ในตู้เย็นมีปลา ในหม้อหุงข้าว(ไฟฟ้า) มีข้าว (Blog)
เห็น My Blog แต่ลองคลิกเข้าไป ยังไม่ปรากฎ บังเอิญว่านึกอยากเขียน Blog กับเขาบ้าง
22 สิงหาคม 2548
ยุคสมัยก่อนนั้น ความอุดมสมบูรณ์วัดกันด้วย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ศิลาจารึกว่า.. ไพร่ฟ้าหน้าใส มีความสุขใจกันเหลือล้น ผิดกับคนทุกข์ หน้าหม่นหมอง
ครั้นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์หดหายไป ครอบครัวเกษตรกรรม มีลูกหลานก็ส่งเข้าหางานทำในเมือง ถ้าหากไม่ฝากท้องกับศูนย์อาหาร ร้านฟาสต์ฟู้ด ดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์คงเป็น ในตู้เย็นมีปลา ในหม้อหุงข้าว(ไฟฟ้า) มีข้าว
วันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อนสนิทชวนไปตกปลา บอกว่า ตกได้ก็มีอาหารสดเก็บไว้ในตู้เย็น คนกลุ่มใหญ่ของเมืองฝากท้องไว้กับร้านอาหาร แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งคาดว่าไม่ใหญ่นัก ยังคงฝากท้องไว้กับ ครัว นั่งนึก สมัยที่ ในน้ำมีปลา เราก็ต้องใช้ภูมิปัญญาไปหาเอา เหวี่ยงแห วางข่าย วางเบ็ด ดักลอบ ฯลฯ พ่อแม่บางคนนั้นถึงกับถือกฎว่า ถ้าลูกโตแล้วไม่แกงให้กิน หมายถึง ให้ออกไปเรียนรู้วิธีการจับปลา แล้วก็เอามาแกงเอง เพราะพ่อแม่ไม่อยู่ค้ำฟ้า ตายไปแล้วใครจะหาให้ลูกกิน
พอมาสมัยปัจจุบัน ถ้าหากอยากได้อาหารสดก็ต้องออกไปหาเองอีกเช่นกัน ปลาทะเลในตลาดก็อาจเจออาบน้ำยาฟอร์มาลิน ถ้าเป็นปลาน้ำจืดก็ไม่รู้ว่าเขาเลี้ยงด้วยอาหารอะไร ส่วนปลาในซุปเปอร์มาร์เก็ตก็แพงเกินไป
บ่าย 3 โมง เข้าถึงบ่อกุ้งแห่งหนึ่ง ซึ่งเข้าสู่ยุคโรยรามาสี่ห้าปี เจ้าของบ่อได้แต่ปล่อยน้ำทิ้งไว้ กะพงขาว กุเรา ทับทิม นิล(หมอเทศ) เติบโตตามธรรมชาติ ผมกับเพื่อนผูกเบ็ด เหยื่อปลอมกันคนละคัน แล้วก็แยกย้ายไปตีเบ็ดกันคนละมุม ฝนไม่ตกแต่เมฆครึ้ม ลมพัดโชยเย็นสบาย กว่า 1 ทุ่มจึงได้ออกมาจากบ่อกุ้งแห่งนั้น ผลลัพธ์เป็นกะพงขาวขนาดเกือบ 3 กิโลหนึ่งตัว
กูเบื่อจริงๆ เวลาขอดเกล็ด มันชอบกระเด็น มันน่าจะมีเครื่องขอดเกล็ดนะมึงว่ามั้ย นั่นสิ ผมเห็นด้วย เวลาขอดเกล็ดปลานั้น เกล็ดกระเด็นกระดอน ทั้งคาวทั้งเลอะ .. ครั้นแล้วให้นึกถึงในตรอก ละแวกโรงแรมมีชื่อแห่งหนึ่ง ห้องแถวห้องหนึ่งเขารับทำปลา คาดว่าหลังจากชำแหละเรียบร้อยคงส่งภัตตาคารในโรงแรม เก๋าขนาดตัวละสามสิบโล (ลูกหมู) อินทรีตัวละ 5-9 กิโล แดงเขี้ยวน้ำหนักร่วมสิบกิโล วนเวียนกันมาขึ้นเขียงแล่ /โครงสร้างเนื้อที่แตกต่างกัน /โครงสร้างกระดูกที่แตกต่าง / ก้างที่แตกต่างกัน / เมนูอาหารที่แตกต่างกัน แต่นักแล่ก็เลือกแล่ได้อย่างเหมาะสม งานแล่ปลา เคยฟังจากเพื่อนที่ทำธุรกิจร้านอาหาร บอกว่า ในญี่ปุ่นนั้น ต้องเรียนกันทีเดียว ถือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
หนังสือพิมพ์รอง 2 ชั้น / ปูถุงพลาสติก(ผ่าให้แผ่ออก) ทับอีกชั้น ช้อนสแตนเลส 1 คัน การขอดเกล็ดเริ่มต้น ครีบแก้ม คาง พุง ลำตัว หาง สันหลัง ท้อง ไล่เรียง / ขอดเกล็ดไป-เก็บเกล็ดไป นานนับ 20 นาที ปิดท้ายด้วยการรวบมุมถุงพลาสติก เก็บเกล็ดใส่ถุงขยะ มัดปากถุง / ปูถุงพลาสติกใหม่อีกแผ่น วางเขียงทับ ตรวจสอบความคมของมีดแล่ จรดมีดลงปลายหาง กรีดผ่านสันหลัง คะเนความรู้สึกว่าเลาะเรียบกระดูก ตัดเนื้อถึงต้นคอ ปาดออกปลายคาง แบะออกเป็นสองซีก ในลักษณะแล่แบบฟิลเลต์ เปิดเห็นเครื่องใน ซับของเหลวในช่องท้องและตามเนื้อปลาด้วยกระดาษอนามัย แยกส่วนเครื่องใน ออก และพลิกแล่อีกด้าน / ได้ปลาชิ้นใหญ่ 2 ชิ้น / มีดอีโต้สับกระดูกไว้ต้มยำ (สำหรับกะพงขาว เกือบกินได้ทั้งตัว) รวมทั้ง กระพุ้งแก้ม และส่วนหัว ก่อนจะแยกเก็บไว้ในถุงหนึ่ง / เนื้อ 2 ชิ้นใหญ่ เอามาฝานเฉลียงชิ้นบางพอประมาณ ข้าวต้มปลากะพง หรือจะผัดเปรี้ยวหวาน (ทอดก่อน) หรือจะไว้แกงส้ม ว่ากันอีกที ฝานเสร็จ แพ็คใส่ถุงซิป ก่อนจะห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เก็บความสดในตู้เย็น เพื่อนคนหนึ่งแนะนำว่า ไม่ควรล้างปลาด้วยน้ำจืด น้ำประปา เพราะจะทำให้ความสดลดลง / ดูนาฬิกา หมดเวลาไป 2 ชั่วโมง นึกสงสัยว่าต้องฝึกอีกนานเท่าไรจะทำเวลาได้ดีกว่านี้
คื่นช่าย กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักชี แครอท มะขามเปียก มะนาว พริกแห้ง หอม ว่ากันอีกที คิดเมนูกันภายหลัง .. ในตู้เย็นมีปลา ในหม้อหุงข้าว(ไฟฟ้า) มีข้าว .. หรือจะให้มากไปกว่านั้น ตำราโบราณว่า ความสุขของชีวิต (ชาย) มีเมียเคล้า มีข้าวกิน --- ชีวิตนี้ก็พอแล้ว