายขอบด้วย ชุมชนชายขอบก็คือ-เขตแดนที่ความเป็นมาตรฐานแบบรัฐเข้าไปไม่ถึง เช่น มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แตกต่างกับคำจำกัดความที่รัฐบัญญัติ มีวันสำคัญของชุมชนที่ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในปฏิทิน หรือการมีภาษาพูดที่ไม่ใช่ภาษากลางซึ่งรัฐกำหนด เหล่านี้จะทำให้เกิดความเป็นชุมชนชายขอบขึ้น และมีผลต่อการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ที่มักจะติดขัดกว่าที่อื่นๆ งบประมาณเข้าไปไม่ถึง แต่กลับต้องปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐทุกประการ เช่น การเป็นทหารในนามของรัฐ ,การเสียภาษีในอัตราเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าเป็นการ ได้ไม่คุ้มเสีย สำหรับชุมชนชายขอบ และจะส่งผลพอกพูนไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐมากขึ้นเป็นลำดับ
ประเทศโดยส่วนใหญ่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือกำเนิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2488) ซึ่งก็กว่า 60 ปีมาแล้ว คนรุ่นใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นในรุ่นหลังจึงอยู่ห่างไกลจากความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนชายขอบ ทั้งที่โดยความเป็นจริงการแบ่งแยกดินแดนก็ยังคงดำเนินอยู่ตลอดในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่สำเร็จไปแล้วอย่างติมอร์ตะวันออก และที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ขับเคลื่อนขบวนการของตนอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มาบูซายาฟ ,พยัคทมิฬอีแลมป์ ,จาอาร์อิสลามิยะ และกลุ่มพูโล เป็นต้น
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาบางส่วน ของประเทศไทย ก็เกิดขึ้นจากชนวนอันเดียวกันกับที่กล่าวมา คือเป็นตัวแทนของความแตกต่างที่ดำรงอยู่ในรัฐไทย และพยายามจะแยกตัวออกไปเป็นอิสระ หรือไปรวมกลุ่มกับรัฐที่ให้ความกลมกลืนและคิดว่าจะให้สิทธิได้มากกว่า ความคิดเห็นเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทั้งหมดในชุมชน ขอเพียงแต่เป็นความคิดเห็นของกลุ่มจัดตั้งที่เข้มแข็ง และอาศัยความเป็นพวกเดียวกันนำพาผู้คนในชุมชนสู่สงครามปลดปล่อยที่กลุ่มแกนนำเป็นผู้กำหนด ไม่มีสงครามไหนเกิดจากความเห็นด้วยของทุกคน และไม่มีสงครามไหน..ที่หยุดลงได้ด้วยการประณาม
คงเป็นเพราะการแบ่งแยกดินแดนครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นเมื่อกว่า 60 ปีมาแล้วนี้เอง ที่ทำให้หลายคนไม่สามารถนึกเห็นภาพการตั้งประเทศขึ้นมาใหม่ หรือการย้ายไปรวมกับประเทศอื่น ดังนั้น เพื่อให้จินตนาการในเรื่องเวลาใกล้เข้ามาสู่ยุคปัจจุบัน จึงขออนุญาตนำเสนอภาพ สงครามคอโซโว ซึ่งเป็นสงครามแบ่งแยกดินแดนที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.2539-2542(และถึงปัจจุบัน) มาเปรียบเทียบให้เห็นถึงขั้นตอนการแบ่งแยกดินแดน ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างรุนแรงในบริเวณภาคใต้ตอนล่างของรัฐไทยขณะนี้
บนดินแดนแห่งความขัดแย้งทางเชื้อชาติของชาวยูโกสลาเวียเดิม (ประกอบด้วย เซอร์เบีย โครเอเชีย สโลวีเนีย มาซิโดเนีย บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีนา มณฑลวอยวอดีนา และมณฑลคอโซโว) รัฐเซอร์เบียมีเชื้อสายส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บเชื้อสายเดียวกับสลาฟ (ใกล้ชิดกับรัสเซียนับถือคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์) และมีชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมอันได้แก่ มาซิโดเนีย บอสเนียเฮอร์เซโกวีนา และคอโซโว
ในอดีตที่ผ่านมายูโกสลาเวียปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ มีผู้นำที่มีความสามารถในการปกครองและสามารถผสานความเป็นสมานฉันท์ระหว่างเชื้อชาติ คือพลเอกยอซีป บรอซ ตีโต ทำให้ความขัดแย้งทางเชื้อชาติไม่มีปัญหามากนัก แต่เมื่อตีโตถึงแก่กรรม ผู้นำที่ขึ้นมาสืบทอดตำแหน่ง คือ สลอบอดาน มีโลเซวิช ซึ่งเป็นคนเชื้อสายเซิร์บหัวรุนแรง ได้ก่อชนวนปัญหาเชื้อชาติให้เกิดขึ้นมาอีก ภายหลังระบบคอมมิวนิสต์ในรัสเซียล่มสลายปลายปี พ.ศ. 2534 มีหลายสาธารณรัฐที่ต้องการแยกเป็นอิสระ
ประเทศที่แยกตัวไปส่วนใหญ่จะมีปัญหาเนื่องจากชนเชื้อสายเซิร์บในประเทศไม่ต้องการแยกประเทศ ทำให้เกิดการปะทะกันหลายพื้นที่ แต่ท้ายที่สุด โครเอเชีย สโลวีเนีย มาซิโดเนีย ก็สามารถแยกตัวได้สำเร็จ และได้รับการรับรองจากนานาชาติให้จัดตั้งรัฐบาลของตน
บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเองก็ต้องการแยกตัวออกไปเป็นประเทศใหม่ แต่มีปัญหามากเพราะประเทศเหล่านี้มีประชากรชาวเซิร์บอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าประเทศอื่นๆ จึงมีการรวมกำลังต่อต้านการแยกประเทศเพื่อจะเข้ารวมกับรัฐบาลเซอร์เบีย ปัญหาทวีความรุนแรงหนักมากในปี พ.ศ.2538 อันนำไปสู่การสังหารหมู่เพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จนองค์การสหประชาชาติต้องเข้าไกล่เกลี่ยและยุติศึก
มาถึงคราวของคอโซโวจะแยกตัวบ้างเพื่อไปรวมกับแอลเบเนีย ทางรัฐบาลเซิร์บไม่ยินยอม และได้ทำการโจมตีขับไล่ชาวมุสลิมเชื้อสายแอลเบเนียในคอโซโวอย่างโหดเหี้ยม ในปี พ.ศ.2542 ทำให้กองกำลังนาโต้และสหรัฐอเมริกาต้องเข้ายับยั้ง โดยการโจมตียูโกสลาเวียทางอากาศอย่างหนักกว่า 90 วัน เพื่อกดดันให้นายมีโลเซวิชยอมถอนทหาร และอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมเชื้อสายแอลเบเนียกลับเข้าตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ โดยมีกองกำลังชาติพันธมิตรคุ้มครองกระทั่งปัจจุบัน
และแม้ว่าขณะนี้ นายมีโลเซวิชจะถูกจับกุมและลงโทษโดยศาลโลกในฐานะอาชญากรสงครามแล้ว การก่อวินาศกรรมในคอโซโวก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง(เหมือนที่อิรักไม่มีซัดดัม แต่ระเบิดพลีชีพก็ยังไม่หมดสิ้นไป)
ในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยนั้น ย้อนกลับไปให้ดีเราจะเห็นความคล้ายคลึงกันบางประการ นั่นคือปัญหาความรุนแรงได้ทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้(ศอ.บต.)ออกไป เหมือนเป็นการเปิดมุ้งที่ครอบยุงเอาไว้ให้บินออกมาสูบเลือดอีกหน เช่นนี้แล้วก็ดังที่บอกไปหลายๆ หน ว่าคงมีแต่การเจรจาเท่านั้นที่สามารถยุติปัญหาได้ และดังที่เคยเสนอเงื่อนไขการเจรจาของกลุ่มก่อความไม่สงบไปแล้ว หากรัฐไทยรับไม่ได้ในข้อเสนอ ก็ต้องทำสงครามต่อสู้ หรือขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ(ซึ่งคงมีการเสนอให้เจรจาอีกเช่นกัน และในเงื่อนไขเดียวกันอีกด้วย จึงทำให้รัฐไทยพยายามจำกัดให้เป็น ปัญหาภายใน และไม่ปะทะ)
เรายังจะต้องสูญเสียผู้คนไปอีกมากมายเท่าใด ถ้าไม่ต่อสู้ หรือยอมรับความจริง ผู้คนกำลังทวีความโกรธแค้น จากสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ระวังถ้าตัวแทนรัฐไม่ยอมใช้ปากกา ทหารไม่กล้าใช้อาวุธ อีกไม่ช้าคนไทยจะจัดตั้งกองกำลังห้ำหั่นกันเอง กลายเป็นกองกำลังชาวพุทธ เหมือนที่พวกชาวเซิร์บเป็นกัน
โลกนี้มีสิ่งเป็นไปไม่ได้เหลืออยู่อีกหรือ โดยเฉพาะกับสงคราม!