มองโลกผ่านดวงตากวีซีไรต์ มนตรี ศรียงค์ บทสัมภาษณ์จากมติชนรายวัน

by หมี่เป็ด ผู้ชายนัยน์ตาสนิมเหล็ก @18 ก.ย.50 21.34 ( IP : 125...12 ) | Tags : บทสัมภาษณ์

มองโลกผ่านดวงตากวีซีไรต์ มนตรี ศรียงค์

เรื่องราวต่างๆ ในโลกที่ดวงตาของแต่ละบุคคลมองผ่าน และบันทึกไว้ในความทรงจำส่วนตัว ย่อมมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ตามประสบการณ์ที่พานพบในชีวิต


หลายคนที่เรียนรู้ชีวิตมาไม่มากมาย หรือเดินทางข้ามผ่านกาลเวลาด้วยทางเดินแห่งกลีบดอกไม้นุ่มละมุน ก็มองอย่างฉาบฉวยผิวเผิน เห็นเพียงสิ่งที่โลกเผยให้เห็น

แต่บางคนที่ชีวิตชอบเล่นสนุกกับสัจธรรมแห่งความผกผัน จึงมองปรากฏการณ์นานาด้วยสายตาที่ลุ่มลึก พลิกแพลงตะแคงหงายโลกจนค้นพบแง่มุมที่ถูกแอบซ่อนสายตา

หนึ่งในนั้นคือ มนตรี ศรียงค์ หรือ กวีหมี่เป็ด ที่แปรรูปบทบันทึกแห่งชีวิต ให้กลายเป็นบทกวีที่คล้ายจะสามัญ แต่กลับลึกซึ้งเกินคาดเดา และกวีนิพนธ์เล่มที่ชื่อว่า โลกในดวงตาข้าพเจ้า ก็ได้ผ่านด่านการตัดสินจากคณะกรรมการ จนได้รับตราประทับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ประจำปี พ.ศ.2550

มนตรีสนใจร่ายบทกวีโดยเฉพาะกวีรักมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.2 ที่โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์ จ.สงขลา แต่ด้วยความเข้าใจที่ว่าบทกวีเป็นเรื่องของผู้หญิง ลูกผู้ชายต้องเตะฟุตบอล ตีรันฟันแทง จึงต้องหลบๆ ซ่อนๆ เขียนมาตลอดด้วยความอาย และใช้ชีวิตแบบนักเรียน (นักเลง) หัวไม้ บู๊แหลกลาญเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนกระทั่งจบชั้น ม.ปลาย มนตรีก็เข้ากรุงเทพฯมาเข้าเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ก็ยังไม่ทิ้งชีวิตโลดโผน แถมยังหนักกว่าเดิม จนถึงขนาดต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้านก่อนกลับมาเรียนอีกครั้ง

และการกลับมาครั้งนี้เอง ที่ชักพาเขาให้ก้าวสู่แวดวงวรรณกรรม หลังจากที่เพื่อนคนหนึ่งนำหนังสือเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์มาให้อ่าน และพลังของหนังสือนี้เองก็โน้มนำมนตรีให้หลงใหลในตัวอักษรอย่างเต็มตัว ถึงเลือดนักสู้จะยังวิ่งพล่านอยู่เช่นเดิม แต่ผลงานกวีที่ไม่ใช่แค่กลอนรักกลับปรากฏมากขึ้น

ถึงจะสนใจงานกวี แต่หลังจากสอบตกซ้ำซากในวิชาร้อยกรอง วรรณคดีวิจารณ์ และภาษาบาลี มนตรีก็ย้ายคณะไปเรียนรัฐศาสตร์ แต่เพราะรู้สึกเบื่อตัวเอง ก็ตัดสินใจกลับบ้านแม้จะเรียนยังไม่จบ เพื่อมารับช่วงทั้งขาย-ทำบะหมี่ที่ร้าน หมี่เป็ดศิริวัฒน์ แถว ถนนละม้ายสงเคราะห์ กิจการของครอบครัวเมื่อปี พ.ศ.2534 และเริ่มเขียนบทกวีอย่างจริงจัง หลังจากกระทบใจจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และเขียนสม่ำเสมอจนถึงวันนี้ วันที่ได้รับคำประกาศในฐานะกวีซีไรต์คนที่ 10 ของประเทศไทย

โลกของรางวัล vs โลกไซเบอร์

'ดีใจครับ ดีใจมาก'มนตรีกล่าวสั้นๆ ถึงความรู้สึกต่อรางวัล และแม้จะเหนื่อยกับการถูกรุมสัมภาษณ์ รุมถ่ายรูปมาทั้งวันแล้ว เขาก็ยังยินดีที่จะอธิบายขยายความต่อว่า 'มันเป็นเกม พอเราลงเล่นสนามนี้ต้องยอมรับทุกผลการตัดสิน พอส่งไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของกรรมการเขา หน้าที่ผมจบไปแล้วตั้งแต่ออกมาเป็นเล่ม'

มนตรีเป็นกวีคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าส่งงานเข้าแข่งขันในหลายเวที เพราะเขามีทัศนคติแง่บวกต่อการประกวด โดยมองว่านอกจากจะดีตรงที่ทำให้กวีมีเงินใช้ และเป็นแรงกระตุ้นให้กวีกระเตื้องในการสร้างงานแล้ว อีกประการก็คือช่วยเพิ่มพื้นที่สนามให้กวี

'สนามกวียังน้อยอยู่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนกวีในประเทศไทยที่มีอยู่มากมายมหาศาล อินเตอร์เน็ตจึงกลายพื้นที่ทางเลือกที่เปิดกว้างและง่ายในการเสนอผลงาน แต่ในอินเตอร์เน็ตจะมีข้อด้อยตรงที่ไม่มีระบบบรรณาธิการ ทำให้คนเสนอผลงานสับสน และประเมินผลงานของตัวเองไว้สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ฟีดแบ๊คที่กลับมาถึงจะเร็ว แต่ความน่าเชื่อถือไม่ค่อยมี บางคนชื่นชมกลับมาพียงแค่เพื่อเป็นมารยาท หรือเพื่อต้องการให้ได้รับคำชื่นชมบ้าง'

มนตรีเชื่อมั่นว่าระบบบรรณาธิการ มีความสำคัญมากสำหรับนักเขียน แม้เขาจะมีผลงานมากมายในโลกไซเบอร์ก็ตาม

'โลกอินเตอร์เน็ตก็สามารถมี บ.ก. ได้ แต่เท่าที่เห็นทุกคนเขียนงานเสร็จก็โพสต์กันลงไป มันไม่ได้ผ่านระบบ บ.ก. บางคนอาจจะมาคอมเมนต์ความเห็นในฐานะ บ.ก. ภายหลังได้ แต่ก็คงไม่กล้าที่จะแรงๆ เล่นกันตามจริง ต่อให้งานชิ้นนั้นไม่ดีเลย ก็ต้องพูดอ้อมแอ้มๆ ออกไป เพื่อรักษาหน้า รักษาเกียรติของคนโพสต์ด้วย ไม่มีการติ การแก้ไข ให้กลับไปแก้แล้วมาโพสต์ใหม่ ไม่มีเลย' มนตรีอธิบายด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง

สนามอินเตอร์เน็ตในความหมายของมนตรี จึงเป็นเหมือนสนามซ้อม เมื่อมั่นใจมากพอ ก็ต้องก้าวออกมาสู่สนามจริงอย่างสื่อสิ่งพิมพ์

โลกบทเพลง vs โลกวรรณกรรม

ผู้ชายคนนี้มีพรสวรรค์ที่หลากหลายในตัวเอง

ไม่ได้พูดเองเออเองนะ มีบทพิสูจน์มาแล้ว เพราะนอกจากจะทำบะหมี่เป็ดได้อร่อยเหาะ และเขียนบทกวีจนกวาดรางวัลในระดับชาติมาหลายหนแล้ว เขายังแต่งเพลงอีกด้วย!

'แต่งไว้พอควร แต่งมาเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่เขียนบทกวี ก็มีหลายแนวทั้งลูกทุ่ง ร็อค เพื่อชีวิต' เขาเอ่ยยิ้มๆ ก่อนที่จะบอกว่าที่แต่งเนี่ย ขายด้วยนะ ทั้งเนื้อร้องทำนอง 'เมื่อก่อนคิดไม่แพงนะ แต่ตอนนี้ได้ซีไรต์แล้ว ผมคิดแพง งก' มนตรีกล่าวเล่นๆ เรียกเสียงหัวเราะจากรอบโต๊ะ

ในความรู้สึกของมนตรี การสร้างสรรค์บทเพลงกับบทกวีไม่แตกต่างกัน เขาจะคิดประเด็นขึ้นมาแล้วจึงเขียน เพียงแต่เพลงจะใส่เมโลดี้ เขียนให้กระชับสักนิด ใช้ภาษาสวยๆ สักหน่อย แต่บทเพลงจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนดูมากกว่า

'เพลงไม่ต้องใช้สมาธิมากมาย เราฟังทางวิทยุ ทีวี หรือตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิก็ได้ แต่อ่านหนังสือ โดยเฉพาะบทกวีต้องตั้งจิตไว้แน่วแน่ ต้องมีสมาธิอย่างสูง' เขาอธิบาย

มนตรีชอบฟังเพลงจากนักร้องที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์อาทิ ชาย เมืองสิงห์,ปอง ปรีดา,คำรณ สัมบุญณานนท์ แต่ในแวดวงเพลงปัจจุบัน ผู้ฟังกลับได้ยินเสียงส่วนใหญ่ที่คล้ายกัน รูปลักษณ์ที่ไม่ค่อยแตกต่าง ซึ่งมนตรีวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะบทเพลงถูกทำให้เป็นธุรกิจบันเทิงอย่างเต็มตัว

'ทุกสิ่งทุกอย่างคือการเร่งรีบ เร่งรีบทั้งการผลิตเพื่อขาย และโปรโมต ทำให้ขาดความละเมียดละไม ความกลมกล่อม เพลงปัจจุบันถ้าไม่ใช่ระดับเทพจริงๆ ฟังแล้วมันรกหู'

และเมื่อเราถามว่าปรากฏการณ์เยอะและซ้ำของวงการเพลงนี้คล้ายวงการหนังสือหรือไม่ เขาก็ครุ่นคิดอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะพยักหน้ายอมรับและกล่าวว่า 'มีส่วน'

'หนังสือบ้านเรายังแยกประเภทไม่ชัดเจน แม้ว่าในร้านหนังสือจะมีการแยกว่า นี่คือเรื่องสั้น นี่คือบทกวี แต่ก็ไม่ได้แยกออกจากหนังสือทั่วไป ถ้ามีการแยกเมื่อไหร่ จะเห็นเลยว่าพื้นที่สำหรับวรรณกรรมจะมีอยู่น้อย ไม่ได้พูดว่าหนังสือที่ไม่ใช่วรรณกรรมจะไม่ดี เพียงแต่ว่าวรรณกรรมจะมีการตรวจสอบแน่นอนในระดับหนึ่งว่าเป็นหนังสือดีมีคุณภาพ'

ถึงแม้ว่าหนังสือที่ขายดีในธุรกิจหนังสือบ้านเรา ส่วนใหญ่จะเป็นแนวแฉหรือชีวิตดารา แต่มนตรีเชื่อว่านี่ไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะทุกคนมีสิทธิเลือกทั้งเลือกที่จะผลิต และเลือกที่จะอ่าน

'เราห้ามเขาเขียน เขาออกไม่ได้ พอคนอ่านเราก็ไปประณามเขา ไม่ได้นะ เราต้องให้เกียรติเขาบ้าง เขามีสิทธิจะเลือกอ่าน วกกลับมาที่คำถามว่า ทำไมคนไทยไม่อ่านบทกวี เราก็ต้องสำรวจตัวเองว่าเขียนอะไรกันอยู่ เขียนแล้วทำไมคนไม่อ่าน คนในวงการจะต้องรีดเค้นความสามารถที่มีอยู่สร้างงานออกมา เพื่อที่จะชิงพื้นที่นั้น ให้มีอาณาเขตที่กว้างขวางกว่าเดิม อย่าเพิ่งไปโทษคนอื่น' มนตรีอธิบาย

ส่วนจะเขียนอย่างไรให้คนอ่านนั้น มนตรีกล่าวพร้อมรอยยิ้มกว้างว่า 'เป็นคำถามที่นักเขียนทุกคนจะต้องตอบเอาเอง'

เมื่อโลกกวีกระเพื่อม

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ซีไรต์ปีนี้ได้เกิดปรากฏการณ์กวีกระเพื่อม มีการรวมกลุ่มตั้งประชาคมวรรณกรรมขึ้นมา โดยเสนอประเด็นหลักคือ การตรวจสอบคณะกรรมการซีไรต์รอบคัดเลือก และทางกลุ่มก็เตรียมจะยื่นข้อเสนอในการแต่งตั้งกรรมการให้แก่สมาคมภาษาและหนังสือฯและสมาคมนักเขียนฯ

กวีผู้ได้ซีไรต์ในปีอลหม่านเช่นนี้ คิดเห็นอย่างไรกัน

'ยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิทำได้ในการแสดงความเห็น เหมือนกับพี่น้องร้องเพลงกัน แต่หลายประเด็นในแถลงการณ์ก็มีจุดให้โต้แย้งได้ แต่ตอนนี้เกมจบ บิงโกแล้ว ก็ต้องถามกลุ่มประชาคมฯว่าเขาจะทำยังไงกันต่อ ที่จะให้ได้เรื่องได้ราว เป็นรูปธรรม ทางออกที่ดีที่สุดคือการเข้าสู่ระบบ ยื่นข้อเสนอต่อสมาคม เพราะจะนำไปสู่บทสรุปว่าเราจะทำอย่างไรต่อไปกับข้อเรียกร้องนั่น'

โลกต่างมุม

'ไม่มีแรงกด เหมือนเดิม ทำงานได้สบายๆ เขียนต่อไป ทำงานต่อไป ถ้ามีงานที่ดีพอจะลงอีกสนามนี้' มนตรีกล่าวด้วยรอยยิ้มสดใสในแววตา ก่อนที่จะแอบแย้มว่า ตอนนี้กำลังซุ่มเขียนนิยายเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้อยู่ ซึ่งถูกขยายโครงสร้างจากเรื่องสั้น รุสนี ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารดีพ เซาธ์

ส่วนสาเหตุที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมานั้นก็เป็นเพราะว่า

'เหตุการณ์ชายแดนใต้ที่เกิดขึ้น คนไทยภาคอื่นจะมีคำตอบจุดเดียวคือรู้สึกว่ามุสลิมเป็นกลุ่มคนที่วุ่นวาย ก่อเรื่องเลวร้ายไม่หยุดหย่อน เราทุกคนได้รับการปลูกฝังมาว่ามุสลิมเป็นชนชั้นต่ำ สกปรก ไร้การศึกษา ขี้เกียจ แต่เราไม่เคยตั้งคำถามกลับไปว่า ทำไมเราจึงรู้สึกเหยียดหยามคนมุสลิมได้ขนาดนั้น แล้วมุสลิมจริงๆ นั้น เป็นเช่นนั้นหรือ

การบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชายแดนใต้เป็นเรื่องของศาสนา เรื่องของคนเชื้อชาติมลายู แต่เราก็ลืมที่จะมองว่าวัดช้างให้ วัดทรายขาว และอีกหลายวัดมากมายที่อยู่ที่นั้น เขาอยู่ท่ามกลางมุสลิมอย่างมีความสุข ปรองดองกันมานับนาน คำกล่าวที่บอกว่าเป็นเรื่องของศาสนา จึงไม่ใช่ คนที่จุดประเด็นนี้พูดได้คำเดียวว่าเลวทรามมาก

ทัศนะที่ดูถูกเชื้อชาติศาสนาของมุสลิม ทำให้พวกเขาโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ถอยร่น และอยู่รวมกลุ่มกันในพื้นที่เฉพาะของตนเอง จนวันหนึ่งกลายเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของเขา และดินแดนต้องห้ามของคนอื่น ทำให้โอกาสที่จะหาความเข้าใจร่วมกันทางวัฒนธรรม แลการก้าวผ่านอคติยิ่งยาก

ประวัติศาสตร์ไม่ได้รับการชำระที่ถูกต้อง อีกทั้งเรายังรับความเป็นชาตินิยมเข้ามาอย่างหัวปักหัวปำ ถูกปลูกฝังมาโดยการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เราควรจะเรียนรู้อดีตเพื่อนาคตที่ดีกว่า แต่นี่กลายเป็นว่าเราเรียนเพื่อรู้อดีตสำหรับความคิดฝังใจเดิมๆ 'มนตรีอธิบายยาวเหยียดด้วยสีหน้าที่จริงจัง

และในฐานะคนในพื้นที่คนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวงของความแตกแยก มนตรีเสนอความเห็นว่าหนทางแก้ไขในปัญหานี้ คือการชำระประวัติศาสตร์

'ถึงเวลาแล้ว ที่จะชำระประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน มีคนหนึ่งที่พยายามทำอย่างเห็นชัดเลย คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่พยายามชำระประวัติศาสตร์ใหม่อย่างมีระบบและเป็นวิชาการ และต้องเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านด้วย เอาประวัติของแต่ละประเทศมาเทียบเคียงกัน อย่าให้ตัวเองเป็นฮีโร่มากเกินไป ประวัติศาสตร์ของคนพื้นบ้านก็ควรให้ความสำคัญมากกว่านี้ เพราะเป็นการบันทึกชีวิตจิตใจ และความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นๆ ของคนในพื้นที่'

โลกแห่งชีวิต

ถึงแม้จะเป็นกวีซีไรต์แล้ว แต่มนตรีก็ยังยืนยันว่า จะยังคงเป็นพ่อค้า ทำเส้น ต้มเป็ด ขายบะหมี่เป็ดที่ร้านหมี่เป็ดศิริวัฒน์ เพราะถ้าให้เทียบทั้งสองอย่างแล้ว สำหรับเขานั้น....

'งานขายบะหมี่เป็ดเป็นงานที่หล่อเลี้ยงชีวิต งานเขียนหนังสือเป็นงานที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ'

และเขาจะยังคงเฝ้ามองปรากฏการณ์ต่างๆ ของโลกผ่านเลนส์สายตา เพื่อบันทึกไว้ในความทรงจำ และถ่ายทอดความคิดสู่สังคมต่อไป

Comment #1
...... (Not Member)
Posted @20 ก.ย.52 11.25 ip : 61...95

แอลมากค่ะ

Comment #2
ทรื (Not Member)
Posted @8 ธ.ค.52 17.46 ip : 61...153

8) ว่า

Comment #3
สายฝน (Not Member)
Posted @26 ก.ค.53 22.31 ip : 112...28

อีตาคนนี้น่านับถือจริง

แสดงความคิดเห็น

« 1430
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 51 user(s)

User count is 2429738 person(s) and 10181316 hit(s) since 18 พ.ย. 2567 , Total 550 member(s).