บทสัมภาษณ์ในผู้จัดการออนไลน์

by หมี่เป็ด ผู้ชายนัยน์ตาสนิมเหล็ก @18 ก.ย.50 21.50 ( IP : 125...12 ) | Tags : บทสัมภาษณ์

โลกของเขาในดวงตาของเรา” เมื่อ ‘คนขายหมี่’ เป็น “กวีซีไรต์” Posted in Gotoknow การประกาศรายชื่อหนังสือกวีนิพนธ์รอบสุดท้ายปีนี้ กลายเป็นคำครหาที่อึงอื้อที่สุด บ้างก็ว่าเล่นพวก บ้างก็ว่ากรรมการมือไม่ถึง บ้างก็ว่ากรรมการผูกขาดอยู่กับคนไม่กี่คน จนบางคนเป็นเจ้าของรสนิยมซีไรต์ไปแล้ว แต่สิ้นเสียงประกาศรางวัลชนะเลิศรางวัลซีไรต์ หรือวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประเภทบทกวีปีล่าสุด ผ่านผลงาน ‘โลกในดวงตาข้าพเจ้า’ หลายคนใจจดใจจ่อว่าเสียงที่เคยอื้ออึงจะพลันเงียบลง หรือยิ่งดังอึกทึกยิ่งขึ้นไปอีก แต่จะอย่างไรก็ตามวันนี้ “คนขายหมี่เป็ด” ได้กลายเป็น “กวีซีไรต์” ไปแล้ว
      -----------
      ในหนึ่งวันของคนขายหมี่เป็ด
      นาฬิกาชีวิตของเขาถูกตั้งให้ปลุกในเวลาประมาณ 05.00 นาฬิกา ของทุกวัน นอกจากปลุกให้ตื่นแล้วมันยังเป็นสัญญาณบ่งบอกให้รู้ว่าได้เวลาสำหรับเริ่มการ “ทำงาน”
      เขาขี่มอเตอร์ไซค์ไปจอดที่หน้าตลาดกิมหยง กลางเมืองหาดใหญ่ แล้วเดินเข้าไปซื้อไก่ เนื้อหมู ผักสด เส้นก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งของใช้จิปาถะ คนในตลาดรู้จักเขาในนาม ‘ตี๋ คนขายหมี่เป็ด’ นอกเหนือจากการจับจ่ายซื้อของใช้เข้าร้าน ซึ่งเป็นงานหลักที่ต้องทำตามปกติทุกวันแล้ว บรรยากาศการเจรจาต่อรองซื้อขายสินค้า เสียงก่นด่า คำเชิญชวนให้ลูกค้าควักเงินแลกกับสินค้าโดยไร้เงื่อนไขต่อรอง ตลอดจนความเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆ ภายในตลาด ที่ดูเหมือนจะเป็นงานของคนอื่น แต่แท้จริงแล้วมันคืองานของเขาด้วย
      ไก่ เนื้อหมู ผักสด เส้นก๋วยเตี๋ยว ของใช้จิปาถะ รวมกับเป็ดที่พ่อค้านำมาส่งถึงบ้าน คือวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเป็น ‘หมี่เป็ด’ สินค้าประจำร้าน ‘ศิริวัฒน์’ อันเป็นงานหลัก และการเคลื่อนหมุนไปของโลก คือวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเป็นบทกวี ความเรียง เรื่องสั้น และข้อเขียนประเภทอื่นๆ ตามแต่เขาจะเห็นว่าเหมาะสม ผ่านเลนส์แก้วที่จักษุแพทย์เจียระไนให้สวม ผ่านเลนส์เนื้อที่ธรรมชาติสร้างให้เข้าไปนอนนิ่งอยู่ในก้อนสมอง กลั่นกรองออกมาเป็นข้อเขียน ไม่ใช่งานรองหรืองานอดิเรก แต่เป็นงานหลักในอีกสถานะหนึ่งของคนขายหมี่เป็ด
      เวลาประมาณ 08.00 นาฬิกา ไปจนถึงเที่ยงวัน คนขายหมี่เป็ดขังตัวเองอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังบ้านเพียงลำพัง เขาเรียกมันว่า ‘สตูดิโอแป้ง’ การทำเส้นหมี่สำหรับนำไปประกอบเป็นหมี่เป็ด สินค้าชูโรงของร้าน ‘ศิริวัฒน์’ ถือเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อ เป็นจุดเด่นที่ร้านก๋วยเตี๋ยวน้อยร้านจะมี ส่วนผสมระหว่างแป้งหมี่และไข่ไก่ถูกเค้นบีบออกมาจากเครื่องจักรเป็นแผ่นบางก่อนจะถูกตัดให้เป็นเส้นเล็กๆ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความคิดอันไหลลื่นที่หมุนเวียนอยู่ในสมองคนขายหมี่ รอการนำไปเจียระไนเป็นบทกวี
      ๑).แป้งในถังนวด
      คือแป้งขาวขาวกับไข่ไก่............. อยู่ในถังสเตนเลสใบเขื่อง       เป็นงานไข่กับแป้งใช้แรงเปลือง.... ปฐมบทหมี่เหลืองศิริวัฒน์!       แล้วจึงมือสองข้างจ้วงกลางแป้ง... โถมด้วยแรงวัยหนุ่มขยุ้มอัด       กวนบี้คุ้ยกำขยำยัด................... ด้วยกล้ามเนื้อทุกมัดเข้าจัดทำ       จนเป็นแป้งเนื้อเดียวอันเหนียวนุ่ม.. ขณะเหงื่อวัยหนุ่มก็ชุ่มฉ่ำ       วิทยุอย่าขอเพลงหมอลำ............ และซ้ำซ้ำ สลา คุณาวุฒิ
      ๒).ทุ่นกระทบแป้ง
      คือความเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่งยวด... ความเมื่อยปวดลามลุกไปทุกจุด       น้ำในหูเอียงเทจนเซซุด............... ยังก้มหน้างุดงุดยังทำงาน       เทแป้งลงกระบะในเครื่องตี.......... ลมหายใจหอบถี่นั้นฟุ้งซ่าน       ความเหน็ดเหนื่อยนักอันดักดาน.... ชั่วโมงอันยาวนานแสนนานยาว       เสียงทุ่นกระทบแป้งดังตึงตัง........ ฟุ้งทั้งแป้งป่นจนโพลนขาว       กลบเสียงโฆษณาที่ปาวปาว........ กลบข่าวโจรใต้ฆ่ารายวัน       อยู่กับความอึกทึกอันกึกก้อง....... ในห้องที่ปิดมิดชิดกั้น       พบตนเองโซมเหงื่อจนเนื้อมัน..... กำลังฝันถึงไหนก็ไม่รู้       สะดุดถังสแตนเลสที่ข้างตัว........ เจ็บหัวแม่เท้าจนครางอู้       ตกใจ ภวังค์ง่วงก็ร่วงกรู............. เหลือบดูทุ่นเหล็กแล้วขนลุก!
      ๓).แป้งที่รีดจนบางเรียบ
      ชีวิตมีอันตรายอยู่รอบตัว........................ ง่วงงัวเงียงงก็จงปลุก       เหนื่อยเป็นเหนื่อยท้อเป็นท้อทุกข์เป็นทุกข์.. ให้รู้ทุกสภาวะของชีวิต       เช่นที่ตีแป้งเหนียวเนื้อเดียวกัน..................มันราบเรียบเนียนสนิท       ให้รีดแบนแผ่นบางทีละนิด...................... ค่อยค่อยบิดลูกโม่ทีละน้อย       ค่อยค่อยเป็นค่อยค่อยไปอย่างที่เป็น........ ตาเห็นหูยินให้บ่อยบ่อย       ลูกโม่หมุนรอยรอบซ้ำรอบรอย................ นับร้อยร้อยรอบจนพอดีบาง       ต้องให้บางพอดีอย่างที่เป็น.................... เพื่อการตัดเป็นเส้นสวยสล้าง       มิให้บางหรือหนาเกินกว่าบาง................... เพื่อมือสางเส้นสวยได้ด้วยดี       คือการงานจากไข่และจากแป้ง................ โถมด้วยแรงจนเส้นกลายเป็นหมี่       ลุล่วงลงตัวด้วยพอดี.............................. ไม่มีมากน้อยจนเกินไป       เพราะจิตขณะนั้นได้ดำดิ่ง...................... ภาวะสงบนิ่งมิติงไหว       จึงคล้ายคล้ายการงาน การหายใจ............ กำหนดกันและกันไว้อยู่ในที
      ๔).หมี่เหลืองศิริวัฒน์
      กลายเป็นการงานอันแสนสุข................ ตื่นปลุกเบิกบานในหน้าที่       วันเป็นวันเดือนเป็นเดือนปีเป็นปี ............คนขายหมี่จะไปนิพพานแล้ว
      บทกวีที่ชื่อ ‘นิพพานในร้านหมี่เป็ดศิริวัฒน์’ เกิดขึ้นจากสตูดิโอแป้งแห่งนี้… มันเกิดขึ้นจากส่วนผสมระหว่างแป้งหมี่ ไข่ไก่ ใส่เข้าไปเครื่องจักร ผ่านสติรับรู้และจินตนาการของคนขายหมี่ จนกลั่นกรองออกมาเป็นบทกวีอย่างที่เห็น...
      เสร็จจากภารกิจอันเหน็ดหน่ายในสตูดิโอแป้ง คนขายหมี่จึงออกมาช่วยหน้าร้าน ในบทบาทของพ่อค้าผู้ลวกเส้นเป็นกวี ภารกิจนี้ดำเนินไปจนบ่ายคล้อย งานที่ง่วนจึงค่อยๆ เพลา พร้อมๆ กับดวงตะวันที่เคลื่อนต่ำลงๆ เขาจึงหลุดไปอยู่ในโลกแห่งความสุขส่วนตัวกับแม่ผู้นิยมอ่านกาพย์กลอน
      เวลาประมาณ 19.00-23.00 นาฬิกา คือช่วงเวลาที่คนขายหมี่เข้าไปโลดแล่นอยู่ในเว็บบอร์ดส่วนตัว http://www.softganz.com/meeped/index.php เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนพ้องน้องพี่ ตามความคิดของเขาโลกไซเบอร์เป็นความบันเทิงที่อาจจะใช้ประโยชน์ได้น้อยแต่ให้ความสุขและความทุกข์ได้จริงเช่นเดียวกับลูกโลกที่พาเราหมุนไปไม่หยุด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและดำเนินไปเป็นไปอย่างหลวมๆ แต่มันก็มีสัมพันธภาพอยู่จริง ชาวเว็บรู้จักเขาในนาม ‘หมี่เป็ด ผู้ชายในตาสนิมเหล็ก’ นักสังเกตการณ์แห่งโลกไซเบอร์ เขาใช้เวลาอยู่กับมันก่อนที่จะเข้านอนตอนเฉียดเที่ยงคืน แล้วจึงรอให้นาฬิกาชีวิตปลุกให้ตื่นขึ้นมาในเวลาประมาณ 05.00 นาฬิกา เป็นเช่นนี้ทุกๆ วัน
      ชื่อ คิ้ว หรือคิ้วแดง ในฉายานามที่เพื่อนพ้องน้องพี่ใช้เรียกขานกันในกลุ่มศิษย์เก่ามหาวชิราวุธสงขลา และเพื่อนนักคิด นักเขียน หรือ ตี๋ ในฐานะชายหนุ่มผู้เดินเข้าไปในตลาดกิมหยง กลางเมืองหาดใหญ่ เพื่อหาซื้อเนื้อหมู ไก่ ผัก เส้นก๋วยเตี๋ยว และเครื่องใช้อื่นๆ หรือ ‘หมี่เป็ด ผู้ชายนัยน์ตาสนิมเหล็ก’ ที่เรียกขานกันในโลกไซเบอร์ แท้จริงแล้วเขาก็คือ ‘มนตรี ศรียงค์’ คนขายหมี่ที่กลายเป็น ‘กวีซีไรต์’ ไปแล้วในวันนี้
      ก่อนจะมาเป็นกวีซีไรต์
      มนตรี ศรียงค์ เกิดที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อาศัยอยู่ย่านใจกลางเมือง (กิมหยง) เดินผ่านและแวะเข้าห้องสมุดประชาชนทุกวันในช่วงประถม เข้าเรียนที่อำนวยวิทย์ ม.1-ม.3 จากนั้นไปเรียนที่โรงเรียนมหาวิราวุธสงขลา เช่าบ้านอยู่กับเพื่อนจนจบ ม. 6 โปรแกรมพลานามัย แต่ไม่ได้ดีในแวดวงกีฬา ตั้งเป้าเข้ารามฯ ปี 2529 เศษๆ ตีตั๋วรถไฟขึ้นไปเรียนรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ เลือกเอกภาษาไทย ทั้งที่รักการอ่านการเขียนแต่กลับสอบตกซ้ำซากวิชาร้อยกรอง-วรรณวิจารณ์ เลยตัดสินใจเปลี่ยนคณะมาลงรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง ทำท่าจะไปได้ดี 3 ปีแรกทำได้ 84 หน่วยกิต (ทั้งที่เข้าเรียนน้อยถึงน้อยที่สุด) แต่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ใช้ชีวิตในเมืองหลวงมามากมาย ช่วงนั้นแม่เรียกกลับบ้าน มาช่วยกิจการหมี่เป็ดที่ร้านศิริวัฒน์ ถนนละม้ายสงเคราะห์ อ.หาดใหญ่ ที่ขายดิบขายดีมาจนถึงวันนี้
      “ผมเป็นคนชอบอ่านมาตั้งแต่เด็ก สมัยเรียนประถม ป.4-5 เดินผ่านห้องสมุดประชาชนทุกวันจะแวะอ่าน พล นิกร กิมหงวน เป็นหนังสือที่อ่านแล้วขำ อ่านแล้วติด และมีอิทธิพลต่อการมองโลกให้ขำมาจนถึงปัจจุบัน และพลอยให้ชอบการอ่านหนังสือแนวอื่นๆ ตามมา พอย่างเข้าวัยรุ่นก็อ่านมากขึ้น นักเขียนในดวงใจมีตั้งแต่จอห์น สไตน์เบก หลู่ซิ่น แมกซิม กอร์กี้ ไม้เมืองเดิม ยาขอบ รมย์ รติวัน ส่วนใหญ่จะเป็นแนวเพื่อชีวิต”
      แรงบันดาลใจจับปากกาเริ่มจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ทำให้อยากพูดอะไรออกไปในสิ่งที่เราคิดออกไปสู่สาธารณะบ้าง เลยเขียนเป็นบทกวี ส่งไปตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ ที่ลงบ่อยคือ หนังสือข่าวพิเศษ ของ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ จากนั้นก็เขียนมาเรื่อย เป็นการเริ่มต้นเอาจริงเอาจังทางด้านนักเขียน และเริ่มเขียนแบบมีเป้าหมาย คือการหาที่อยู่ที่ยืนในวงการวรรณกรรม คือการสร้างชื่อ การจะสร้างชื่อได้ในถนนวรรณกรรมไม่ใช่แค่การไปพบปะนักเขียน แต่จะต้องผลิตผลงานตีพิมพ์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ผลงานมีคุณภาพ มีคนกล่าวถึง จึงจะมีตัวตน
      “ผมใช้เวลาไม่นานนักประมาณ 1 ปี ก็เริ่มมีคนพูดถึง งานผมจะมี 3 กลุ่ม หนึ่งเป็นงานสถานการณ์ที่เขียนด้วยอารมณ์ทันทีทันใดที่เห็นเหตุการณ์นั้นๆ สอง งานภาษาสวยๆภาพสวยๆ เป็นงานโรแมนติก ปรัชญา ใช้คำสวยๆ ภาพสวยๆ และสาม คืองานที่ใช้ภาษาพูดธรรมดา ในการประดิดประดอยคำ แต่นำภาษามาใช้จัดวางให้ลงตัว จากเรื่องราวที่มากระทบกับตัวเราเอง โดยใช้ภาษาง่ายๆ อ่านแล้วเข้าใจ เพราะกวีจะใช้คำฟุ่มเฟือยไม่ได้”
      มนตรี บอกเล่าผ่านปลายปากกาเกี่ยวกับสายตาของเขาในบันทึกจากคนเขียนว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกตัวว่าสายตาไม่ปกติเมื่อสัก 20 ปีที่ผ่านมา (วันนี้อายุย่าง 40 ปี) เป็น 20 ปีที่ใบหน้าข้าพเจ้าประดับด้วยแว่นสายตามาโดยตลอด มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของใบหน้าเมื่อใดที่ข้าพเจ้าถอดแว่นจะรู้สึกถึงความไม่มั่นใจในตัวเอง หวาดหวั่นต่อการมองเห็น
      “โลกของข้าพเจ้า คือโลกที่มองผ่านเลนส์สายตา มันถูกกลึงเลนส์ให้มีโฟกัสที่เหมาะที่สุดกับสายตาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพยายามครุ่นคิดหาคำตอบว่า แท้แล้วโลกโดนการกลึงเพื่อให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่หรือข้าพเจ้าต่างหากที่ปรับสายตาตนเองให้อยู่ในโลกให้ได้ …เด็กน้อยคนหนึ่งถามข้าพเจ้าสายตาสั้นหรือ?...ข้าพเจ้าก็เฝ้าครุ่นคำนึงคำถามนี้ต่อตนเอง และได้คำตอบเมื่อวันวานนี้ ไม่หรอก แท้แล้วข้าพเจ้ามีสายตาปกติ แต่โลกใบนี้ต่างหากที่เบี้ยวบุบผิดรูปทรงไป”
      โลกที่กวีอยากเห็น
      ‘โลกในดวงตาข้าพเจ้า’ คือหนังสือที่ผ่านเข้ามาในรอบ 8 เล่ม จาก 7 นักเขียน ประกอบด้วย ‘เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก’ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์, ‘ที่ที่เรายืนอยู่’ ของ อังคาร จันทาทิพย์, ‘ปลายทางของเขาทั้งหลาย’ ของ กฤช เหลือลมัย, ‘แมงมุมมอง’ ของ พรชัย แสนยะมูล, ‘ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์’ ของ อุเทน มหามิตร, ‘ลงเรือมาเมื่อวาน’ ของ ศิริวร แก้วการญจน์, และ ‘หมู่บ้านในแสงเงา’ ของ โกสินทร์ ขาวงาม
      วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2550 มนตรีเดินทางจากหาดใหญ่ไปพักอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อจะเดินทางต่อไปทำธุระที่ขอนแก่น ในวันที่ 28 สิงหาคม และเขาก็ได้รับข่าวดีในวันนั้น
      “เจ้าหน้าที่โรงแรมโอเรียนเต็ล โทร.มาแจ้งว่าผมได้รับรางวัลซีไรต์ รู้สึกดีใจและภูมิใจ เมื่อทำงานเสร็จแต่ละชิ้นถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว รางวัลที่ได้ถือเป็นเกียรติยศของนักเขียน”
      หลังจากได้ซีไรต์แล้วชีวิตคงเปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่มนตรียังยืนยันที่จะยึดอาชีพขายหมี่เป็ด และผลิตงานเขียนเช่นปกติ การได้รางวัลซีไรต์ของเขาทำให้ จ.สงขลา กลายเป็นจังหวัดแรกที่มีนักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ครบทุกสาขา โดย วินทร์ เลียววาริณ ได้รับรางวัลซีไรต์ 2 ครั้งจากนวนิยายเรื่อง ‘ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน’ และ ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน’ บินหลา สันกาลาคีรี ได้รับรางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้น ‘เจ้าหงิญ’ และเขามนตรี ศรียงค์ ได้รับรางวัลซีไรต์ในผลงานรวมบทกวี ‘โลกในดวงตาข้าพเจ้า’
      “การที่ จ.สงขลา มีนักเขียนซีไรต์ครบทุกสาขาถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดี ยืนยันว่าสงขลา โดยเฉพาะหาดใหญ่มีสิ่งดีงามเป็นจุดขายได้โดยไม่ต้องมุ่งเน้นเรื่องความบันเทิงโลกีย์เพียงอย่างเดียว หาดใหญ่มีสินค้ามากมาย เช่นเดียวกับที่มีศิลปินอาศัยอยู่ครบทุกแขนง แต่ศิลปินเหล่านี้กลับไม่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นจุดขายทางวัฒนธรรม เราจึงสูญเสียบุคคลในวงการนี้ไปอย่างน่าเสียดาย คนล่าสุดที่ออกจากหาดใหญ่ไปคือ ภัควดี วีรภาสพงศ์ นักแปลหนังสือฝีมือดี ขณะนี้ย้ายไปอยู่เชียงใหม่แล้ว เชียงใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปิน สามารถสร้างจุดขายทางวัฒนธรรมขึ้นมาได้อย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่หาดใหญ่กลับหวังรายได้จากการขายความบันเทิงโลกีย์เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เรามีศิลปินครบทุกแขนงพำนักอยู่ที่นี่ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง” มนตรี กล่าว
      *****************       ณขจร จันทวงศ์       ศูนย์ข่าวหาดใหญ่... รายงาน
      ‘ห้องสมุดประชาชนหาดใหญ่’ แหล่งบ่มเพาะนักเขียนซีไรต์
      หากจะกล่าวถึงแหล่งศึกษาค้นคว้าหาความรู้ทุกชนชั้น ทุกเพศทุกวัย และทุกระดับการศึกษา ก็คงหนีไม่พ้น “ห้องสมุด” ซึ่งคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าห้องสี่เหลี่ยมที่มากมายไปด้วยหนังสือนานาประเภท คือแหล่งความรู้สำคัญที่สร้างให้คนประสบความสำเร็จในชีวิตมาแล้วเป็นจำนวนมาก
      เช่นเดียวกับ “ห้องสมุดประชาชนหาดใหญ่” ที่อาจจะยังมีหลายคนไม่ทราบว่าอาคารปูน 2 ชั้น ตรงข้ามโรงพักหาดใหญ่คือจุดบ่มเพาะให้ชาวหาดใหญ่ 2 คน กลายเป็นนักเขียนชื่อดัง สามารถสร้างชื่อเสียงกับรางวัลที่ทรงคุณค่าระดับชาติและอาเซียนมาแล้ว นั่นคือ วินทร์ เลียววารินทร์ และ มนตรี ศรียงค์
      ห้องสมุดประชาชนหาดใหญ่ เปิดใช้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ในอาคารของเทศบาลเมืองหาดใหญ่ แต่เนื่องจากสมัยนั้นอาคารห้องสมุดมีความชำรุดทรุดโทรมมาก จึงจำเป็นต้องสร้างอาคารใหม่ขึ้นทดแทน และได้ทำพิธีเปิดอาคารใหม่ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2514 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
      มนตรี ศรียงค์ คือชาวหาดใหญ่คนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลซีไรต์ หรือวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประเภทบทกวีปีล่าสุด ผ่านผลงาน ‘โลกในดวงตาข้าพเจ้า’ ผู้ซึ่งใช้แหล่งความรู้แห่งนี้เป็นที่ศึกษา บ่มเพาะ ค้นคว้าหาความรู้ในช่วงวัยเด็ก
      “ผมเป็นคนชอบอ่านมาตั้งแต่เด็ก สมัยเรียนประถม ป.4-5 เดินผ่านห้องสมุดประชาชนทุกวันจะแวะอ่าน พล นิกร กิมหงวน เป็นหนังสือที่อ่านแล้วขำ อ่านแล้วติด และมีอิทธิพลต่อการมองโลกให้ขำมาจนถึงปัจจุบัน และพลอยให้ชอบการอ่านหนังสือแนวอื่นๆ ตามมา พอย่างเข้าวัยรุ่นก็อ่านมากขึ้น นักเขียนในดวงใจมีตั้งแต่จอห์น สไตน์เบก หลู่ซิ่น แมกซิม กอร์กี้ ไม้เมืองเดิม ยาขอบ รมย์ รติวัน ส่วนใหญ่จะเป็นแนวเพื่อชีวิต”
      และถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วินทร์ เลียววารินทร์ เจ้าของรางวัลซีไรต์ 2 ครั้ง คือเมื่อปี พ.ศ.2540 จากนวนิยาย ‘ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน’ และเมื่อปี พ.ศ.2542 จากหนังสือ ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน’ ก็เป็นคนหนึ่งที่เข้ามาอ่านหนังสือในห้องสมุดแห่งนี้เป็นประจำในวัยเด็ก
      “ปัจจุบันจำนวนคนอ่านหนังสือในบ้านเรายังถือว่ามีจำนวนน้อย ห้องสมุดประชาชนที่ควรจะหนาแน่นไปด้วยคนที่เข้ามาอ่านหนังสือจึงกลับว่างเปล่า เนื่องจากผู้คนอาจติดภารกิจการงานไม่สามารถมานั่งอ่านหนังสือที่ห้องสมุดได้ หรืออาจมีบางส่วนที่ซื้อหนังสือไปอ่านที่บ้าน หรืออาจเป็นเพราะห้องสมุดประชาชนเปิด-ปิด ในเวลาราชการซึ่งทับซ้อนกับเวลาทำงานของประชาชน จึงทำให้มีคนมาอ่านหนังสือน้อย การมีห้องสมุดเป็นเรื่องที่ดีแต่ควรมีคนเข้าไปใช้บริการให้มากกว่าที่เป็นอยู่” กวีซีไรต์คนล่าสุด กล่าว
      ศศิมา คงเพชร       ศูนย์ข่าวหาดใหญ่... รายงาน www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000103461

Comment #1
Posted @19 พ.ย.50 12.08 ip : 202...155

‘ห้องสมุดประชาชนหาดใหญ่’ แหล่งบ่มเพาะนักเขียนซีไรต์และ..........

ในวัยเด็ก..ห้องสมุดประชาชนหาดใหญ่ตั้งอยู่ติดกับแฟลตที่ผมอาศัยอยู่ แบ่งแยกกันด้วยรั้วลวดหนาม ผมจึงมีโอกาสสร้างวีรกรรมโดยการมุดรั้วลวดหนาม เข้าห้องสมุดอยู่เป็นประจำ  แล้วใช้เวลาเกือบๆทั้งวันค้นดูรูปภาพที่แทรกอยู่ในหนังสือเช่น กามนิต ราชาธิราช หรือ เล่มอื่นๆโดยที่ไม่ค่อยได้อ่านเนื้อเรื่องมากนัก  ที่ชอบมากกว่าคือการอ่านนิยายกำลังภายใน  ผมอ่านเกือบทุกเล่มที่หาได้ในห้องสมุด จำได้ว่าอยู่ชั้นล่างแถวตู้ตรงกลาง แต่บางครั้งก็ไปพบที่ชั้นบน เพราะมีคนเอาไปแอบไว้ แล้วก็อ่านหนังสือพวกเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมชาวใต้ เช่นหนังตะลุง บ้าง โนราบ้าง(สมัยเด็กๆ ผมอยากเล่นหนังตะลุง และชอบลูกสาวของนายโรงโนรา) ยังจำกลอนไหว้ครูหนังตะลุงที่แอบจดมาจากหนังสือได้รางๆ ............................ ไหว้หนังเอี่ยมเกาะยอกกก่อหนัง  ตัวตายยังชื่ออยู่ไม่รู้หาย หนังปานบอดยอดหนังเขาพังไกร  แม้ตายไปชื่อยังโด่งดังเด่น ไหว้หนังขับลอยฟ้าโพยมหน .....................

กิจกรรมที่ผมชอบมากอีกอย่างของการไปห้องสมุดคือ  การมุดเข้าไปเล่นในท่อระบายน้ำฝนที่อยู่รอบๆห้องสมุด ข้างในท่อจะเย็นและชื้น มีน้ำใสสะอาดและพื้นเต็มไปด้วยทราย ผมสนุกกับการมุดเข้าช่องโน้น ออกช่องนี้เป็นเวลาครึ่งค่อนวันอย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่ายและด้วยอานิสงส์ของการชอบลอดรั้วและมุดท่อดังกล่าว เมื่อโตขึ้นแทนที่ผมจะได้เป็นนักเขียนหรือกวีเหมือนคนอื่นเขา ผมก็เลยกลายเป็นช่างก่อสร้าง.....

แสดงความคิดเห็น

« 1430
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 51 user(s)

User count is 2464591 person(s) and 10424104 hit(s) since 22 ธ.ค. 2567 , Total 550 member(s).