โจหลุยส์กับโรงละครแห่งใหม่ ... ความหวังที่ฝากไว้กับอะไรหนอ?
ที่มา: Phuket Bulletin วันอังคาร ที่ 26 ตุลาคม 2547
ลิงค์: http://www.phuketbulletin.net/oct04/joeluise.php
ความว่า...
เบิกโรง
หุ่นไร้ชีวิตบนเวทีที่ถูกเชิดโดยคนถึงสามคน กลับมีชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์ ลีลา ท่วงท่า การร่ายรำ และการเจรจาที่เหมือนคนจริง ตรึงผู้ชมกว่าพันชีวิตให้รู้สัมผัสถึงลมหายใจและจิตวิญญาณของหุ่นทุกตัว ผ่านบทละครเรื่องราวที่เล่าขานผสมผสานความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างลงตัวทำให้คณะหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ เธียร์เตอร์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คนไทยพึงช่วยกันสนับสนุนให้คงอยู่ต่อไป
นับเป็นข่าวดีที่ชาวภูเก็ตจะได้มีโอกาสต้อนรับคณะหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ เธียร์เตอร์ ที่จะย้ายมาเปิดการแสดง ณ โรงละครแห่งใหม่ ในภูเก็ตอินเตอร์เนชั่นแนลไนท์บาซาร์ปลายปีหน้า ซึ่งจะเป็นการแสดงชุดใหม่ที่เน้นความยิ่งใหญ่ตระการตา ด้วยเทคนิคแสง สี เสียง ให้การแสดงมีความสนุกสนานเลิดเพลินยิ่งขึ้น ซึ่งคณะโจหลุยส์ใช้เวลาเตรียมการและออกแบบการแสดงชุดนี้เป็นเวลา 1 ปี
สุรินทร์ยังเขียวสด ครูเชิดหุ่นละครเล็กรุ่นที่สาม
สุรินทร์ ยังเขียวสด ผู้จัดการด้านการแสดงของคณะหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ เธียร์เตอร์ ผู้ซึ่งได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคการเชิดหุ่นละครเล็กจากครูสาครผู้เป็นบิดา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญที่จะช่วยสืบทอดการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์นี้ไว้ ซึ่งไม่เพียงเป็นครูผู้ฝึกสอนให้กับนักแสดงรุ่นใหม่ๆ แต่สุรินทร์เป็นผู้ที่มีบทบาทในการคิดสร้างสรรค์ออกแบบการแสดงชุดใหม่ร่วมกับพี่น้องในครอบครัวยังเขียวสดทุกคน
สุรินทร์พูดถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการย้ายบ้านไปจัดการแสดงที่ ภูเก็ต อินเตอร์ เนชั่นแนล ไนท์บาซาร์ ในปลายปีหน้าว่า ประสบการณ์ที่ตนทำงานการแสดงหุ่นละครเล็กมากว่า 10 ปี ทำให้เห็นถึงความโดดเด่นของหุ่นทุกตัว ว่ามีความแตกต่างและมีความน่าสนใจทั้งกับผู้ชมที่เป็นชาวไทย และชาวต่างชาติ เนื่องจากการแสดงออกได้เหมือนคนจริงของหุ่นสามารถถ่ายทอดภาษาท่าทางที่เป็นสากล สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย แม้ว่าเนื้อหาในการนำเสนอ ภาษา และดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงจะเป็นภาษาและดนตรีไทยก็ตาม อย่างไรก็ดีการแสดงของโจหลุยส์ ทุกรอบจะมีการบรรยายภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ผู้ชมชาวต่างชาติเข้าใจเนื้อหาในการแสดงมากขึ้น
โรงละครแห่งใหม่ที่ภูเก็ต
พิสูตร ยังเขียวสด กรรมการผู้จัดการของบริษัทโจหลุยส์ เธียร์เตอร์ บุตรชายคนที่ 5 ของครูสาคร เป็นผู้ก่อตั้งและบริหารกิจการของโรงละคร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญอีกคนหนึ่งของครอบครัว ที่มีความเชี่ยวชาญด้านหัตถศิลป์ หรืองานฝีมือในการสร้างองค์ประกอบของหุ่นเปิดเผยว่า ได้จัดเตรียมการผลิตหุ่นชุดใหม่ที่จะไปทำการแสดงที่จังหวัดภูเก็ต และโรงละครแห่งใหม่จะเป็นโรงละครที่สมบูรณ์แบบ คงความเป็นไทยแต่สอดแทรกความเป็นสมัยใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น และจะจัดให้มีรูปแบบการต้อนรับที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนการมาเยี่ยมบ้านของคนไทย
ด้านหน้าโรงละครจะจัดให้มีการสาธิตการทำหุ่นละครเล็ก และหัวโขน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะเยาวชนไทยได้เห็นขั้นตอนต่างๆ ในการทำหุ่นตลอดจนได้ตระหนักถึงความประณีตบรรจงที่ต้องใช้ในการประดิษฐ์ อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะไทยมาแต่โบราณ