บทสัมภาษณ์ต่อปัญหาภาคใต้
วันที่ จันทร์ พฤษภาคม 2551
บทสัมภาษณ์พิเศษกวีซีไรต์ "มนตรี ศรียงค์" ต่องานวรรณกรรมชายแดนใต้
ใครจะรู้บ้างว่ากวีซีไรต์คนใหม่จาก โลกในดวงตาข้าพเจ้า อย่าง มนตรี ศรียงค์ ชื่อที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรม หรือชื่อ พี่คิ้ว ในแวดวงของแฟนหมี่เป็ดจะเป็นคนที่สามารถสนทนาปัญหาภาคใต้ได้ ยาวๆ คนหนึ่ง ด้วยภูมิความรู้ และการตั้งคำถามชนิดที่เรียกว่า จากนักสังเกตตัวยง ต่อใครก็ตามที่เดินทางผ่านจังหวัดชายแดนภาคใต้
จาก คนช่างสังเกต เป็นคนตั้งคำถาม เขามีข้อข้องใจต่อปัญหาภาคใต้หลายกรณี แต่สิ่งหนึ่งที่ตกผลึกในความคิดของกวีผู้นี้ก็คือดวงตาที่นุ่มละมุนต่อความ ต่างเรื่องชาติพันธุ์ ดวงตาที่มองข้ามเรื่องความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา และยังเป็นดวงตาที่มองเห็นมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาคือเพื่อนร่วมโลกที่ไม่ควร ล่วงเกินทั้งกาย วาจา ใจ
กวีซีไรต์ชาวหาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ชายแดนใต้แค่เอื้อมใจเคยใช้ดวงตาแห่งความเข้าใจถ่ายทอดเรื่องราวของ รุสนี ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Deep South Bookazine ของศูนย์เฝ้าระวังฯ พร้อมกับเสียงตอบรับที่ดี ในฐานะนักกวี ในบทบาทของคนที่อยู่ภายใต้ร่วมเงาวงการวรรณกรรม มนตรี ศรียงค์ตั้งใจยิ่งว่าจะ จริงจัง ต่อการถ่ายทอดเรื่องราวในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น
การป้อนคำถามให้เขาครั้งนี้ กวีซีไรต์คนล่าสุดออกตัวว่า มีคำถามที่ส่งผ่านจดหมายอิเล็คทรอนิกส์ (e-mail) จากหนังสือเล่มต่างๆมาถึงเขาเกือบร้อยคำถามที่ยังค้างคา ด้วยภารกิจลวกบะหมี่ในช่วงกลางวัน เขามีเวลากลางคืนในการตอบคำถามเหล่านั้นและยังต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปเขียน หนังสือ และนี่คือ 5 คำถามและคำตอบจากปากของมนตรี ศรียงค์ต่อปรากฏการณ์การถ่ายทอดเรื่องราวชายแดนใต้ผ่านงานวรรณกรรม
1. ในฐานะกวี/คนทำงานแวดวงวรรณกรรม มองปัญหาภาคใต้ในขณะนี้เป็นอย่างไร
มนตรี ศรียงค์ - - วุ่นวายยุ่งเหยิง สับสนปนเป เหมือนเราตกอยู่ในอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวอย่างไร้ทางออก เราได้รับข้อมูลจากทางรัฐบาลทุกชุด ว่านั่นคือการแบ่งแยกดินแดน เราเชื่อ แต่ เราก็ไม่เคยเห็นกลุ่มก่อการประกาศรับผิดชอบในการก่อการเลยสักครั้ง เราไม่เคยได้เห็นแถลงการณ์ฯแบ่งแยกดินแดนอันเป็นหัวใจสำคัญของการก่อการเลย แม้สักฉบับ และเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่เรารบอยู่นี้รบกับใคร แต่มันเกิดอะไรขึ้นจึงมีคนตายทุกวัน เกิดอะไรขึ้นที่เราส่งกองทัพลงไปนานนับหลายปี แล้วยังไม่สามารถระงับความสยดสยองนั้นได้ คำตอบล้วนแล้วคือความเงียบอันน่าสะพรึงกลัว
ผม มองปัญหาชายแดนใต้ด้วยดวงตาเคลือบแคลงสงสัยในข้อเท็จจริงเหล่านี้มาโดยตลอด ผมเชื่อว่านี่คือการแบ่งแยกดินแดน เพราะรัฐบาลที่ต้องรู้ดีกว่าเราบอกมาอย่างนั้น แต่หวนคิดไปถึงเมื่อก่อนหน้า ผมจำได้ว่าทุกรัฐบาลบอกเราว่าไม่มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลงเหลืออีกแล้ว ตกลงความจริงมันคืออะไร? รัฐบาลชุดไหนโกหกเรา?
ที่เกิดขึ้นจึงคือความไม่แน่ใจในข้อมูลที่ตนมี เรา เชื่อว่าคือการแบ่งแยกดินแดนจริง แต่เรายังต้องสงสัยว่าแบ่งแยกอย่างไรกันจึงฆ่าไม่เว้นมุสลิม ทั้งที่อุดมการณ์การแบ่งแยกดินแดนต้องใช้มวลชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก เพราะการสถาปนารัฐขึ้นมาใหม่ มันจำเป็นต้องรวบรวมผู้คนให้มากที่สุดเพื่อการสร้างบ้านแปงเมือง
เราเชื่อเพราะสื่อก็บอกเราอย่างนั้นเช่นกัน เราเชื่อเพราะเราหาสาเหตุแห่งการเข่นฆ่าอื่นใดไม่เจอ ที่ เกิดขึ้นจึงคือความหวาดกลัวหวาดระแวงต่อกัน ถ่างดินแดนแถบนั้นออกห่างจากความรับรู้ในเชิงความเป็นชาติยิ่งขึ้น ถ่างวงกว้างแห่งความเกลียดชังเชิงสังคมยิ่งขึ้น มีความจริงอยู่ข้อหนึ่ง นั่นคือความเกลียดชังด้านเชื้อชาติศาสนาเป็นทุนเดิม ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยพุทธและจีนมองมุสลิมด้วยดวงตาเหยียดหยามเสมอมา เราถูกปลูกฝังทัศนะต่อมุสลิมในด้านลบ มันมีการเหยียดเชื้อชาติศาสนามานับนาน
ครั้ง หนึ่งมุสลิมไม่เคยมีโอกาสแม้จะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ความเกลียดชังที่มีนี้ ส่งผลให้มุสลิมถอยร่นไปรวมกลุ่มกันในดินแดนของตน ขยายวงกว้างของอาณาเขตออกไป จนกระทั่งมันกลายเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของมุสลิม และนั่นหมายความว่าเป็นดินแดนลึกลับต้องห้ามของคนอื่น ปรากฏการณ์นี้ยิ่งเพิ่มความไม่ไว้วางใจหวาดระแวงต่อกันยิ่งขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามุสลิมเองก็มองคนพุทธคนจีนด้วยดวงตาเหยียดหยาม มันมีความชิงชังแฝงเร้นอยู่ในสำนึกทั้งสองฝ่าย ทั้งหมดนี้ผมโทษไปที่ประวัติศาสตร์
2. เหมือนพยายามบอกว่าประวัติศาสตร์คือผู้กำหนดสถานการณ์ปัจจุบัน?
มนตรี ศรียงค์- - ยอมรับว่าประวัติศาสตร์สร้างขึ้นมาด้วยน้ำมือของผู้ชนะ และของชนชั้นปกครอง แต่อารมณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นมันก็ใช่ว่าจะยาวนานเกินจะรับรู้ส่งต่อกันถึงได้ ดูจากการที่เราเรียนประวัติศาสตร์แล้วยังก่อสำนึกเกลียดชังพม่าที่ตีกรุงศรีอยุธยายับเยิน ดูจากกัมพูชาที่เผาสถานทูตไทยกรณีข่าวกบ สุวนันท์บอกว่าเขาพระวิหารเป็นของไทย จากรุ่นสู่รุ่น มันใช่จะนานเกินการรับรู้ไม่ และเพราะมันไม่เคยมีการชำระประวัติศาสตร์เพื่อละลายความเกลียดชังนี้เลยสักครั้ง มันจึงเป็นดินพอกหางหมูสืบเนื่องมา ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ ดินแดนแถบนั้นจึงง่ายต่อการจุดประเด็นไฟ
3. หากเทียบกับที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นของโลกซึ่งเคยเกิดความขัดแย้งในอดีต และนักกวี นักเขียนได้เรียงร้อยผ่านงานวรรณกรรมสำคัญของโลกมากมาย แต่ในประเทศไทยและความขัดแย้งอย่างรุนแรงได้เกิดขึ้นในดินแดนของเราเอง ในทัศนะของมนตรี ศรียงค์ นักกวี นักเขียนในบ้านเราได้ละเลยในการหยิบจับปัญหาดังกล่าวไปถ่ายทอดมากน้อยเพียง ใด หรือมีอุปสรรคสำคัญตรงไหน ทำไมนักเขียน นักกวีจึงไม่ลงมาสัมผัสตรงนี้อย่างจริงจัง?
มนตรี ศรียงค์- - อย่าง ที่ว่าไว้ข้างต้น เพราะข้อมูลที่เรามีมันน้อยมากนัก ซ้ำเรายังไม่แน่ใจว่ามันเกิดขึ้นมาจากอะไรกันแน่ แม้เราจะเชื่อว่านี่คือการแบ่งแยกดินแดนก็ตามที แต่ไม่เชื่อว่านักเขียนสายวรรณกรรมบ้านเราจะละเลยต่อปัญหานี้ เพียง แต่พวกเรายังสับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก มันเหมือนความขัดแย้งในพื้นที่อื่นของโลกทุกที่นั่นแหละ คือเริ่มแรกนักเขียนจะยังไม่รู้สาเหตุ จนกระทั่งผ่านระยะเวลาไประดับหนึ่งเมื่อนักเขียนค้นหาความจริงได้แล้ว เราก็เช่นกัน เราเฝ้ามองเหตุการณ์ด้วยดวงตากังวลเห็นใจ แต่เราไม่มีข้อมูลอื่นใดเลยที่พอจะนำเสนอต่อสาธารณะชนได้ กนกพงศ์เองก็เขียนในแง่เชิงสังคมเท่านั้น ไม่ได้ลงลึกไปถึงปัญหาความขัดแย้งอันเป็นต้นเหตุของการเข่นฆ่า และจริงๆแล้วมันเป็นความขัดแย้งจริงหรือ? ถ้าขัดแย้งจริง ใครขัดแย้งกับใคร? พุทธกับมุสลิม? จริงหรือ? ในเมื่อวัดพุทธก็อยู่ท่ามกลางมุสลิมอย่างสงบสุขนานมา สุเหร่ามัสยิดอิสลามก็ดำรงอยู่และปฏิบัติศาสนกิจอย่างสงบสุขนานมา
การลงพื้นที่ของนักเขียนนั้น โลกนี้นับวันจะยิ่งน้อยลง เพราะมันมีข้อจำกัดหลายประการ อีกทั้งเรายังสามารถหาข้อมูลได้จากแหล่งทุติยภูมิต่างๆได้ จริงอยู่ที่การลงพื้นที่มันให้เรามองเห็นประเด็นได้ชัดกว่า แต่เมื่อมันเป็นดินแดนที่ใครก็สามารถตายได้โดยไม่รู้ว่าทำไมเช่นนั้น นักเขียนก็คงไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงต่อความดำมืดนั้น
4. งานของมนตรี ศรียงค์ ต่อไป จะนำเรื่องภาคใต้ไปถ่ายทอดต่อมากน้อยเพียงใด?
มนตรี ศรียงค์- - ความตั้งใจคือจะขยายเรื่องสั้นที่ชื่อ รุสนี ซึ่งได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร Deep South Bookazine (นิตยสารราย 3 เดือนของศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ ผู้ เขียน) อันเป็นเรื่องสั้นที่มีโครงเรื่องใหญ่โตให้เป็นนิยายขึ้นมา และตั้งใจจะพูดถึงมันในแง่เชิงสังคมเท่านั้น เพื่อต้องการละลายความเกลียดชังที่มีต่อกันระหว่างพุทธกับมุสลิม ความเกลียดชังอันฝังอยู่ลึกๆในจิตใต้สำนึกของทั้งสองฝ่าย มันอาจแตกต่างจากงานของกนกพงศ์หรือของรัตนชัย มานะบุตร กระทั่งงานของศิริวร แก้วกาญจน์ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ผมไม่สามารถจะเขียนเพื่อสืบค้นต้นตอแห่งปัญหาได้ ด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้เบื้องต้น หวังเพียงหากมันสามารถเปลี่ยนทัศนะต่อกันได้บ้าง ผมก็รู้สึกยินดี และประสบความสำเร็จแล้วในการเขียน
5. อุปสรรคที่ส่งผลต่อการนำข้อมูลในภาคใต้ไปถ่ายทอดต่อผ่านงานวรรณกรรมคืออะไร?
มนตรี ศรียงค์- - การไม่มีข้อมูลที่แท้ และหากเราเขียนเพียงบอกกล่าวเล่าความเป็นไปที่เกิดขึ้น มันก็ไม่ต่างจากการอ่านรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ นี่ เป็นเรื่องสำคัญของนักเขียน เราต้องการเขียนโดยที่ข้อมูลของเราแม่นยำอย่างที่สุด เพราะนี่เป็นการเขียนอันเกิดมาแต่ความตายและหายนะของเพื่อนมนุษย์ ผมเชื่อ เรามีนักเขียนมากมายที่ต้องการเขียนสื่อไปยังผู้อ่านในเรื่องนี้.
โดย นครสุขาลัย
ปล.ไม่แน่ใจว่าลงพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์หรือที่ไหนนะครับ ได้เจอครั้งนี้จากการเสริชหาจากกูเกิล เลยนำมาเก็บไว้เป็นที่เป็นทางครับ
Relate topics
- บทสัมภาษณ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
- บทวิจาร์ณโลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย สุภาพ พิมพ์ชน
- มี ก อ ง วั ส ดุ บ น ไ ห ล่ ท า ง
- การสร้างสรรค์วรรณกรรมในภาวะวิกฤติสังคมไทย: บทวิเคราะห์กรณีศึกษาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ,บ้านทรายทองและปีศาจ
- สุดดิน เพลงปลุกใจที่ยังอยู่ในความทรงจำ
- บทสัมภาษณ์ใน วารสารโรงเรียนนางรองพิทยาคม
- บทสัมภาษณ์ใน ศิลปวัฒนธรรม
- บทวิจาร์โลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย ภาคย์ จินตนมัย
- บทสัมภาษณ์ใน the nation.
- บทสัมภาษณ์ในสกุลไทย