บทสัมภาษณ์ในสมิหลาไทมส์
76 บทกวีจากนักเขียนทั่วฟ้าเมืองไทยส่งเข้าประกวด ชิงรางวัลซีไรท์ประจำปี 2550 หนึ่งในจำนวนนั้นมีบทกวีร่วมสมัย โลกในดวงตาข้าพเจ้าของ มนตรี ศรียงค์กวีหมี่เป็ดชาวสงขลา ผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการทะลุเข้ารอบสุดท้าย... เหลือเพียง 8 เล่ม มีสิทธิ์ลุ้น!และจะมีการประกาศผลรางวัลซีไรท์ประจำปี ในวันที่ 28 สิงหาคม 2550 โลกในดวงตาข้าพเจ้าเป็นตัวเต็งคว้าซีไรท์ในปีนี้
ถนนนักเขียนของเขา ผ่านการสั่งสมประสบการณ์ ขีดและเขียนผ่านคมเลนส์ อย่างไม่หยุดยั้ง ดังที่เขาบอกว่า ข้าพเจ้าถอดแว่น ล้างแล้วเช็ดด้วยผ้าสำลี คาดหวังเอาไว้ว่าเมื่อสวมมันอีกครั้ง ข้าพเจ้าจักมองเห็นดอกไม้สักดอกหนึ่งบานจากเรตินาของข้าพเจ้า ร่วมค้นหา โลกในดวงตาข้าพเจ้ากับ มนตรี ศรียงค์ ว่าที่กวีซีไรท์ที่ชาวสงขลาจะต้องภาคภูมิใจ ....
เส้นทางกวีหมี่เป็ด
เกิดที่หาดใหญ่ อาศัยอยู่ย่านใจกลางเมือง(กิมหยง) เดินผ่านและแวะเข้าห้องสมุดประชาชนทุกวันในช่วงประถม เข้าเรียนที่อำนวยวิทย์ม.1-ม.3 จากนั้นไปเรียนที่มหาวิราวุธ เช่าบ้านอยู่กับเพื่อนจนจบม. 6 โปรแกรมพลานามัย แต่ไม่ได้ดีในแวดวงกีฬา ตั้งเป้าเข้ารามฯปี 2529 เศษๆตีตั๋วรถไฟขึ้นไปเรียนรามคำแหงคณะมนุษยศาสตร์ เลือกเอกภาษาไทย ทั้งที่รักการอ่านการเขียนแต่กลับสอบตกซ้ำซากวิชาร้อยกรอง-วรรณวิจารณ์ เลยตัดสินใจเปลี่ยนคณะมาลง รัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง ทำท่าจะไปได้ดี 3 ปีแรกทำได้ 84 หน่วยกิต(ทั้งที่เข้าเรียนน้อยถึงน้อยที่สุด)แต่เก็บกี่ยวประสบการณ์ใช้ชีวิตในเมืองหลวงมามากมาย ช่วงนั้นแม่เรียกกลับบ้าน มาช่วยกิจการหมี่เป็ดที่ร้านศิริวัฒน์ฯถนนละม้ายสงเคราะห์ หาดใหญ่ ที่ขายดิบขายดีมาจนถึงวันนี้
ผมเป็นคนชอบอ่านมาแต่เด็ก สมัยเรียนประถมป. 4-5เดินผ่านห้องสมุดประชาชนทุกวันจะแวะอ่าน พล นิกร กิมหงวน เป็นหนังสือที่อ่านแล้วขำอ่านแล้วติด และมีอิทธิพลต่อการมองโลกให้ขำมาจนถึงปัจจุบันและพลอยให้ชอบการอ่านหนังสือแนวอื่นๆตามมา พอย่างเข้าวัยรุ่นก็อ่านมากขึ้นนักเขียนในดวงใจมีตั้งแต่จอห์น สไตน์เบค หลู่ซิ่น แมกซิม กอร์กี้ ไม้เมืองเดิม ยาขอบ รมย์ รติวัน ส่วนใหญ่จะเป็นแนวเพื่อชีวิต..
แรงบันดาลใจจับปากกา
เริ่มจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ทำให้อยากพูดอะไรออกไปในสิ่งที่เราคิดออกไปสู่สาธารณะบ้าง เลยเขียน เป็นบทกวี ส่งไปตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆที่ลงบ่อยคือ หนังสือข่าวพิเศษ ของพี่ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ จากนั้นก็เขียนมาเรื่อย เป็นการเริ่มต้นเอาจริงเอาจังทางด้านนักเขียน และเริ่มเขียนแบบมีเป้าหมาย คือการหาที่อยู่ที่ยืนในวงการวรรณกรรม คือการสร้างชื่อ การจะสร้างชื่อได้ในถนนวรรณกรรมไม่ใช่แค่การไปพบปะนักเขียน แต่จะต้องผลิตผลงานตีพิมพ์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ผลงานมีคุณภาพ มีคนกล่าวถึง จึงจะมีตัวตน
ผมใช้เวลาไม่นานนักประมาณ 1 ปี ก็เริ่มมีคนพูดถึง งานผมจะมี 3 กลุ่ม หนึ่งเป็นงานสถานการณ์ที่เขียนด้วยอารมณ์ทันทีทันใดที่เห็นเหตุการณ์นั้นๆ สอง งานภาษาสวยๆภาพสวยๆ เป็นงานโรแมนติกปรัชญา ใช้คำสวยๆภาพสวยๆ และสาม คืองานที่ใช้ภาษาพูดธรรมดา ในการประดิดประดอยคำแต่นำภาษามาใช้จัดวางให้ลงตัว จากเรื่องราวที่มากระทบกับตัวเราเอง โดยใช้ภาษาง่ายๆ อ่านแล้วเข้าใจ เพราะกวีจะใช้คำฟุ่มเฟือยไม่ได้
มนตรีบอกเล่าผ่านปลายปากกาเกี่ยวกับสายตาของเขาในบันทึกจากคนเขียนว่า ข้าพเจ้ารู้สึกตัวว่าสายตาไม่ปกติเมื่อสัก 20 ปีที่ผ่านมา(วันนี้อายุย่าง 40 ปี)เป็น 20 ปีที่ใบหน้าข้าพเจ้าประดับด้วยแว่นสายตามาโดยตลอด มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของใบหน้าเมื่อใดที่ข้าพเจ้าถอดแว่นจะรู้สึกถึงความไม่มั่นใจในตัวเอง หวาดหวั่นต่อการมองเห็น
โลกของข้าพเจ้าคือโลกที่มองผ่านเลนส์สายตา มันถูกกลึงเลนส์ให้มีโฟกัสที่เหมาะที่สุดกับสายตาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพยายามครุ่นคิดหาคำตอบว่า แท้แล้วโลกโดนการกลึงเพื่อให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่หรือข้าพเจ้าต่างหากที่ปรับสายตาตนเองให้อยู่ในโลกให้ได้
เด็กน้อยคนหนึ่งถามข้าพเจ้าสายตาสั้นหรือ?...ข้าพเจ้าก็เฝ้าครุ่นคำนึงคำถามนี้ต่อตนเอง และได้คำตอบเมื่อวันวานนี้ ไม่หรอก แท้แล้วข้าพเจ้ามีสายตาปกติ แต่โลกใบนี้ต่างหากที่เบี้ยวบุบผิดรูปทรงไป
ไขเคล็ดวิชากวี
มนตรีบอกว่าใครอยากเป็นกวี มีหนทางเดียวไปสู่เส้นทางนี้คือการอ่าน อ่าน อ่าน และ เขียน เขียน เขียน กวีต้องขยันอ่านและเก็บรายละเอียดจดจำไว้ในสมองเพื่อเป็นขุมคลังวัตถดิบในการเขียน การเขียนสามารถเขียนได้ตลอดเวลาที่นึกขึ้นได้เป็นการเขียนไว้ในสมองแล้วจดบันทึกไว้ในสมุดกันลืม วันหนึ่งสามารถนำมาใช้ได้ในงานเขียน และสิ่งสำคัญของการเป็นนักกวีคือ กวีจักต้องใช้คำให้น้อยที่สุดแต่ให้คำจำกัดความมากที่สุดและคำนั้นจะกระทบใจและโดนใจ เป็นการใช้คำง่ายๆที่ให้คนคิดต่อได้เองไม่ต้องอรรถาธิบายความมาก
มนตรีแนะน้องๆที่สนใจเป็นนักเขียนว่าถ้าคุณไม่อ่านหนังสือคุณไม่มีทางเป็นนักเขียนได้ ไม่มีคำว่าพรสวรรค์มีแต่ความพยายามแล้วพยายามเล่าจึงจะเป็นนักเขียนได้
ถนนวรรณกรรมเปิดกว้าง
ถนนนักเขียนจะว่ายากก็ยากจะว่าง่ายก็ง่าย ทุกวันนี้มีอินเตอร์เน็ตนักเขียนรุ่นใหม่สามารถเข้าไปในเว็บ ผลิตงานเขียนในเว็บบอร์ดต่างๆนำเสนอผลงานได้ หรือสามารถส่งงานเขียนไปยังสำนักพิมพ์ได้หากงานนั้นมีคุณค่าจะได้รับการพิจารณาตีพิมพ์ ส่วนเรื่องของชื่อเสียงก็มีส่วน นักเขียนต้องพยายามสร้างชื่อมีตัวตนให้วงการจะแจ้งเกิดหรือมีคนกล่าวถึงงานของเรา จะเป็นใบเบิกทางไปสู่ความสำเร็จได้ ถนนนักเขียนวัดกันที่คุณภาพของงานไม่ต้องเอาหน้าตามาขาย
วันนี้มันมีสนามมากพอที่เด็กจะเอางานไปนำเสนอมีช่องทางที่เปิดกว้าง ในโลกของอินเตอร์เน็ต แต่ปัญหาคือไม่มีระบบบรรณาธิการในการกลั่นกรอง ถ้าเป็นนักเขียนหน้าใหม่เมื่อไม่มีบก.ก็ไม่รู้ว่างานตัวเองดีแค่ไหน เสียงที่ชื่นชมหรือติติงในเว็บบอร์ด เราไม่รู้ว่าคนที่วิจารณ์งานของเราเขามีภูมิความรู้ในการวิจารณ์หรือไม่ หรือเขาชมโดยมารยาท ชมแบบเกรงใจ ขาดการวิจารณ์ที่ถูกหลักวิชา
(สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ นสพ.สมิหลา ไทมส์ ฉ.274 วันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2550)
โดย โบโบ๋ - 2007-08-04 15:07:38
www.samilatimes.co.th/read.php?newid=265
ช่วงนี้อ้วนอะ
Relate topics
- บทสัมภาษณ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
- บทวิจาร์ณโลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย สุภาพ พิมพ์ชน
- บทสัมภาษณ์ต่อปัญหาภาคใต้
- มี ก อ ง วั ส ดุ บ น ไ ห ล่ ท า ง
- การสร้างสรรค์วรรณกรรมในภาวะวิกฤติสังคมไทย: บทวิเคราะห์กรณีศึกษาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ,บ้านทรายทองและปีศาจ
- สุดดิน เพลงปลุกใจที่ยังอยู่ในความทรงจำ
- บทสัมภาษณ์ใน วารสารโรงเรียนนางรองพิทยาคม
- บทสัมภาษณ์ใน ศิลปวัฒนธรรม
- บทวิจาร์โลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย ภาคย์ จินตนมัย
- บทสัมภาษณ์ใน the nation.