เรื่องเล่าเชิงวิเคราะห์ " เมตาโบลิซึ่ม .. กับฝันร้าย "
" ทำไม .. เวลาฝันร้าย เราต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาในสภาพเหงื่อออกท่วมตัว ... ? "
..
ผมตั้งคำถามนี้ กับตัวเองมาเป็นเวลานานพอสมควร
ที่มาที่ไปของคำถาม มันเริ่มมาจากการที่ผมฝันร้ายบ่อย ๆ เป็นฝันร้ายแบบซ้ำซาก
ที่จิกหัวผมให้ลุกพรวดพราดขึ้นมาจากที่นอนตอนตี 2 ในสภาพที่ลมหายใจกระชั้นถี่
และร่างกายที่เปียกชุ่มไปด้วยหยดเหงื่อ
ภรรยาของผมเคยบอกว่า น่าจะเอากล้องวีดีโอมาตั้งถ่ายตอนที่ผมนอนหลับ
เธอบอกว่า เหมือนดูหนังฝรั่งประเภทสยองขวัญทั้งหลายแหล่ที่วางเต็มแผง
ในร้านให้เช่าวีซีดี แถมอาจจะดูสนุกตื่นเต้นเร้าใจกว่าหลายเท่า ด้วยความที่มันเป็น
เรียลริตี้ซะยิ่งกว่าถ่ายทอดสดบิ๊กบราเธอร์ซะอีก คุณจะได้เห็นผู้ชายคนนึง
นอนหายใจฟืด ๆ ฟาด ๆ ส่ายหน้าไปมา กัดกรามกรอด ๆ จนน่าเสียวใส้ว่ามันจะ
บดตัวเองจนแหลกละเอียดซะจนไม่เหลือไว้เคี้ยวอาหารมื้อเช้า แถมด้วยแอ๊คชั่น
วาดแขนขาไปมา จนเธอต้องตั้งการ์ดหลบศอกของผมในบางคืน จบท้ายด้วย
การสปริงเอวขึ้นมานั่งพรวดพราดดุจนักกีฬายิมนาสติก ในสภาพที่เหงื่อชุ่มไปทั้งตัว
คำถามที่ว่า " ทำไม .. เวลาฝันร้าย เราต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาในสภาพเหงื่อออกท่วมตัว ... ? "
วนเวียนอยู่ในหัวผม พอ ๆ กับฝันร้ายที่แวะเวียนมาเยี่ยมผมอยู่เรื่อย ๆ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
จนเมื่อวานนี้ ผมถึงได้รับคำตอบแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เหมือนเปิดฝาโออิชิแล้วได้ 1 ล้าน ...
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
บรรยากาศในห้องเวทเทรนนิ่ง อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการแข่งขัน การกีฬาแห่งประเทศไทย
ดูจะมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว กลิ่นดัมเบลและแป้นน้ำหนักเหล็กหลากหลายขนาด
อุปกรณ์ที่ดูเหมือนเครื่องเล่นหยอดเหรียญบนห้างสรรพสินค้าวางเรียงรายเป็นตับ
เสียงแป้นน้ำหนักของอุปกรณ์แต่ละตัววิ่งขึ้นลงตามจังหวะยก จังหวะผ่อนดังกริ๊ก แกร็ก .. กริ๊ก แกร็ก
สลับกับเสียงฮึด .... ฮึ่ยยยย .... และเสียงลมหายใจที่เป่าออกจากปากของนักกีฬาปีนหน้าผา
ทีมชาติไทยทั้ง 8 คน กลายเป็นบรรยากาศที่ผมคุ้นเคยตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน
ตลอดช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ..
มิสเตอร์ จิม วาร์ โค๊ชชาวอเมริกา กำลังพูดคุยกับอาจารย์ฉันท์เชษฐ์ หัวหน้าทีมผู้ฝึกสอน
นักกีฬาปีนหน้าผาทีมชาติ ในเรื่องของการควบคุมจังหวะการหายใจของนักกีฬาเมื่อทำการ
ฝึกกล้ามเนื้อในอุปกรณ์เวทเทรนนิ่ง ผมขยับตัวเข้าไปยืนข้าง ๆ ด้วยหวังว่าจะมีสะเก็ดความรู้
บางประการกระเด็นเข้าสมองตื้น ๆ ของผมบ้าง ทั้งที่ความรู้ภาษาอังกฤษของตัวเองก็กระท่อน
กระแท่นซะเหลือเกิน แต่เอาน่า เมื่อความอยากรู้อยากเห็นมันออกคำสั่งว่า พยายามฟังไปเหอะ
มันต้องได้อะไรบ้างแหละน่า
ผมจับใจความได้ว่า .............................
เมื่อนักกีฬา เคลื่อนไหวร่างกายในการเล่นกีฬาประเภทนั้น ๆ พลังงานที่พวกเขาใช้ จะมาจาก
กระบวนการเมตาโบลิซึ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการทางชีวเคมี ที่ร่างกายจะนำพลังงานจากอาหาร
ที่รับประทานเข้าไป สันดาปกับอ๊อกซิเจนที่นักกีฬาหายใจ เผาผลาญเป็นพลังงาน เฉกเช่นเดียวกัน
กับรถมอเตอร์ไซค์ 4 จังหวะ ที่คาร์บูเรเตอร์ จะทำการผสมน้ำมันเบนซินอ๊อกเทน 91 กับอากาศ
ที่ผ่านเครื่องกรองอากาศ เข้าสู่ห้องเผาไหม้ ก่อนที่หัวเทียนจะจุดระเบิดส่วนผสมทั้งสองอย่าง
จนเกิดแรงขับดัน อัดให้ลูกสูบถีบตัวลง จนส่งกำลังไปยังระบบขับเคลื่อน สิ่งที่แตกต่างกันคือ
มนุษย์เรา ไม่มีคาร์บูเรเตอร์ ดังนั้นสิ่งที่ใช้ในการอัดเอาอ๊อกซิเจนเข้าไปเผาไหม้ในกระบวนการ
เมตาโบลิซึ่ม คือ ปอด .........
ดังนั้น การจัดการกับจังหวะลมหายใจเข้า-ออก จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักกีฬา สามารถใช้
กระบวนการเมตาโบลิซึ่ม สร้างพลังงานเพื่อนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวได้อย่างเหมาะสม เราจึง
ให้นักกีฬา สูดลมหายใจเข้าปอดอย่างเต็มที่ ในจังหวะที่ผ่อนแรง เพื่อให้อ๊อกซิเจนถูกส่งผ่าน
เข้าไปอย่างพอเพียงที่จะสันดาปกลายเป็นพลังงานที่ใช้ในจังหวะอัดแรงในกล้ามเนื้อส่วนที่ใช้ในการ
เล่นกีฬา
และเช่นเดียวกันกับรถมอเตอร์ไซค์ 4 จังหวะ
เมื่อมีการเผาไหม้ ก็ย่อมต้องมีของเสียจากกระบวนการจุดระเบิด รวมถึงความร้อนจากการเผาผลาญ
ในรถมอเตอร์ไซต์ ของเสียคือก๊าซคาร์บอนมอน๊อกไซด์ ซึ่งจะถูกขับดันออกทางท่อไอเสีย
และความร้อนที่เกิดขึ้น จะถูกระบายออกทางระบบทำความเย็นของเครื่องยนต์ นั่นคือ หม้อน้ำ
ในร่างกายคน ของเสียจากกระบวนเมตาโบลิซึ่ม คือก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์
จะถูกขับถ่ายออกโดยลมหายใจ ส่วนกรดอะแล็คติกที่เกิดในกล้ามเนื้อ ที่ทำให้นักกีฬาเกิดความเมื่อยล้า
จะถูกย่อยสลายโดยการดึงเอาอะมิโนแอซิด ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของโปรตีนจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป
และสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ
ส่วนความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาผลาญ จะถูกระบายออกทางเหงื่อที่ไหลซึมออกมาทางผิวหนัง
...
ผมพยายามพยักหน้าหงึก ๆ ทำท่าทางว่าเข้าใจ ตลอดระยะเวลาการยืนฟังเลคเชอร์จากมิสเตอร์ จิม วาร์
แต่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ผมได้บอกสิ่งที่ผมเข้าใจกับอาจารย์ฉันท์เชษฐ์ และได้เรียนถามว่า
ไอ้สิ่งที่ผมเข้าใจนี่มันถูกต้องหรือเปล่าครับ ?
อาจารย์ฉันท์เชษฐ์ได้แต่ยิ้ม ... !
เหมือนสายฟ้าแล๊บแปร๊บเข้าที่ก้านสมอง เมื่อเราออกกำลังกาย เกิดความร้อนจากกระบวนการเมตาโบลิซึ่ม
เหงื่อจึงถูกขับดันออกมาทางผิวหนัง เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย
" แล้วทำไม .. เวลาฝันร้าย เราต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาในสภาพเหงื่อออกท่วมตัว ...
ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ออกกำลัง หรือใช้กล้ามเนื้อใด ๆ ในช่วงเวลาที่เรานอนนี่ครับ ... ? "
...
อาจารย์ฉันท์เชษฐ์ ก็ได้แต่ยิ้มอีก ... ก่อนจะถามผมว่า
" เหงื่อจะออก ต่อเมื่อร่างกายเกิดกระบวนการเผาผลาญ จริงอยู่ ตอนที่คุณนอนหลับ
ร่างกายคุณไม่ได้เคลื่อนไหว กระบวนการเผาผลาญจากการออกแรงไม่มี .... "
...
" แล้วในฝันร้ายของคุณล่ะ คุณกำลังฝันถึงอะไร อะไรกันแน่ที่มันกำลังเผาผลาญ
ความรู้สึกของคุณในทุกลมหายใจเข้า-ออก ... สิ่งนั้นแหละ ที่มันทำให้คุณเหงื่อ
แตกท่วมตัว เมื่อคุณฝันร้าย "
...
อาจารย์ฉันท์เชษฐ์ ตบบ่าผมเบา ๆ ก่อนเดินจากไป ทิ้งคำถามใหม่เพิ่มเข้ามาใน
สมองทึบ ๆ ของผมอีก ทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนผมจะได้คำตอบจากคำถามเดิมของผมแล้วด้วยซ้ำ
ผมกลับต้องมาไคร่ครวญ คำถามใหม่ เพื่อที่จะได้เข้าใจคำถามเก่า
ผมเห็นอะไรในฝันร้ายของผม .....................
ความผิดหวังจากการเข้าคัดตัวนักกีฬาปีนหน้าผาทีมชาติไทยเมื่อ 8 ก่อนรึเปล่า
ที่เผาผลาญความรู้สึกในใจผมทุกลมหายใจเข้า-ออก ฝันร้ายที่ผมพยายามลืม
เลือนมันไปครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กลับเจ็บปวดกับมันอยู่ทุกเช้าค่ำตลอดเวลาที่ผ่านมา
หรือการที่ต้องกลับมาเป็นผู้ช่วยผู้ฝึกสอนนักกีฬาปีนหน้าผาทีมชาติ
ที่กรีดเปิดบาดแผลของฝันร้ายเก่า ๆ ที่หลอกตัวเองตลอดมาว่าลืมมันไปหมดแล้ว
ออกมาเอาความเป็นจริงที่แสบร้อนราวทิงเจอร์ราดรดลงไปอีก
ความเป็นจริงที่ว่า ... ผมไปไม่ถึงฝันกับการเป็นนักกีฬาทีมชาติ
ถึงได้ต้องดิ้นรนตะเกียกตะกายมาเป็นผู้ช่วยผู้ฝึกสอน เพื่อถมทับช่องว่างความฝัน
ของตัวเอง ....
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
ดูท่าทางแล้ว ... ระหว่างที่ผมกำลังหาคำตอบบางอย่างให้ตัวเองเนี่ย ผมคงต้องนอนฝันร้ายไปอีกนาน
( หมายเหตุภาพประกอบ : น้องจู นักกีฬาปีนหน้าผาหญิงทีมชาติไทย ขณะกำลังทำการฝึกซ้อม
ที่โรงยิมฝึกปีนหน้าผาของ BRC คนนี้แหละครับเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ที่ปีนหน้าผากับน้องสุขใจไงครับ .. )