บทสัมภาษณ์ในโพสต์ทูเดย์
บันทึกท้ายบรรทัด โลกในดวงตา (สั้นและเอียง) ของกวีหมี่เป็ด มนตรี ศรียงค์ เรื่อง : กุลณรี
ร้านบะหมี่เป็ดศิริวัฒน์ ถนนละม้ายสงเคราะห์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คือฐานทัพในการทำมาหาเลี้ยงชีพที่ มนตรี ศรียงค์ ได้รับสูตรการทำเส้นบะหมี่เป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อ ที่เดียวกันนี้ยังเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดีที่เจ้าของฉายา กวีหมี่เป็ด กวาดเก็บรายละเอียดผ่านนัยน์ตาสีสนิมเหล็ก ส่งต่อให้จิตวิญญาณกลั่นกรองออกมาเป็นบทกวีร่วมสมัย โลกในดวงตาข้าพเจ้า ซึ่งกลายเป็น 1 ใน 8 กวีนิพนธ์ที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปีนี้
ดีใจที่ผ่านเข้ารอบ ส่วนผลการตัดสินเป็นหน้าที่ของกรรมการ มนตรีบอกความรู้สึกที่มีผลงานติดทำเนียบซีไรต์เป็นครั้งแรกในชีวิต ทั้งยังแสดงความเห็นว่า บทกวีทั้ง 8 เล่มจากนักเขียน 7 คน ล้วนเป็นกวีหนุ่มที่มีลีลาเฉพาะตัว แต่มีจุดร่วมตรงกันคือการเขียนงานในเชิงปัจเจก
ทุกคนเขียนกวีออกมาในมุมที่ตัวเองมองเห็น รู้และเข้าใจ ไม่ได้เขียนในลักษณะภาพกว้างของสังคม ซึ่งงานแต่ละชิ้นของนักเขียนแต่ละคนเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่สามารถนำมาต่อเป็นภาพใหญ่แล้วสะท้อนให้เห็นสังคมในมุมกว้างได้
อย่างเช่นตัวมนตรี เขาต้องตื่นเช้าไปตลาดตั้งแต่ตี 5 ก่อนกลับมาเปิดร้านขายบะหมี่เป็ดตั้งแต่ 6 โมงเช้า-3 โมงเย็น กว่าจะทำทุกอย่างเสร็จสิ้น (เก็บร้าน ออกกำลังกาย ร่ำสุรา) ก็ปาเข้าไปค่ำมืดเป็นประจำทุกวัน อาจดูเป็นกิจวัตรที่จำเจและไม่น่าสนใจนัก แต่ทุกสิ่งอย่างที่อยู่รายล้อมตัวเขาล้วนสามารถแปรรูปเป็นบทกวี และกวีทุกบทที่เขียนล้วนปะติดปะต่อให้เห็นภาพสังคมที่ดำรงอยู่ได้ทั้งสิ้น
ถามว่าการทำบะหมี่เกี่ยวยังไงกับงานกวี สำหรับผมมันเป็นสิ่งที่สามารถทำควบคู่กันได้ อย่างเวลาที่ทำเส้นบะหมี่อยู่หลังร้าน ไม่ต้องพบปะกับใคร ผมจะมีสมุดกับปากกาไว้จดยามที่ความคิดผุดขึ้นมา แต่พอไปหน้าร้านเราต้องขายของ ต้องเจอคนมากมายได้เห็นโน่นเห็นนี่ มันก็กลายเป็นข้อมูลให้เอามาเขียนได้อีกเหมือนกัน ลูกค้าจะคุ้นกับการที่เรานั่งเขียนกวีอยู่หน้าร้าน วันก่อนมีคนเห็นในทีวีว่าผมเข้ารอบซีไรต์ ก็ยังมาบอกว่าดูไม่ออกเลยนะว่าจะเขียนได้ (หัวเราะ)
เจ้าของฉายากวีหมี่เป็ด ที่ทำหน้าที่สะท้อนความเป็นไปของโลกเบื้องหน้าผ่านงานเขียน ยังแสดงความเป็นห่วงถึงสังคมไทยในปัจจุบัน ที่นับวันจะมีร่องรอยของความแตกแยกลุกลามมากขึ้น คนฝ่ายหนึ่งพร้อมจะทำลายล้างอีกฝ่ายให้ย่อยยับลงโดยไม่สนใจว่าทำไมต้องทำกันขนาดนั้น
กรณีชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นเท่าที่ได้ยินมา ส่วนใหญ่จะโกรธและเกลียดมุสลิมชายแดนใต้ โดยไม่คิดย้อนว่าทำไมต้องเกลียดหรือโกรธเขาอย่างนั้น เหล่านี้ใช่ไหมที่ทำให้เขาต้องร่นถอยไปอยู่ในพื้นที่ของเขา และกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม ที่ยิ่งนานยิ่งห่าง กลายเป็นความไม่เข้าใจ ก่นด่า ฆ่าฟันรุนแรง
สังคมการเมืองก็ไม่ต่างกัน มีการถือพรรคถือพวก โลกมีแต่ขาวกับดำ ซ้ายกับขวา แล้วคนที่เหลือซึ่งไม่ใช่ขาวหรือดำ ไม่ใช่ซ้ายหรือขวาก็เคว้งคว้าง สุดท้ายก็ถูกถีบให้ไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งแม้ไม่เต็มใจ พอสังคมเต็มด้วยความรุนแรง มีแต่ความน่ากลัว จะเข้าไปพึ่งพระ พระก็เปลี่ยนมาเป็นเจ้าพิธีซะ ที่สุดแล้วเราคงต้องพึ่งและเชื่อในสติปัญญาของตัวเองเท่านั้น
ผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงเป็นการมองปรากฏการณ์เบื้องหน้าผ่านเลนส์สายตา (ตาซ้ายสั้น 75 เอียง 250 ตาขวาสั้น 125 เอียง 300) ของกวีชายวัยย่างเลข 4 ผู้บันทึกไว้ว่า แท้จริงแล้วเขามีสายตาปกติ...แต่โลกใบนี้ต่างหากที่เบี้ยวบุบผิดรูปทรงไปเท่านั้น หากยังเป็นการสำรวจตรวจสอบตัวเขาเองที่ไม่สามารถรักษาบางสิ่งที่ดีเอาไว้ได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับผู้คนที่เคยพบหาจนกลายเป็นแผลที่ยากลบเลือน
รูปถ่ายขาว-ดำเป็นคราบเหลือง
ความกรอบเก่าเล่าเรื่องอยู่เบื้องหน้า
หนึ่งรูปถ่ายหน้าตรงมองตรงมา
ตัดพ้อต่อว่าและปวดร้าว
ข้าพเจ้าสบตาคนในภาพถ่าย
ใจหายวูบไหวเพิ่งได้ข่าว
เสียงคลื่นซัดกราดเกรี้ยวมาเกรียวกราว
หางดาวหนึ่งดวงดิ่งร่วงน้ำ
ตัวอย่างเล็กๆ จากรวมกวี โลกในดวงตาข้าพเจ้า
สำหรับผู้อ่าน จะได้อะไรจากบทกวีของเขากลับไปบ้างนั้น มนตรี บอกว่า ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่แต่ละคนพึงมี
หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า
ซ้าย-ขวา ข้าวมันไก่ทั้งหลายนั่น
จากหนึ่งเป็นสี่มิกี่วัน
ห้าก็มาแย่งปันลูกค้า
เพื่อนบ้านอาคารชิดอยู่ติดกัน
ก็พลันหมางหมองมินองหน้า
จากคนคุ้นเคยที่เคยมา
ก็ยิงไฟดวงตาข้ามอาคาร
อีกบทกวีจากหนังสือเล่มนี้ที่ย่อมมีบางสิ่งแฝงอยู่มากกว่าร้านข้าวมันไก่ 5 ร้าน แน่นอน
ย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางกวี (หมี่เป็ด) ของมนตรี เริ่มจากเป็นคนชอบอ่านบทกลอนมาตั้งแต่เด็ก ฉีกคอลัมน์กลอนในนิตยสารต่างๆ มาเย็บเล่มเก็บไว้ตั้งแต่เรียนประถม 5 พอเรียนมัธยมก็แอบเขียนกลอนเรื่อยมา (ที่ต้องแอบเขียนเพราะส่วนตัวเขาคิดว่าการเขียนกลอนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทำกัน เด็กผู้ชายน่าจะเล่นเตะต่อยหรือไม่ก็เตะบอลมากกว่า)
ฉันมิใช่สีแทนที่แสนหวาน
แท้เซซังซมซานมานานแสน
ฉันมิใช่พิรุณหยาดยามขาดแคลน
หากว่าแม้นน้ำใจมีให้เธอ
ฉันมิใช่ดอกไม้งามยามเช้าตรู่
แท้ความจริงหดหู่อยู่เสมอ
ฉันมิใช่คนดีที่เลิศเลอ
แต่ถ้าเธอช้ำบอบฉันปลอบเอง
นี่เป็นตัวอย่างบทกลอนที่มนตรีเขียนไว้ตอนเรียน ม.5 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ เพื่อนเห็นแล้วชอบใจเลยขอเอาไปใช้จีบสาว ซึ่งก็ได้ผลดียิ่งนัก จะมีก็แต่เจ้าของกลอนนี่แหละที่ยังเป็นโสดอยู่
ยุคแรกๆ งานเขียนที่มนตรีสนใจจะเป็นแนววัยรุ่นหวานๆ อาทิ นิตยสารวัยหวาน เธอกับฉัน หรือนิยายรักนักศึกษาของศุภักษร กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนในช่วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่หล่อหลอมให้เขาผละออกจากโลกแห่งความโรแมนติกเพ้อฝันมาสู่โลกแห่งความจริง โดยการแสดงความคิดผ่านบทกวีแนวเพื่อชีวิต สังคม และการเมือง ส่งตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จริงจังของการเขียนบทกวีจวบจนวันนี้ก็ 15 ปีแล้ว
มนตรี เล่าว่า ส่วนที่ยากที่สุดในการเขียนกวีสำหรับเขาคือการเริ่มต้น ขอแค่เริ่มต้นเรื่องให้ได้ดังใจเท่านั้น เนื้อความที่เหลือจะหลั่งไหลตามมาไม่ขาดสายทันที ส่วนเรื่องฉันทลักษณ์นั้น เขาไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก
ฉันทลักษณ์เป็นแค่ของเล่นของคนโบราณที่เขามีคำอยู่ในหัวมาก โดยเฉพาะคำบาลี-สันสกฤต ก็เลยเอามาต่อเล่นให้เป็นกลบท มีไม่รู้ตั้งกี่กลบท มันจึงเป็นแค่รูปแบบการเล่นคำของคนในยุคหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเอาเป็นแบบอย่างตายตัว เราสามารถเขียนกวีขึ้นมาโดยมีฉันทลักษณ์ที่เกิดจากการเล่นคำเฉพาะแบบของเราก็ได้
มนตรี กวีหมี่เป็ด บอกอีกว่า แบบอย่างการเล่าเรื่องในงานกวีของเขาได้มาจากบทเพลงลูกทุ่งสมัยก่อน ที่มีเนื้อหาประทับใจจนเห็นภาพ มีมุมมองแบบลูกล่อลูกชน และกล้าหาญในการใช้คำค่อนข้างมาก อาทิ เพลงของสุรพล สมบัติเจริญ และชาย เมืองสิงห์ เป็นต้น แต่เหนืออื่นใด กวีจะไม่สามารถเล่าเรื่องราวใดได้ดี หากไม่เข้าใจสภาพของโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
สิ่งสำคัญของการเขียนกวีคือ เราต้องตามโลกให้ทัน ไม่ควรปล่อยให้โลกเดินนำหน้าเร็วเกินไป ต้องเปลี่ยนมุมมองตลอดเวลาเพื่อจะได้มองเห็นโลกได้ครบทุกมุม และทำให้งานของเราไม่ซ้ำกับของคนอื่น ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอในการเขียนบทกวี อย่างเช่น งานกวีเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่เคยมีคนเขียนไว้แล้วในลักษณะมองประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และทำได้ดีมากด้วย แต่ก็ยังมีการผลิตซ้ำอยู่มาก หากเรายังเขียนด้วยมุมมองแบบเดิมก็อาจจะจมดินได้
ผมจำคุณได้ดี-วีรชน
อีกหนเจอกันในวันใหม่
สามสิบปีเนิ่นนานเลยผ่านไป
ใครลืมใครไม่รู้-คิดดูเอง
ตัวอย่างงานกวีเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่กวีหมี่เป็ดใช้มุมมองที่แตกต่างจากผู้อื่นถ่ายทอดออกมา
การที่มนตรีเลือกทำงานเขียนในรูปแบบบทกวี มีเหตุผลมาจากความชื่นชอบเป็นทุนเดิม ขณะที่การจะหาผู้อ่านซึ่งหลงใหลบทกวี หรือแค่เพียงเหลียวมาสนใจเพียงชั่วครู่ ใน พ.ศ. นี้ ทำได้ยากนัก
สิ่งที่กวีต้องทำคือ หาคำตอบว่ากำลังเขียนอะไรอยู่ ทำไมเขียนแล้วไม่มีคนอ่าน เพราะสังคมไทยเราเป็นสังคมเจ้าบทเจ้ากลอน เกิดมาแม่ก็ใช้กวีร้องกล่อมให้ฟังแล้ว นอกเหนือจากนี้ ก็เป็นเรื่องที่เกินแรงของกวี เช่น โลกปัจจุบันเป็นทุนนิยม คนเร่งรีบมากขึ้น จะอ่านงานเขียนก็ต้องมีตัวช่วยให้ย่อยง่าย ขณะที่บทกวีต้องใช้เวลาพินิจ ต้องอ่านเองย่อยเอง ไม่งั้นจะไม่เข้าใจความหมายที่กวีต้องการสื่อ
ก่อนจากกัน กวีหมี่เป็ดยังได้ฝากคำแนะนำทิ้งท้ายจากโลกที่กำลังเห็นและเป็นไปผ่านนัยน์ตาสีสนิมเหล็กของเขาว่า เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกร้อนระอุไปด้วยอารมณ์ของความขัดแย้ง...จงไปอาบน้ำให้ตัวเย็นซะ จากนั้นประแป้งไข่จิ้งจกให้หอมกรุ่นเต็มหน้า แล้วกินข้าวให้อิ่มท้อง สุดท้ายอย่าลืมขยันยกมุมปากบ่อยๆ ด้วย (ฮา)
© Copyright โพสต์ Today 2007
ส่งความคิดเห็นถึง เว็บมาสเตอร ์
ติดต่อโฆษณาที่ ฝ่ายขาย
วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2550
www.posttoday.com/newsdet.php?sec=magazine&id=184429 จากหน้านี้ครับ
Relate topics
- บทสัมภาษณ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
- บทวิจาร์ณโลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย สุภาพ พิมพ์ชน
- บทสัมภาษณ์ต่อปัญหาภาคใต้
- มี ก อ ง วั ส ดุ บ น ไ ห ล่ ท า ง
- การสร้างสรรค์วรรณกรรมในภาวะวิกฤติสังคมไทย: บทวิเคราะห์กรณีศึกษาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ,บ้านทรายทองและปีศาจ
- สุดดิน เพลงปลุกใจที่ยังอยู่ในความทรงจำ
- บทสัมภาษณ์ใน วารสารโรงเรียนนางรองพิทยาคม
- บทสัมภาษณ์ใน ศิลปวัฒนธรรม
- บทวิจาร์โลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย ภาคย์ จินตนมัย
- บทสัมภาษณ์ใน the nation.