ฮาโรลด์ พินเทอร์: ศิลปะ สัจจะและการเมือง ปาฐกถารับรางวัลโนเบล 2005
ในปี ค.ศ. 1958 ผมเคยเขียนไว้ดังนี้:
"มีเส้นแบ่งเพียงบางเบาระหว่างสิ่งที่จริงกับสิ่งที่ไม่จริง ระหว่างสัจจะกับความเท็จ สิ่ง ๆ หนึ่งไม่จำเป็นต้องจริงหรือเท็จ มันอาจทั้งจริงและเท็จได้พร้อมกัน"
ผมเชื่อว่า คำยืนยันข้างต้นยังใช้ได้และยังใช้กับการสำรวจความจริงผ่านศิลปะ ดังนั้น ในฐานะนักเขียน ผมยังยืนยันเหมือนเดิม แต่ในฐานะประชาชน ผมยืนยันแบบนั้นไม่ได้ ในฐานะประชาชน ผมต้องถามว่า: อะไรคือความจริง? อะไรคือความเท็จ
ความจริงในการละครเป็นสิ่งที่ลื่นไหลตลอดกาล เราไม่เคยคว้ามันอยู่มือ แต่การแสวงหาความจริงยังคงเป็นแรงผลักดันที่มิอาจต่อต้าน การแสวงหานี้เองที่ขับดันให้เกิดการสร้างสรรค์ การแสวงหาคือภารกิจ หลายครั้งหลายคราที่เราอาจสะดุดเข้ากับความจริงท่ามกลางความมืดมิด ชนเข้ากับมันจัง ๆ หรือเพียงแค่แวบเห็นภาพหรือเงาร่างหนึ่งที่ดูเหมือนสอดรับกับความจริง มีบ่อยครั้งที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่าเจอกับความจริงเข้าแล้ว แต่ความจริงที่แท้จริงก็คือ ไม่เคยมีความจริงเพียงหนึ่งเดียวให้ค้นพบในศิลปะการละคร ความจริงมีหลากหลาย ความจริงที่หลากหลายนี้ท้าทายซึ่งกันและกัน หวาดกลัวซึ่งกันและกัน สะท้อนซึ่งกันและกัน เพิกเฉยต่อกันและกัน ยั่วเย้ากันและกัน มืดบอดต่อกันและกัน บางครั้งเรารู้สึกว่า มีบางขณะจิตที่เราตะปบความจริงไว้ได้ แต่แล้วความจริงก็ลอดไหลผ่านร่องนิ้วและหนีหายไป
ผมมักถูกตั้งคำถามว่า บทละครของผมมีที่มาอย่างไร ผมตอบไม่ได้ ผมไม่เคยนิยามบทละครที่เขียน นอกจากบอกได้เพียงว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ละครพูด นี่คือสิ่งที่ละครทำ
บทละครส่วนใหญ่อุบัติขึ้นจากประโยคหนึ่ง ถ้อยคำหนึ่งหรือจินตภาพหนึ่ง ถ้อยคำนั้นมักตามติดมาด้วยจินตภาพ ผมจะยกตัวอย่างของประโยคสองประโยคที่จู่ ๆ ก็ผุดขึ้นมาในความคิด ตามติดมาด้วยจินตภาพ แล้วผมก็ติดตามมันไป
บทละครสองเรื่องนั้นคือ The Homecoming และ Old Times ประโยคแรกของ The Homecoming คือ "แกเอากรรไกรไปไหน?" ประโยคแรกของ Old Times คือ "สีดำ"
ในละครทั้งสองเรื่อง ผมไม่มีข้อมูลอื่นอีกเลย
ในละครเรื่องแรก ใครบางคนกำลังหากรรไกรและถามหามันกับอีกคนหนึ่งที่เขาระแวงว่าอาจขโมยมันไป แต่ผมสังหรณ์ใจขึ้นมาว่า คนที่ถูกถามหากรรไกรนั้น ไม่แยแสเรื่องกรรไกรหรือแยแสตัวคนถามเลย
"สีดำ" เป็นคำบรรยายถึงสีผมของใครคนหนึ่ง ผมของผู้หญิง และคำพูดนี้เป็นคำตอบต่อคำถาม ในละครทั้งสองเรื่อง ผมพบว่าตัวเองถูกดึงดูดให้ติดตามเรื่องต่อไป ภาพที่ค่อย ๆ คลี่คลายออกมาอย่างแช่มช้า จากเงาตะคุ่มสู่แสงสว่าง
ผมเริ่มเขียนละครโดยตั้งชื่อตัวละครว่า ก, ข และ ค เสมอ
ในบทละครที่กลายเป็นเรื่อง The Homecoming ผมแลเห็นผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องซอมซ่อ และถามคำถามนี้กับชายหนุ่มที่นั่งอ่านข่าวม้าแข่งบนโซฟาน่าเกลียด ผมนึกรู้ขึ้นมาว่า ก เป็นพ่อ และ ข เป็นลูกชาย แต่ผมไม่แน่ใจนัก ทว่าชั่วอึดใจถัดมา ข้อมูลนี้ก็ได้รับการยืนยัน เมื่อ ข (ต่อมาคือ เลนนี) พูดกับ ก (ต่อมาคือ แม็กซ์) ว่า "พ่อ ขอเปลี่ยนเรื่องพูดหน่อยได้ไหม? ขอถามพ่อสักอย่าง? อาหารเย็นที่เรากินเมื่อวาน มันเรียกว่าอะไร? พ่อเรียกมันว่าอะไร? ทำไมพ่อไม่ซื้อหมามาซะเลย? พ่อทำอาหารเหมือนให้หมากิน พูดตรง ๆ นะ พ่อคิดว่ากำลังทำอาหารให้หมาหลายตัวกินหรือไง" ในเมื่อ ข เรียก ก ว่า "พ่อ" มันก็มีเหตุผลที่จะสมมติว่า ทั้งสองเป็นพ่อลูกกัน ก คงเป็นพ่อครัวและฝีมือทำครัวของเขาดูเหมือนไม่ค่อยเข้าท่านัก นี่หมายความว่าครอบครัวนี้ไม่มีแม่หรือเปล่า? ผมไม่รู้ แต่ดังที่ผมบอกตัวเองในตอนนั้น จุดเริ่มต้นของเราไม่เคยรู้จุดจบ
"สีดำ" หน้าต่างบานใหญ่ ฟ้ายามสนธยา ผู้ชายคนหนึ่ง ก (ต่อมาคือ ดีลี) และผู้หญิงคนหนึ่ง ข (ต่อมาคือ เคท) นั่งดื่มเหล้ากันอยู่ "อ้วนหรือผอม?" ผู้ชายถาม ทั้งสองคุยถึงใคร? แต่ทันใดนั้น ผมก็มองเห็น ผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่ที่หน้าต่าง ค (ต่อมาคือ แอนนา) เธอยืนอยู่ท่ามกลางแสงอีกแบบหนึ่ง หันหลังให้ ผมของเธอสีดำ
มันเป็นชั่วขณะที่แปลกประหลาด ชั่วขณะของการสร้างตัวละครที่ก่อนหน้านั้นไม่มีตัวตน สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นมีแต่ความไม่แน่นอน ขึ้น ๆ ลง ๆ ถึงขั้นเพ้อคลั่ง แม้ว่าบางครั้งมันก็พรั่งพรูออกมาอย่างถล่มทลายจนหยุดยั้งไม่ได้ สถานะของนักประพันธ์เป็นสิ่งที่แปลกพิกล ในแง่หนึ่ง เขาไม่เป็นที่ต้อนรับของตัวละคร ตัวละครขัดขืนต่อเขา ไม่ง่ายเลยที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยกัน ไม่มีทางนิยามได้ นักประพันธ์ไม่มีทางบอกบทให้ตัวละคร นักประพันธ์ต้องเล่นเกมที่ไม่มีจุดจบกับพวกเขา แมวจับหนู ตาบอดคลำช้าง ซ่อนหา แต่พอถึงที่สุด นักประพันธ์ก็พบว่า เขามีมนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้ออยู่ในกำมือ คนที่มีเจตจำนงและความอ่อนไหวของตัวเอง กอปรขึ้นมาจากส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ บิดเบือนไม่ได้
ภาษาในศิลปะจึงเป็นกิจกรรมที่เคลือบคลุมที่สุด ประหนึ่งทรายดูด แทรมโปลีน สระน้ำแข็ง ที่อาจอ่อนยวบพังครืนใต้เท้านักประพันธ์ได้ทุกเมื่อ
แต่ดังที่ผมกล่าวข้างต้น การแสวงหาความจริงไม่มีทางหยุดยั้ง ไม่มีทางประวิง ไม่มีทางผัดผ่อน มันเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญหน้าที่นี่และเดี๋ยวนี้
ละครการเมืองเสนอปัญหาที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง กฎข้อแรกคือต้องหลีกเลี่ยงการเทศนา ความเป็นกลางคือหัวใจสำคัญ ต้องปล่อยให้ตัวละครเป็นตัวของตัวเอง นักประพันธ์ไม่สามารถจำกัดหรือบีบคั้นให้ตัวละครตอบสนองรสนิยม อารมณ์หรืออคติส่วนตัวของนักประพันธ์เอง เขาต้องเตรียมพร้อมที่จะเข้าหาตัวละครจากหลายแง่มุม จากมุมมองที่รอบด้านและไม่จำกัด บางทีก็ต้องจู่โจมจนตัวละครตั้งตัวไม่ทันเป็นครั้งคราว แต่ถึงที่สุดแล้ว ต้องปล่อยให้ตัวละครมีอิสระที่จะดำเนินไปตามหนทางที่ตัวละครเลือก นี่อาจใช้ไม่ได้ผลทุกคราว แน่นอน สำหรับละครเชิงล้อเลียนเสียดสีการเมือง ย่อมไม่ยึดติดกับหลักการเหล่านี้ อันที่จริงก็ทำตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของมัน
ในบทละครของผมเรื่อง The Birthday Party ผมคิดว่าผมปล่อยให้ทางเลือกจำนวนมากดำเนินไปในป่าทึบของความเป็นไปได้ ก่อนปรับโฟกัสไปเล็งที่การใช้อำนาจกดบังคับในตอนท้าย
Mountain Language ไม่เสแสร้งว่ามีทางเลือกมากมายอย่างนั้น มันห้วน ป่าเถื่อนและน่าเกลียด แต่ทหารในบทละครยังได้สนุกอยู่บ้าง บางครั้งเราลืมไปว่า ผู้ทำการทรมานมักเบื่อง่าย พวกเขาต้องมีเรื่องหัวเราะนิดหน่อยเพื่อความกระชุ่มกระชวย ไม่เชื่อก็ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นที่คุกอาบู กราอิบในเมืองแบกแดดสิ ละครเรื่อง Mountain Language กินเวลาแค่ 20 นาที แต่จะให้มันยาวยืดเยื้อหลายชั่วโมง เล่นไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ บทเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า ก็ทำได้
ส่วน Ashes to Ashes เหมือนเกิดขึ้นใต้น้ำ ผู้หญิงที่กำลังจมน้ำ มือไขว่คว้าขึ้นไปเบื้องบน จมหายไปจากสายตา ตะเกียกตะกายหาใครสักคน แต่ไม่พบใครเลย ไม่ว่าเหนือน้ำหรือใต้น้ำ เจอแต่เงามืด ภาพสะท้อน ลอยคว้าง ผู้หญิงคนนั้นคือร่างที่สูญหายไปในทิวทัศน์ที่กำลังจมลง ผู้หญิงที่ไม่สามารถหลีกหนีชะตากรรมที่น่าจะเกิดกับคนอื่นเท่านั้น
แต่เมื่อคนอื่นตาย เธอก็ต้องตายเหมือนกัน
ภาษาการเมืองที่นักการเมืองใช้ ไม่ได้ผจญภัยไปในดินแดนแบบนี้ เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่เท่าที่เราเคยพบเจอ ไม่สนใจความจริง แต่สนใจอำนาจและการรักษาอำนาจ การรักษาอำนาจไว้ย่อมหมายถึงประชาชนต้องโง่เขลา ประชาชนต้องมีชีวิตท่ามกลางความมืดบอดต่อความจริง แม้กระทั่งความจริงในชีวิตของตนเองก็ตาม สิ่งที่แวดล้อมรอบตัวเราจึงมีแต่ความมดเท็จที่ถักทอเป็นม่านผืนใหญ่ลวดลายวิจิตรตระการคอยมอมเมาสายตาเราไว้
ดังที่ทุกผู้ทุกนามที่นี่รับรู้กันดี ข้ออ้างในการรุกรานอิรักคือ ซัดดัม ฮุสเซนมีอาวุธทำลายล้างจำนวนมากที่เป็นภัยมหันต์ อาวุธบางอย่างสามารถยิงออกมาได้ใน 45 นาที ซึ่งจะยังความพินาศอย่างน่าตระหนกอกสั่น เราได้รับคำยืนยันว่านี่เป็นเรื่องจริง แต่มันไม่ใช่ความจริง เรารับฟังว่าอิรักมีความสัมพันธ์กับอัล กออิดะห์ และมีส่วนรับผิดชอบการก่อวินาศกรรมในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เราได้รับคำยืนยันว่านี่เป็นเรื่องจริง แต่มันไม่ใช่ความจริง เรารับฟังว่าอิรักเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยของโลก เราได้รับคำยืนยันว่านี่เป็นเรื่องจริง แต่มันไม่ใช่ความจริง
ความจริงแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ความจริงอยู่ที่สหรัฐอเม