มองโลกในแง่ดีบนความไม่แน่นอน
โฮเวิร์ด ซินน์
ZNet | Vision & Strategy
The Optimism of Uncertainty
by Howard Zinn; November 06, 2004
ในโลกร้ายกาจใบนี้ ความพยายามที่จะเกื้อกูลกันมักลางเลือนเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ทำลงไปโดยน้ำมือของพวกที่ครองอำนาจ แล้วไฉนผมจึงสามารถตั้งมั่นอยู่ในปณิธานและดูเหมือนมีความสุขได้?
ผมมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม ไม่ใช่มั่นใจว่าโลกนี้จะดีขึ้น แต่มั่นใจว่าเราไม่ควรยอมแพ้ตั้งแต่ก่อนถึงไพ่ใบสุดท้าย ผมจงใจใช้คำอุปมาอุปไมยนี้ เพราะชีวิตคือการเดิมพัน การไม่เล่นคือการปิดโอกาสชนะ การเล่น การลงมือกระทำ อย่างน้อยที่สุดย่อมสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงโลก
มีแนวโน้มที่ทำให้คิดไปว่า สิ่งที่เราเห็นในชั่วขณะนี้จะดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น เราลืมเสียแล้วว่า มีบ่อยครั้งเหลือเกินที่เราต้องตกตะลึงกับการพังทลายอย่างฉับพลันของสถาบันต่าง ๆ ตกตะลึงที่จู่ ๆ ประชาชนก็เปลี่ยนแปลงความคิดไปราวปาฏิหาริย์ ตกตะลึงกับการลุกฮือขึ้นก่อกบฏต่อต้านทรราชย์อย่างไม่คาดหมาย ตกตะลึงกับการล่มสลายอย่างรวดเร็วของระบบอำนาจที่ดูเหมือนไม่มีวันแตกพ่าย
สิ่งที่โดดเด่นขึ้นมาจากประวัติศาสตร์นับหลายร้อยปีในอดีตก็คือความคาดเดาไม่ได้โดยสิ้นเชิง การปฏิวัติล้มล้างระบอบซาร์ในรัสเซีย ในประเทศจักรพรรดิกึ่งศักดินาที่ล้าหลังที่สุด มันไม่เพียงทำให้มหาอำนาจจักรวรรดินิยมที่ก้าวหน้าที่สุดยังต้องสะดุ้งเฮือก แม้กระทั่งเลนินเองยังประหลาดใจจนต้องตะลีตะลานจับรถไฟไปเปโตรกราด ใครบ้างจะทำนายได้ถึงจุดหักเหอันพิสดารของสงครามโลกครั้งที่สอง สนธิสัญญานาซี-โซเวียต (รูปถ่ายอันน่าอดสูของฟอน ริบเบนทร็อปกำลังจับมือกับโมโลตอฟ) และกองทัพเยอรมันที่ยาตราทะลวงเข้ามาในรัสเซีย กองทัพที่ดูเหมือนไม่มีวันปราชัย บันดาลความตายเป็นกองพะเนินเทินทึก แต่แล้วกลับแตกพ่ายถอยร่นที่ประตูเมืองเลนินกราด บนชายขอบฝั่งตะวันตกของกรุงมอสโคว์ ตามท้องถนนของเมืองสตาลินกราด ตามมาด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพเยอรมันทั้งกองทัพ โดยที่ฮิตเลอร์ต้องไปซุกหัวอยู่ในบังเกอร์ที่เมืองเบอร์ลิน รอคอยแต่ความตาย?
แล้วจึงกลายมาเป็นโลกหลังสงคราม โฉมหน้าที่ไม่มีใครเคยคาดคิดล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ของจีน การปฏิวัติวัฒนธรรมที่ปั่นป่วนและรุนแรง ตามมาด้วยจุดเลี้ยวหักเหอีกคำรบ เมื่อจีนยุคหลังประธานเหมาสลัดทิ้งอุดมการณ์และสถาบันที่เคยยึดมั่นถือมั่นอย่างคลั่งไคล้ หันมาบรรเลงเพลงตามตะวันตก อ้าแขนรับธุรกิจทุนนิยม ทำเอาทุกคนสับสนงงงวยจนหัวหมุน
ไม่เคยมีใครทำนายถึงการแตกสลายของจักรวรรดินิยมในโลกตะวันตกเก่าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสงคราม หรือรูปแบบสังคมแปลกใหม่แบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในประเทศที่เพิ่งได้เอกราช นับตั้งแต่สังคมนิยมหมู่บ้านแบบอ่อน ๆ ในแทนซาเนียของ (จูเลียส) ไนเยียเร ไปจนถึงความบ้าคลั่งของอีดี้ อามินในประเทศอูกันดาที่อยู่ติดกัน สเปนกลายเป็นความน่าพิศวง ผมยังจำได้ดี ทหารผ่านศึกคนหนึ่งของกองพลน้อยอับราฮัม ลินคอล์นเคยบอกผมว่า เขาวาดภาพไม่ออกเลยว่า ลัทธิฟาสซิสต์ของสเปนจะถูกโค่นล้มลงได้อย่างไร โดยไม่ต้องมีสงครามนองเลือดอีกครั้ง แต่หลังจากนายพลฟรังโกเสียชีวิต ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาก็เกิดขึ้น เปิดกว้างต่อนักสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ อนาธิปไตย ทุก ๆ คน
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติ โลกเหลืออภิมหาอำนาจสองประเทศที่แบ่งเขตอิทธิพลและต่างฝ่ายต่างควบคุมบริวารของตน ต่างแก่งแย่งแข่งขันกันครองอำนาจทางทหารและการเมือง กระนั้นก็ตาม สองอภิมหาอำนาจยังไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ดังใจ แม้แต่ในซีกส่วนของโลกที่อยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของตน ความล้มเหลวของสหภาพโซเวียตที่จะยึดครองอัฟกานิสถาน การตัดสินใจถอยทัพหลังจากเปิดฉากรุกรานอย่างน่าทุเรศมาเกือบทศวรรษ คือตัวอย่างอันพึงสังวรณ์ว่า แม้กระทั่งการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้ได้ชัยชนะเหนือประชาชนที่เด็ดเดี่ยว สหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากับความจริงนี้เช่นกัน มันเปิดฉากทำสงครามเต็มพิกัดในอินโดจีน ทิ้งระเบิดปูพรมบนคาบสมุทรเล็ก ๆ อย่างเหี้ยมโหดที่สุดในประวัติศาสตร์โลก แต่แล้วก็ยังถูกบีบคั้นจนต้องถอยทัพออกไป ในพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ทุกเมื่อเชื่อวัน เราพบเจอตัวอย่างอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของฝ่ายที่เชื่อกันว่าทรงอำนาจ แต่กลับไม่สามารถมีชัยเหนือฝ่ายที่เชื่อกันว่าไร้อำนาจ อาทิเช่น ในบราซิล ขบวนการแรงงานและคนจนรากหญ้าสำแดงพลังเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ที่ปฏิญาณว่า จะต่อสู้กับอำนาจบรรษัทที่คอยจองล้างจองผลาญ
เมื่อดูรายการยาวเหยียดของเรื่องน่าประหลาดใจที่มีอยู่มากมายมหาศาล เห็นได้ชัดว่าเราไม่ควรทอดทิ้งการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพียงเพราะอำนาจเปลือกนอกที่ล้นเหลือของคนมีปืนและมีเงินที่ดูเหมือนตั้งหน้าตั้งตายึดเจ้าสองสิ่งนี้ไว้อย่างไม่ยอมละวาง ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ประวัติศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นว่า อำนาจที่มีแต่เปลือกเหล่านี้เปราะบางแค่ไหน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ชั่งตวงวัดไม่ได้เมื่อเปรียบกับลูกระเบิดและดอลลาร์ ทั้งความยึดมั่นในจริยธรรม ความเด็ดเดี่ยว ความสามัคคี การจัดตั้งองค์กร ความเสียสละ ไหวพริบปฏิภาณ ความปราดเปรื่อง ความกล้าหาญ ความอดทน ไม่ว่าคนผิวดำในแอละแบมาและแอฟริกาใต้ ชาวนาในเอลซัลวาดอร์ นิการากัวและเวียดนาม หรือกรรมกรกับปัญญาชนในโปแลนด์ ฮังการีและแม้แต่ในสหภาพโซเวียตเอง การชั่งตวงวัดความได้เปรียบเสียเปรียบของดุลอำนาจไม่สามารถเหนี่ยวรั้งประชาชนที่เชื่อมั่นว่า ภารกิจของตนคือความชอบธรรม
ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะไล่ตามเพื่อนฝูงให้ทันในแง่ของการมองโลกแง่ร้าย (มีแต่เพื่อนฝูงเท่านั้นหรือ?) แต่ผมมักพบปะเจอะเจอผู้คนที่ทำให้ผมเกิดความหวังอยู่ร่ำไป ทั้ง ๆ ที่มีแต่เรื่องร้ายกาจเกิดขึ้นทุกหัวระแหงก็ตามที โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่อนาคตฝากไว้กับพวกเขา ไม่ว่าไปที่ไหน ผมต้องได้เจอคนแบบนี้ และนอกเหนือจากนักกิจกรรมที่มีอยู่น้อยนิด ดูประหนึ่งยังมีคนอีกหลายร้อยหลายพันคนที่เปิดใจกว้างต่อแนวความคิดใหม่ ๆ เพียงแต่พวกเขามักไม่รู้ว่ามีกันและกันอยู่เท่านั้นเอง ดังนั้น ขณะที่พวกเขายืนหยัดต่อสู้ พวกเขาจึงกระเสือกกระสนไปด้วยน้ำอดน้ำทนสุดชีวิต เปรียบดังซิซีฟัสที่เข็นหินขึ้นภูเขาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผมพยายามบอกแต่ละกลุ่มว่า พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว และใครก็ตามที่หมดกำลังใจเพราะการขาดหายไปของขบวนการระดับชาติ ตัวเขานั่นแหละคือข้อพิสูจน์ถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์ขบวนการขึ้นมา
ความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนไม่ได้มาพร้อมกับเหตุการณ์สะท้านฟ้าสะเทือนดิน (จงระวังเหตุการณ์ประเภทนั้นให้ดี!) แต่มันเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย มันคือความน่าประหลาดใจที่ต่อเนื่องตามกันมาไม่มีที่สิ้นสุด มันคือเส้นทางคดเคี้ยววกวนที่นำพาไปสู่สังคมที่น่าอยู่กว่านี้ เราไม่จำเป็นต้องสร้างวีรกรรมยิ่งใหญ่เพื่อมีส่วนร่วมในกระบวนการสู่ความเปลี่ยนแปลง การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนหลายล้านคน เมื่อรวมเข้าด้วยกัน สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ต่อให้เราไม่ "ชนะ" มันก็ยังมีความสนุกและความเต็มอิ่มที่ได้รู้ว่า เราได้ร่วมแรงร่วมใจกับคนดี ๆ อีกมากมายในบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่า เราจงมีความหวังเสมอ
ใช่ว่าคนมองโลกในแง่ดีต้องเป็นเหมือนนักผิวปากเจ้าสำราญที่ไม่รู้เดียงสาในยุคทมิฬ การมีความหวังท่ามกลางกลียุคไม่ใช่แค่ความโรแมนติกโง่เขลา แต่มันตั้งมั่นอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ประวัติศาสตร์มนุษย์คือประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีแค่ความป่าเถื่อนโหดร้าย แต่ยังมีความเห็นอกเห็นใจ ความเสียสละ ความกล้าหาญ ความเอื้ออารี เราเลือกเน้นด้านไหนในประวัติศาสตร์อันซับซ้อนนี้ นั่นแหละคือสิ่งที่จะกำหนดชีวิตของเรา หากเรามองเห็นแต่ความเลวร้าย มันจะทำลายศักยภาพจนเราทำอะไรไม่ได้เลย แต่หากเราจดจำถึงเวลาและสถานที่ต่าง ๆ ที่ผู้คนปฏิบัติตัวอย่างน่าชื่นชม --ซึ่งมีอยู่มากมาย-- มันจะทำให้เรามีพลังฝ่าฟันต่อไป และอย่างน้อยที่สุดก็เปิดโอกาสที่จะปั่นลูกข่างโลกใบนี้ให้หมุนไปในทิศทางอื่น และถ้าเราลงมือกระทำ ไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหน เราไม่จำเป็นต้องรอคอยอนาคตอุดมคติยิ่งใหญ่ให้มาถึงหรอก เพราะอนาคตคือปัจจุบันที่ต่อเนื่องตามกันอย่างไร้ที่สิ้นสุด และการใช้ชีวิตในชั่วขณะนี้ให้สมดังที่เราคิดว่ามนุษย์ควรใช้ชีวิต โดยท้าทายต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เลวร้ายรอบตัว แค่นั้นก็เป็นชัยชนะที่วิเศษสุดแล้ว
โฮเวิร์ด ซินน์ เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือชื่อ A People's History of the United States ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในโลกเท่าที่เคยเขียนกันมา