ทัศนะของ "จิตร ภูมิศักดิ์" ต่อฉันทลักษณ์
"การแต่งกาพย์กลอนที่เคร่งครัดในแบบบังคับ นำกฏเกณฑ์ทางรูปแบบตายตัวมาบีบบังคับความหมายและอารมณ์ที่ศิลปินสร้างขึ้นนั้น เป็นเรื่องของกวีรุ่นหลัง, ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางยุคสมัยที่ระบบศักดินาเจ้าแบบเจ้าแผน พัฒนาถึงขีดสูงสุดแล้ว,เป็นต้นมา ; และกวีพวกนั้นต้องการดูวรรณคดีด้วยตา ต้องการได้เห็นรูปแบบอันเรียบร้อยเป็นระเบียบงามตา แต่ไม่สนใจเรื่องเสียง ถึงจะสนใจเรื่องเสียง ก็คงต้องการแต่ให้มันอยู่ในกรอบอย่างมีระเบียบ ไม่มีเสียงเล็กเสียงน้อยโผล่แพล็มออกมาให้กระตุกหู, ทำนองเดียวกับที่ขนาบเด็กว่าให้เดินดีดี,เรียบร้อย, อย่ากระโดดโลดเต้น เดี๋ยวจะโดนเคาะตาตุ่ม, ฉะนั้น!"
(จาก โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งที่ ๓ สนพ. ฟ้าเดียวกัน เมษายน ๒๕๔๗ หน้า ๒๑๖ )
โองการแช่งน้ำฯ จิตรพยายามค้นหาสาเหตุแห่งการทำพิธีพระพิพิฒน์นี้ และสืบค้นหาที่มาของรูปแบบการเขียน อันได้แก่โคลงห้า ที่ปัจจุบันได้ตายสนิทไปนานแล้ว
สืบจนพอจับความได้ว่าโคลงห้าที่แสนศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีแช่งน้ำนี้นั้น มีที่มาจากโคลงกลอนของไพร่ฟ้าชาวบ้านธรรมดาจากดินแดนชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะจากดินแดน ไทย-อีสาน และลาว ณ ที่นี้จะไม่พูดถึงเรื่องนี้
ฉันทลักษณ์นั้นมีปรากฏในทุกภาษา แม้กระทั่งบทกวีของตะวันตก ที่ดูเหมือนจะไม่มีฉันทลักษณ์บังคับ แต่จิตรก็ฉีกหน้ากากอันอำพรางไว้ด้วยความไม่รู้ให้ได้เห็นกันว่า มันมีอยู่ และเป็นฉันทลักษณ์ที่ "รูปแบบเหมือนกัน" ในทุกภาษา นั่นคือการบังคับสัมผัสด้วยเสียง จังหวะ และที่สำคัฐรูปแบบแบบเพลงพื้นบ้าน ที่วรรคสุดท้ายจะสัมผัสรับส่งกัน ผมคงอธิบายได้ไม่ละเอียด และหรืออาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง หากใครอยากรู้ก็คงต้องไปหาอ่านเอาเองละกันครับ เล่มละ ๔๕๐ บาทไทยเอง
เป็นชิ้นงานที่น่าทึ่งในพื้นที่สมองของจิตร ปราดเปรื่องและรอบด้าน แม้ว่ามันจะอยู่ในทัศนะของฝ่ายซ้ายก็ตามที
คนที่อยู่ในคุก ไร้อิสรภาพแม้ในการจะหาข้อมูลได้นั้น เขียนบทความที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการอย่างทั่วถึง ย่อมไม่ธรรมดาแน่