ครูของกลุ่มตะเกียง
สองปีก่อนมีกลุ่มวรรณกรรมเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเกิดขึ้น โดยความมุ่งหมายเพื่อฝึกคนที่อยากเป็นนักเขียนให้ได้เป็นนักเขียน วัตถุประสงค์ก็ง่ายๆ แค่นี้ แล้วคนในกลุ่มก็มีอยู่ไม่กี่คน แต่สิ่งที่ใครผู้หนึ่งสร้างไว้ให้กับกลุ่มนี้เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกทึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องหัวใจของเขาและความทุ่มเทต่อกลุ่มวรรณกรรมกลุ่มเล็กๆ นี้
เขาเองที่เป็นคนให้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มตะเกียง
ทุก 3 เดือน หากไม่สุดวิสัย ผมมีพันธสัญญาต้องเดินทางจากเชียงใหม่ลงไปกรุงเทพมหานครที่ภัตตาคารพงศ์หลี บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อไปร่วมงานประกาศผลเรื่องสั้นรางวัลตะเกียงครั้งที่ 1,2,3
และเวลานี้ถึงครั้งที่ 8 แล้ว โดยในแต่ละครั้งมีคนไปร่วมรับประทานอาหาร ร่วมฟังคำวิจารณ์ทุกชิ้นงานที่ส่งประกวด คราวละไม่เกิน 10 คน มีบางคราวอาจมีผู้ไปร่วมงานได้แค่ 2 คนเท่านั้น ในขณะที่การวิจารณ์ผลงานอาจมีถึง 50 ชิ้น แต่ทุกครั้ง บรรยากาศทุกอย่างยังเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง และกำลังทรัพย์ของเขาผู้ก่อตั้งกลุ่มอย่างไม่มีกำไรใดๆ นอกจากการเป็นผู้ ให้
มีหลายคนที่เชียงใหม่ถามผมบ่อยๆ ว่าทำไมจึงจริงจังกับการประกวดรางวัลตะเกียงทั้งที่เป็นรางวัลซึ่งอาจถือว่าเล็กสุดๆ ของการประกวดวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น และแทบจะนับหัวคนที่รู้จักรางวัลนี้ได้ ต่อให้เขียนเรื่องสั้นชนะการประกวดรอบไตรมาสมาได้ รางวัลที่ได้รับก็ยังเป็นถ้วยรางวัลกับประกาศนียบัตรที่รับรู้กันในกลุ่มเท่านั้น เงินรางวัลสักบาทกระทั่งค่ารถกลับเชียงใหม่ ไม่เคยได้รับ
นั่นถ้าเขาจะเข้าใจว่าทุกอย่างในความตั้งใจต้องได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่เขาไม่รู้เลยว่าผมมีโอกาสได้รู้จักกับผู้ก่อตั้งกลุ่มตะเกียงคนนั้น ตั้งแต่กลุ่มตะเกียงยังไม่เกิดขึ้น ต้องบอกด้วยว่าเรื่องนี้แม้แต่ตัวของผู้ก่อตั้งกลุ่มตะเกียง(ซึ่งปัจจุบันผมเรียกว่า ครู) ก็ไม่ทราบมาก่อนด้วยเช่นกัน เรื่องมัน 5 ปีมาแล้ว..
5 ปีก่อน ในสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ สนุกอ่าน ซึ่งผมทำงานเป็นกองบรรณาธิการได้มีโอกาสเห็นรถเก๋งซึ่งอาจจะเป็นยี่ห้อเบ๊นซ์สีบรอนซ์ทองคันหนึ่งมาจอดเทียบหน้าสำนักพิมพ์ พร้อมกับการก้าวออกมาของชายร่างใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งได้นำเอาต้นฉบับตั้งเบ้อเร่อออกมาด้วย บุคลิกของเขาเหมือนทหาร ดูมีอำนาจ แต่ก็อ่อนน้อมในที ถ้าไม่เพราะเป็นเด็กอายุ 23 คนเดียวในกองบรรณาธิการ วันนี้เขาอาจจำผมได้
พี่แหม่มซึ่งเป็นพี่ใหญ่ผู้เกิดมากับธุรกิจหนังสือและเป็นคนชักชวนให้เขาผู้นั้นเดินทางมาเสนอผลงานกับสำนักพิมพ์สนุกอ่าน เธอบอกกับผมว่า เขาเป็นนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ แต่เป็นนักเขียนที่มีผลงานในนิตยสารยอดนิยมมากว่า 30 ปีแล้ว ที่สำคัญ เธอนับถือเขามาก เพราะเขาสนิทสนมกับพ่อของเธอตั้งแต่ครั้งพ่อของพี่แหม่มยังเป็นบรรณาธิการโฆษณาอยู่ในนิตยสารยอดนิยมเล่มนั้น และเมื่อพ่อของเธอเกิดเสียชีวิตลง ไม่มีวันไหนสักวันในงานศพของพ่อที่ปราศจากการไปร่วมไว้อาลัยของนายทหารเรือผู้นี้ และแม้เมื่อนิตยสารยอดนิยมได้มีแนวคิดจะทำหนังสือเล่ม ด้วยค่าตอบแทนต่อนักเขียนที่สมน้ำสมเนื้อ เขาก็ยังยินดีที่จะมอบต้นฉบับให้กับสำนักพิมพ์เล็กๆ ชุดใหญ่ ด้วยค่าต้นฉบับแบบเหมาจ่ายในราคาที่ไม่มากไปกว่านักเขียนใหม่ของบางสำนักพิมพ์ จนพี่แหม่มคนที่เชิญเขามารู้สึกอึดอัด เพราะเธอเชื่อว่าที่สำนักพิมพ์ของเราได้ต้นฉบับของเขา ก็เพราะเธอซึ่งเป็นพนักงานคนหนึ่งในสำนักพิมพ์นี้ เป็นลูกของบรรณาธิการที่สิ้นชีวิตไปแล้ว
ผมจำภาพและอุปนิสัยของนายทหารเรือผู้นี้ได้แม่นยำตลอดมา งานชุดเดียวของเขาที่เคยอ่านก็คือชุด นักโทษประหาร บางเล่มผมเป็นคนบรรณาธิการทั้งหมดเสียด้วยซ้ำไป ครั้นพอลาออกจากสำนักพิมพ์ไปทำนิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ ก็ไม่ได้อ่านงานของเขาอีก แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ชอบงานของเขา
เพียงแต่เทียบน้ำหนักระหว่างผลงานกับตัวตน ผมมีความอยากจะเป็นผู้ชายแบบเขา มากกว่าความอยากเขียนให้เก่งแบบเขาเสียอีก
3 ปีต่อมา โลกหมุนให้เราได้พบกันอีกครั้ง ด้วยความเชื่อมั่นที่ผมมีกับเขาอย่างเต็มเปี่ยมอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น เพื่อนของผมจะเข้าใจได้แน่ว่าทำไมผมจึงต้องเดินทางจากเชียงใหม่ลงไปกรุงเทพฯทุก 3 เดือน เพื่อร่วมงานประกาศผลเรื่องสั้นรางวัลตะเกียง นั่นถ้าเพื่อนได้ลองเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของผม แล้วฟังสิ่งที่ผมไม่เคยพูด
กลุ่มตะเกียงเกิดขึ้นจากการตั้งกระทู้เล็กๆ ในอินเตอร์เน็ต ว่าด้วยเรื่องของมาตรฐานการประกวดวรรณกรรม ต่อมาจึงมีการตั้งเป็นการประกวดในกระทู้ โดยผู้ตั้งโจทย์คือ พันธุ์ พงศ์นาค หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินผลการประกวดที่ถูกวิจารณ์ เมื่อถึงวาระที่ต้องประกาศผลรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในกระทู้เล็กๆ พันธุ์ พงศ์นาค ก็ได้สร้างนวัตกรรมในการประกวดอันหนึ่งขึ้นมา คือเขาจัดการประกาศผลตัดสินเรื่องสั้นนั้นเป็นการเฉพาะขึ้นที่ภัตตาคารพงศ์หลี และกลายเป็นการประกวดในรูปแบบที่กรรมการได้วิจารณ์ผลงานทุกชิ้นโดยตรง ต่อหน้าผู้ส่งเข้าประกวดและผู้ร่วมงาน เป็นมาตรฐานของกรรมการผู้เดียว พร้อมด้วยคำชี้แนะ
ต่อมาจึงเกิดเป็นชื่อกลุ่มตะเกียง เพื่อเรียนรู้เทคนิคการประพันธ์จากโจทย์การประกวดรอบไตรมาส ภายใต้ความรับผิดชอบของพันธุ์ พงศ์นาค ซึ่งบัดนี้เป็นครูของนักเขียนกลุ่มตะเกียงทุกคนที่ลงทะเบียนด้วยหัวใจไปเรียบร้อยแล้ว
สมาชิกกลุ่มตะเกียงมีด้วยกันหลายวัย และหลายสาขาอาชีพ พื้นฐานของแต่ละคนก็ไม่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่เคยเห็นว่าครูจะแสดงความกังวลถึงพื้นฐานอันแตกต่างเหล่านี้เลย กระทั่งเมื่อเวลาเดินทางถึงการประกาศผลรางวัลตะเกียงครั้งที่ 7 และมีสมาชิกผู้หนึ่งขอลาอุปสมบทในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ครูก็สนับสนุนโดยการเดินทางไปร่วมเป็นประธานในงานอุปสมบท และเสนอให้สมาชิกคนอื่นๆ ได้สะดวกเพื่อไปร่วมงานบุญครั้งนี้ด้วย โดยการเปลี่ยนสถานที่ประกาศผลรางวัลตะเกียงครั้งที่ 7 เป็นภายในฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
เพียงตอนที่เขาแจ้งแก่สมาชิกผู้นั้นว่ายินดีเดินทางไปร่วมงานอุปสมบทแน่นอน ก็ทำให้ผมนึกไปถึงตอนงานศพของพ่อพี่แหม่ม และให้รู้สึกว่าระยะทางจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯไม่ไกลสักนิด ถ้าจะมาหาครูพันธุ์ พงศ์นาค
ที่สัตหีบ ผมและเพื่อนๆ กลุ่มตะเกียงได้ทำกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการขึ้นไปบูชากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ การไปชมพิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ การไปชมเรือหลวงจักรีนฤเบศร และการเล่นเรือใบ ทั้งหมดนี้ได้รับความสะดวกอย่างมาก เพราะครูผู้นำเราไปเที่ยวชมกิจการกองทัพเรือ ได้ประดับยศเป็น พล.ร.ต.กาณฑ์ ชาตเสนีย์ ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว
การไปร่วมงานประกาศผลกลุ่มตะเกียง ทำให้ผมได้เข้าใจถึงความหลากหลาย สถานภาพและบทบาท เกียรติ์ ศักดิ์ศรี ตลอดถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ครูเคยบอกไว้ว่ารางวัลตะเกียงนี้จะสอนกัน 3 ปี หรือพอถึงตะเกียง 12 ก็จะจบหลักสูตร เพื่อนที่เชียงใหม่บอกว่าทำไมเดี๋ยวนี้ผมไม่เก่งเลย ไม่ติดอันดับรางวัลมา 3 ครั้งซ้อนเข้าไปแล้ว ผมก็ยิ้มหัวไปกับเขา เพราะเรื่องที่เล็กที่สุดในกลุ่มตะเกียงก็คือรางวัลนี่แหละ ลองมีการจัดประกวดเรื่องสั้นตะเกียงโดยไม่มีรางวัลสิ แล้วถามผมว่าผมจะเดินทางไปไหม เอาง่ายๆ ว่าต่อให้มีการประกาศผลรางวัลออกมาก่อนการจัดงาน แล้วผมได้ที่โหล่ ผมก็ไม่อายที่จะไปร่วมงานอยู่ดี
นั่นเพราะผมไปแล้วได้เพื่อน ได้ความจริงใจ ได้ความรู้ และได้เป็นศิษย์มีครูที่สอนให้รู้คุณค่าของความเป็นคนดีมากกว่าอะไรทั้งหมด
เมื่อศรัทธาในความดี ผมไม่รู้ว่าเราจะกังวลต่ออะไรได้อีก