life is beautyful
ผมจำไม่ได้ว่าเป็นปีไหน แต่น่าจะอยู่ในราว 8 ปีก่อนที่ผมได้ชมภาพยนตร์อิตาลีของ โรแบโต้ แบนินี่ ชื่อเรื่อง Life is beautiful การได้กลับมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้งทางวีซีดีในอีก 8 ปีถัดมา ทำให้ผมสามารถเข้าใจความหมายของคำว่า วุฒิภาวะ ได้อย่างดี
เมื่อหลายปีผ่าน ในหลายเรื่องราว ผมรู้แล้วว่าเวลาจะสอนเราเอง
ภาพยนตร์อิตาลีไม่เคยได้ชื่อว่าเป็นกระแสหลักของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับแถวหน้า ทุกวันนี้ตลาดของผู้ชมแม้จะโหยหาความโรแมนติกสไตล์เกาหลี กับสเปเชียลเอฟเฟ็กแบบฮอลลีวูด แต่รายทางเรายังพอได้เห็นผลงานของจางอี้โหมว หรือร่องรอยอันรุ่งเรืองของหนังแก๊งสเตอร์ฮ่องกง กับเพลงรักอ้อมภูเขาแบบฉบับอินเดียอยู่บ้าง, การแทรกเข้ามาของภาพยนตร์อิตาลี โดยการกำกับของแบนินี่จึงนับเป็นของแปลก หากก็เป็นด้วยตัวเขาเองที่ทำให้เส้นทางเพื่อเปิดตลาดภาพยนตร์ในเอเชียและโลกล้มไม่เป็นท่า เมื่อเขากำกับเรื่องที่ 2 ออกมาชนิดไม่มีอะไรน่าจดจำ และไม่มีคนกล่าวถึง
แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น Life is beautiful ก็ยังเป็นตำนาน
ผมอาจพอขยายความได้ว่า ปรากฏการณ์ มือเทวดา ของภาพยนตร์สักเรื่องในชีวิตผู้กำกับสักคนหนึ่งไม่ได้มีเฉพาะในกรณีของแบนินี่ชาวอิตาเลี่ยน กับราชาผู้กำกับชาวอินเดียอีกคนซึ่งให้กำเนิด Sixth sense หนังตราตรึงตลอดกาลในระดับเขย่าขวัญหักมุม และวรรคทอง I see dead people ก็เกิดและจบกับภาพยนตร์เรื่องต่อมาของเขาบนเวทีโลกเช่นกัน
ความน่าสนใจประการแรกของหนังอิตาลีเรื่องนี้ก็คือ การที่แบนินี่ผู้กำกับอาสารับบทนำในเรื่อง และให้ภรรยาของเขาในชีวิตจริงได้แสดงเป็นภรรยาของตัวเองในเรื่องนี้ด้วย โดยแบนีนี่รับบทเป็นหนุ่มอิตาเลี่ยนเชื้อสายยิวชื่อกุยโด ผู้ได้พบรักกับครูสาวแสนสวยเชื้อสายผู้ดีชาวอิตาเลี่ยนชื่อดอร่า ที่กำลังจะต้องถูกจับแต่งงานอยู่รอมร่อกับข้าราชการผู้ฉ้อฉลแม้กระทั่งเวลาทำงานของตน
ความต้อยต่ำและสูงส่งที่ขัดแย้งกันของตัวละครพระ-นาง เป็นสมการสูตรสำเร็จก็จริง แต่การดำเนินเรื่องอย่างมีชั้นเชิง โดยทิ้งระยะเวลาให้รายละเอียดเล็กน้อยที่ถูกนำเสนอไปก่อน ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้วยศิลปะของความบังเอิญที่ลงตัวในฉากต่อๆ มา โดยเฉพาะเมื่อใช้ผ่านถ้อยคำอธิษฐานของฝ่ายหญิงที่ผนวกเข้ากับความเป็นผู้มีไหวพริบและช่างสังเกตของฝ่ายชาย อาทิ ฉากฝ่ายชายชอบเปลี่ยนหมวกใบเก่าของตนกับหมวกใบใหม่ของชายผู้หนึ่ง เมื่อหมวกบนหัวเปียกและเห็นเจ้าของหมวกกำลังปั่นจักรยานมาไกลๆ เขาก็เกริ่นอยากได้หมวกแห้งๆ สักใบ เพื่อชี้นำให้หญิงสาวลองอธิษฐาน พอเจ้าของหมวกเอาหมวกใบเก่ามาเปลี่ยนคืนหมวกใบใหม่(เปียก) คำอธิษฐานก็เป็นจริง
หากแม้ภาพยนตร์จะสร้างเสน่ห์ขึ้นด้วยการเล่นกับรายละเอียดและความบังเอิญจนน่าประทับใจ แต่สิ่งที่ดีกว่าก็คือการสะท้อนความรักจริงใจที่ชายคนหนึ่งจะมีต่อหญิงสักคน กุยโด-ชายผู้ปลิ้นปล้อนและกะล่อน เป็นนักฉวยโอกาส ทั้งนี้เราสามารถเข้าใจพื้นฐานอุปนิสัยนี้ได้ในภายหลังว่าเพราะเขาเป็นยิว จึงไม่ได้รับการปฏิบัติตอบที่ดีมาก่อนนั่นเอง เช่นมีบางร้านค้าห้ามสุนัขและคนยิวเข้าร้าน ตัวเขาอยากจะเป็นกวีก็กลับเป็นได้แค่เจ้าของร้านหนังสือลดครึ่งราคา นั่นก็เพราะความเป็นยิวที่ได้ติดตัวมา
เลือดยิวไม่ได้ทำร้ายเฉพาะแต่กุยโด หากนั่นยังกระทำกับลูกชายและเมียของเขาด้วย บ่ายวันหนึ่ง ทหารเยอรมันที่จับมือกับมุสโสลินีแห่งอิตาลีบุกมาจับกุยโดและลูกชายของเขาไป ดอร่ากลับมาเห็นบ้านที่ถูกรื้อกระจุยและไม่เหลือทั้งแก้วตา-ดวงใจ เธอวิ่งตามไปหาสามีกับลูกที่สถานีรถไฟ รถไฟขบวนหนึ่งจอดอยู่ บรรทุกยิวเต็มทุกโบกี้ควบคุมโดยทหารเยอรมัน แน่นอนว่าสามีกับลูกชายของเธออยู่บนรถไฟขบวนนั้น กับชะตากรรมสถานีถัดไปชื่อทุกข์ยากและความตาย แต่ดอร่าเลือดผู้ดีอิตาเลี่ยนขอขึ้นโดยสารร่วมชะตากรรมไปกับลูกและสามีเชื้อสายยิวของเธอด้วย
นั่นช่างสมแล้ว ที่กุยโดมักจะเรียกภรรยาของเขาว่า เจ้าหญิง เขาย่อมเห็นมงกุฏในหัวใจอันงดงามของเธอ บรรทัดต่อจากนี้ มาติดตามถึงการถนอมรักที่ชายสักคนควรจะให้ได้ต่อภรรยาและลูก
ผมเรียกสถานที่แห่งนั้นว่าค่ายนรก ชาวยิวหญิงและชายถูกแยกออกจากกัน ที่เหมือนกันคือต่างถูกบังคับให้ทำงานหนัก และได้รับอาหารเพียงเศษขนมปังจืดชืด กุยโดอยู่กับลูกชาย เขาปลุกปลอบและพยายามทุกวิธีเพื่อให้ลูกเชื่อว่าสถานการณ์ที่ปรากฏตรงหน้าคือเกมฉลองวันเกิดของเด็กน้อย โดยผู้ชนะในเกมนี้จะได้รถถังเป็นของรางวัล
การที่บทภาพยนตร์ถูกเขียนขึ้นด้วยวิธีที่ให้กุยโดแสดงท่าทางชวนขบขันทุกครั้งต่อหน้าลูกชาย ภายใต้ฉากที่รายล้อมด้วยความสลดหดหู่ของชีวิตเชลยสงครามชาวยิวและกองซากศพรมแก๊ซ ขับอารมณ์ของผู้ชมให้ตื่นตะลึงงันในแบบร้องไห้ไม่ได้หัวเราะไม่ออก บอกได้แต่ว่ามีเพียงเด็กผู้บริสุทธิ์เท่านั้น จึงจะเชื่ออย่างสนิทใจว่าสถานการณ์รอบด้านยังมีความสนุกสนานซุกซ่อนอยู่
ไม่เฉพาะกับลูกชาย ในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ กุยโดยังพยายามจะสื่อสารกับภรรยาตลอดเวลาเพื่อให้คลายกังวลว่าตนและลูกยังไม่ได้ถูกรมแก็ซรวมกับศพยิวกองพะเนินเทินทึก เขาเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ยอมรับสถานการณ์อันเลวร้ายแล้วกลับแปลงมันออกมาเป็นแบบชวนหัว นั่นทำให้ผมต้องย้อนไปกล่าวถึงฉากหนึ่งที่กุยโดอาสาเป็นล่ามแปลภาษาของทหารเยอรมันให้บรรดาเชลยชาวยิวรับฟัง ทั้งที่เขาเองก็ไม่เข้าใจภาษาเยอรมันมาก่อนเลย เหตุผลเดียวที่กุยโดทำเช่นนั้น คือเขาอยากจะพูดในสิ่งที่อยากให้ลูกได้ยิน แล้วเขาก็ทำมันสำเร็จเสมอ
ภาพยนตร์เรื่องนี้กุยโดเสียชีวิตลงในวันสุดท้ายก่อนสงครามยุติ ทหารอเมริกันขับรถถังมารับตัวเด็กชายหลังคืนที่พ่อของเขาหายตัวไปพร้อมกับเสียงปืนของทหารนาซีเยอรมัน เหตุการณ์คืนนั้นกุยโดสั่งให้ลูกชายซ่อนตัวอยู่ในที่ลับ ห้ามออกไปไหนจนกว่าจะไม่เห็นใครอยู่แถวนั้นอีก แล้วตัวเขาก็ปลอมเข้าไปตามหาภรรยาที่เกรงว่าจะถูกทหารนาซีขนขึ้นรถยีเอ็มซีไปสังหาร นั่นเป็นคราวเคราะห์ที่แท้จริงของกุยโด เพราะนอกจากจะตามหาภรรยาไม่เจอแล้ว ตัวเขาเองยังถูกทหารนาซีจับได้ ผลลัพธ์ก็อย่างที่ได้กล่าวแล้ว เขาถูกสังหาร
ในภาพยนตร์ ความโหดร้ายของสงครามถูกลดทอนเป็นความบันเทิงด้วยฉากจบที่แม่กับลูกได้กลับมาเจอกัน ดูจบแล้วผมคิดถึงกุยโด คิดถึงอุดมคติที่ผู้ชายสักคนหนึ่งจะสามารถเป็นทั้งพ่อและสามีแบบเขาได้ อันที่จริง ประสบการณ์ถัดจากการดูครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ทำให้ผมแลเห็นหลายอย่างซึ่งเป็นสาระซุกซ่อนอยู่ในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการเยาะเย้ยอัตตาในเรื่องชาติพันธุ์ของมนุษยชาติ การทำงานของพวกข้าราชการต่อประชาชนฐานราก และการชอบคุยโตโอ้อวดของบรรดานักการเมืองทั้งหลายแหล่
เรื่องนี้ถูกกำหนดให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้หากคิดตามเงื่อนไขเหตุผลแล้วเวลาในเรื่องอาจไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง แต่มันจะมีความหมายสักเท่าไร กับการที่เราต้องรับรู้ความหมายของสงครามมากขึ้นไปอีก เพราะสิ่งที่ทำให้เราตราตรึงอยู่กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือความเป็นพ่อที่ดีและสามีที่น่ารักของกุยโดต่างหาก
พ่อแบบนี้ สามีแบบนี้ ภรรยาแบบนี้ หรือเด็กฉลาดๆ แบบนี้ สงครามพรากไปเท่าไรแล้ว?
ผมขอบคุณแบนินี่ สำหรับภาพยนตร์ที่อาจจะดีที่สุดในชีวิตของเขา ซึ่งได้กำกับและแสดงร่วมกับภรรยาผู้เป็น เจ้าหญิง ในชีวิตจริง บางทีการที่ภาพยนตร์อีกเรื่องและหลายเรื่องต่อมาของเขาไม่ประสบความสำเร็จนัก ก็คงเพราะโลกอยากจะจดจำเขาเอาไว้ในบุคลิกของผู้ชายน่ารักชื่อกุยโดก็เป็นได้
คงไม่มีใครในโลกนี้ อยากให้กุยโดตายไปจากความทรงจำ และคงมีบ้างที่ใครสักคนในโลกจะเป็นได้อย่างกุยโด เราคงรู้ๆ กันอยู่ว่ากุยโดของตัวเองเป็นใคร โดยไม่จำเป็นที่เขาจะต้องสร้างภาพยนตร์ให้คุณร่วมแสดงนำ และเรียกคุณตลอดเวลาว่า เจ้าหญิง เหมือนแบนินี่
รูปแบบและการแสดงความรักของทุกคน นั่นแหละครับคือ Life is beautiful.