บทสัมภาษณ์ใน ศิลปวัฒนธรรม

by หมี่เป็ด ผู้ชายนัยน์ตาสนิมเหล็ก @6 ธ.ค.50 21.21 ( IP : 125...62 ) | Tags : บทสัมภาษณ์

ตัวตน ชีวิต ความคิด กวี : มนตรี ศรียงค์

จากเด็กหนุ่มเลือดร้อนนิสัยมุทะลุดุดันไม่ยอมคน ที่เคยเห็นการตีรันฟันแทงเป็นของโก้เก๋ มองแทบไม่เห็นอนาคตที่ดีงาม ใช้ชีวิตให้ผ่านพ้นในแต่ละวันก็พอ วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เขากลับกลายเป็นคนมีชื่อเสียงที่หลายคนรู้จัก และนับถือตัวตนและผลงานในฐานะกวีที่ผ่านด่านการตัดสินจากคณะกรรมการ จนได้รับคำประกาศใน ฐานะกวีรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือกวีซีไรต์คนที่ 10 ของประเทศไทย

มนตรี ศรียงค์ จากผลงาน โลกในดวงตาข้าพเจ้า

มนตรี ศรียงค์ หรือ กวีหมี่เป็ด สนุกกับสัจธรรมแห่งชีวิตที่ผกผัน และปรากฏการณ์สารพันด้วยสายตาที่ลุ่มลึก ค้นโลกซอกซอนทุกมุม จนค้นพบแง่นาน และได้ถ่ายทอดบทบันทึกแห่งชีวิตนี้ ให้กลายเป็นบทกวีที่คล้ายจะสามัญ แต่กลับลึกซึ้งเกินคาดเดา

เส้นทางสายกวี เริ่มต้นมาตั้งวัยละอ่อน โดยได้ร่ายบทกวีรักมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.2 ที่โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์ จ.สงขลา แต่เพราะเข้าใจว่ากวีเป็นเรื่องของผู้หญิง จึงต้องหลบๆ ซ่อนๆ เขียน ใช้ชีวิตสมบุกสมบันพอควรในช่วงมัธยมปลาย    จากนั้นก็เข้ากรุงเทพฯมาเข้าเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง อย่าคิดว่าชีวิตโลดโผนจะลดลง เพราะเมื่ออิสรเสรีเข้ามาเยี่ยมเยียนชีวิตเท่าไร เลือดวัยหนุ่มก็ยิ่งระอุเท่านั้น ระอุถึงขนาดที่มีเรื่องมีราวจนถึงต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ก่อนกลับมาเรียนอีกครั้ง

และครั้งนี้เอง ที่เขาเริ่มก้าวสู่แวดวงวรรณกรรม หลังจากที่เพื่อนคนหนึ่งนำหนังสือเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์มาให้อ่าน และพลังของหนังสือก็โน้มนำมนตรีให้หลงใหลในตัวอักษรอย่างเต็มตัว ถึงเลือดนักสู้จะยังวิ่งพล่านอยู่เช่นเดิม แต่ผลงานกวีกลับปรากฏมากขึ้น

ทว่าหลังสอบตกซ้ำซากในวิชาร้อยกรอง วรรณคดีวิจารณ์ และภาษาบาลี ซึ่งเป็นเพราะเจ้าตัวไม่เคยเข้าเรียนไม่เคยไปสอบ  มนตรีก็ย้ายคณะไปเรียนรัฐศาสตร์ แต่เพราะรู้สึกเบื่อตัวเอง จึงตัดสินใจกลับบ้านแม้จะเรียนยังไม่จบ เพื่อมาดูแลแม่ และรับช่วงทั้งขาย-ทำบะหมี่ที่ร้าน หมี่เป็ดศิริวัฒน์ แถวถนนละม้ายสงเคราะห์ กิจการของครอบครัวเมื่อปี พ.ศ.2534 และเริ่มเขียนบทกวีอย่างจริงจัง หลังจากกระทบใจจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

“เหนื่อยมาก เดินทางบ่อยขึ้น พบปะผู้คนมากขึ้น มีคนรู้จักและได้รู้จักคนเพิ่มขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเยอะขึ้น ซึ่งในปริมาณที่เยอะขึ้น แน่นอนเราต้องการพื้นที่ของเราอยู่ แต่เราปฏิเสธเมื่อไหร่ ก็เท่ากับหยาบคายกับคนที่เข้ามาสัมพันธ์กับเรา ก็ต้องรักษาจิตตัวเองเอาไว้ให้นิ่งกับทุกการเคลื่อนของปริมาณที่มาก”มนตรีร่ายยาว เมื่อเราถามถึงความรู้สึกหลังได้รับรางวัล ซึ่งก็ผ่านไประยะหนึ่งแล้ว

แต่โดยภาพรวมแล้วเขาก็ถือว่าเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ การได้รับรางวัลในครั้งนี้ของเขา ได้ช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้คนต่างพื้นที่ ที่มองเข้ามายัง อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา บ้านเกิดเมืองนอนของเขา เพราะที่ผ่านมา มนตรีเห็นว่าหาดใหญ่คือเมืองอาภัพ ที่มีการขายบริการทางเพศและสถานโลกีย์เป็นจุดขายของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้

“หาดใหญ่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนน้ำกาม มีบทกวีที่เขียนไว้นานมาก ชื่อบทกวีที่หล่อเลี้ยงด้วยน้ำกาม  (เมืองที่หล่อเลี้ยงด้วยน้ำกาม) เขียนด้วยคามอึดอัดคับข้องใจ รู้สึกอับอายที่บ้านเกิดตัวเองติดลบด้านนี้ในสายตาของผู้อื่น ทั้งที่หาดใหญ่เป็นเมืองศิลปวัฒนธรรม  น่าเสียดายที่ถูกกลบกลื่อนซ่อนเร้นด้วยสถานบันเทิงโลกียะ หาดใหญ่มีซีไรต์สองคนคือวินทร์ เรียววารินทร์กับผม และถ้าพูดถึงจ.สงขลา เรามีซีไรต์สามคน คนละประเภท มีศิลปินแห่งชาติ สถาพร ศรีสัจจัง มีเมธีอาวุโส ศาสตราจารย์ สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ที่สามารถกราบขอคำแนะนำ คำปรึกษาได้ มีนักดนตรีฝีมือระดับประเทศ วงบาโรย มีศิลปินพื้นบ้าน หนังตะลุง มโนราห์มากมาย

ถ้าการได้ซีไรต์แล้วพลิกเมืองตรงนี้ได้ถือว่าประสบความสำเร็จ

เพราะเราไม่ควรที่จะรู้สึกชื่นชมกับการสร้างเมืองขึ้นมาเช่นนั้น ผมเชื่อว่าศิลปวัฒนธรรมคือความดีงาม ถ้าเราสร้างเป็นจุดขายได้เมื่อไหร่ เราจะมีนักท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” มนตรีอธิบายด้วยรอยยิ้ม ก่อนที่จะบอกอีกว่าแม้ว่าวันนี้เขาจะได้รับการยกย่องในฐานะกวีซีไรต์ แต่เขาก็ไม่เคยมองว่านักเขียนวิเศษวิโสกว่าใคร เพราะเมื่อใดที่คิดเช่นนั้น ก็เท่ากับว่ากำลังดูถูกผู้อื่น ทว่าสำหรับสังคมทั่วไปแล้ว ทุกคนยอมรับว่างานเขียนเป็นเรื่องของภูมิปัญญา ทำให้มีหลายองค์กรต้องรางวัลต่างๆเพื่อสนับสนุนงานเขียน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วตนต้องขอขอบคุณทุกรางวัลที่มอบให้นักเขียน เพราะถือเป็นคุณูปการแด่แวดวงวรรณกรรม แต่สิ่งที่ตนรู้สึกสงสัยคือเกียรติของนักเขียน ที่ดูเหมือนจะได้รับเพียงนามธรรมเท่านั้น

โดยเฉพาะรางวัลที่เขาเพิ่งได้รับมาอย่างสดๆร้อนๆอย่าง ซีไรต์

“ไม่รู้ว่าในฐานะของกวีซีไรต์ปีนี้ ผมควรจะพูดและเรียกร้องเรื่องนี้รึเปล่า”มนตรีเปรยด้วยอาการลังเลเล็กๆ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าไหนๆก็ไหนๆแล้ว ขอพูดเพื่อเพื่อนนักเขียนทุกคน (ที่จะได้รางวัลต่อไป) ก็แล้วกัน

“จริงๆพูดเรื่องนี้มานานแล้วในพรรคพวกเพื่อนฝูงกันในวงเล็กๆ ยืนยันอีกครั้งว่าขอบคุณเจ้าของรางวัลทุกคนโดยเฉพาะรางวัลซีไรต์ ที่ตอนนี้กลายเป็นสถาบันไปแล้ว แต่ผมเคยเสิร์ชเจอ แล้วพบว่ามีสปอนเซอร์มากมาย ล้วนแล้วเป็นบริษัทใหญ่โต ที่การลงขันน่าจะมีจำนวนเงินสูงอยู่ เงินจำนวนนี้เมื่อเทียบกับสิ่งที่สปอนเซอร์ได้รับถือว่าเล็กน้อยมาก เพราะคุณได้ประชาสัมพันธ์ในสิบประเทศด้วยภาพพจน์ที่งดงามจากการสนับสนุนภูมิปัญญา

แต่เงินรางวัลที่นักเขียนได้มีเพียงแค่เจ็ดหมื่นบาท  ซึ่งน้อยมากเมื่อดูจากชื่อของสปอนเซอร์แต่ละแห่ง  ก็เรียนถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับการให้ค่าแห่งภูมิปัญญาของเรา

นักเขียนเองก็ตกอยู่ในสภาพน้ำท่วมปาก ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นยืนทวงถามสิ่งที่ควรจะได้ ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเรา  ด้วยเหตุนี้มนตรีจึงขอเรียกร้องว่า….

“ซีไรต์น่าจะมีรางวัลสักล้านนึง หรืออย่างน้อยสักสองแสน เพื่อให้สมศักดิ์ศรีของสปอนเซอร์ และนักเขียนได้รางวัลสามารถตั้งหลักปักฐานได้ และควรช่วยแปลงานของเราไปยังอาเซียนอีกเก้าประเทศ เช่นที่ควรจะแปลของอีกเก้าประเทศมาให้เราได้อ่าน” ไม่ปล่อยคนฟังอึ้งนาน เพราะรีบส่งสัญญาณไปยังสองสมาคม คือสมาคมนักเขียนฯและสมาคมภาษาฯทันทีเลยว่า

“เรียนด้วยความเคารพว่า ผมยืนยันว่าสองสมาคมเป็นที่พึ่ง ที่คุ้มกะลาหัวของนักเขียนอยู่ จึงขอกราบเรียนให้ช่วยดูแลเราและเป็นปากเสียงให้กับเราในเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด”

ก่อนที่จะตบท้ายประเด็นนี้ด้วยการยืนยันมาว่า

“ไม่ได้พูดในนามส่วนตัว แต่พูดเพื่อนักเขียนทุกคน เพื่ประโยชน์ที่เอื้อกับนักเขียนโดยตรง”

และหลังจากหาญกล้าเสนอแนะข้อเรียกร้อง แบบไม่กลัวสปอนเซอร์เคืองใจนี้แล้ว มนตรีก็จะกลับไปสร้างสรรค์งานเขียนชิ้นต่อไป ซึ่งแอบแย้มมาว่า คราวนี้จะเป็นนวนิยายเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้อยู่ ซึ่งถูกขยายโครงสร้างจากเรื่องสั้น รุสนี ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารดีพ เซาธ์

ส่วนสาเหตุที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมานั้นก็เป็นเพราะว่า

“คนไทยภาคอื่นจะมีคำตอบจุดเดียวคือมุสลิมเป็นกลุ่มคนที่ก่อเรื่องเลวร้ายไม่หยุดหย่อน เราทุกคนได้รับการปลูกฝังให้มีความคิดด้านลบต่อมุสลิม แต่เราไม่เคยตั้งคำถามกลับไปว่า ทำไมเราจึงรู้สึกเหยียดหยามคนมุสลิมได้ขนาดนั้น แล้วมุสลิมจริงๆ นั้น เป็นเช่นนั้นหรือ

ความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้น มาจากอารมณ์ประวัติศาสตร์ที่ตกค้างอยู่นับแต่อดีต การเรียนการสอนประวัติศาตร์อย่างผิดๆถูกๆ ไม่ได้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ที่มีความแตกต่างจากเราเลย ทัศนะที่มีต่อกัน ทำให้ไม่มีจุดร่วมที่จะทำความเข้าใจกัน”มนตรีอธิบายด้วยสีหน้าที่จริงจัง ก่อนที่จะเสนอว่าหนทางแก้ไขในปัญหานี้ คือการชำระประวัติศาสตร์

“มีคนหนึ่งที่พยายามทำอย่างเห็นชัดเลย คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่พยายามชำระประวัติศาสตร์ใหม่อย่างมีระบบและเป็นวิชาการ เห็นชัดตั้งแต่ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ คนไทยมาจากไหน และต้องเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านด้วย เอาประวัติของแต่ละประเทศมาเทียบเคียงกันอย่างเป็นธรรม และควรให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของคนพื้นบ้านที่บันทึกความคิดของคนในพื้นที่ด้วย”

ซึ่งานนี้เจ้าตัวเล่าว่า คงเล่นได้เชิงสังคม และสิ่งที่ต้องการที่สุดจากงานชิ้นนี้ไม่ใช่รางวัลใดๆ แต่คือความหวังที่จะละลายทัศนคติที่ผิดเพี้ยนออกไป ให้เกิดมุมมองใหม่ขึ้น เพื่อยืนยันว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยสันติ

น่าจับตามองไม่น้อยเลย กวีหมี่เป็ดคนนี้ มนตรี ศรียงค์

แสดงความคิดเห็น

« 1430
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 44 user(s)

User count is 2474551 person(s) and 10473314 hit(s) since 31 ธ.ค. 2567 , Total 550 member(s).