บทวิจาร์โลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย ภาคย์ จินตนมัย

by หมี่เป็ด ผู้ชายนัยน์ตาสนิมเหล็ก @4 พ.ย.50 16.30 ( IP : 125...185 ) | Tags : บทสัมภาษณ์

สภาวะกวี (ซีไรต์’50) ในที่คุมขัง กับพลังที่เล็ดรอดออกมา

ภาคย์ จินตนมัย


              เมื่อสำรวจบทกวีจำนวน 38 ชิ้น ในรวมบทกวี โลกในดวงตาข้าพเจ้า ของ มนตรี ศรียงค์ พบว่าส่วนหนึ่งไม่ได้ลงบันทึกวันที่เขียนไว้ สำหรับส่วนที่ลงบันทึกเอาไว้พบว่าบทกวีชิ้นเก่าที่สุดลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 คือบทกวีชื่อ “เงาสะท้อนบนประตูกระจก” และบทกวีชิ้นล่าสุดลงวันที่ 13 ธันวาคม 2549 คือบทกวีชื่อ “น้องแอ๋มแคมฟร็อก” นั่นหมายความว่าบทกวีเล่มนี้ใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีจึงได้ผ่านการคัดสรรจัดหมวดหมู่มารวมเล่ม และนี่คือบทพิสูจน์ที่แท้จริงว่าการเป็นกวีนั้นมิอาจคาดหมายได้ในเชิง “อาชีพเลี้ยงตัว” หากแต่เป็นได้เพียง “วิชาชีพเลี้ยงใจ”

                สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมจากการจัดการในการรวมเล่มบทกวีเล่มนี้ก็คือ ความคิดย่อยๆที่กระจัดกระจายตามกาละและเทศะต่างๆได้ถูก “จัดการ” ให้เป็นกลุ่มก้อนความคิดที่เกี่ยวโยงสืบเนื่องกัน โดยที่กวีเองก็มีความคิดต่อเนื่องเป็นชุดอยู่แล้วหลายชุด โดยดูได้จากผลงานที่ได้เขียนร้อยบทกวีเข้าไว้ด้วยกันเป็นชุดต่อเนื่องกลุ่มหนึ่งอันได้แก่ “ถนนละม้ายสงเคราะห์” (7 ชิ้น) “ถนนละม้ายสงเคราะห์-ตัดใหม่” (6 ชิ้น) “เพื่อนเก่า” (3 ชิ้น) “คนรักเก่า” (4 ชิ้น)  นอกนั้นเป็นชิ้นปลีกๆที่ถูกนำมาคัดสรรแล้วผ่านการ “จัดวาง” อย่างถูกที่ถูกทางเพื่อ “สร้าง” และ “สื่อ” ความหมายออกมาให้ทรงพลังมากที่สุด

                ดูเหมือนความตื่นตาตื่นใจของบทกวีรวมเล่มชุดนี้จะถูกดึงไปอยู่ ณ กลุ่มงานท้ายเล่มที่พูดเรื่องโลกในอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นข้อมูลเชยมากแล้วในปัจจุบัน และอีกไม่นานบทกวีกลุ่มนี้จะกลายเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์เชยๆให้ได้รำลึกกันเหมือนที่ เพจเจอร์และเครื่องเล่นวิดิโอ กลายเป็นของเล่นอันล้าสมัยในปัจจุบันและแทบจะไม่มีเด็กรุ่น MSN รู้จักแล้วว่ามันคืออะไร! แต่กระนั้นประเด็นที่ว่านี้ก็หาได้ทำให้คุณค่าของบทกวีชุดนี้ลดลงไม่

                มาถึงตรงนี้จะเริ่มเห็นว่า รวมบทกวีนี้มีการจัดการเป็นกลุ่มๆไว้อย่างค่อนข้างซับซ้อนมีชั้นเชิง เริ่มแต่การแบ่งหมวดหมู่เป็น 4 หมวด ให้ชื่อคล้องจองกันไว้ว่า “ที่เห็นไม่เร้นหาย” “ยังเวียนว่ายให้รู้สึก” “ไม่เคยฝันไม่ทันนึก” และ “ว่าจะเป็นกันเช่นนี้” นั่นเป็นชั้นแรก ชั้นที่สองไม่ได้มีอะไรบ่งบอกเป็นรูปธรรมมากนัก แต่ก็สามารถจัดได้เป็น “ฉาก” คือ ถนนละม้ายสงเคราะห์ และถนนละม้ายสงเคราะห์-ตัดใหม่ “ตัวละครที่ยังมีชีวิต” ได้แก่ เพื่อนเก่า และคนรักเก่า “ตัวละครที่เพิ่งถึงแก่กรรม” (ตามบันทึกท้ายบทกวี) ได้แก่ ปา – บิดาของผู้เขียน เจริญ วัดอักษร กนกพงศ์ สงสมพันธุ์  นักเขียนหนุ่มร่วมสมัยที่จากไปก่อนวัยอันควร เปลื้อง คงแก้วหรือกวีผู้ใช้นามปากกกาว่า เทือก บรรทัด บุคคลนิรนามที่พลีชีพในจังหวัดนราธิวาสอันเนื่องมาจากปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ “ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ในชุมชนละม้ายสงเคราะห์” นั่นคือเรื่องราวในโลกออนไลน์ ยังมีชั้นที่สามอีก ได้แก่ โลกกาลเวลาของกวีที่พอจะแบ่งได้เป็น “ปัจจุบัน-ที่เป็นร่องรอยอดีต” “อดีต” “ปัจจุบัน-ที่เป็นตัวบ่งอนาคต” อีกชั้นหนึ่งก็คือ “ความสงบสุข” ความรุนแรงในสังคม” กับ “ความปั่นป่วนไร้ระเบียบ (chaos) ของโลก” รวมบทกวีเล่มนี้จึงจัดว่ามีหลากหลายมิติที่ซ้อนกันอยู่ และเป็นหลากหลายมิติที่เหลื่อมซ้อนสัมพันธ์กัน

                โลกในดวงตาของกวีที่ชื่อมนตรี ศรียงค์ เริ่มต้นขึ้นด้วย ฉากอันงามเหงาชวนเศร้า บนถนนละม้ายสงเคราะห์ ณ เวลาปัจจุบันอันเป็นร่องรอยแห่งอดีต


                                                ...ปีที่เจ็ดสิบ – ซิ้มฮกเกี้ยน

                                                การแปลงเปลี่ยนไปสู่ – มิรู้เห็น

                                                บ้านไม้ยังงำเงียบ – ยังเยียบเย็น

                                                โดดเด่น โดดเดี่ยว เดียวดาย

                                                กันสาดนั้นกั้นแดดตะวันตก

                                                มืดหมกร่มงำในยามบ่าย

                                                เป็นบ้านไม้ชำรุดหลังสุดท้าย

ณ ถนนละม้ายสงเคราะห์ -  พ.ศ. นี้!.

                                                (“บ้านเลขที่ 41/3” หน้า 20)


                แล้วจบลงตรงท้ายเล่ม ที่ไม่ใช่บทสุดท้าย ซึ่งเป็นฉากในห้องสี่เหลี่ยมยามค่ำคืน หน้าจอมอนิเตอร์ อันเป็นปัจจุบันที่บ่งบอกถึงโลกอนาคต ว่า


                                                ...แอ๋มคลิกชื่อคนที่เขามีกล้อง

                                                แล้วส่องดูเห็นอย่างเต้นตื่น

                                                การร่วมรักโชว์สดกันบนพื้น

                                                ท่ามสายตากระเหี้ยนกระหือหื่นนับหมื่นดวง

                                                เธอสั่นเสียวครางลูบหว่างขา

                                                กล้องเบื้องหน้าถ่ายทอดตลอดช่วง

                                                จนผ่านคืนแคมฟร็อกกระทอกทะลวง

                                                เช้าล่วงพรุ่งนี้แอ๋มมีเรียน...

                                                                                                (“น้องแอ๋มแคมฟร็อก” หน้า133)


                ลองคิดดูก็แล้วกันว่า คนสามคน สามวัย บนโลกใบเดียวกันที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว จะอยู่ร่วมกันอย่างไรในสังคมที่ทุกคนต่างมี “ยุคสมัยของตนเอง” ซิ้มฮกเกี้ยน กับ น้องแอ๋ม ผู้หญิงสองคน สองวัย อายุห่างกันประมาณครึ่งศตวรรษ จะจินตนาการถึงโลกของกันและกันอย่างไร กวีเห็นโลกทั้งสองโลก เขาอยู่ระหว่างโลกทั้งสอง และกำลังอยู่ระหว่างยุคสมัยหรืออยู่ท่ามกลางกระแสธารกาลเวลา อยู่ตรงกลางทาง ก้าวต่อไปก็ยังอีกไกลนัก ย้อนกลับไปก็ใช่ที่ อยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า วัยกลางคน กลับไม่ได้และยังไปไม่ถึง กวีจึงเสมือนถูกคุมขัง โดยมีสังคมเป็นที่กักขัง สังคมที่มีอดีตซึ่งดูเหมือนจะดีกว่าแต่เป็นของที่ตายแล้ว กับอนาคตที่ดูเหมือนจะไม่แน่นอนและไว้ใจไม่ได้เพราะมันทำให้เราต้องปรับตัวปรับใจ ตามกลไกธรรมชาติ ในขณะที่เสียงเรียกร้องในด้านความมั่นคงของชีวิตและจิตวิญญาณก็คอยขัดแย้งให้พยายามแช่แข็งตัวเองเอาไว้ นี่คือสภาวะของกวีในท่ามกลางยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน ในโลกอันแปรปรวนและควบคุมไม่ได้ ซึ่งเป็นเช่นนี้มาทุกยุคสมัย อนาคตอันมืดมนเพราะความไม่รู้และเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ ย่อมน่ากลัวกว่าอดีตที่แจ่มกระจ่างทว่าไร้ชีวิต

                จากบทเปิดเล่มกับบทท้ายเล่ม ก็ราวกับจะเห็น “ความห่างเกือบศตวรรษ” ของโลกในดวงตากวีแล้ว และนี่เป็นปรากฏการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ทำนายไว้ล่วงหน้ามาเป็นสิบปีแล้วว่าคือ “ความตระหนกต่อหนาคต” (future shock) เพราะความเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงรวดเร็วของโลก

                สภาวะของกวีที่ถุกคุมขังในสังคมของตนซึ่งดูเหมือนหยุดนิ่ง แต่ทว่ามันกลับเคลื่อนไหวไปตามแรงเหวี่ยงของโลกอย่างรวดเร็วและไร้ทิศทาง กลายเป็นความโกลาหลอลหม่าน (chaos) ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึง สิ่งแวดล้อมที่กวีนำมาแสดงออกจะร้อนแรง เช่น แดดอันร้อนและเผาไหม้ โลกอันแปรปรวนดังทะเลที่เต็มไปด้วยคลื่นลม (เป็นภาพแสดงถึงแห่งภาวะโกลาหลอลหม่าน) ที่มนุษย์ตัวเล็กๆทั้งหลายต้องว่ายต้องตะกายไปให้ถึงฝั่ง เช่น


                                                วันนี้ไม่มีของเด็กเล่น

เพลาเพลเพล – รถติด

ร้อนทบอบท่าวอ้าวทิศ

แผลงแดดแผดฤทธิ์พิษแรง

                                (“BYEBYE COWBOY” หน้า 53)


ไปสู่ความเวิ้งว้างอันกว้างลึก

กลางครึกคลื่นโครมที่โถมถา

แปดทิศมิดมืดขึงพืดทา

ดำสนิทมิดตาด้วยราตรี

สมอเรือดิ่งลงให้ทรงตัว

เดิ่งหัวขยับอยู่กับที่

แล้วความมืดดำ –ปีซ้ำปี

ก็กลืนเรือป่นปี้ – แต่นี้มา

                                (“ยุทธนา : ราวนักเดินเรือหาปลาขอบฟ้าไกล” หน้า 73)


เกรียมแดดเกรียมฟ้ากลางมหาสมุทร

มนุษย์ – ผู้มั่นในความเชื่อ

คาวเค็มนั้นยังคงกรังเกลือ

เลือดเนื้อเหงื่อหลั่งก็กรังคาว

สองมือจ้วงพายว่ายแหวก

คลื่นแหลกแตกฟองฟ่องขาว

เสียงฮึบแต่ละฮึบนั้นฮึบยาว

แกร่งและกร้าวทุกคำเพื่อนำเรือ

ตัดคลื่นไปสู่เส้นขอบฟ้า

ดวงตาสีเข้มยังสุกเรื่อ

แขนที่จับพายกำคือกล้ามเนื้อ

งาดเงื้อแล้วจ้วงให้ล่วงไป

                                (“เรือกลางทะเล” หน้า 106)


ปัจจุบันอันเป็นผลมาจากอดีตอันล่วงไปแล้วที่ไม่สามารถย้อนไปแก้ไขอะไรได้ และปัจจุบันอันเป็นสัญญาณบ่งบอกอนาคตอันน่าประหวั่นพรั่นพรึง ดูจะร้อนแรงและโกลาหลอลหม่านอยู่ในใจของกวีที่ชื่อ มนตรี ศรียงค์ เป็นอย่างยิ่ง มันมีพลังกดดันควบคุมให้กวีต้องจำกัดตนเองในกรอบพื้นที่แคบๆทางจิตวิญญาณ คับข้องหมองใจ และปะทะปะทุอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างดุเดือด มันมีเรี่ยวแรงจนแทบจะฉีกกระชากเอาสภาวะทางจิตวิญญาณของกวีให้ฉีกเป็นริ้วๆ แต่กวีเองก็ไม่ยอมปล่อยให้สภาพอันบีบคั้นนั้นมาทำลายสภาวะกวีได้ แต่ก็ไม่อาจเป็นอิสระจากสภาพกดดันบีบคั้นทางสังคม สังคมซึ่งล้มเหลวและล่มสลายทางจริยธรรมและคุณค่าอันเป็นความงาม ความดี ความจริงที่กวีศรัทธาและบูชาลงไปเรื่อยๆ


                                                ข้าพเจ้าหยุดดูข้าพเจ้า

                                                สัตว์เศร้าเหงางำผู้คร่ำเคร่ง

                                                สะอื้นเสียงครวญครางอยู่วังเวง

                                                ขับเปล่งเสียงเปลี่ยวอยู่เดียวดาย

                                                                                (“เงาสะท้อนบนประตูกระจก” หน้า 35)


และใช่เพียงกวีที่เป็นคนป่วยไข้ในสังคม หากแต่เป็นเราทั้งหลายด้วย

                                                เราเป็นสัตว์บาดเจ็บแห่งยุคสมัย

                                                อุกาบาตลูกใหญ่นั้นไล่จ่อ

                                                ข้าพเจ้าม้วนหดตัวขดงอ

                                                เขานอเขี้ยวเล็บถูกเก็บไว้!

                                                                                (“ทั้งท่านแหละทั้งข้าพเจ้า” หน้า 65)


                โลกในดวงตาข้าพเจ้า จึงเป็นการเปล่งเสียงอันทรงพลังของกวีเล็ดรอดออกมาจากที่กักขังทางจิตวิญญาณ มันไม่ใช่เสียงอันรื่นรมย์ หากแต่เป็นเสียงอันเจ็บปวดรวดร้าวต่อการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวของสังคม และความเลวของสังคมนั้นเองก็ได้กักขังเขาเอาไว้ให้อยู่ภายในพื้นที่แคบๆทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและในโลกทางจิตวิญญาณ


                                                อนิจจา – เกิดมาแล้วตายไป

                                                ณ มหรรณพใดที่ว่ายล่อง

                                                ลอยตัวสะเปะสะปะ – ประคับประคอง

                                                เพื่อดิ่งลงไปกองใต้ท้องน้ำ

                                                พริบตา – อายุก็ลุวัย

                                                เดี๋ยวก็วันผ่านไป – เดี๋ยวก็ค่ำ

                                                กับสิ่งที่เรียกว่าชะตากรรม

                                                พร่างพร้อยรอยย่ำมาตามวัย

                                                พ่นควันเป็นรูปสถูปคร่ำ

                                                เขรอะคล้ำคราบเขียวของตะไคร่

                                                เป็นธูปเทียนหรีดพวง – เป็นปวงไฟ

                                                ที่พร้อมจะเผาไหม้ดอกไม้จัน

                                                อนิจจา อนิจจา อนิจจา

                                                มวลธาตุที่ก่อมา – อายุสั้น

                                                มอดลงทีละนิด – นิดละวัน

                                                เป็นถ่านเถ้าเขม่าควันแล้วอันตราน

                                                                                (“เพียงพริบตา” หน้า141)


                มนตรี ศรียงค์ เปล่งพลังเสียงออกมาแล้วถึงคำ อนิจจา อันหมายถึง อนิจจํ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องไม่ลืมว่า ไตรลักษณ์ นั้น ประกอบด้วย อนิจจํ ทุกขํ อนัตตา หาได้มี อนิจจํ ลำพังไม่!


เช้าตรู่วันฝนตกหนัก เชียงใหม่ / ๑๗ กันยายน ๒๕๕๐


จาก  www.praphansarn.com/new/c_vijan/detail.asp?ID=57

Comment #1
Posted @8 พ.ย.50 19.01 ip : 202...155

      วันนี้ไม่มีของเด็กเล่น

      เพลาเพลเพล – รถติด

      ร้อนทบอบท่าวอ้าวทิศ

      แผลงแดดแผดฤทธิ์พิษแรง

รู้สึกว่าถูกใจบทนี้  แต่ไม่เข้าใจตรงขึ้นต้นเกี่ยวกับของเล่น ช่วยอธิบายหน่อยครับ ผมคนปัญญาไม่มาก  ขอโทษด้วยครับยังไม่มีโอกาสได้อ่านผลงานบทกวีของคุณหมี่เป็ด เพื่อนร่วมอำเภอ แต่จะพยายามหามาอ่านให้ได้ รู้สึกภูมิใจลึกๆ ว่าอย่างน้อย บ้านเราก็มีกวีซีไรท์หลายคน(ผมหมายถึงมากกว่าหนึ่ง)

Comment #2
Posted @8 พ.ย.50 19.37 ip : 202...155

ปกติแล้วผมชอบอ่านบทกวีของเก่าๆอย่างเช่น กลอนของท่านสุนทรภู่ และโคลงโลกนิติของเก่า หรือแม้แต่ สามัคคีเภทคำฉันท์ ของนายชิต บุรทัต  ผมไม่มีความรู้เรื่องการประพันธ์ หรือฉันทลักษณ์เหล่านั้นมากนัก  พอๆกับไม่รู้ในเรื่องของการเขียนกลอนเปล่า อย่างสมัยใหม่  แต่จะอย่างไรก็แล้วแต่ การที่บทประพันธ์ หรือ บทกวีภาษาไทย สมัยใหม่ จะได้ให้ความสำคัญกับการสัมผัสสระ สัมผัสอักษร บ้าง ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี   (ความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ว่ามานี้ยังได้แสดงออกมาในรูปของเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริง ร็อค สมัยใหม่ที่ละเลยความงดงามของภาษาไทย  จะมีบ้างบางท่านที่แต่งเพลงสมัยใหม่ได้ดีแต่ก็เป็นจำนวนน้อย)

สาเหตุที่เขียน 'ความ' นี้ มิได้มีเจตนาจะวิพากษ์ วิจารณ์ ท่านใด ให้เป็นที่ขุ่นข้อง  หากเป็นแต่เพียงระบายความรู้สึกจากใจจริงเท่านั้น

ขอปรบมือให้กับคุณมนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ อีกท่านซึ่งมีผลงานอันเป็นที่น่ายินดี

Comment #3
Posted @8 พ.ย.50 20.23 ip : 125...237

สวัสดีครับคุณ ปภพ.  ยินดีต้อนรับครับ  บอร์ดนี้เปิดกว้างทุกผู้นามครับ  เพียงแต่ช่วงนี้ผมไม่ค่อยว่างเท่าไหร่  เลยปล่อยให้น้องๆเขาช่วยดูแลไปพลางๆครับ

ของเด็กเล่นเป็นตัวลูกหนูที่มีเชือกโยงน่ะครับ  อันละ 35 บาท  คาวบอยคนนี้จะขายเวลามีชาวมาเลย์เข้ามาน่ะครับ


ส่วนเรื่องฉันทลักษณ์นั้น สำหรับผมมันแค่ของเล่นของคนที่มีคำมากมายในหัว  แล้วคิดรูปแบบแปลกๆขึ้นมาน่ะครับ  ผมให้ความสำคัญในใจความประเด็นและวิธีเล่าเรื่องมากกว่าครับ 


ที่หาดใหญ่ ทุกวันเว้นอาทิตย์ ช่วง 6 โมงเย็นจะเป็นรายการโอเลี้ยงเสียงหล่อ  คลื่น 88 , เสาร์-อาทิตย์ช่วง 9 - บ่าย2 คลื่น 107.0,  ทุกคืนเว้นเสาร์-อาทิตย์ เวลา 3 ทุ่ม-5ทุ่ม  คลื่น 90.50    คลื่นวิทยุเหล่านี้จะมีรายการเพลงลูกทุ่งเก่าๆครับ

Comment #4
ปภพ (Not Member)
Posted @9 พ.ย.50 9.28 ip : 202...155

คงจะไม่ได้ฟังครับคลื่นวิทยุที่ว่าเนี่ย เพราะตอนนี้ผมมาทำงานอยู่ที่ประเทศลาว

ขอแนะนำตัวหน่อยนะครับ..... ผมเป็นคนปากใต้ เกิดที่ เมืองสงขลา ไปโตที่เกาะยอ เข้าโรงเรียนที่หาดใหญ่ เริ่มจากโรงเรียนพลวิทยา (โรงเรียนเดียวกับท่านอาจารย์ อัครา บุญทิพย์ นักเขียนต่วยตูน เจ้าของข้อสันนิษฐานเรื่อง "คนปากใต้" ซึ่งผมเห็นด้วย) แล้วก็ ญว  วทต สุดท้ายที่ สจธ กทม ระเหเร่ร่อนอยู่หลายปีแล้วก็...ได้เมีย..(คำนี้เคยได้ยินคุณไตรรงค์ พูดในการอภิปรายในสภาเมื่อหลายปีก่อน) สุดท้าย เอาครอบครัวไปฝากพ่อตาไว้ที่ภูเก็ตแล้วก็บินไปลาว อยู่ได้ประมาณ สองปีแล้ว  ตอนนี้ประเทศไทยในความรู้สึกของผมหดเล็กลง  ทำงานในสายช่าง มีแต่ของหยาบ  เป็นนักอ่านสมัครเล่น  ซึ่งห่างไกลมากจากนักเขียนมืออาชีพยังไงก็ขอคำแนะนำ(ในการอ่าน)ด้วยครับ

ชอบดนตรี ฟังเพลงทุกประเภททั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง ไทยเดิม หนังตะลุง มโนราห์ สากล แต่แร็พนี่ฟังแล้วยังไม่เก็ต  ตอนนี้เริ่มหัดฟังเพลงคลาสสิค ประมาณว่า  เดอะโฟร์ซีซั่น ของ วิวัลดิ  แล้วก็ยังมีผลงาน โซโล วีโอลีนของ บาค เปียโนคอนแชร์โต้ของไชคอฟสกี แล้วก็ ผลงานของบีโธเฟ่น  โมสาร์ท  อะไรเทือกนั้น  แต่หูยังไม่กระดิกเลยครับ ... ถ้ากระดิกได้ และเห่าได้ เมื่อไหร่ ....จะแจ้งให้คุณหมี่เป็ดทราบเป็นคนที่สอง  เพราะคน(ตัว)แรกที่ผมเห็นว่าต้องแจ้งให้ทราบคือนังจุ๋มจิ๋ม หมาที่บ้านผม  แฮ่ะ  นักดนตรีคนอื่นๆก็มี ชัยชนะ- ไวพจน์ - สมยศ -ลุงชาญ
ฉลอง (สิมะเสถียร)-ชาตรี (ศรีชล)-ผ่องศรี -อาชาย(เมืองสิงห์)
ยงยุทธ(เชี่ยวชาญชัย)-เมืองมนต์ (สมบัติเจริญ)-สุรพล -สมศรี(ม่วงศรเขียว) ล้วน ควันดำ(เอิ๊บ ...ควันธรรม)วุ๊ย คลาสสิคทั้งน้าน  ล่าสุดที่ชอบเสียงมากคือคุณน้องบิว เจ้าของเสียง โนบรา โนรา เนี่ยะ ลองฟังดูครับ ท่อนสุดท้าย ตรงที่เธอร้องว่า  "....เสียแรงที่ไว้ใจ" ฟังแล้วได้ 'รมณ์ดี

ฝอยมาเยอะขอจบตรงนี้และฝากคำถามและคำชมสักนิด ๑.นักเขียน กวี  คิด อะไร อย่างไร (สาเหตุของคำถามนี้ เพราะครั้งหนึ่งเพื่อนเคยชวนไปร่วมงานประกวดช่างผม ทีโคราช ได้เห็นผู้คนในกลุ่มนี้ต่างจากที่ผมคุ้นเคย เป็นประสบการณ์ใหม่  ที่ วี๊ด ว๊าย กระตู้วู้ จึงอยากรู้ว่าคนแต่ละกลุ่ม สาขาอาชีพ เขาคิดอย่างไร มองโลกกันอย่างไร)ไม่เครียดนะครับ ๒.รูปคุณหมี่เป็ดดูโหดไปหน่อยไหมครับ  ไม่ทราบว่าเป็นตัวจริงหรือเปล่า

อ้ออีกอย่าง ทำไมต้องนัยน์ตาสนิมเหล็ก  สนิมอย่างอื่นไม่ได้เหรอครับ เช่น ทองเหลือง ทองแดง นาค เงิน  หรือหยั่งกะว่า สนิมสร้อย ('รงษ์ วงศ์สวรรค์)

55555555

Comment #5
Posted @10 พ.ย.50 20.17 ip : 125...139

ตอบข้อ ๑-.นะครับ

คิดอะไรอย่างไรนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นอยู่ในแวดล้อมเช่นไร  และมีทัศนะส่วนตัวเช่นไร  ฝักใฝ่อย่างไร  พูดง่ายๆคือมันเป็นเรื่องปัจเจก  และสำหรับผม-  ทัศนะไม่มีผิดหรือถูก  ยิ่งทัศนะของปัจเจกด้วยแล้ว  มันยิ่งเป็นเรื่องเฉพาะ  ดังนั้น- การจะทำความเข้าใจทัศนะของแต่ละคน  ถ้าเรารู้ปูมหลังของเขาด้วยจะยิ่งดีครับ

๒-.  รูปจริงครับ  แต่โฟโต้ชอปโดยแม่มดโฟโต้ชอบมัชฌิมา    หนวดนั้นเธอแต่งลงไปให้เข้มขรึมเล่นๆน่ะครับ  ตัวจริงหล่อมาก  แม่บอกผมเสมอว่าผมหล่อเหมือนเตี่ยครับ 

๓-. นัยน์ตาสนิมเหล็กนี่  จำไม่ได้แล้วว่าจำมาจากไหน  แต่มันกรุ่นๆอยู่ในอกมาแต่วันเยาว์โน่นแน่ะครับ  เลยเอามาใช้โก้ๆเก๋ๆซะงั้น


น้ามาบ่อยๆนะครับ  บอร์ดจะได้คึกคักมั่ง  แฮ่ๆ

Comment #6
Posted @11 พ.ย.50 19.06 ip : 202...155

แหมเรียกผมว่าน้า นี่รับไม่ได้ครับ รับไม่ได้  ยังไม่แก่ขนาดนั้น ถึงผมจะชอบของเก่า หรือเพลงเก่า แต่ไม่ได้หมายความว่าผมแก่ (แต่เพื่อนฝูงรุ่นเดียวกันมักจะหาว่าผมเกิดผิดยุค)...  ก็แค่ว่ากันไปตามเนื้อหาไม่เลือกว่าเก่าหรือใหม่  ความแตกต่างอยู่ที่ของเก่า เดินทางผ่านยุคสมัยมา ก่อนถึงมือเรามีคนรุ่นก่อนเขาคัดสรรให้แล้วหลายรอบ เราไม่ต้องเลือกเสพย์มากนัก ของเก่าที่ไม่ดีก็จะถูกทอดทิ้งให้ตายไปกับยุคสมัยนั้นไม่ตกถึงมือเรา  แต่ของใหม่มันมีปะปนกันต้องคัดสรรด้วยวิจารณญาณของตัวเอง  มันก็เลยทำให้ดูเหมือนชอบของเก่า

ขอเป็นเพื่อนเถอะครับ  วัยก็ไม่ห่างกันมากนัก

สารภาพตามจริง .ผมเพิ่งจะทำสิ่งที่เรียกว่า ...การแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บบอร์ด.. อย่างเอาจริงเอาจัง ก็ที่นี่หละครับ เป็นที่แรก น้องใหม่ในวงการครับ ช่วงต้นเดือนพอมีเวลาว่าง  แต่ถ้าปลายเดือนงานยุ่ง อาจจะหายหน้าไปสักนิดอย่าว่ากันนะครับ นายหัว

ปลายปีนี้จะแวะไปชิมหมี่เป็ด

Comment #7
Posted @11 พ.ย.50 20.36 ip : 125...142

ยุคสมัยใครยุคสมัยมันครับ  เด็กรุ่นนี้จะให้มันมาฟัง ชาย เมืองสิงห์ ก็คงยาก  เพราะการเติบโตและสภาพแวดล้อมของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นเรามากแล้ว  ผมจึงไม่รู้สึกอนาทรร้อนใจกับปรากฏการณ์แอ๊บแบ๊วคาวาอี้  เพราะมันยุคสมัยของเขา  ยังไงมันก็ต้องเป็นแบบนี้  สิ่งที่ผู้ใหญ่เราควรคิด  คือเด็กมันกำลังปฏิเสธสิ่งเก่าอยู่ใช่หรือไม่?  รุ่นเราล่ะเคยปฏิเสธสิ่งที่รุ่นก่อนสร้างไว้ไหม?  ก็เคยกันทุกรุ่น  เพราะมันหมายถึงการเริ่มต้นพัฒนาการต่อไป อย่างคำว่าจ๊าบที่เคยฮิต  ปัจจุบันมันกลายเป็นคำเชย  แต่คนทั่วไปเข้าใจได้ดี แม้จะไม่บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน

ปลายปีนี้เจอกันครับ

แสดงความคิดเห็น

« 1430
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 58 user(s)

User count is 2464104 person(s) and 10422730 hit(s) since 21 ธ.ค. 2567 , Total 550 member(s).