ความฝันอันสูงสุด
..เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม..
อันเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน ขึ้นมาต้อนรับฤดูฝนแห่งเดือนพฤษภาคม ภายหลังที่ฤดูแล้งแห่งเมืองเชียงใหม่กินเวลานานยาวกว่าทุกปี และอุณหภูมิในหน้าร้อน ขึ้นสูงสุดกว่า 44 องศาเซลเซียส ดังนั้นเมื่อฝนมา ไม้ที่แห้งเปลือยอยู่ทั้งต้นนานหกเดือนจึงระบัดใบเขียวชอุ่ม กระรอกน้อยผกโผนจากกิ่งโน้นไปกิ่งนี้อย่างร่าเริง ขนาด แมลงมัน ยังบินออกมาจากรูให้คนได้จับไปขาย ราคากิโลกรัมละ 600-800 บาท
ทั้งต้นไม้ กระรอก และคน ต่างยิ้มรับฤดูฝน
การเปลี่ยนฤดูกาล ความหมายก็คือการพ้นผ่านของเวลา และสำหรับคนที่เฝ้าแสวงหาความสำเร็จกับความใฝ่ฝันในรูปแบบต่างๆ เวลาที่ผ่านไปน่าจะทำให้สามารถเดินทางใกล้ความฝันมากขึ้น ผมคิดว่าความใฝ่ฝันนั้นเหมือนทฤษฎีแรงดึงดูด คือมันมีอยู่จริง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องตัดสินจากการมองเห็น
ผมเหมือนกับคนอื่นๆ เดินทางยาวนานอยู่บนเส้นทางความฝันของตัวเอง และคงมีโชคดีอยู่ไม่น้อย ที่ระหว่างทางได้มีโอกาสเจอผู้ไปถึงฝันมาก่อนเป็นระยะ พวกเขาบางคนเฉยเมยกับผม แต่ส่วนใหญ่มีเมตตา เอาละ ผมไม่จำเป็นต้องปิดบังหรอกกระมัง ผมฝันอยากจะเป็น นักเขียน
เรื่องมันเริ่มมาตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น กับความบังเอิญของสิ่งที่ในหนังสือ The Alchemist ของ เปาโล โคเอโย เรียกว่า โชคของมือใหม่ นั่นเพราะผมเป็นเด็กผู้ชายที่เล่นกีฬาได้ไม่เก่งกาจ การเรียนก็อยู่ในระดับกลางๆ ของห้อง หน้าตาก็งั้นๆ เรียกว่าถ้าไม่อยู่ในกลุ่มเพื่อนก็คงจะไม่มีใครรู้จักหรือสนใจ แต่ให้บังเอิญในวิชาภาษาไทย อยู่ๆ วันหนึ่งอาจารย์ชมผมขึ้นมาว่าเขียนบทประพันธ์ร้อยกรองได้ดี เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ที่แม้แต่อาจารย์ก็คงจะจำไม่ได้หรอก แต่มันกลับนำพาความมั่นใจของผมลงสู่เวทีประกวดคำประพันธ์ และได้รางวัลที่โหล่อยู่ 2 ครั้ง หลังจากนั้นมาผมก็ได้พบกับโชคของมือใหม่ คือคำประพันธ์ของผมได้รับรางวัลชนะเลิศ(อย่าถามเชียวว่าตอนนั้นประกวดกันกี่คน)
คนที่ไม่เคยทำอะไรได้ดี พอค้นพบคุณค่าของตัวเอง มีหรือครับที่จะไม่เก็บสิ่งนั้นเอาไว้
หลังจากได้รับโชคของมือใหม่เป็นครั้งแรก ผมก็เริ่มจริงจังกับการประกวด และพอประกวดหลายครั้งก็เริ่มเห็นมุมมองของกรรมการ จึงรู้ว่าเขียนยังไงกรรมการถึงชอบ และก็ทำให้ได้รางวัลอีกเรื่อยๆ หารู้ไม่ว่านั่นแปลว่าเราไม่มีความสามารถที่แท้จริง เพียงแต่อาศัยแท็กติกในการเอาชนะคนอื่นๆ ในที่นั้น ภายใต้กรรมการชุดนั้นได้เท่านั้นเอง
คงโง่อีกนานและถึงขั้นดักดานไปเลย ถ้าไม่บังเอิญว่าในปีหนึ่ง รุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่าได้รับรางวัล ซีไรต์ และทำให้มีโอกาสได้อ่านงานของเขา ภายใต้ชื่อเล่ม แผ่นดินอื่น หลังจากนั้นแหละครับ ไอ้เด็กน้อยจึงรู้ตัวว่าภาระของนักเขียนไม่ใช่การบรรยายสายลมแสงแดด หรือประดิษฐ์คำสละสลวย และถ้ารุ่นพี่คนนี้ไม่ได้ซีไรต์ รับประกันว่าผมคงโง่ต่อไปอีกนานมาก
ผมตื่นขึ้นจากความฝันสวยงาม เส้นทางโปรยกลีบผกามาศ สู่ ดอกไม้มีหนามแหลม มิใช่แย้มคอยคนชม ขณะที่รุ่นพี่คนนั้นก็เริ่มก่อตั้งนิตยสารที่กำลังจะปิดตัวชื่อ WRITER ในรูปโฉมใหม่ขึ้นมา ผมไม่รีรอที่จะส่งงานเขียนไปให้เขาพิจารณา และเขาก็ตอบกลับมาว่า ไม่ผ่าน แต่ยังอุตส่าห์ให้คำวิจารณ์และกำลังใจเด็กมัธยมรุ่นน้องคนนั้น ให้เขาเก็บเป็นความประทับใจมาจนบัดนี้
เพิ่งต้นปีที่แล้ว รุ่นพี่ที่เป็นบรรณาธิการคนแรกของผม เสียชีวิตลงด้วยวัยแค่ 40 ปี ห่างจากวันที่เขาได้รับรางวัลซีไรต์ 10 ปีพอดี หรือ..สิบปีเท่านั้น!!
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ รุ่นพี่ของผม เขาเป็นแรงใจให้ดำเนินตามได้ 10 ปี แล้วเขาก็จากไป แต่นั่นแหละ ผ่านไปถึง 10 ปี ผมก็ยังไปไม่ถึงเส้นทางที่มุ่งหวัง ใจหายว่านี่มันปีที่ 11 เข้าไปแล้ว
หลังจบชั้นมัธยมเข้าไปเรียนในระดับชั้นมหาวิทยาลัย ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตเพิ่งเข้ามาในสังคมไทยใหม่ๆ ผมที่พลาดหวังจากช่องทางในหน้านิตยสารก็เริ่มแสวงหาช่องทางที่จะเข้าถึงคนอ่านได้ง่ายกว่า นั่นคือ เว็บบอร์ด ในเวลานั้น ความที่เว็บไซต์ภาคภาษาไทยยังมีอยู่ไม่มาก ชุมชนที่เกิดขึ้นในเว็บไซต์จึงเป็นชุมชนใหญ่ และใครๆ ต่างก็เข้าไปรวมกัน โดยเฉพาะบรรดานักอยากเขียนทั้งหลายในเวลานั้น และหลายคนที่ได้กลายเป็นนักเขียนจริงๆ จังๆ ในเวลานี้ ผมเคยพบเจอหลายคนที่เห็นพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้นในบอร์ด ถนนนักเขียน ของ www.pantip.com แล้วค่อยแยกย้ายกันออกไปตั้งกลุ่มของตัวเอง
ความที่ถนนนักเขียนเป็นชุมชนใหญ่มาก ผมจึงเป็นคนหนึ่งที่แยกตัวออกมารวมกับกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ชื่อ กล้าฝัน ชื่อนี้ดีทีเดียว และต่อมาด้วยการแยกออกมาสร้างเว็บไซต์เฉพาะของกลุ่มนี้ นำพาตัวผมให้ได้พบกับใครๆ อีกมากมาย ทั้งที่เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง และที่เป็นผู้มีพระคุณต่อกันจวบจนปัจจุบัน
แต่มีอยู่คราวหนึ่ง ผมเคยส่งเรื่องสั้นของผมไปลงในนิตยสาร บางกอก นั่นเป็นเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารเกี่ยวกับนิยายโดยเฉพาะ ทำให้หลังจากนั้น ผมจึงได้รู้จักกับนักเขียนอีกหลายคนในบางกอก ซึ่งล้วนแต่เป็นนักเขียนระดับผู้ใหญ่ และได้ครูพันธุ์ พงศ์นาค เป็นครูทางการเขียนอีกท่าน ดังเคยกล่าวถึงในเรื่อง ครูของกลุ่มตะเกียง ไปแล้ว
ผมไม่คิดว่าถึงวันหนึ่ง เกือบสี่ปีให้หลังจากที่เรียนจบออกมา ผมจะเขียนเรื่องแต่งไปโพสต์ลงในเว็บบอร์ดอีก แต่ที่ต้องทำอย่างนั้น ก็เพราะได้เข้าร่วมในโครงการฝึกเขียนของกลุ่มตะเกียง และนอกจากงานเขียนที่ได้โพสต์ลงไปจะมีครูนำไปวิจารณ์ให้แล้ว ยังมีบุคคลอื่นๆ ที่อาจเรียกว่าขาจรหรือขาประจำเข้าไปวิจารณ์ผลงานให้อีกด้วย บางคนเข้าไปวิจารณ์อย่างรักษาน้ำใจกัน แต่บางคนเข้าไปวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน
ดูเหมือนว่าในหมู่ผู้ที่เข้าไปวิจารณ์ผลงานของกลุ่มตะเกียงอย่างเผ็ดร้อนและตรงไปตรงมานั้น ไม่มีใครเกินผู้ที่ใช้ชื่อว่า กากี่นั้ง ผลจากการวิจารณ์ที่ตรงและไม่เกรงใจนี้เอง ทำให้นักเขียนหลายคนต้องออกมาต่อคำเพื่อปกป้องผลงานของตัวเอง บางคนจิตหลุดก็ถึงกับว่ากากี่นั้งอย่างสาดเสียเทเสีย แต่ผมกลับเห็นเป็นเรื่องดีที่มีผู้อ่านแล้วหนำซ้ำยังวิจารณ์ให้อีก ดังนั้นงานชิ้นไหนก็แล้วแต่ที่เขียนแล้วได้รับคำชมจากกากี่นั้ง ผมก็แอบรู้สึกภูมิใจอยู่ลึกๆ
หากบางชิ้นเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน ผมก็พยายามจะยัน กากี่นั้ง ด้วยเหตุผล เคยจำได้ว่ามีอยู่คราวหนึ่ง เราเคยทุ่มเถียงกันด้วยเรื่องดอกปีบ ที่ผมบรรยายไว้เป็นฉากในภาคเหนือ แต่กากี่นั้งกลับค้านว่าเป็นไม้ของภาคกลางและภาคใต้ ก็ได้เอาเหตุผลและรูปภาพมายันกันอย่างหนักแน่น หาได้มีข้อยุติ และไม่ยอมกัน แต่ไม่มีใครโกรธ
กากี่นั้งหายไปพักใหญ่แล้ว และบอร์ดผลงานของกลุ่มตะเกียงก็เงียบเหงาลงพอสมควรเมื่อไม่มีเขา ที่บ้านในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2550 แม่ถามผมว่ารู้จักนักเขียนชื่อ รพี หรือไม่ เพราะเพิ่งออกโทรทัศน์ว่าเสียชีวิตลงแล้ว ผมบอกแม่ว่าไม่รู้จัก รู้จักแต่รพีพร ซึ่งเป็นผู้ริเร่มก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2534 แม่ก็บอกว่าสงสัยจะใช่ และเธอว่าน่าสงสารเขา เพราะทราบว่าภรรยาเป็นอัลไซเมอร์ จำได้แต่เพลงที่ตัวเองเคยร้อง
ภรรยาของรพีพร หรือ สุวัฒน์ วรดิลก คือ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ผู้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ในปีเดียวกันกับสามี เธอเป็นนักร้องเพลงที่มีน้ำเสียงไพเราะกังวานเป็นเอกลักษณ์ ถึงขนาดเคยร้องเพลงขอความเมตตาจากแพทย์ที่รักษาพ่อของเธอที่พิการ จนนายแพทย์ประทับใจงดเว้นค่ารักษาให้ และแม้ตลอดชีวิตเธอจะภักดีต่อสามีปานใด แต่บัดนี้ เธอไม่สามารถจะจดจำเขาได้อีกแล้ว แม้ในวันที่ต้องตายจากกัน
สุวัฒน์ วรดิลก เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ในวัย 83 ปี หลังจากที่พักฟื้นบนเตียงยาวนาน ระหว่างนั้นไม่มีใครรู้ว่าเขาคิดอะไร และทำอะไรบ้าง แต่เรื่องราวในชีวิตก่อนที่เขาจะเจ็บป่วยนั้น มีทั้งช่วงที่รุ่งโรจน์อย่างน่าอิจฉาในวัยหนุ่ม กระทั่งเคยถูกจับอยู่ในคุกถึง 4 ปี หลังพาคณะของเขาไปทำการแสดงที่เมืองจีน และไม่ว่าจะอย่างไร เขาก็คือปูชนียบุคคลที่สร้างคุณูปการให้วงการประพันธุ์ของไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้ผู้หนึ่ง
ผมคิดว่ายากเหลือเกินที่ความฝันบนเส้นทางนักเขียนของใครสักคนจะไปสิ้นสุดในจุดเดียวกับที่สุวัฒน์เป็น แต่ไม่กี่วันมานี้ไฟฝันของผมเหมือนจะลุกโหมขึ้นแรงกล้า พร้อมๆ กับมือที่ประณมก้มกราบลงบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีใบหน้าของ สุวัฒน์ วรดิลก ปรากฏอยู่ เพราะใครก็รู้ว่าเขาป่วยไข้ไม่สบายมานานเพียงไร แต่ในระหว่างเวลานั้น มีแต่พวกเรากลุ่มตะเกียงเท่านั้นที่รู้ว่าสุวัฒน์ทำอะไรบ้าง เมื่อมีคนเฉลยในวันหนึ่ง ว่าบัดนี้ นักวิจารณ์นามว่า กากี่นั้ง ได้จากเราไปแล้ว และได้มาเฉลยกับเราว่า กากี่นั้ง-คือใคร?
ในเส้นทางของผมวันนี้ เดินมาถึงวันที่ได้เป็นศิษย์ของศิลปินแห่งชาติ 11 ปีที่ผ่านมาจึงไม่ไร้ความหมายอันใดเลย เมื่อเดินตามฝัน ยิ่งนานวันเรายิ่งพบแต่ความงดงาม แม้บางครั้งต้องฝ่าฟันอุปสรรคเหมือนพายุโหม แต่ถ้าผ่านไปได้แล้ว เราก็คงรู้สึกเหมือนในบทเพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน ท่อนที่ว่า ถึงจะเอนรากคลอนถอนไป แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม
บทเพลงนี้ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นผู้ขับร้อง