คุยกันเรื่อง 'หุ่นละครเล็ก โจหลุยส์' อีกสักครั้ง
สืบเนื่องจากกระทู้เบิกโรงครานั้น ใน www.softganz.com/meeped/index.php?&obj=forum.view(cat_id=mp-board,id=258)
ยังคงติดตามเคลื่อนไหวและเรื่องราวภาคต่อของหุ่นละครเล็กอยู่เรื่อยมา จนกระทั่ง เมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสดีได้ชมการแสดงหุ่นละครเล็กของคณะโจหลุยส์ ซึ่งเปิดการแสดงรอบพิเศษเรื่อง "นรสิงหาวตาร" ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ที่บอกว่าพิเศษนั้นพิเศษหลายอย่าง หนึ่ง เพราะมีการแสดงเพียงรอบเดียววันเดียว คือใน เวลาทุ่มครึ่ง ของอังคารที่ วันที่ 26 สิงหาคม 2547 เนื่องในงาน "รวมใจไทย สานสายใยหุ่นละครเล็ก" ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของงานก็เพื่อหารายได้ช่วยเหลือคณะหุ่นละครเล็ก โดยเงินที่ได้จากการขายบัตรจะนำไปบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น และนำไปผ่อนชำระหนี้สินของคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ ที่ค้างชำระอยู่กับสวนลุมไนท์บาซาร์ แถมงานนี้ยังถือว่าเป็นการส่งเสริมให้การแสดงหุ่นละครเล็ก ที่เหลืออยู่เพียงคณะเดียวในประเทศไทยให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ภายใต้การสนับสนุนด้านสถานที่จากสวช.
พิเศษชั้นที่สอง คือ ละครเรื่องที่จัดแสดงในคืนนั้นคือ"นรสิงหาวตาร" เป็นตอนหนึ่งจากเรื่อง "นารายณ์สิบปาง" ซึ่งที่ผ่านมาคณะหุ่นละครเล็กได้เคยนำเอาตอนนี้มาแสดงเพียงครั้งแรกและครั้งเดียว ในการเปิดสวนลุมไนท์บาซาร์ โดยใช้นักแสดงกว่า 30 ชีวิต
พิเศษชั้นที่สาม คือ ในงานนอกจากจะมีการแสดงหุ่นละครเล็กแล้ว ยังจะมีการจัดแสดงนิทรรศการ ตำนานหุ่นละครเล็ก มีการสาธิตวิธีการทำตัวหุ่นละครเล็ก มีการบรรเลงดนตรีจากศิลปินรับเชิญ น็อต ต่าย ในรูปแบบของเพลงไทยสากล, การแสดงละครจากคณะคนรักละคร ตอนตำนานหุ่นละครเล็ก ครูโจหลุยส์
พิเศษชั้นที่สี่ คือในนิทรรศการครั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานเมืองโบราณ สมุทรปราการ ได้นำตัวหุ่นละครเล็กโบราณอายุประมาณ 103 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2444 ของ ครูแกร ศัพทวนิช ซึ่งถือเป็นคนแรกที่คิดทำหุ่นละครเล็กขึ้นในเมืองไทยมาจัดแสดงด้วย
การได้ชมหุ่นโบราณของจริง อายุร้อยกว่าปีในคืนนั้นถือเป็นโชคอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับคนนาฎศิลป์เช่นเรา ด้วยความเก่าแก่และมนต์ขลังที่ชวนให้ขนลุกได้อย่างน่าอัศจรรย์ กลายเป็นความสนใจให้กลับมาค้นคว้าถึงต้นกำเนิดของหุ่นละครเล็กของครูแกรชุดนี้ ว่ามีตำนานเป็นเช่นไร