เสียงในการสื่อสาร
นั่งฟังมาโนช พุฒตาลเล่าเรื่องเสียงในสถานที่สองแห่ง ณ เวลาเดียวกัน
ระหว่างสยามสแควร์กับชายแดนไทย-พม่า
ระหว่างเสียงอึกทึกของรถรา เสียงเพลงดังลั่นผ่านลำโพง
ระหว่างเสียงใบไม้หวีดหวิว เสียดสีกระทบในสายลม
ผมนึกในใจ ขณะที่เจ้านายนั่งเคาะแป้นพิมพ์ก๊อกแก๊ก
ว่า อีตาดีเจเค้าเก่งนะ
ใช้เสียงสั้นๆ ระหว่างสองสถานที่ ในบริบทของช่วงเวลาเดียวกันอย่างจงใจ ก่อให้เกิดแนวคิดง่ายๆ ถึงสังคมที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่เปล่าครับ ! ท่านดีเจไม่ได้ต้องการจะถกเถียง ตั้งแง่กับสังคมเมือง และชูประเด็นสังคมรากเหง้ากลับเข้าสู่ชนบทเป็นสิ่งที่มนุษย์ประเทศนี้ควรทำ หรืออย่างน้อยๆ ก็แค่ในเมืองหลวงที่ชื่อ กรุงเทพฯ
มาโนช พุฒตาล เพียงแต่บอกให้เราใช้สมาธิ ลองเงี่ยหูฟังดีๆ ในเสียงอึกทึกของสยาม ฯ ก็อาจได้ยินเสียงกระซิบถ้อยคำรักของคู่รักหนุ่มสาว ในเสียงเสียดสีของใบไม้ที่แรกคิดว่าเงียบ ก็อาจมีเสียงเล็กๆ ของนกตัวน้อยๆ ร้องเล่นอยู่กับท้องฟ้าก็เป็นได้
ตรงนี้แหละ ที่ผมถือว่าเป็นหัวใจของการสื่อสาร ไม่ว่าคุณจะใช้วัตถุดิบอะไร
พู่กันธรรมดาในมือเจ้านายผม ย่อมแตกต่างกับพู่กันในมือแวนโก๊หะ
ฉันใด ฉันนั้น
แต่ใครก็ไม่รู้เคยพูดไว้ว่า การจะรู้เล่นในภาษา ในการสื่อสาร เพื่อสื่อความให้ง่ายแต่กินความหมายลึกและกว้างนั้น
ผู้สื่อสารจะต้องรู้และเข้าใจในพื้นฐานของภาษาที่เอามาหยิบใช้เสียก่อน
นึกถึงวลีที่ว่า เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เนอะ !