ภาพภายใน สาระสำคัญของมนุษย์
ดวงตา น่าจะหันเข้าข้างในสักข้างหนึ่ง นี่สองตาอยู่ข้างนอก แต่ภาพอีกส่วนอยู่ภายใน
ดวงตาเอย.. จึงมองเห็นเพียงภาพไม่สมบูรณ์ มองเห็นได้เพียงแต่รูป
ดึกเอยดึกสงัด จึงฉงนตนเองดั่งคนแปลกหน้า คนอื่นยิ่งไม่รู้จักแล้ว
ตุ๊กตารอยทราย ของศักดิ์สิริ มีสมสืบ
............................................
เคยมองเข้าไปในตัวเองสักครั้งบ้างไหม ที่ตั้งคำถามเช่นนี้เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มักมองแต่สิ่งที่แลเห็นเบื้องหน้า และเชื่ออย่างปราศจากข้อกังขาใด ๆ ว่า ภาพที่ปรากฏแก่จักษุเบื้องหน้านั้นคือความจริง น้อยคนนักที่จะสามารถใช้จักษุภายในสำรวจตัวตนได้อย่างลึกซึ้ง
แท้จริงแล้ว เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะสัจจะมักซุกซ่อนตัวอยู่อย่างสงบงันในความนิ่ง ตรงข้ามกับมายาที่มักดึงดูดสายตาให้หลงใหลว่าใช่สิ่งจริงแท้
การมองเข้าไปในภายในจิตของตนนั้นจะช่วยให้เราสามารถแยกแยะทวิภาวะระหว่างความจริงและสิ่งลวงได้ดียิ่งขึ้น
โลกภายนอกนั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อน โลกภายในก็ยิ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อนเช่นกัน ภาวะอารมณ์ของมนุษย์เป็นความลึกล้ำอันยากหยั่งรู้ วูบไหวในความผันแปรนานัปการ แกว่งไกวไปมาระหว่างขั้วความรู้สึกมากมายภายในชั่วพริบตาเดียว การเรียนรู้ภายในจึงเป็นเรื่องที่มิอาจละเลย
เพราะการเรียนรู้นี้จะนำไปสู่ความเข้าใจตัวเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง ภาพที่เห็นจากดวงตานั้นมิอาจแยกแยะเท็จจริงได้เท่ากับการตระหนักจากดวงใจ
ภาพภายในจะนำมนุษย์ไปสู่สาระสำคัญแห่งชีวิต ภาพที่เห็นจากภายนอกไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณ
การท่องโลกภายในจะทำให้เรายอมรับตัวเองมากขึ้น แม้บางขณะ เราอาจจะพิศวงกับมิติอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งบวกและลบที่เราไม่เคยคิดว่าจะพบเจอ แต่นั่นคือสิ่งที่จะต้องเรียนรู้และยอมรับ อันจะนำไปสู่การดำรงอยู่อย่างเยือกเย็นท่ามกลางความร้อนและอบอุ่นเมื่อความเหน็บหนาวมาเยือนชีวิต
อย่างไรก็ตาม การจับจ้องอารมณ์ของตนนั้นเป็นสิ่งที่กระทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะความว่องไวในการเปลี่ยนแปรของอารมณ์มักทำให้เราพ่ายแพ้ต่อภาวะภายในเสมอ ดังนั้น ความไม่รู้เท่าทันตัวเองจึงตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จากจุดนี้เอง ที่ทำให้เรามักจะหงุดหงิดกับเรื่องบางเรื่อง แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยในชีวิตก็ตาม
สิ่งสำคัญที่เรามักละเลยคือ การยิ้มให้ตัวเองอย่างอ่อนโยนเมื่อค้นพบความเลวร้ายทั้งปวงในใจ รวมถึงกระแสอารมณ์เกรี้ยวกราดที่พบเจอหลังการพินิจจิตตน
แต่ละวัน เราน่าจะเวลาตรวจสอบความทะยานอยากของตัวเอง ความเร็วของกิเลส และความมืดบอดของใจ
ยิ้มให้กับทุกสิ่งที่ตนเป็น แม้ในยามเสียสมดุลในชีวิต เรียนรู้ทุกอย่างที่เป็นตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นความบ้าคลั่งหรือสงบเย็น จนกว่าจะคืนสู่ภาวะความสมดุลในตัวเอง
สิ่งที่มิควรทำอย่างยิ่งคือ การเกลียดตัวเอง ในท่ามกลางความจงชังเราไม่อาจพบเส้นทางใดได้
แม้ในการทำความเข้าใจตนเองนั้น ไม่จำเป็นต้องคาดคั้นว่าจะพึงรู้จักตัวเองอย่างครบถ้วนทุกด้าน เพราะกาลเวลาจะทำโลกทัศน์แปรเปลี่ยน ขอเพียงรู้จักตัวตนสักครึ่งหนึ่งก็น่าจะเพียงพอแล้ว ที่เหลือเว้นว่างไว้ให้กับพัฒนาการทางจิตวิญญาณที่มีการผันแปรไปตามกาลเวลา
...........................................
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์วัฏจักร ฉบับวันอาทิตย์ 2539 คอลัมน์ "ดอกไม้ในความคิด"
พิมพ์ครั้งสองในรวมบทความเชิงปรัชญา "ดอกไม้ในความคิด" 2544 ได้รับรางวัลหนังสือดีด้านปรัชญา ปี 2546