บทวิจาร์ณโลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย สุภาพ พิมพ์ชน
มหากาพย์บะหมี่เป็ด
สีสันในหนังสือ / 'สุภาพ พิมพ์ชน'
[โลกในดวงตาข้าพเจ้า / มนตรี ศรียงค์ / สำนักพิมพ์สามัญชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2550]
หาก เปรียบเทียบกับหนังสือกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ที่ผ่านมา "โลกในดวงตาข้าพเจ้า" ของ มนตรี ศรียงค์ มีจินตภาพเชิงกวีขยับออกจากแบบฉบับอันคุ้นเคยพอสมควร โดยอาศัยท่าทีประชดประชัน (Irony) เป็นเครื่องมือ
เริ่มเห็นได้จากภาพลักษณ์ในตัวตนของกวี จากเดิมจะมีอัตลักษณ์อยู่ 3 แบบ คือ กวีในฐานะนายช่างผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์ กวีในฐานะนักอุดมการณ์ผู้มีความคิดฝันที่ดีงามต่อสังคม และกวีในฐานะศิลปินผู้อ่อนไหวหรือสร้างสรรค์จินตภาพอันแปลกใหม่ ซึ่งตัวตนเหล่านี้จะผสมหรือเน้นหนักต่างกัน
"เพียงความเคลื่อนไหว" ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (ได้รางวัลปี 2523) "ในเวลา" ของ แรคำ ประโดยคำ (ปี 2541) และ "บ้านเก่า" ของ โชคชัย บัณฑิต (ปี 2544) มีน้ำหนักออกไปทางผู้ชำนาญการในการใช้ภาษาเชิงวรรณศิลป์
"นาฏกรรมบนลานกว้าง" ของ คนทวน คันธนู (ปี 2526) และ "ใบไม้ที่หายไป" ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา (ปี 2532) มีอารมณ์สะเทือนใจที่ได้มาจากการสะท้อนชีวิตและอุดมคติต่อสังคม
"ปณิธานกวี" ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ (ปี 2529) และ "มือนั้นสีขาว" ของ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ (ปี 2535) มีลักษณะการทำงานแบบศิลปินที่สร้างสรรค์จินตภาพใหม่อันไม่คุ้นตา ส่วน "ม้าก้านกล้วย" ของ ไพวรินทร์ ขาวงาม (ปี 2538) และ "แม่น้ำรำลึก" ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ (ปี 2547) มีอารมณ์แบบศิลปินช่างอ่อนไหวท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก
อัตลักษณ์ของกวีใน "โลกในดวงตาข้าพเจ้า" ไม่ได้มีบุคลิกของนายช่างทางภาษา นักอุดมคติ หรือศิลปิน แต่กลับเชิดชูความเป็นสามัญชนคนขายหมี่เป็ดแทน นั่นไม่ได้เป็นแค่ภาพลักษณ์ และเป็นเนื้อหาในการนำเสนอความจริงของบทกวีด้วย
มนตรี ศรียงค์ เป็นกวีที่เริ่มทำงานจริงจังหลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ปี 2535 แม้จะอ้างว่าได้แรงขับจากการเมืองตามอย่างกวีรุ่นพี่ที่ได้อิทธิพลทางความ คิดจากเหตุการณ์ "14 ตุลา" ปี 2516 แต่กวีและนักเขียนรุ่นนี้ก็มีท่าทีปฏิเสธรูปแบบของงานเขียนช่วงก่อนหน้านี้ ด้วย แล้วหันไปทดลองหารูปแบบการแสดงออกเฉพาะตัวอันหลากหลาย
จากลีลากลอนอันโดดเด่นซึ่งนำมารวมอยู่ในเล่ม "ดอกฝันฤดูฝนที่แสนธรรมดา" (ปี 2541) กระแสการแสดงอัตลักษณ์เฉพาะตนของกวีและนักเขียนในช่วงต้นทศวรรษ 2540 ชวนให้ มนตรี ศรียงค์ มีความมั่นใจมากขึ้นในการละจากแบบอย่างอันไกลตัว แล้วหันมาเขียนเรื่องใกล้ตัวด้วยความรู้สึกอันแท้จริง ตอนนั้นนอกจาก "กวีข้าวหน้าเป็ด" ซึ่งเป็นจุดขายของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที แล้ว "กวีหมี่เป็ด" ก็กลายเป็นฉายาที่ใช้เรียกขาน มนตรี ศรียงค์ ด้วย ภาพลักษณ์เช่นนี้ด้านหนึ่งเป็นการประชดประชันสถานะอันสูงส่งของกวีที่ขานรับ ต่อกันมาจนกลายเป็นการแสร้งทำ และด้านหนึ่งก็เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์เนื้อหาโดยใช้ความเป็นจริงจากชีวิต ประจำวันรายรอบตัว แทนการคาดคะเนความจริงเชิงตรรกะที่ยอมรับตามกันมา
จะเห็นว่าเรื่องราวที่นำมาเขียนใน "โลกในดวงตาข้าพเจ้า" ล้วนแต่เป็นชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่ในชุมชนหนึ่ง นั่นคือบนถนนละม้ายสงเคราะห์ อย่างซิ้มชราที่อยู่ในบ้านไม้ชำรุดริมถนน ช่างเสริมสวย เด็กสาวอายุสิบสี่ คนเดินถนน ชายขี้เมา พ่อค้าของเด็กเล่นที่แต่งตัวเป็นคาวบอย ประตูกระจกติดฟิล์มดำ คลินิกตรวจภายใน ร้านข้าวมันไก่ และในร้านหมี่เป็ดเอง หรือจะเป็นความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว อย่างเพื่อนเก่าที่เคยร่วมเรียนด้วยกันมา กับความเป็นไปในปัจจุบันของแต่ละคน ภาพประทับของคนรักเก่า และความรู้สึกอันลึกซึ้งกับคนในครอบครัว
บทกวีที่เขียนระลึกถึงผู้จากลา มนตรี ศรียงค์ ก็ทำได้ลุ่มลึกไม่น้อย เช่นเดียวกับการประชดประชันชีวิตร่วมสมัย อย่าง ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์ผ่านโปรแกรมแชทหรือโปรแกรมวิดีโอแชทในอินเตอร์เน็ต การถ่ายคลิปวิดีโอ และความสัมพันธ์ระหว่าง "ป๋า" กับ "หนู" ที่อุปถัมภ์ทุนการศึกษากันเป็นการส่วนตัว เขาก็มีลีลาเสียดสีแดกดันด้วยฝีปากจัดจ้านไม่แพ้ใคร
เรื่องเล็กๆ เหล่านี้ล้วนมีนัยยะถึงเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น อย่าง ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ความสัมพันธ์ในสังคมสมัยใหม่ที่ต่างแปลกแยกจากกัน บทกวีอย่าง "ร้านข้าวมันไก่ทั้งห้า" สะท้อนวิถีการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งถนนสายหนึ่งมีร้านขายข้าวมันไก่เปิดใกล้กันถึง 5 ร้าน เมื่อเกินความต้องการย่อมต้องย่ำแย่ไปด้วยกัน และมิตรภาพระหว่างคนต่างร้านก็แตกร้าวไปด้วย
หรือบทกวีอย่าง "เงาสะท้อนบนประตูกระจก" และ "การตรวจภายในของข้าพเจ้า" ก็สะท้อนโลกภายในให้ตรวจสอบจิตใจของตัวเองกันตามสภาพ
แม้จะเป็นเพียงภาพชีวิตสามัญ แต่เมื่อนำมาเขียนถึงสิ่งสูงค่าในลักษณะเล่นล้อกับความเป็นจริงเช่นนี้ก็ สร้างอารมณ์สะเทือนใจได้เหมือนกัน จะเห็นชัดขึ้นหากลองเปรียบเทียบกับบทกวีของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งใช้วิธีสร้างภาพพจน์ด้วยจินตนาการอันบรรเจิดเพริดแพร้วอลังการ อย่างบท "ปณิธานกวี" อังคารเขียนไว้ว่า "จะไม่ไปแม้แต่พระนิรพาน" เพื่อ "จะวนว่ายวัฏฏะสังสารหลากหลาย / แปลค่าแท้ดาราจักรมากมาย / ไว้เป็นบทกวีแด่จักรวาลฯ" มนตรีก็เขียนถึง "นิพพาน" ไว้ในบท "นิพพานในร้านหมี่เป็ดศิริวัฒน์" เขาบรรยายความเหนื่อยยากในการทำหมี่เหลือง ซึ่งเรียกร้องการมีสติจน "กลายเป็นการงานอันแสนสุข / ตื่นปลุกเบิกบานในหน้าที่ / วันเป็นวันเดือนเป็นเดือนปีเป็นปี / คนขายหมี่จะไปนิพพานแล้ว!" (หน้า 63)
และในชีวิตสามัญนั่นเอง กวีได้เฝ้าสังเกตสภาวะในการดำรงอยู่แล้วพรรณนาออกมาในลักษณะบทกวีสารภาพ (Confessional Poetry) ซึ่งเปิดเผยรายละเอียดของความรู้สึกและพฤติกรรมตามความเป็นจริงแม้ในด้านที่ ไม่น่ามอง และภาพที่เห็นก็คืออาการทุรนทุรายจากความแปลกแยกระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่กับ สิ่งที่อยากเป็น อันเป็นสภาพทั่วไปของคนในสังคมสมัยใหม่ที่ไม่มีทางเลือกมากนัก และทางออกของคนส่วนมากก็คือหันไปหาสิ่งล่อลวงหลอกตนชั่วครั้งชั่วคราว แต่ก็มักจะเป็นการซ้ำเติมโบยตีตัวเองให้เสื่อมทรุดมากขึ้นไปอีก
ชะตากรรมของคนธรรมดาที่จมหายไปในทะเลชีวิตระหว่างพยายามว่ายผ่านไปสู่เส้น ขอบฟ้านั้น เป็นนาฏกรรมที่มีลีลาของมหากาพย์โดยแท้ แม้ตัวเอกจะไม่ใช่วีรบุรุษ หรือฉากจะเป็นแค่ชุมชนขอบเขตจำกัด แต่การต่อสู้กับชีวิตอย่างหนักหน่วงโดยมีปลายทางเหมือนกันคือการมอดไหม้หาย ไปในวันหนึ่ง นั่นเป็นวีรกรรมที่สง่างามยิ่งใหญ่นักแล้ว
กวีโบราณจำลองความรู้สึกนี้ไว้ในรูปของมหากาพย์อันสูงส่ง แต่กวีปัจจุบันนำชีวิตธรรมดามาเขียนไว้ตามตรงเลยทีเดียว.
Relate topics
- บทสัมภาษณ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
- บทสัมภาษณ์ต่อปัญหาภาคใต้
- มี ก อ ง วั ส ดุ บ น ไ ห ล่ ท า ง
- การสร้างสรรค์วรรณกรรมในภาวะวิกฤติสังคมไทย: บทวิเคราะห์กรณีศึกษาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ,บ้านทรายทองและปีศาจ
- สุดดิน เพลงปลุกใจที่ยังอยู่ในความทรงจำ
- บทสัมภาษณ์ใน วารสารโรงเรียนนางรองพิทยาคม
- บทสัมภาษณ์ใน ศิลปวัฒนธรรม
- บทวิจาร์โลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย ภาคย์ จินตนมัย
- บทสัมภาษณ์ใน the nation.
- บทสัมภาษณ์ในสกุลไทย