บทสัมภาษณ์จากไทยโพสต์
หลังจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่ง อาเซียน (ซีไรต์) ประกาศผลรางวัลให้กวีนิพนธ์เรื่อง "โลกในดวงตาข้าพเจ้า" ของมนตรี ศรียงค์ ซึ่งคนในวงการตั้งฉายาว่า
"กวีหมี่เป็ด" ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2550 เป็นธรรมเนียมของรางวัลซีไรต์วันรุ่งขึ้นมีงานพบนักเขียนซีไรต์ คนใหม่ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ซึ่งมนตรี เจ้าของฉายา "กวีหมี่เป็ด" เหตุยึดอาชีพหลักขายบะหมี่เป็ด ชื่อร้านหมี่เป็ดศิริวัฒน์ อยู่ย่านถนนละม้ายคล้ายสงเคราะห์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และทำงานเขียนเป็นงานอดิเรก ก็ได้มาพูดคุยถึงกวีนิพนธ์เรื่องนี้ และแนวคิดจากการงานที่ทำอย่างน่าสนใจ
สำหรับ "โลกในดวงตาข้าพเจ้า" ซึ่งเป็นบันทึกภาพความเคลื่อนไหวในชุมชนเล็กๆ ผ่านดวงตาวิเศษของกวีผู้นี้ มนตรีบอกว่า ทุกชีวิตมีบทบันทึกของมันอยู่ บันทึกคนคือบทกวีชิ้นหนึ่ง บทกวีเป็นเรื่องสั้นและนวนิยาย ถนนละม้ายคล้ายสงเคราะห์เป็นถนนหน้าบ้านมีเรื่องราวชีวิต ผู้คนที่ผ่านไปมาที่ต่างก็มีเรื่องราว ขณะที่เดินจากบ้านไปตลาดสามารถมีบทกวีที่ดีได้ อยู่ที่จะแปลภาพหรือปรากฏการณ์เป็นงานเขียนได้หรือไม่ ความหลากหลายในชุมชนมีนัยที่เรามองด้วยมุมมองที่แตกต่างจากปกติ เอานัยนั้นมาเขียนเป็นบทกวี
"ถนนสายนี้เป็นย่านอาหารที่อร่อย ผมขายบะหมี่เป็ดอยู่ การได้เฝ้ามองเห็นมันซ้ำซากจำเจ 10 ปี 20 ปี เป็นการเฝ้ามองที่ผมตั้งมุมมองใหม่และหยิบหาประเด็นเขียนขึ้นมา เกือบทั้งเล่มเกี่ยวกับร้านหมี่เป็ด ส่วนบทกวีชื่อนิพพานในร้านหมี่เป็ดศิริวัฒน์ เป็นการเขียนเพื่อเชิดชูท่านพุทธทาส ตั้งใจสอดแทรกปรัชญาธรรมะ ยังมีเนื้อหาที่เป็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้จากบทกวีชื่อ แรมนราฯ เป็นชิ้นงานที่พูดถึงมุสลิมชายแดนใต้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ สงสารในสิ่งที่เกิดขึ้น ยืนยันว่ามุสลิมกับพุทธใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ และผมยืนอยู่อย่างข้างคุณเสมอ" มนตรีกล่าว พร้อมระบุว่า การตีความเป็นเรื่องของผู้อ่านว่าได้หรือไม่ได้อะไร ผู้เขียนมีหน้าที่เขียน อาจเขียนเรื่องบะหมี่เป็ด แต่ตีความในนัยอื่น ถือว่าจบหน้าที่ของตนแล้ว
นอกจากนี้ มนตรีบอกถึงรูปแบบกลวิธีการนำเสนอบทกวีกลิ่นอายปักษ์ใต้นี้ว่า นำเสนอด้วยกลอนแปด แต่มีการจัดตำแหน่ง เล่นจังหวะและเสียงให้น่าฟังและรื่นหูขึ้น ทุกตำแหน่งที่เป็นสัมผัสมีฉันทลักษณ์ แต่ถูกกลบด้วยภาษาธรรมดาง่ายๆ ก็ภาษาพูดนี่แหละ ตนนำมาใช้ในงานบทกวี คนไทยเจ้าบทเจ้ากลอนอยู่แล้ว และเห็นด้วยกับท่าน อ.อังคาร กัลยาณพงษ์ ฉันทลักษณ์เป็นแค่สิ่งสมมติ การเขียนบทกวีคือการเขียนอย่างหนึ่ง การเขียนคือการพูดคุย เราเลือกใช้ถ้อยคำแทนเสียง น้ำเสียงคนใต้ก็ออกมาในงานจริงๆ แล้วบทกวีเหมือนผู้หญิงคนหนึ่งที่แต่งตัวสวย แต่การอ่านกวีต้องดูทั้งหมด และในที่สุดต้องเปลื้องผ้าดูว่าบทกวีนั้นพูดถึงอะไร
กวีซีไรต์ 50 กล่าวว่า ชอบการอ่านและการเขียนตั้งแต่เด็ก จำได้ว่าตอนเรียนประถมต้น เดินไปห้องสมุดประชาชนเพื่อยืมหนังสือมาอ่าน โดยเฉพาะบทกลอน อาขยาน สร้อย สักวา จะชอบอ่านมาก เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตลอด ทำให้ชอบเขียนบทกวี ตนเคยผ่านการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ได้พบเจออะไรมากมาย
"ช่วงเรียนรามฯ คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย สอบตกร้อยกรองและวรรณกรรมวิจารณ์ เรียกว่าตกซ้ำซาก เหตุเพราะไม่ค่อยเข้าเรียน ได้หน่วยกิตมานิดหน่อยจึงเปลี่ยนไปเป็นรัฐศาสตร์ เอกการเมืองการปกครอง ช่วงนั้นชีวิตผ่านพบอะไรมากมาย แม่กลัวลูกเป็นศพนิรนามตายหน้ารามฯ จนเรียกกลับบ้านเกิด" มนตรีเล่าให้ฟัง และบอกเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตซึ่งเขาทำใจรับได้ โดยขายหมี่เป็ดและเขียนบทกวีไปพร้อมๆ กัน เป็นช่วงที่ได้อ่านหนังสือเยอะมาก เป็นพื้นฐานในการทำงานบทกวีจนทุกวันนี้
เมื่อถามว่าการที่ได้เป็นกวีซีไรต์คนแรกของหาดใหญ่ และเป็นกวีซีไรต์คนที่ 3 ของ จ.สงขลา ต่อจาก วินทร์ เลียววารินทร์ และบินหลา สันกาลาคีรี มีความรู้สึกอย่างไร มนตรีตอบว่า เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีวัฒนธรรมและจุดขายที่สง่างามกว่าจะเป็นเพียงเมืองท่องเที่ยวท างเพศและเป็นศูนย์กลางการค้าขายของหนีภาษี ส่วนรางวัลซีไรต์ที่ได้รับ รู้สึกดีใจมากๆ ยังไม่รู้ว่าหลังจากนี้ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ที่แน่นอนคือ ตนเองเขียนกวีหล่อเลี้ยงสมองและวิญญาณ ทำบะหมี่เป็ดหล่อเลี้ยงชีวิต
สำหรับมนตรี ศรียงค์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2511 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ปัจจุบันเปิดร้านขายหมี่เป็ดชื่อร้านหมี่เป็ดศิริวัฒน์ บนถนนละม้ายคล้ายสงเคราะห์ มีรวมบทกวี "ดอกฝัน : ฤดูฝนที่แสนธรรมดา" โดยแพรวสำนักพิมพ์ เมื่อปี 2541 และรวมบทกวีทำมือชุด "การพังทลายของทางช้างเผือก" ซึ่งคว้ารางวัลพิเศษ "เซเว่นบุ๊คอะวอร์ด" ปี 2549 และกวีนิพนธ์
แหล่งที่มา กองบรรณาธิการ. สาระน่ารู้. มนตรี ศรียงค์ ซีไรต์'50 'หมี่เป็ดเลี้ยงชีวิต-กวีเลี้ยงจิตวิญญาณ'. ไทยโพสต์. 2 กันยายน 2550.
Relate topics
- บทสัมภาษณ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
- บทวิจาร์ณโลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย สุภาพ พิมพ์ชน
- บทสัมภาษณ์ต่อปัญหาภาคใต้
- มี ก อ ง วั ส ดุ บ น ไ ห ล่ ท า ง
- การสร้างสรรค์วรรณกรรมในภาวะวิกฤติสังคมไทย: บทวิเคราะห์กรณีศึกษาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ,บ้านทรายทองและปีศาจ
- สุดดิน เพลงปลุกใจที่ยังอยู่ในความทรงจำ
- บทสัมภาษณ์ใน วารสารโรงเรียนนางรองพิทยาคม
- บทสัมภาษณ์ใน ศิลปวัฒนธรรม
- บทวิจาร์โลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย ภาคย์ จินตนมัย
- บทสัมภาษณ์ใน the nation.