การเดินทางไปตามทิศเหนือของคนสองคน
ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ผมได้ชมก่อนเดินทางมาอยู่เชียงใหม่ชื่อเรื่อง I AM DAVID ซึ่งเข้าฉายเฉพาะที่ APEX ลิโด้ โรงเดียวเท่านั้น ทว่า-สำหรับผมแล้วยืนยันกับตัวเองได้ว่านี่คือภาพยนตร์ดีที่สุดในชีวิตที่เคยดูมา น่าเสียดายที่ต้องเดินทางขึ้นเชียงใหม่เย็นนั้น ผมจึงมิได้รู้รายละเอียดอื่นๆ นอกจากเรื่องราวในจอที่เข้าประทับอยู่ในใจ
ที่เชียงใหม่ ถ้าวัดจากระยะทางของบ้านที่พัทลุงถึงในซอยวัดอุโมงค์ หลายคนคิดว่าผมเป็นชาวซอยที่เดินทางมาไกลที่สุด เปล่าเลย ที่จริงเป็นพี่ฮัวต่างหาก พี่ฮัวที่ผมเพิ่งรู้จักไม่กี่วันก่อน เธอเกิดที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
ผมไม่กล้าถามอายุ แต่คะเนได้ว่าพี่ฮัวน่าจะอยู่ในวัยปลาย 40 เธอเป็นเจ้าของร้านหนังสือเช่าชื่อ ปั๊กกะตืน ร้านเดียวกับที่จัดกิจกรรมโรงเรียนนักอ่านขึ้นในวันที่ผมเดินเคว้งอยู่ในซอย เธออีกนั่นเองที่เป็นแม่งาน จัดทำของที่ระลึกให้นักเขียน ของที่ระลึกให้ผู้ร่วมกิจกรรม และจัดเฉาก๋วยโบราณพร้อมน้ำดื่มไว้บริการทุกคน
กว่าจะถึงวันที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนนักอ่านของร้านพี่ฮัวนั้น ผมพบคนเชียงใหม่จนเริ่มชินกับการรอคอยหลังเวลานัดหมายแล้ว จึงได้อาศัยเวลานั้นพูดคุยกับพี่ฮัว กระทั่งได้ทราบว่าพี่ฮัวเองก็เป็นลูกช้างที่จบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เหมือนกับใครหลายๆ คน
ทุกปี พี่ฮัวจะกลับบ้านที่สุไหงปาดีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แต่ตลอดปีที่ผ่าน เป็นปีแรกที่เธอไม่กล้ากลับบ้าน นั่นไม่น่าแปลกใจ ใครหลายคนแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานกระจายอยู่ทั่วประเทศก็ไม่ได้กลับไปด้วยเหตุผลเดียวกันกับพี่ฮัว
เหตุผลของศพจำนวนนับพันจากระยะเวลาตลอดทั้งปี 2547-48 ราวกับเป็นเขตสมรภูมิแห่งสงคราม!
ผมไม่ได้ถามพี่ฮัวต่อถึงเหตุผลที่ทำร้านหนังสือเช่า ทราบจากคนเชียงใหม่ในภายหลังว่าร้านปั๊กกะตืน อยู่มานานแล้ว และการจัดกิจกรรมโรงเรียนนักอ่าน(เป็นครั้งแรกของร้าน)โดยทุนส่วนตัวของเธอเอง ก็น่าจะแปลได้ว่าความฝันของเธอยังไม่ยอมดับมอด พอๆ กับการเดินทางที่ยังไม่จบสิ้น
ในกิจกรรมของวงสนทนาเมื่อเริ่มต้นขึ้น ผมประหลาดใจทีเดียวที่ว่าทุกคนที่ร่วมอยู่ในวงต่างสามารถแสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างเป็นระบบ ไม่เก้อเขิน มีวิธีคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งทุกคนในที่นั้นก็คือศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งให้กล่าวตามตรง ผมไม่พบบรรยากาศเช่นนี้ง่ายๆ สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
วิธีคิดของคนทางเหนือกับคนทางใต้อาจจะแตกต่างกัน ผมสรุปกับตัวเองเพียงแค่นั้น
ในวงสนทนา ประกอบไปด้วยพี่ฮัว,พจนาถ พจนาพิทักษ์, บอล, ภัทร, ปุ้ย, หลวง กับอีกหลายคนที่ผมจำชื่อไม่ได้ แต่ละคนต่างแลกเปลี่ยนกันพูดถึงหนังสือที่ตัวเองชอบ ภาพยนตร์ที่ตัวเองประทับใจ รวมกึงการ์ตูนกับบทกวีอีกด้วย
ในส่วนของผม ผมเลือกหยิบหนังสือชื่อ ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน ของ เปาโล โคเอโย นักเขียนบราซิลเลี่ยนที่ประทับใจ ส่วนภาพยนตร์ก็แน่นอน I AM DAVID โดยอธิบายว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องของการผจญภัยของเด็กชายคนหนึ่ง ที่หนีออกไปจากสถานกักกันนักโทษแห่งไหนสักแห่งในโลก โดยมีเพียงขนมปังครึ่งแถว กับเข็มทิศที่ชี้ไปทางเหนือ และซองพัสดุสีน้ำตาลที่ห้ามเปิดระหว่างทาง เด็กชายคนนี้แทบไม่รู้ว่าการเดินทางไปตามทิศเหนือเรื่อยๆ ของเขาจะนำไปพบเจอกับอะไร ที่จริงเขาไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใครเลยด้วยซ้ำ แต่ผู้ปรารถนาดีคนหนึ่งในเรือนจำเป็นคนชี้ทางให้เขาไป
การที่ต้องเติบโตอยู่แต่ในคุก รอบตัวมีเพียงบรรยากาศของการลงโทษที่ป่าเถื่อนและการทำงานที่หนัก นั่นทำให้เด็กชายไม่รู้จักแม้แต่วิธีที่จะยิ้ม ผมลืมถามไปทีเดียวว่าทุกคนในวงสนทนาจะรู้สึกอย่างไรกันบ้าง ถ้าได้รู้จักกับเด็กชายคนหนึ่งที่เพิ่งหัดยิ้มตอนอายุ 12
การเดินทางของเด็กชายนำเขาไปเจอคนหลากหลายประเภท ทั้งคนที่ทำลายความไว้ใจของเขา และคนที่ดีกับเขาอย่างบริสุทธิ์ใจ เขาต้องผ่านด่านหลายด่าน หลายประเทศ ในหลายๆ รูปแบบ บางด่าน เขาต้องขุดดิน ซุกตัวลอดใต้ลวดหนาม และหนีทันในระยะพอดีกับที่เจ้าหน้าที่ไล่หลังตามติดๆ พร้อมยิงปืนส่องแสงขึ้นฟ้า
บางด่าน เด็กชายต้องลอยคออยู่กลางทะเล เคว้งคว้างอยู่กับกลางคืน รอเพียงคลื่นจะซัดร่างเขาเข้าหาฝั่ง ในขณะที่บางด่าน เพียงอาศัยไหวพริบปฏิภาณของคนที่อยู่บนโลกนี้มาก่อน บวกเข้ากับความปรารถนาดีของเธอ เด็กชายก็สามารถผ่านด่านเข้าไปโดยง่าย
ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนอะไรหลายอย่าง ซุกซ่อนสัญลักษณ์มากมาย ภายใต้แก่นหลักที่ว่าในการจะเอาตัวรอดไปในวันๆ หนึ่งนั้น คุณต้องรู้จักทำอย่างไรบ้าง ต้องรู้จักเอาอะไรแลกกับอะไรบ้าง
หลังจบจากวงพูดคุยเรื่องหนังสือ ซึ่งที่จริงก็อย่างที่พจนาถเกริ่นไว้ในวันนั้นตั้งแต่ต้น ว่าเป็นเพียงวันที่พวกเรามาทำความรู้จักกัน มาอ่านกันและกันมากกว่าที่อยากจะรู้ว่าใครอ่านหนังสืออะไร ผมนึกยิ้มตอนที่เขาพูดอย่างนั้น เพราะพาลให้เห็นสมไปถึงบทบาทที่เขาเป็นคนเขียนเพลงให้กับรายการโทรทัศน์ ฅนค้นคน
หลังรู้จักกัน ผมจึงทราบต่อมาว่าภัทรกำลังมีโครงการจะทำ-กาดละอ่อน ซึ่งเป็นที่รวมของคนหนุ่มสาว บอลกำลังจะไปอยู่กับเสี้ยวจันทร์ แรมไพร ที่กรุงเทพฯ ส่วนผม ด้วยความที่มาใหม่ พี่ฮัวกับปุ้ยจึงชวนไปชมนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อดอยหลวงเชียงดาวที่คุ้มกลางเวียง(เมือง) ในอีก 2 วันข้างหน้า
จึงมาถึงวันที่ผมได้ไปชมนิทรรศการภาพถ่าย ซึ่งพี่ฮัวกับปุ้ยเองก็สารภาพว่าเพิ่งได้เข้าไปที่คุ้มกลางเวียงครั้งแรก เพราะเพิ่งเปิดไม่นานหลังเจ้าของยกให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ดูแล ถือเป็นการให้เปล่าเพื่อสาธารณะประโยชน์ในมูลค่า 50 ล้านบาท
แต่ก็คุ้มค่า
การนำสิ่งที่เกินจำเป็นมาบรรจุสิ่งจำเป็นลงไป ทำให้เมืองนี้ยิ่งมีความหมาย
ผมไม่ได้นับดูว่าในนิทรรศการมีภาพถ่ายดอยหลวงเชียงดาวจำนวนทั้งหมดกี่รูป รู้แต่ว่าบนดอยนั้นมีพันธุ์ไม้อยู่ถึง 1,722 ชนิด ซึ่ง 40 กว่าชนิดเป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะบนดอยหลวงเชียงดาวเท่านั้น
และนั่น รวมไปถึง เอื้องศรีเชียงดาว กล้วยไม้พันธุ์ใหม่ของโลกที่ ปิยเกษตร สุขสถาน นักพฤกษศาสตร์ชาวไทยค้นพบเมื่อปี 2546 บริเวณกิ่วลม ใกล้ๆ ยอดดอย ซึ่งต่อมา สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ ประทานอนุญาตให้ใช้พระนามตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ Sirindhornia pulchella
ทั้งพี่ฮัวและปุ้ย ดูมีความสุขดีกับการชมนิทรรศการ หลังจากนั้น พี่ฮัวจึงพาผมนั่งรถผ่านสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่พร้อมคำบรรยาย โดยมีปลายทางของทริปอยู่ที่ร้านหนังสือขนาดใหญ่ สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์
ตลอดเวลาที่นั่งอยู่ในรถ เมื่อผ่านร้านหนังสือเช่าต่างๆ ที่ฮัวจะแนะนำว่าแต่ละร้านมีอะไรน่าสนใจบ้าง และอย่างไม่หวงลูกค้า เธอว่าบางร้านมีหนังสือมากกว่าร้านของเธออย่างเทียบกันไม่ได้ ชนิดที่ว่าร้านสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์มีเล่มไหน ร้านนั้นก็มีทุกเล่ม
ไม่กี่วันที่รู้จักกัน แต่ผมก็มองเห็นพี่ฮัวหลายมุม เธอเป็นนักแสวงหาที่เดินทางมาไกล ทั้งยังมีมุมมองของหัวใจที่ระบบธุรกิจแทรกซึมเข้าไปไม่ถึง ผมเชื่อว่าคนวัยปลายสี่สิบที่ความคิดยังไม่เปลี่ยนไปจากความฝันแบบฉบับหนุ่มสาว สิ่งนั้นจะดึงดูดให้เธอและร้านของเธอมีอะไรน่าสนใจใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกเสมอ ในด้านที่งดงาม
ผ่านไปค่อนเดือนแล้วหลังผมได้ดูภาพยนตร์เรื่อง I AM DAVID ผมเพิ่งมารู้เอาว่าหนังเรื่องนี้สร้างจากเค้าโครงนวนิยายชื่อเดียวกันของ แอนนี่ โฮล์ม นักเขียนชาวเดนมาร์ก โดยตัวผู้เขียนเองมีเจตนาจะเขียนนวนิยายนี้ขึ้นเพื่อสร้างความตื่นเต้นให้ผู้อ่านวัยเยาว์ ที่ต้องเจอกับเรื่องจริงอย่างเช่น สงคราม ผู้อพยพ ความสำคัญของการเชื่อใจ และหน้าที่ของอิสระภาพ
ผมเพิ่งรู้ทีหลังว่าฉากสถานกักกันในเรื่อง คือสภาพของคุกในยุโรปตะวันออก และเพิ่งรู้อีกเหมือนกันว่าภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการเดินทางข้ามทวีปของเด็กชายวัย 12 มีชื่อไทยว่า เดวิด เด็กชายหัวใจไม่เคยแพ้
ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดในภายหลัง มาจากแฮนด์บิลที่ซึ่งแถมมากับหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ฉบับหนึ่งที่ร้านพี่ฮัวเป็นสมาชิก และเธอตั้งใจเก็บเอาไว้ให้ผม ในวันที่ไปเช่าหนังสือที่ร้าน
ถึงผมจะชอบดูหนัง แต่คงไม่มีใครรู้ว่าแฮนด์บิลใบนี้เป็นแฮนด์บิลเพียงใบแรกที่ผมมีและพร้อมจะเก็บไว้ ไม่ใช่เพื่อระลึกถึงเดวิด แต่เพื่อระลึกถึงการเดินทางมาเจอพี่ฮัว
นึกขึ้นได้ว่าผมยังไม่ได้บอกถึงสิ่งที่อยู่ในซองพัสดุสีน้ำตาลของเด็กชายนักเดินทางผู้นั้นเลย ในซองนั้นคือประวัติการเกิด หรืออย่างที่เราเรียกกันว่าสูติบัตรของเด็กชายเดวิด ซึ่งภายหลังด้วยหลักฐานนั้นเอง ที่นำพาเด็กชายไปพบกับแม่ของเขา คล้ายกับหนังจะบอกว่าที่สุดของการเดินทางในครั้งนี้ ก็คือการค้นหาตัวตนของใครคนหนึ่งที่ชื่อเดวิดนั่นเอง
ผมไม่รู้ว่าในวันแรกที่พี่ฮัวเดินทางขึ้นมาตามทิศเหนือเหมือนอย่างเดวิด เธอมีเข็มทิศมาด้วยหรือเปล่า แต่ ณ ร้านหนังสือเช่า ปั๊กกะตืน ในวันนี้ ผมมั่นใจว่าเธอจะหาตัวตนของเธอพบแล้ว
ยินดีที่ได้รู้จักครับ