การสร้างสรรค์วรรณกรรมในภาวะวิกฤติสังคมไทย: บทวิเคราะห์กรณีศึกษาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ,บ้านทรายทองและปีศาจ
การสร้างสรรค์วรรณกรรมในภาวะวิกฤติสังคมไทย: บทวิเคราะห์กรณีศึกษาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ, บ้านทรายทองและปีศาจ
โลกผ่านภาวะวิกฤติมานับครั้งไม่ถ้วน เกิดความแห้งแล้งอดอยาก เกิด
สงครามล้างเผ่าพันธุ์ เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายมาโดยเสมอ ภาวะวิกฤติที่
เกิดขึ้นล้วนแล้วเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาแต่การกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น มา
พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงในแต่ละครั้ง วิกฤติโลกครั้งใหญ่ๆก็
คงหนีไม่พ้นการล่าอาณานิคม การทำสงครามลัทธิ การทำสงครามตัวแทน
การปั่นหุ้น การป่วนค่าดอลลาร์และบาท ภาวะโลกร้อน และราคา
น้ำมันที่พุ่งขึ้นจนแทบจะเอาน้ำคลองมาเติมรถยนต์แทน
กระชับเข้ามาโฟกัสเพียงละติจูดประเทศไทย ปรับเลนส์ซูมอีกนิดให้
กล้องจับตั้งแต่เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการ
ปกครองครั้งใหญ่โตมโหฬารนั้น สังคมไทยผ่านพบความแปลกใหม่หลาก
หลายมากมาย ผู้ปกครองเปลี่ยนจากศักดินามาเป็นไพร่ที่มียศตำแหน่ง
เกิดความวุ่นวายทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ครั้งที่น่าปีติยินดีที่สุดคือ 14
ตุลาคม 2516 และครั้งที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ 6 ตุลาคม 2519 ประเทศไทย
มีการสู้รบในเขตป่าเขาในทุกพื้นที่ กรณีถีบลงเขา-เผาถังแดง ในเขต
พัทลุงและรอยต่อของเทือกบรรทัด ที่ต่อมาพบร่องรอยการสูญเสียไม่ต่ำ
กว่า 3000 ศพ นี่ยังไม่นับรวมถึงรายที่สูญหายไร้ร่องรอยอีกไม่รู้เท่าไหร่
ย่างเข้าสู่พฤษภาคม 2535 เราก็เกิดเหตุการณ์ฆ่าหมู่กลางถนนอีกครั้ง
ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ทำให้สังคมไทยเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อย่าง
น้อยที่สุด-ก็อยู่ร่วมกันโดยลดความขัดแย้งชิงชังในความคิดในทัศนะที่แตก
ต่างต่อกัน แทบไม่น่าเชื่อว่าคนคนเดียวที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะ
สามารถสร้างรอยปริแยกให้แก่สังคมขึ้นมาอีกได้อย่างกว้างขวาง ในที่นี้ไม่
ได้หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเลวหรือดี แต่เป็นความหมายของ
ปัจเจกคนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งประเทศได้ใหญ่หลวง และ
ปัจจุบันเราพบว่าทุกคนต่างตกอยู่ในวังวนความขัดแย้ง ที่ลุกลามขยายวง
กว้างออกไปไม่สิ้นสุด เราต้องเลือกฝ่ายแม้จะไม่เลือก เพราะเราจะโดน
ผลักให้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแม้ไม่เต็มใจ
ตั้งแต่มนุษย์เริ่มเรียนรู้ที่จะถ่ายทอดกันด้วยภาษาภาพในถ้ำ มนุษย์ก็
เริ่มที่จะสื่อความในใจให้กันและกันได้รับสาร จนวิวัฒนาการมาเป็น
วรรณกรรมอันละเมียดละไม ซับซ้อน และดิ่งลึก การตรวจตราวรรณกรรม
อย่างหยาบๆพบว่า วรรณกรรมถูกสร้างขึ้นมาด้วยความกดดันรู้สึกอึดอัดกับ
อะไรบางอย่างที่เกี่ยวอยู่กับการเมือง การเมืองอันส่งผลกระทบต่อคนทุกคน
อย่างแยกไม่ออกในชีวิตประจำวัน ดั่งคำกล่าวที่ว่าแม้เราไม่ยุ่งการเมือง แต่
การเมืองมันก็จะเข้ามายุ่งกับเราถึงในมุ้ง และวรรณกรรมระดับโลกทั้งมวล
ล้วนแล้วเป็นเรื่องราวของความกดดันอึดอัดทางการเมืองทั้งสิ้น เราจึงได้
รู้จักชื่อ แมกซิม กอร์กี้, ดอสโตเยฟสกี้,ตอลส์ตอย,เชคอฟ,ปุชกิ้น จา
กรัสเซีย ได้ยินชื่อ หลู่ซิ่น จากจีน , ปราโมทยา อนันตาตู จาก
อินโดนีเซีย, จอห์น สไตน์เบค,เฮมมิงเวย์ ,แจ๊ค ลอนดอน จากอเมริกา, กา
ร์เบรียล การ์เซ มาเกส จากโคลัมเบีย และอีกมากมายทั่วโลกตลอดจนจิตร
ภูมิศักดิ์,เสกสรร ประเสริฐกุล,นายผี,กุหลาบ สายประดิษฐ์, และพนม นันท
พฤกษ์ ที่เราจำเป็นต้องเอ่ยนามในสถานที่แห่งนี้
วรรณกรรมคือผลิตผลจากสังคม สังคมเช่นไรก็ย่อมก่อกำเนิด
วรรณกรรมที่แอบอิงแนบชิดกับสังคมนั้น ย้อนกลับไปศตวรรษที่ 18 เกิด
การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ เทคโนโลยี่ใหม่ที่ค้นพบได้ก่อกำไร
มหาศาลให้แก่พ่อค้า เงินได้กลายเป็นอำนาจแทนที่ศรัทธาเดิมที่เคยมีต่อ
ศักดินา การเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารได้กระทบไปทุกภาคส่วนของสังคม
ทั่วโลก ชนชั้นนายทุนได้เข้ามามีบทบาทอำนาจชี้นำและการปกครองแทน
ที่ศักดินา ได้ทำการบุกเบิกสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เป็นของตนอย่างมีลักษณะ
เฉพาะ รุกล้ำก้าวล่วงไปยังพื้นที่ของเจ้าที่ดิน การแต่งกายที่ออกแบบให้มี
ความสง่างามทัดเทียมกับชุดราชสำนัก อิริยาบถต่างๆที่ถูกบัญญัติพิธีรีตอง
ให้เข้มขลังทัดเทียมกับราชพิธี ยื้อแย่งอำนาจชี้นำของกษัตริย์ที่อิงอยู่กับ
กองทัพ ให้เป็นอำนาจของชนชั้นใหม่นายทุนที่เงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญ
สูงสุด และที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญสุด ได้ถูกยึดครอง
เปลี่ยนมือแทนที่ รวมกับสภาพของสถาบันกษัตริย์ในแต่ละประเทศกำลัง
ง่อนแง่นอับจน
เป็นช่วงศตวรรษที่ศักดินาเองเริ่มอ่อนแรง ผลจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ และบริหารราชการงานเมืองไม่ทันโลก ทำให้ศักดินาต้อง
ยากจนลง ปราสาทราชวังหลายแห่งถูกกว้านซื้อโดยนายทุนเพื่อทำเป็น
บ้านพักตากอากาศ สถานที่รับรอง และฉากภาพยนตร์ เครื่องประดับสิ่งของ
มีค่าราคาสูงได้ถูกซื้อไปเสริมบารมีชนชั้นกลาง ชีวิตที่ศักดินาเคยเป็นอยู่
ได้ถูกผ่องถ่ายมายังชนชั้นกลางโดยการจำลองและพยายามลอกเลียน
แบบ แต่สิ่งหนึ่งที่ชนชั้นกลางยุคนั้นไม่สามารถสร้างขึ้นมาเพื่อให้เทียบ
เทียมศักดินาได้ก็คือบารมี บารมีที่ศักดินาได้สั่งสมจนกลายเป็นศรัทธาต่อ
ไพร่ฟ้ามาอย่างยาวนานหลายร้อยปี
จะเป็นเจตนาของ ก.สุรางคนางค์ หรือไม่ไม่ทราบได้ แต่การปรากฏ
ตัวของ พจมาน สว่างวงศ์ ในชุดกระโปรงสีหวานสวมหมวกปีกกว้าง ยืนอยู่
เบื้องหน้าคฤหาสน์บ้านทรายทอง มันคือการมาปรากฏตัวของโรแมนติก
ของชนชั้นใหม่เบื้องหน้าปราสาทราชวัง ของชนชั้นกลางยุคปฏิวัติ
อุตสาหกรรม นายทุนได้ลอกเลียนและดัดแปลงจำลองศิลปะยุควิกตอเรีย
ของศตวรรษที่17 จากเรื่องราวของจักรๆวงศ์ๆ ก็กลายมาเป็นเรื่องราวของ
คนชั้นกลาง ชนชั้นกลางได้พัฒนาวรรณกรรมของตนจนเป็นรูปแบบใหม่ที่
เรียกกันว่าสกุลโรแมนติโรแมนติกที่ปรากฏกายขึ้นเบื้องหน้าสกุลคลาสสิค
อย่างท้าทาย การเผชิญหน้าเป็นไปอย่างดุเดือด และเนื่องจากราชสำนัก
ทั้งหลายกำลังอ่อนแอทั้งในแง่ของความมั่งคั่งและมั่นคง จึงเป็นการง่ายที่
โรแมนติกจะยึดครองพื้นที่วรรณกรรมได้มากกว่าคลาสสิคที่ปิดตัวเองให้
อ่านกันเพียงเฉพาะราชสำนัก สกุลโรแมนติกขยายขอบเขตไปถึง
ประชาชนอย่างทั่วถึง
เมื่อชนชั้นกลางช่วงชิงการนำสังคมได้เบ็ดเสร็จ ราชสำนักก็ยิ่งอยู่ใน
ภาวะถอยหลัง แต่สิ่งที่ชนชั้นกลางไม่มีและไม่สามารถมีได้นั้นคือความจง
รักภักดีของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ราชสำนักมี ความจงรักภักดีฝังอยู่ในจิต
ใจของประชาชนทั่วทุกหัวระแหง ชนชั้นกลางจึงจับมือร่วมกับศักดินาเจ้า
ที่ดิน เพื่ออาศัยสิ่งที่ตนไม่มีให้มีขึ้น เพื่อให้ประชาชนยอมรับการมีอยู่ของ
ชนชั้นนายทุนใหม่ที่เพิ่งก่อกำเนิดขึ้นมา ราชสำนักเองก็ยินดีที่จะให้ความ
ร่วมมือนี้ ด้วยต่างพึ่งพาอาศัยกันอยู่ และนั่นส่งผลกระทบไปยังประชาชนผู้
ต่ำชั้นกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้การกดขี่ที่นายทุนร่วมมือกับ
ศักดินา ก่อเกิดความเคียดแค้นชิงชังขึ้น อันนำไปสู่การลุกฮือครั้งใหญ่ใน
รัสเซีย ในจีน และวรรณกรรมแนวสัจจนิยมที่กุสตาฟ โฟร์แบร์ ริเริ่ม ก็ได้ทำ
หน้าต้นแบบของสกุลเพื่อชีวิตเป็นอาวุธวัฒนธรรมขึ้นมา จนโลกเกิดการ
สั่นสะเทือนเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง
ร้อยแก้วแบบตะวันตกเริ่มแพร่หลายเข้ามายังเมืองไทยประมาณสมัย
รัชกาลที่ ๕ ก่อนหน้านี้ร้อยแก้วของไทยยังอยู่ในรูปแบบนิทาน-ตำนาน
ไม่ได้เป็นเรื่องเล่า พจมาน สว่างวงศ์ที่เดินเข้าบ้านทรายทองด้วย
ชุดกระโปรงสีหวานถักเปียสองข้าง คือการก้าวย่างของงานสกุลโรแมนติก
เข้าไปเผชิญหน้าสกุลคลาสสิกอย่างท้าทาย ก.สุรางคนางค์ได้สร้าง
ชายน้อยให้เป็นตัวละครง่อยเปลี้ยไม่สมประกอบ เพื่อแสดงถึงลักษณะของ
ศักดินาที่อ่อนแรงลงและเป็นภาระอย่างเสียดสีเหน็บแนม ให้การมาถึงของ
พจมานสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแก่บ้านทรายทองตลอดเวลา โดยมี
สาย สีมา ตัวเอกในหนังสือเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ยืนมองข้าง
นอกด้วยดวงตาจับจ้องจริงจัง การเปิดเรื่องปีศาจด้วยประโยค ปีศาจตน
หนึ่ง ปีศาจแห่งลัทธิคอมมิวนิสม์ กำลังสยายปีกเหนือฟากฟ้ายุโรป นั่นคือ
การยกประโยคสุดแสนจะคลาสสิกของ The Communisms Manifesto:
แถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสม์มาขึ้นนำ บทความมากมายของ จิตร ภูมิ
ศักดิ์ ได้ก่อเกิดกระแสพลังของหนุ่มสาว ภาวะการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ
การปกครองกดขี่ขูดรีดของนายทุนขุนศึก และภาวะอึดอัดหายใจไม่ออกใน
ระบอบเผด็จการทหาร งานสกุลเพื่อชีวิตที่ได้รับอิทธิพลความคิดจากตอ
ลสตรอยใน ศิลปะเพื่อชีวิต และจิตร ภูมิศักดิ์ได้ย้ำอีกครั้งในหนังสือ
เรื่อง ศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน จึงกลายเป็นงานสกุลใหญ่อีก
สกุลหนึ่งที่ขึ้นมามีบทบาททางการเมือง ในฉากที่คุณพ่อของคุณรัชนี
หญิงสาวสูงศักดิ์คนรักของสาย สีมาในเรื่องปีศาจ ได้เชิญสาย สีมาร่วมรับ
ประทานอาหารเย็นท่ามกลางหมู่ญาติเพื่อนฝูง เพื่อกล่าวประณามความ
ยากจนของสาย สีมาที่ไม่ยอมเจียมเนื้อเจียมตัว การประณามนั้นลุล่วงไป
อย่างอึดอัด แล้วสาย สีมาก็ได้ลุกขึ้นพูดอะไรบางอย่างที่ยาวเหยียด ก่อน
เดินออกจากห้องรับประทานอาหารนั้นอย่างสง่างาม ฉากนี้คือการตอกย้ำ
ความจริงหนึ่ง นั่นคือการลุกขึ้นยืนอย่างอหังการ์ของชนชั้นล่างท่ามกลาง
วิกฤติสังคมกดขี่ข่มเหง และของวรรณกรรมเพื่อชีวิตวรรณกรรมฝ่ายก้าวหน้า
ว่ามีอยู่จริง และมีอยู่อย่างยิ่งใหญ่ไม่ด้อยน้อยหน้ากว่าสกุลคลาสสิกและ
โรแมนติกเลย
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์เมื่อ
๖ ตุลา ๑๙ หนังสือฝ่ายซ้ายฝ่ายก้าวหน้า ศิลปะเพื่อชีวิตทุกแขนงได้ถูก
กำจัดออกไปจากสังคมไทย หนังสือหลายร้อยเล่มยังคงต้องห้ามอยู่ใน
ปัจจุบัน การอ่านการเขียนของสังคมไทยจึงขาดช่วงตอนทางประวัติ
ศาสตร์อย่างน่าเสียดายยิ่ง ในช่วงที่งานสกุลเพื่อชีวิตล้มหายตายจาก งาน
สกุลโรแมนติกก็ได้โอกาสกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ช่วงนี้เองที่วัฒนธรรม
ญี่ปุ่นรุกคืบเข้ามา เด็กสาวหลายคนยุคนั้นอยากเป็นสาวนิปปอน การ์ตูนซึ่ง
เป็นวัฒนธรรมหลักของชาวญี่ปุ่นถูกลำเลียงเข้ามาสังคมไทยอย่างหลาม
หลาก ส่วนใหญ่เป็นตัวการ์ตูนน่ารักๆตาโตๆ และเนื้อเรื่องที่วนเวียนอยู่
เพียงเรื่องของความรักแบบป๊อบปี้เลิฟ นิตยสารวัยรุ่นอย่างเธอกับฉัน-วัย
หวาน ก็เน้นไปที่ความบันเทิงไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์, เพลง, แฟชั่น และ
แน่นอนที่มันย่อมอิงกระแสญี่ปุ่นเป็นหลัก ฮาราจูกุเป็นสถานที่ในฝันของ
เด็กหนุ่มสาว และสยามสแควร์ก็ได้กลายเป็นฮาราจูกุย่อยๆขึ้นมา
วัฒนธรรมใหม่ที่เรียกในปัจจุบันว่าแอ๊บแบ๊ว, คาวาอี้ ได้ถือกำเนิดในสังคม
ไทยมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๒๐ กว่าปีแล้ว
โลกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อกำแพงเบอร์ลินได้ถูกทุบทิ้ง
ทำลาย จักรวรรดินิยมโซเวียตแตกย่อยเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย และ
จีนได้เข้าสู่แผนพัฒนาประเทศด้วยทุนนิยม ความโกลาหลอลหม่านครั้ง
มโหฬารนี้ ส่งผลกระเทือนไปยังศิลปะทุกแขนง สกุลงานศิลปะใหม่ที่เกิด
ขึ้นเรียกกันว่าอัลเทอร์เนถีฟ ได้เปิดตัวขึ้นมาอย่างงุนงงกับความเปลี่ยน
แปลงของโลก จนมาเป็นโพสต์โมเดิร์นผู้ขี้หงุดหงิด กระแสนิยมเกาหลีได้
เริ่มพรั่งพรูเข้ามาสังคมไทยแทนที่ญี่ปุ่น ด้วยยุทธศาสตร์ยุทธวิธีซ้ำรอยที่
ญี่ปุ่นและฮอลลีวู้ดเคยประสบผลสำเร็จมาแล้ว โลกไร้พรมแดนด้วยโลกาภิ
วัตน์ อินเทอร์เนตเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของคนรุ่นใหม่ และที่นี่ก่อเกิดนัก
เขียนหน้าใหม่วัยรุ่นมากมายหลายคน เวบบอร์ดอันเปิดกว้างที่ใครก็
สามารถเข้าไปแต่งเรื่องให้อ่านกันได้ง่าย มากมายที่กลายมาเป็นหนังสือ
เล่ม เนื้อเรื่อง, ประเด็นเรื่อง, ภาษา, ทัศนะ, รสนิยม, ความสนใจของ
นักเขียนเหล่านี้สะท้อนได้ชัดเจนยิ่งถึงสังคมไทยปัจจุบัน เป็นบทสรุปที่ดี
ในประเด็นศิลปะกับสังคมแยกกันไม่ออก และเห็นพัฒนาการของ
วรรณกรรมไทยชัดเจนว่าเป็นอย่างไร
ฉากจบของบ้านทรายทอง ชายกลางได้แต่งงานกับ พจมาน สว่างวงศ์
อย่างมีความสุขชื่นมื่น ขณะที่ สาย สีมา เดินกลับไปยังบ้านหลังทรุด
โทรม พบ รัชนี ยืนรออยู่ ประเทศไทยภายใต้การปกครองของรัฐบาล
สมัครนี้ เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับลูกหลานของ
ชายกลางกับพจมาน แต่เราได้เห็น สาย สีมา หลายๆคนกำลังยืนเผชิญ
หน้าจ้องตากันอย่างเคียดแค้น สาย สีมา คนหนึ่งได้เขียนบทกวีตัดพ้อต่อ
ว่าไปยังสาย สีมา 2 คน และสาย สีมา อีกหนึ่งคนก็เขียนบทกวีประณาม
สาย สีมา คนแรกอย่างรวดร้าวกราดเกรี้ยว บทเพลงอันนับเป็นวรรณกรรม
ชนิดหนึ่ง ถูกผลักให้เลือกข้างตามผู้สร้าง ขณะที่เวที นปก.ไม่อาจร้องเพลง
ของคาราวานได้ เวทีพธม.ก็ไม่สามารถร้องเพลงของวิสา คัญทัพ ได้เช่น
กัน แต่ไม่ทราบว่าด้วยเพราะเหตุไร ทั้งสองเวทีกลับไม่เล่นเพลงของแอ๊ด
คาราบาว เลย
นับแต่ พ.ต.ท.ทักษิณก้าวเข้ามาเล่นการเมือง เป็นช่วงที่กวีและนักเขียน
หันมาสนใจประเด็นการเมืองกันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง อินถา ร้องวัวแดง
ได้ขยับปากกาอยู่ในมติชนสุดสัปดาห์ติดต่อกันหลายสัปดาห์ เวที
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำเนิดขึ้น คมทวน คันธนู ได้ออกไป
ยืนบนเวทีอ่านฉันท์อย่างดุเดือด วิกฤติสังคมช่วงนั้นจบลงด้วยการรัฐ
ประหาร 19 กันยายน 2549 พรรคไทยรักไทยถูกตีแตกหนี ญญ่าย พ่ายจ๊ะ
แจ๋ ก่อนรวบรวมกำลังพลขึ้นใหม่ในนามพรรคพลังประชาชน เวทีพันธมิตรฯ
ได้กำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง และครั้งนี้นักสร้างวรรณกรรมได้แยกตัวเป็น2 ฝั่ง
ฝ่ายชัดเจนกว้างขวางขึ้น ในขณะที่วิสา คัญทัพขึ้นเวทีของ นปก. และ
วัฒน์ วรรลยางกูร ได้เขียนสอดแทรกลงคอลัมน์ประจำในข่าวสด และ
ไม้หนึ่ง ก กุนที เขียนบทกวีลงในมติชนสุดสัปดาห์ อังคาร กัลยาณพงศ์
และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ก็ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ก่อเกิดการสร้างวรรณกรรม
การเมืองยุคใหม่ขึ้นมาทั้ง2ฟากฝั่ง สังคมวิกฤติแล้ววิกฤติเล่า การสร้าง
วรรณกรรมในภาวะวิกฤติกำเนิดขึ้นมาอย่างร้อนแรง เพื่อยืนยันว่าวรรณกรรม
คือสื่อที่ส่งสารไปยังผู้รับชนิดหนึ่ง เพื่อระบายความรู้สึกกดดันอึดอัดกับ
อะไรบางอย่างอันเกี่ยวเนื่องอยู่กับการเมือง สังคมแตกหักครั้งแล้วครั้งเล่า
วรรณกรรมกลายเป็นตัวเร่งหนึ่งไม่ว่าเราจะใช้คำเรียกมันว่าอาวุธทาง
ปัญญา,อาวุธทางวัฒนธรรม หรือการโจมตีด้วยปากกา วรรณกรรมที่ถูกสร้าง
ขึ้นมาเพื่อรับใช้ทัศนะความคิดใดหนึ่ง ที่เมื่อความขัดแย้งลุกลามบาน
ปลาย มันก็พร้อมที่จะเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพ ที่ทั้งสร้างและ
ทำลาย กว่าจะคลี่คลายไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เราต้องผ่านการ
เผชิญหน้าปะทะกันอย่างรุนแรงเสมอมา เราต้องสูญเสียกันก่อน เราจึงจะ
สำนึกได้ในความสงบสุข การเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายเอาทักษิณกับไม่
เอาทักษิณ ตามความเข้าใจนั้น ทรท.หรือพปช. มี 2 กลุ่มอยู่ในพรรค หนึ่ง
นั้นคือนายทุน และหนึ่งนั้นคือฝ่ายซ้ายเก่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา สุรชัย แซ่ด่าน
แกนนำ นปก. คนหนึ่งได้ประกาศจัดตั้งและเปิดตัวพรรคคอมมิวนิสม์แห่ง
ประเทศไทยใหม่(เฟส2) ต่อมามีข่าวความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของ
สหายเก่าในเขตภาคเหนือและอีสานใต้ ตอกย้ำด้วยการเดินสายพบปะ
สหายเก่าในพื้นที่ดังกล่าวของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ภายหลังที่ได้รับ
แต่งตั้งเข้ามาเป็นนายกฯเฉพาะกิจเฉพาะกาล ฝั่ง พธม. เองนั้น ก่อน
19 กันยายน 2549 เล็กน้อย สนธิ ลิ้มทองกุล ได้พูดถึงที่มาของผ้าพันคอสี
ฟ้า และการถวายคืนพระราชอำนาจ ด้วยการร้องขอนายกฯพระราชทาน
ล่วงเข้าวิกฤติสังคมครั้งใหม่ พธม. เองรุกด้วยการนำเสนอความจงรักภักดี
ต่อสถาบัน ขุดคุ้ยนำเสนอเปิดโปงกระบวนการล้มล้างสถาบันอย่างต่อเนื่อง
และปลุกกระแสปราสาทพระวิหารขึ้นมาเป็นคนแรก บรรยากาศอึดอัดเช่น
นี้ เสมือนหนึ่งเราย้อนกลับไปสู่ยุค 14 ตุลาคม 2516 เพียงแต่ภาวะการ
เมืองที่แสนสับสนสลับขั้วสลับหางผิดที่ผิดทางนี้ ฝ่ายซ้ายได้จับมือกับ
นายทุน และหลงลืมประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายซ้ายอีกกลุ่มหนึ่ง ก็
จับมือร่วมกับตัวแทนศักดินา
ช่วงปีที่ทักษิณก้าวเข้ามาเล่นการเมือง เป็นช่วงที่โลกเริ่มไร้พรมแดน
กระแสโลกาภิวัฒน์พัดพาทุนนิยมโหมไปทั่วทุกภูมิภาคโลก เป็นความ
เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกอีกครั้งหนึ่ง สังคมไทยที่เป็นประเทศสังคม
เปิด รับกระแสทุนนิยมข้ามชาติไว้เต็มอ้อมแขน ทุกสิ่งทุกอย่างมีราคาซื้อ
ขายได้ นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนทำให้เกิดการรวบหัวรวบหางผูก
ขาด รัฐวิสาหกิจบางส่วนได้ถูกแปรรูปไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่
บางแห่งมีการต่อต้านตอบโต้จากสหภาพแรงงาน โลกดูเหมือนจะไม่มี
ศรัทธาอื่นใดนอกจากเงินที่ทุนนิยมโปรยหว่าน แต่ความเป็นจริงที่ก่อตัว
เงียบๆจนเติบใหญ่ นั่นคือมีบางที่บางแห่งในโลกได้ปฏิเสธทุนนิยมอย่างสิ้น
เชิง เวเนซูเอล่าและหลายประเทศในละตินอเมริกา ได้ปฏิเสธกระแสโลกา
ภิวัตน์ที่คุกคามดินแดนอย่างไม่ใยดี รัฐบาลของซาเวชได้ยึดกิจการโรง
กลั่นน้ำมันจากบรรษัทข้ามชาติกลับคืนมาเป็นของรัฐ ยึดกิจการรัฐวิสาหกิจ
ที่ถูกแปรรูปไปแล้วกลับมาเป็นของหลวง โดยไม่แยแสต่อมหาอำนาจ
อเมริกาและอื่นใด โลกมีทฤษฎีเศรษฐกิจเพียงสองทฤษฎี นั่นคือถ้าไม่ใช่
ทุนนิยมก็ต้องเป็นสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายทั้งโลกที่ว่ากันว่าสูญสิ้นไปหลัง
โซเวียตแตกและจีนเปิดประเทศ กลับดำรงอยู่ตลอดมาอย่างเข้มแข็ง โดยมี
คิวบาเป็นสังคมนิยมตัวอย่าง และเมื่อพรรคคอมมิวนิสม์นิยมลัทธิเหมาได้รับ
ชัยชนะในสงครามกลางเมืองเนปาล ก็ยิ่งตอกย้ำการมีอยู่ของฝ่ายซ้ายใน
โลกนี้
การเมืองไทยได้แตกรูปไปเป็นขวาเฉียงซ้าย กับซ้ายทแยงขวา
วรรณกรรมที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาสับสนนี้ จึงส่วนใหญ่เลือกที่จะปิดดวงตา
ข้างหนึ่ง เพื่อเปิดดวงตาข้างหนึ่งแล้วเข้าร่วมฝ่ายที่ตรงกับอุดมการณ์ตนที่
สุด ด้วยเงื่อนไขภายใต้วิกฤติการณ์ของสังคมที่กลุ่มริบบิ้นสีขาวไม่อาจ
เปล่งเสียงใดออกมาผิดกาลเทศะได้แล้วนั้น เราต้องเลือกข้าง เพราะแม้เรา
จะไม่เลือกเราก็ถูกถีบให้ไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งอยู่ดี และไม่ว่าฝ่ายใดจะ
ชนะ สังคมไทยก็จะมีการเผชิญหน้าสร้างวิกฤติสังคมครั้งใหม่ขึ้นมา ด้วยเรา
ยังไม่เคยปูพื้นฐานมั่นคงแข็งแรงให้แก่ประชาชนในด้านการศึกษา ที่เรา
เรียนวิชาประวัติศาสตร์แล้วยังรู้สึกโกรธแค้นชิงชังพม่า ทั้งที่การเรียนประวัติ
ศาสตร์นั้นเรียนเพื่อรู้อดีต เพื่อการอยู่ร่วมในปัจจุบันและอนาคตอย่างสงบ
สุข แต่เรากลับเรียนเพื่อเจ็บแค้นฝังใจไม่รู้สิ้นไปยังลูกหลาน เราเรียน
ทฤษฎีการเมืองรัฐศาสตร์ เพียงเพื่อเข้าใจการเมืองอย่างผิวเผินในรูปแบบ
โดยไม่เคยเรียนเพื่อรู้ว่าเนื้อหาของการปกครองระบอบนั้นๆเป็นอย่างไร ผู้
ปกครองปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไร อย่างไรจึงเรียกว่าประชาธิปไตย
อย่างไหนเผด็จการ เราเรียนเราสอนเพียงการวิเคราะห์วาทกรรมจำนวน
หนึ่งเท่านั้นเอง การศึกษาที่อ่อนแอเช่นนี้ ก็จะยังสร้างวิกฤติครั้งใหม่ขึ้นมา
บนความไม่รู้จริง และพร้อมที่จะแห่แหนตามผู้นำไหนก็ได้ ขอเพียงให้มี
วาทกรรมน่าพึงพอใจตน ภาระหนักหน่วงนี้ตกอยู่กับนักเขียน ที่จะต้องสร้าง
ความรู้โดยใช้กลวิธีอันแนบเนียน ภาระอันหนักหนาสาหัสสากรรจ์นี้ นัก
เขียนจึงต้องติดตามข่าวการเมือง เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และสร้างศรัทธาต่อ
การอยู่ร่วมในสังคมขึ้นมาให้ได้
โลกผ่านวิกฤติการณ์มานับครั้งไม่ถ้วน สังคมไทยก็เช่นเดียวกัน เราผ่าน
พบแล้วพ้นผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าไปแล้วมันคือวัตถุดิบ
และข้อมูลที่ดีในการหยิบเอามาเขียน แต่การสร้างงานภายใต้แรงอัดหนัก
หน่วงนี้ นักเขียนต้องมั่นไว้ให้ได้ในบริบทความเชื่อของตน ในความสับสน
อลหม่านของเหตุการณ์อันซับซ้อนซ่อนเงื่อน นักเขียนต้องดูสถานการณ์ให้
ออก และพึงรำลึกไว้เสมอว่าการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เพราะบาง
ครั้งการทุ่มสุดตัวลงคลุกกับเหตุการณ์นั้น นักเขียนเองนั่นแหละที่สุดท้าย
จะกลายเป็นหมาหัวเน่า
อย่าได้ลืมเป็นอันขาด ว่าบทจบของบ้านทรายทองนั้น ชายกลางแต่งงานกับพจมาน
ขอบคุณ พิเชฐ แสงทอง และ ชามา ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล
๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑
ปาฐกถาในงานการสร้างสรรค์วรรณกรรมภายใต้วิกฤติสังคมไทย ณ
สถาบันทักษิณคดี สงขลา เมื่อ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑
หมายเหตุ- บ้านทรายทอง นิยายของ ก.สุรางคนางค์, ปีศาจ นิยายของ
เสนีย์ เสาวพงศ์
Relate topics
- บทสัมภาษณ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
- บทวิจาร์ณโลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย สุภาพ พิมพ์ชน
- บทสัมภาษณ์ต่อปัญหาภาคใต้
- มี ก อ ง วั ส ดุ บ น ไ ห ล่ ท า ง
- สุดดิน เพลงปลุกใจที่ยังอยู่ในความทรงจำ
- บทสัมภาษณ์ใน วารสารโรงเรียนนางรองพิทยาคม
- บทสัมภาษณ์ใน ศิลปวัฒนธรรม
- บทวิจาร์โลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย ภาคย์ จินตนมัย
- บทสัมภาษณ์ใน the nation.
- บทสัมภาษณ์ในสกุลไทย