บทความเขียนถึง โลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

by จรูญพร @22 ก.ย.50 10.09 ( IP : 58...244 ) | Tags : บทสัมภาษณ์

ได้พบพี่เวียงเมื่อวันที่ 20 กันยาที่ผ่านมา พี่เวียงบอกคุณมนตรีอยากอ่านบทวิจารณ์ที่ผมเขียนในโพสต์ทูเดย์ ก็เลยรับปากว่าจะใส่ไว้ให้ในเว็บนี้ ถ้าเช่นนั้น...เชิญอ่านได้ ณ บัดนี้เลยครับ

โลกในดวงตาข้าพเจ้า เล็กๆ ลึกๆ

หลังจากคลื่นกวีซัดสาด กลายเป็นกระแสร้อนไปทั่ววงการได้ไม่นาน ชาววรรณกรรมก็ได้แสดงความยินดีกับกวีซีไรต์คนที่ 10 นามว่า มนตรี ศรียงค์
“โลกในดวงตาข้าพเจ้า” เป็นงานกวีนิพนธ์ชุดที่ 3 ของเขา นับจาก “ดอกฝัน : ฤดูฝนที่แสนธรรมดา” ในปี 2541 และ “การพังทลายของทางช้างเผือก” ในปี 2549 แต่หากเราพลิกดูรายชื่อบทกวีที่อยู่ในงานชุดนี้ เราจะพบว่าจริงๆ แล้ว “โลกในดวงตาข้าพเจ้า” ก็คืองานที่พัฒนามาจาก “การพังทลายของทางช้างเผือก” นั่นเอง เพียงแต่มีการถอด – เพิ่มบางบทเข้าไป และจัดเรียงใหม่ให้เนื้อหามีลำดับต่อเนื่องกันมากขึ้น
  หากมองโดยภาพรวม มนตรี ศรียงค์ ก็ไม่ต่างจากกวีรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ งานของเขาไม่ได้มุ่งเสนอความคิดเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้ง สะท้อนแง่มุมทางสังคมที่คมคาย ใช้บทกวีเป็นเสมือนอาวุธในการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือเสกสร้างบทกวีให้งานศิลป์อันเลอเลิศ
  บทกวีเป็นเพียงเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็น ที่เขามีต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...ตัวเขาเอง   แต่ถึงกระนั้น มนตรี ศรียงค์ ก็มีบางสิ่งที่แตกต่างไปจากกวีร่วมรุ่น ด้วยการเขียนที่มีลักษณะเป็นมินิมอล หรือ การเขียนน้อย น้อยทั้งวัตถุดิบในการเขียน และคลังคำที่หยิบมาใช้ ดูเหมือนเขามีสองสิ่งนี้อย่างจำกัดจำเขี่ย ทว่าก็สามารถจัดการกับข้อจำกัดนี้ได้เป็นอย่างดี   สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ งานกวีของ มนตรี ศรียงค์ อิงแอบแนบชิดอยู่กับชีวิตประจำวันของเขา ซึ่งแต่ละวันจะซ้ำซากอยู่ ณ สถานที่เดิม ผู้คนกลุ่มเดิมๆ และกิจวัตรแบบเดิมๆ นั่นก็คือ ตื่นเช้าขึ้นมา เตรียมข้าวของสำหรับการเปิดร้านบะหมี่เป็ด เปิดขายจนถึงเย็น ปิดร้าน พักผ่อนด้วยการร่ำสุราและเล่นอินเตอร์เน็ต จากนั้นก็เข้านอน วนเวียนอยู่เช่นนี้เป็นเวลาสิบปี นับจากที่เขาตัดสินใจกลับไปสานต่อธุรกิจของพ่อที่บ้านเกิด
  โลกในมุมมองของ มนตรี ศรียงค์ คืออาณาบริเวณที่อยู่รายรอบร้าน และจากจุดนี้เองที่เขาใช้เฝ้าดูผู้คนอย่างพินิจพิเคราะห์ และถ่ายทอดออกมาเป็นบทกวี   น่าสังเกตว่างานของเขามักนำเสนอภาพที่แจ่มชัด ให้รายละเอียดอย่างถี่ถ้วน นั่นคงเป็นเพราะการอยู่ที่เดิมนานๆ ย่อมเปิดโอกาสให้ได้มองอะไรๆ อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่มองอย่างผ่านเผิน แล้วสรุปเอาอย่างง่ายๆ แค่ความรู้สึกเพียงชั่ววูบ
นี่แหละคือลักษณะการเขียนแบบมินิมอล น้อยแต่มาก ไม่ได้มีอะไรเยอะเยาะ แต่ลึกซึ้งในสิ่งที่เขียน เห็นได้ชัดจากงานชุด “ถนนละม้ายสังเคราะห์” และชุด “ถนนละม้ายสังเคราะห์ - ตัดใหม่” ที่บอกเล่าถึงผู้คนและเรื่องราวบนถนนสายนี้อย่างละเอียดลออ ทั้งหญิงชราที่อยู่บ้านหลังตรงข้าม, เด็กสาวที่เพิ่งเริ่มรู้เดียงสา, คนที่เดินผ่านหน้าร้านไปมา, ชายคนรักของหญิงสาวในร้านเสริมสวย จนถึงคนขายของเล่นที่มีเอกลักษณ์ทั้งการแต่งตัวและลีลาการขาย
นอกเหนือจากโลกที่อยู่เบื้องหน้าในระยะไม่ไกลนัก วัตถุดิบที่สำคัญยิ่งสำหรับ มนตรี ศรียงค์ ก็คือตัวเขาเอง บ่อยมากกว่าบ่อย ที่เขาเขียนถึงอารมณ์ความรู้สึกภายใน ทั้งความทุกข์ท้อ ผิดหวัง เบื่อหน่าย และร่วงโรย ราวกับว่าในตัวเขาอัดแน่นด้วยความหม่นเศร้า เขามักตั้งคำถามผ่านบทกวีถึงความหมายของชีวิต ว่าในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราอยู่บนโลกใบนี้ มันมีความหมายอย่างไรหรือ? หรือเพียงแค่เกิดมาเพื่อที่จะตายไป? หลายครั้งที่เขาทำให้เราเห็นว่าชีวิตช่างว่างเปล่า ไม่ต่างจากเถ้าของบุหรี่ที่เพียงในเวลาไม่นาน ก็มอดไหม้และสลายไปในอากาศ แต่บางขณะ เขาก็ค้นพบว่าแต่ละวันของชีวิตไม่ได้เสียเปล่าอย่างสิ้นเชิง ในบท “นิพพานในร้านหมี่เป็ดศิริวัฒน์” เขาเล่าถึงการทำงานในห้องทำบะหมี่ ที่ต้องทุ่มเทแรงกายไปกับการนวดแป้ง และรีดให้บางก่อนที่จะซอยออกเป็นเส้น ช่วงเวลานี้เอง ที่เขารู้สึกไม่ต่างจากนักบวชขณะปฏิบัติธรรมเลย
“...เพราะจิตขณะนั้นได้ดำดิ่ง ภาวะสงบนิ่งมิติงไหว จึงคล้ายคล้ายการงาน – การหายใจ กำหนดกันและกันไว้อยู่ในที...” (หน้า 62)
      นอกเหนือจากเนื้อหา ที่เล่นกับวัตถุดิบเพียงน้อยนิดได้อย่างคุ้มค่าแล้ว ในส่วนของลีลาการเขียนและการใช้ภาษา ก็ต้องบอกว่านี่แหละมินิมอลของแท้   มนตรี ศรียงค์ เลือกใช้ฉันทลักษณ์ที่ง่ายที่สุด นั่นก็คือ กาพย์และกลอน โดยไม่ได้เคร่งครัดกับจำนวนคำในแต่ละวรรคมากนัก ถึงกระนั้น แต่ละบทก็ดูมีการจัดวางที่เป็นระเบียบพอสมควร ไม่มั่วซั่วแบบตามใจฉันเสียทีเดียว
เขามักใช้คำพื้นๆ ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย ไม่มีศัพท์แสงที่หรูหรา หรือคำที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ นอกจากนี้ คำของเขายังประกอบเข้าด้วยกันอย่างง่ายๆ ไม่พยายามผสมคำให้เกิดความหมายใหม่ หรือสรรหาคำมาใช้จนดูแพรวพราวไปหมด แต่การใช้คำแต่เพียงน้อย จนดูเหมือนไม่ค่อยหลากหลายนี้ กลับสร้างจังหวะที่โดดเด่นและแตกต่างให้กับบทกวีของเขา สังเกตได้ว่าเขามักเล่นกับการซ้ำย้ำคำเดิม  คำที่พ้องรูปพ้องเสียง รวมถึงการสัมผัสโดยใช้คำๆ นั้นเอง อาทิเช่น ยางมะตอยก็เริ่มจะเยิ้มยาง, มิกล้าทักมิกล้าเรียกมิกล้าเลย, กึ่งกึ่งกล้ากล้ากลัวกลัว, เป็นความเงียบที่เงียบยิ่งกว่าเงียบ  และเย็นเยียบแสนเยียบไปทุกเบื้อง, ทีละภาพทีละภาพเป็นฉากฉาก  ทีละหลากทีละหลากเป็นช่วงช่วง, โยกเยกเอยโยกเยกเจ้าเมฆฟอง กระต่ายล่องลอยเมฆโยกเยกมา ฯลฯ   การเล่นคำตามแบบฉบับของ มนตรี ศรียงค์ ทำให้คลังคำที่อาจมีไม่มากนัก ไม่ใช่อุปสรรคในการเขียน หากแต่กลับกลายเป็นจุดเด่นที่สร้างเสน่ห์ให้กับงานเหล่านี้   “โลกในดวงตาข้าพเจ้า” เป็นงานกวีที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ข้อจำกัดใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถจะหยุดยั้งการทำงานของมนุษย์ที่มีพลังสร้างสรรค์ได้เลย
  ไม่เพียงเท่านั้น การทำงานภายใต้กรอบที่คับแคบ ก็มิใช่ว่าผลที่ออกมาจะต้องคับแคบตามไปด้วย ทั้งหมดอยู่ที่การจัดการกับข้อจำกัดที่มีอยู่ และทะลุทะลวงมันออกไปให้ได้
  นี่เป็นชัยชนะของมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องมีรางวัลใดๆ มารับรองเสียด้วยซ้ำ.

Comment #1
Posted @22 ก.ย.50 12.41 ip : 125...33

แอบนึกถึงกลอนเปล่าบทที่สะเทือนอารมณ์คุณครูภาษาไทย เมื่อครั้งร่ายกวีบนเวที สถาบันทักษิณคดีศึกษา

ไม่ได้สังเกตว่า งานชินนั้นใช้คำง่าย ๆ น้อย ๆ ด้วยรึป่าว

// กลางเดือนตุลานี้... เจอกันแน่ หาดใหญ่

Comment #2
ปราง (Not Member)
Posted @22 ก.ย.50 13.30 ip : 202...245

เหวอออ,,

www.rsalife.com เข้าไปเดินเล่นได้นะ

Comment #3
Posted @23 ต.ค.50 21.22 ip : 222...109
Photo :  , 23x30 pixel 4,418 bytes

ขอแสดงความยินดีครับ ผมพำนักและสอนนักเรียนอยู่ที่ ศิลปกรรมศาสตร์ มอ. ปัตตานี ว่างๆจะไปชิมบะหมี่ กวีเป็ดรสอร่อยครับsurachartk_@hotmail.com

Comment #4
N_TTTTaLent (Not Member)
Posted @12 มิ.ย.51 8.45 ip : 58...77

แม้ยังไม่เคยอ่านบทกวีของพี่จากเล่มใดๆ มาก่อน รวมถึงเล่มนี้ด้วย แต่การอ่านบทวิจารณ์ก็มีข้อดีอย่างนี้นี่เอง จะลองอ่านกวีของพี่ในเว็บบอร์ดนี้ดู แล้วไว้คงได้ประชันกลอนกันนะคะ สวัสดี...

Post new comment

« 3575
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 26 user(s)

User count is 2288034 person(s) and 9320852 hit(s) since 9 พ.ค. 2024 , Total 550 member(s).