หุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ : ศรีสุขนาฏกรรมหรือโศกนาฏกรรม?
เมื่อเย็นวานดูรายการทไวไลท์ โชว์ คุณสาคร ยังเขียวสด ศิลปินแห่งชาติสาขาหุ่นละครเล็ก ปี พ.ศ. 2539 และผู้ให้กำเนิดโรงละคร โจหลุยส์ เธียเตอร์ พร้อมด้วยคุณสุรินทร์ ลูกชาย ผู้สืบทอดศิลปะการเชิดหุ่นละครฯ ให้เกียรติมาเป็นแขกรับเชิญของคุณไตรภพในช่วงหนึ่ง นั่งดูไปยังปลื้มไปกับวิธีการเชิดหุ่น 'โขนย่อส่วน' ธรรมดาๆ ที่ไม่ธรรมดา เพราะใช้คนถึงสามคนต่อการเชิดหุ่นหนึ่งตัวให้ออกอากัปกริยาได้เหมือนมีชีวิต
ความน่าทึ่งอยู่ที่ผู้เชิดทุกคนล้วนต้องผ่านการฝึกโขน ซึ่งถือเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงมาเป็นอย่างดี รวมทั้งความพิเศษที่ผู้เชิดทุกคนต้องออกนาฏยลีลาไปพร้อมกับการเชิดราวกับกำลังสวมวิญญาณให้กับตัวหุ่นละครตรงหน้า เราจึงได้เห็นคนโขนพระชักหุ่นพระได้อย่างงามสง่าได้อารมณ์ทั้งคนเชิดและหุ่นชัก หุ่นนางที่เยื้องย่างได้อ่อนช้อยไม่ผิดท่าทางไปจากผู้เชิดที่กำลังสวมลีลาโขนนางอยู่เบื้องหลัง และที่น่าสนใจคือเหล่าผู้เชิดหุ่นล้วนเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่วัยใส ทายาทและลูกหลานรุ่นที่สามของตระกูลยังเขียวสดรวมสิบกว่าชีวิต
ใครที่ได้เคยผ่านไปแถวสวนลุมไนท์ บาร์ซาร์ ก็ต้องพยักหน้าหงึกๆ ว่า โจหลุยส์ เธียร์เตอร์ เปิดรอบการแสดงอะไรแบบนี้มานานนม แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าโรงละครที่จุคนได้ราว 300 ที่นั่งนั้นมีผู้เข้าชมการแสดงหุ่นละครเล็กต่อรอบเพียง 15 - 20 คน เท่านั้น ฟังแล้วน่าตกใจเพราะรายจ่ายเดือนละเรือนแสนจากค่าเช่าวันละหนึ่งหมื่นบาท ที่ โจหลุยส์ เธียเตอร์ กัดฟันรองรับการขาดทุนตลอดมา เพียงเพื่อต้องการสืบสานศิลปการแสดงที่หาดูได้ยากเต็มทีและเหลือเพียงคณะเดียวในบ้านเราให้ยังคงอยู่อย่างถึงที่สุด แต่ที่น่าใจหายกว่านั้นคือเมื่อคุณสุรินทร์ สารภาพในรายการว่า หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้เรื่อยไปแล้ว หุ่นละครโจหลุยส์ ก็คงจำต้องปิดตัวลงอย่างแน่นอนในอีกไม่เกินสองเดือนข้างหน้าอย่างน่าเสียดาย
เมื่อพิธีกรถามว่าแล้วหน่วยงานที่น่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการขานรับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง คำตอบของคุณสุรินทร์คงทำให้ผู้ชมต่างต้องเสียดายซ้ำสองเมื่อทราบว่าเขาดูเหมือนจะหมดหวังจากความพยายามดำเนินการเพื่อขอความช่วยเหลือหลังจากที่ได้ทำมาแล้วเป็นเวลาพอสมควรแต่ดูเหมือนจะเข้าถึงตัว 'ผู้ใหญ่' ได้ไม่ถูกคนเสียทุกครั้งไป