ทรรศนะ(ว่าที่)ซีไรต์ ต่อปรากฏการณ์ กวีกระเพื่อม

by หมี่เป็ด ผู้ชายนัยน์ตาสนิมเหล็ก @25 ส.ค.50 18.28 ( IP : 125...145 ) | Tags : บทสัมภาษณ์

การตัดสินรางวัลซีไรต์ในแต่ละปี มักจะมีเรื่องราวเกิดขึ้น ให้ได้วิพากษ์วิจารณ์กันในแวดวงวรรณกรรมอยู่สม่ำเสมอ และในปี พ.ศ.2550 ที่เฟ้นหากวีซีไรต์คนที่ 10 นี้ ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่เกิดแรงกระเพื่อมค่อนข้างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่เห็นด้วยที่กวีบางเล่มได้เข้ารอบ จึงพุ่งเป้าโจมตีไปยังคณะกรรมการรอบคัดเลือก

และเหตุทั้งหมดได้ก่อเกิดกลุ่ม ประชาคมวรรณกรรมแห่งประเทศไทย ที่นำโดยวรภ วรภา, กานติ ณ ศรัทธา และวิสุทธิ์ ขาวเนียม ขึ้นมาโดยออก แถลงการณ์ตรวจสอบคณะกรรมการรางวัลซีไรต์รอบคัดเลือก พ.ศ.2550 และเสนอ 5 ประเด็นดังนี้ 1.กรรมการปีนี้เป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผิดระเบียบรางวัล 2.เล่นพรรคเล่นพวก 3.มีอคติและไม่เข้าใจกวีนิพนธ์ 4.ผูกขาดอำนาจ และ 5.ไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงในแวดวงวรรณกรรม

ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นของกวีกลุ่มหนึ่ง แล้วอีกกลุ่มอย่าง กวีที่เข้ารอบสุดท้าย ล่ะ คิดเห็นเช่นไร

มติชน มีคำตอบมาฝากกัน แบบไม่มีตัดต่อแม้แต่น้อย!

น้องเล็กสุดอย่าง โกสินทร์ ขาวงาม เจ้าของผลงาน หมู่บ้านในแสงเงา แสดงความเห็นสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า

'ผมได้ทำงานของผมแล้ว ได้ทำงานในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของกวี เรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องของคนอ่านและสาธารณชนที่ต้องตัดสินกันต่อไป'

ต่อกันที่กวีมาดเท่ มนตรี ศรียงค์ ผู้เขียน โลกในดวงตาข้าพเจ้า ก็มองว่า

'เห็นด้วยในกรณีที่มีการตรวจสอบเมื่อพบว่ามีอะไรน่าจะผิดปกติ ด้วยการตั้งคำถามและชี้ความผิดปกตินั้นให้เห็นชัดอย่างมีน้ำหนัก ไม่ว่าความผิดปกติที่เห็นนั้นจะต่อกรรมการหรือต่อหนังสือที่เข้ารอบ เราสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามได้

ด้วยเมื่อมันเป็นรางวัลที่มีคนจับตามองมากที่สุด มันย่อมอยู่กลางแจ้ง และความสง่างามเท่านั้นจึงจะทำให้รางวัลนี้ทรงเกียรติ ประชาคมฯที่เกิดขึ้นตามแถลงการณ์ก็ได้ระบุชัดแล้วว่าก่อตั้งขึ้นมาด้วยเหตุและเรื่องอะไร และแถลงการณ์ฉบับร่างเราก็ได้อ่านกันทั่วถึงแล้ว ก็เป็นหน้าที่ภาระของพวกเราที่จะตริตรองกัน เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ล้วนเป็นสิทธิส่วนบุคคล

'การปะทะกันทางความคิดเห็นครั้งนี้ อาจดูเหมือนรุนแรง ซึ่งจริงๆ ก็เพียงแค่ดูเหมือนเท่านั้น เหมือนน้ำนิ่งในกะละมัง เมื่อมีใครโยนอะไรลงไปสักหน่อย ก็กระเพื่อมวงกว้างออกไป กระทบต่อผู้คนในวงการอย่างทั่วถึง แต่เมื่อผ่านระยะ ก็จะกลับมาเป็นน้ำนิ่งๆ อีกครั้ง ที่เราทุกคนก็ต้องต่างทำงานของตัวเองกันไปตามลำพัง

'อย่างไรก็ตาม แรงกระเพื่อมของน้ำย่อมส่งผลแน่นอนในระดับหนึ่ง นั่นคือการครุ่นคิดไตร่ตรองต่อคำถามที่ประชาคมฯได้ตั้งขึ้น และเราก็ต่างมีคำตอบของตน เราต้องเชื่อในเจตนาของแถลงการณ์ เช่นที่ต้องเชื่อในความเห็นต่อหนังสือเข้ารอบแต่ละเล่มของกรรมการรอบแรก จากนั้นก็ต้องมาสังเคราะห์เอาเองว่าน้ำหนักฝ่ายไหนจะมากกว่ากัน ไม่ใช่การเลือกยืนข้างแต่มันเป็นการใช้ปัญญาอย่างที่สุดในการรับรู้อย่างฉลาด

'แถลงการณ์ฉบับนี้จะเป็นเรื่องเป็นราวได้ ก็ต่อเมื่อมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง ควรยื่นเรื่องไปยังสมาคมนักเขียนฯให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการ เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้แถลงการณ์นี้ปรากฏเป็นรูปธรรมได้จริง มีบทสรุปและมาตรการที่ดีจากผู้มีหน้าที่โดยตรง ลำพังออกแถลงการณ์ส่งผ่านไปยังกวีและสื่อ ไม่สามารถจะหาบทสรุปได้ และที่สุดก็จะผ่านเลยไปเงียบๆ'

ด้าน อังคาร จันทาทิพย์ ผู้เขียน ที่ที่เรายืนอยู่ ก็แสดงความเห็นได้อย่างน่าสนใจว่า

'กับสภาวการณ์นี้ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกวีที่เข้ารอบสุดท้าย และการออกมาตอบคำถามนี้ น่าจะเป็นเรื่องง่ายที่จะถูกเข้าใจผิด ถูกมองว่ามีอคติ หรือกระทั่งถูกมองว่าเป็นการพูดเพื่อปกป้องประโยชน์ตัวเอง

'โดยส่วนตัว เข้าใจว่าจริงๆ เป็นประเด็นที่ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แต่จะพูดยังไง แสดงจุดยืนยังไงถึงจะไม่ดูสาธารณ์ เพราะเรื่องของการที่จะตัดอคติออกจากความรู้สึก ที่ถูกทำให้เชื่อว่ามันไม่บริสุทธิ์ใจนั้น เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ฉะนั้น การที่จะพูดถึงสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อว่าไม่บริสุทธิ์ โดยไม่มีอคติเจือปนยิ่งเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า

'หากผ่านเลยเรื่องที่เป็นของตัวเองไปได้ อย่างที่กลุ่มผู้คัดค้านพยายามจะอ้างถึง โดยเป้าหมายการเรียกร้องยังประโยชน์แก่คนในวงกว้าง หรือส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรฉ้อฉล หรือแอบแฝงนั้นน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ทั้งหมดกับความเชื่อที่ว่า มีความไม่สมเหตุผลบางอย่างเกิดขึ้น และกลายเป็นข้อเรียกร้องนั้น ความรู้สึกและข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นมันมีพื้นฐานความสมเหตุสมผลรองรับอยู่มากแค่ไหน

'สุดท้ายมันจะนำไปสู่คำถามที่ว่า อะไรทำให้มนุษย์หรือคนเขียนบทกวีคนหนึ่ง ร้องทุกข์กล่าวโทษเอากับคนอื่น เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากคนอื่น โดยผ่านเลยข้อผิดพลาดบกพร่องตัวเอง มันจะนำไปสู่คำถามที่ว่าอะไรทำให้มนุษย์หรือคนเขียนบทกวีคนหนึ่ง เอาอะไรไปตัดสินสติปัญญา ความรู้สึกนึกคิด ขนาดความกว้างหัวใจของคนอีกคน โดยหลงลืมหรืออาจจะไม่เคยสำรวจตรวจสอบว่า ตัวเองมีต้นทุนทางสติปัญญา มีวุฒิภาวะทางความรู้สึกนึกคิดมากน้อยแค่ไหน ขนาดความกว้างของหัวใจเท่าไหร่

'และในที่สุดมันจะทำให้เกิดภาพและเกิดความรู้สึกว่า ไอ้คำพูดที่ได้ยินได้ฟังจากปากคนเขียนบทกวีมาตลอดว่า 'กวีนิพนธ์ในด้านหนึ่งแล้วมันเป็นการขัดเกลาผู้เขียนไปด้วย' เป็นคำพูดโกหกพกลมในสายตาของผู้อ่านและเฝ้ามองเหตุการณ์อยู่ภายนอกหรือเปล่า นี่ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจ

'กลับไปนั่งทำงานของใครของมันเงียบๆ อย่างเอาจริงเอาจังน่าจะดีกว่า และน่าจะเป็นคำตอบให้กับข้อเรียกร้องต่างๆ นานาในเรื่องของคุณภาพ พัฒนาการของชิ้นงาน ซึ่งแท้จริงแล้วควรเรียกร้องเป็นเบื้องแรกจากตัวเองมากกว่าคนอื่น'

ต่อที่กวีอารมณ์ดี กุดจี่-พรชัย แสนยะมูล ที่ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า

'หลายคืนมาแล้วที่ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของพี่กานติ ณ ศรัทธา รู้สึกว่าผมจะถูกพาดพิงด้วยว่า งานของผมสู้งานของ อ.ศิวกานท์ ไม่ได้ เพิ่งรู้ว่า เดี๋ยวนี้มีสนามแข่งขันวัวกวีด้วย คงคล้ายๆ วัวกระทิงมั้ง (หัวเราะ) ผมได้อ่านทั้งงานของ อ.ศิวกานท์เล่มที่เข้ารอบลึก แต่ผมชอบเล่มก่อนของแกมากกว่านะ 'ครอบครัวดวงตะวัน' และงานของทั้งสามคนผู้ร่วมก่อตั้งประชาคมวรรณกรรมฯขึ้นเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ผมก็ได้อ่าน ไม่ว่าจะงานของพี่กานติ งานของเพื่อนวิสุทธิ์ งานของพี่วรภ อ่านแล้วก็ชอบ ชอบเพราะภาษาด้วย โดยเฉพาะของเพื่อนวิสุทธิ์กับพี่วรภภาษาสวยฟุ้งฝัน แต่...แต่อะไรคงต้องไปถามกรรมการซีไรต์ เพราะผมก็เห็นด้วยกับกรรมการซีไรต์นะ ว่าทำไมไม่ให้สามคนเข้ารอบ ไม่เกี่ยวกับสัมพันธภาพของกวีที่ตีซี้ตีซั้วกับคณะกรรมการนะ แต่เกี่ยวกับพลังของบทกวีที่มีไม่มากพอ อ้าว! เผลอเฉลยซะงั้น (หัวเราะ)

'ส่วนงานแปดเล่มที่เข้ารอบมา ผมก็ได้อ่านทั้งหมดมีบ้างบางบทที่ไม่ชอบ รวมทั้งของผมด้วย แต่ชอบมากกว่าไม่ชอบ ที่ชอบเพราะไม่ใช่ว่าเพราะผมเข้ารอบนะ สมมุติว่าแปดเล่มที่เข้ารอบมาครั้งนี้อาจจะมีเล่มใดเล่มหนึ่งหรือทั้งแปดเล่มจะกอดคอกันตกรอบ ผมก็ยังชอบมากกว่าไม่ชอบอยู่ดี ชอบในความเป็นบทกวี ไม่ใช่ชอบในหน้าตาหรือดีกรีของกวี อ้าว! กวีก็มีดีกรีด้วยเหรอ ที่กวีมีดีกรีคงเป็นเพราะว่า กวีดื่มแอลกอฮอล์ (หัวเราะ)

'อยากถามกลับไปยังผู้ที่จะตรวจสอบกรรมการซีไรต์ว่า ก่อนจะตรวจสอบคนอื่น คุณได้ตรวจสอบตัวเองหรือยัง ตรวจสอบโดยการอ่าน หาข้อตำหนิงานของตัวเอง และที่สำคัญต้องอ่านงานของคนอื่นด้วย อ่านแบบหาข้อชื่นชม อย่ามัวแต่ตัดสินจากภาพบางภาพที่ติดตัวกวีบางคนมา หน้าตาดีขนาดนี้จะเขียนบทกวีดีๆ ได้อย่างไร เขียนบทกวีฮาๆ อย่างนี้ บทกวีจะมีพลังได้อย่างไร (หัวเราะ) อย่าลืมนะครับว่า พระเจ้าก็เคยหัวเราะ หรืออย่ามัวแต่มองว่าเพิ่งเขียนกวีเล่มแรก ไหนเลยจะเทียบชั้นกับกวีผู้เคี่ยวกรรม เอ๊ย! เคี่ยวกรำมาหลายรอบแล้ว

'อย่าให้รางวัลมาทำลายภาวะกวีที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในโลกมนุษย์นี้เลยครับ รางวัลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต ชีวิตก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต หันหน้ามาอ่านบทกวีของกันและกันเถอะครับ ชีวิตสั้นแต่บทกวีนั้นสั้นกว่า และก็อย่าลืมสร้างสรรค์กวีตามวิถีของแต่ละคน จะซีเรียส หวานซึ้ง ฟุ้งฝัน ขำขำ ก็เขียนกันไป แตกต่างกันได้แต่อย่าแตกกันครับ ขอสันติภาพจงมีแก่โลก

'และเมื่อส่งบทกวีลงแข่งในสนามนักสู้วัวกวีแล้ว เราก็ควรให้เกียรติกรรมการชุดนั้นๆ แม้ว่ากรรมการเหล่านั้นจะมีรสนิยมที่แตกต่างจากเราอย่างสุดขั้วก็ตาม ถึงตรงนี้ขอย้ำอีกทีครับว่า คำว่า 'นักสู้วัวกวี' นี่เป็นมุมมองของผมนะครับ วัว ต้นข้าว ต้นหญ้าดอกไม้ ผีเสื้อ แมลงปอ แมงมุม แมลงกุดจี่ แมงดา แมงง้องแง้ง ภูเขาหิมาลายาบูเก้ หรือจอมปลวกนิรนามก็เป็นกวีได้ ไม่เพียงแค่มนุษย์อุจจาระเหม็นที่เขียนบทกวีเท่านั้นหรอกครับที่มีสิทธิเป็นกวี'

และสุดท้าย ศิริวร แก้วกาญจน์ กวีซึ่งเพิ่งจะได้รับรางวัลคัดสรรอย่าง ศิลปาธร ที่พาบทกวี 2 เล่มอย่างเก็บ ความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก และ ลงเรือมาเมื่อวาน เข้ารอบ ก็แสดงทรรศนะที่เฉียบคมว่า

'ปัญหาของโลกทุกวันนี้ หลักใหญ่ใจความอยู่ที่ว่า เรามักประเมินค่าคนอื่นโดยขาดวุฒิภาวะ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า เราละเลยหลงลืมการประเมินค่าตัวเอง หรือไม่ก็ประเมินค่าของตัวเองภายใต้อาณัติของอัตตา

'คนเขียนหนังสือต้องเข้าใจธรรมชาติของรางวัล เพราะคุณค่าที่เป็นนามธรรม เป็นคุณค่าที่ลื่นไหล หากเข้าใจตรงนี้ได้เราก็จะไม่มีปัญหากับการประเมินค่าใดๆ เลยต่อสถานการณ์ดังกล่าว ผมนึกถึงบทสนทนาระหว่างอัลเลน กินสเบิร์ก, เกรเกอรี่ คอร์โซ และวิลเลี่ยม เอส.เบอร์โรห์ส นักเขียนกลุ่มวรรณกรรม BEAT ที่บอกว่า อย่าไปสนใจเลยครับ พวกเขาติดอยู่ในโลกเมื่อสหัสวรรษก่อน'

ส่วนกวีอีก 2 คนที่เหลือคือ กฤช เหลือลมัย และอุเทน มหามิตร ขอไม่แสดงความคิดเห็น

ทั้งหมดก็เป็นความเห็นส่วนหนึ่งของกลุ่มกวี ที่ได้รับผลกระทบจากแรงกระเพื่อมนี้โดยตรง

อาจถูกใจหรือแทงใจประการใด แต่อย่างน้อยก็เป็นทรรศนะดีๆ ที่ควรเปิดใจรับฟัง


จาก www.matichon.co.th/news_detail.php?id=2351&catid=8  โดย มติชนออนไลน์ : วันที่ 25 สิงหาคม 2550 - เวลา 20:22:41 น.





Comment #1
พัฒนะ ปฐมพงศ์ (Not Member)
Posted @25 ส.ค.50 21.19 ip : 125...85

คนคือคน บทกวีคือบทกวี คนเขียนกวีคือกวี กวีเขียนบทกวี บทกวีไม่ใช่ตัวกวี แล้วรางวัลคืออะไรถึงยิ่งใหญ่กว่าวิญญาณกวี

Comment #2
วรภ วรภา (Not Member)
Posted @26 ส.ค.50 20.07 ip : 61...142

ถึงหมี่น้อย  ปังตอมิพลาดเป้า         คงต้องอ้างว่าเพราะหมี่เอาคำให้สัมภาษณ์นี้มาลงใน ‘หมี่เป็ดสิวะ’  พี่เลยฉวยโอกาสมาก่อความวุ่นวายที่นี่อีกครั้ง         หลังจากอ่านเที่ยวแรก พี่ก็เกิดร้อนรุ่มไปทั้งกายและหัวใจ(หุหุ...)  แต่ครั้นอ่าน 2 – 3 – 4....เที่ยวก็พบว่าผู้ให้สัมภาษณ์ล้วนแต่ให้สัมภาษณ์แบบน่ารัก(ไม่ตัดต่อแต่อย่างใด) ทั้งสิ้น  เพียงแต่พี่เห็นว่าน้องๆ ผู้ให้สัมภาษณ์อาจเข้าใจบางประเด็นคลาดเคลื่อนอยู่จึงอยากพูดคุยกับหมี่  โทษฐานเป็นเจ้าของบ้าน, เป็นผู้นำบทสัมภาษณ์มาลง, เป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบ และเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ถูกใจพี่มากที่สุด(คือ...พี่ ‘ประเมิน’ขนาดหัวใจหมี่ว่า ‘กว้าง’จริงๆ น่ะ – กว้างกว่าพี่หลายเท่าเลย)         ประเด็นแรก  แม้ในแถลงการณ์ฯ (และเจตนาของกลุ่ม ‘ผู้ตรวจสอบ’) จะไม่มุ่งกล่าวถึงผลงานที่เข้ารอบ  แต่กลุ่มผู้ตรวจสอบก็คาดอยู่แล้วว่าอาจจะกระทบความรู้สึกของผู้เข้ารอบอย่างเลี่ยงไม่ได้  ฉะนั้นการที่สื่อสร้างโอกาสให้ได้พูดกันบ้างก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดี  หากส่วนตัวพี่(ไม่เกี่ยวกับกลุ่มผู้ตรวจสอบทั้งหลาย) อยากให้หมี่และศิริวรซึ่งพี่สนิทสนมมากๆ ช่วยตรวจสอบแถลงการณ์ฯอีกที  พี่ยืนยันว่ากลุ่มฯไม่ได้เอ่ยถึงว่างานใครดีกว่าใคร  งานใครด้อยกว่าใคร  งานใครศักดิ์สิทธิ์กว่าใคร  หรือบุคคลไหนนิสัยดีหัวใจมหึมา  บุคคลใดตัวมหึมาหัวใจมด ฯลฯ         ไม่มีเลยจริงๆ....         ตรงข้าม...กลุ่มฯพยายามเลี่ยงที่จะกล่าวถึงชิ้นงานเหล่านี้ซะด้วยซ้ำ         ประเด็นสอง  ถึงจะเห็นว่าผู้ให้สัมภาษณ์ล้วนแต่ให้สัมภาษณ์แบบน่ารัก (แม่จะมีเหน็บแนมมั่ง ก็เป็นแบบ ‘ปัญญาชน’) หากพี่ก็อด ‘ร้อนตัว’ไม่ได้ โดยเฉพาะคำให้สัมภาษณ์ของอังคาร  จันทาทิพย์ซึ่งใช้คำว่า ‘สาธารณ์’ มาเปรียบเปรย  พี่รู้สึก นั่นเป็นคำที่ออกไปทางหยาบคาย ก้าวร้าว  ผิดกับที่เคยได้ยินเพื่อนพ้องกล่าวถึงบุคลิกของอังคาร(พี่ไม่รู้จักกับอังคารเป็นการส่วนตัว แต่เพื่อนสนิทของอังคารบางคนก็สนิทกับพี่)  ถึงแม้โดยบริบท พี่อ่านแล้ว เพ่งคิดแล้วจึงเข้าใจว่าอังคารกำลังออกตัวต่อประเด็นสัมภาษณ์ แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่ากรณีที่พวกพี่ ‘ทำให้เชื่อว่าไม่บริสุทธิ์’ จะเป็นจุดยืนอัน ‘สาธารณ์’ ไปด้วย         โดยเฉพาะข้อความ ‘กวีนิพนธ์ในด้านหนึ่งแล้วมันเป็นการขัดเกลาผู้เขียนไปด้วย’ – พี่ไม่รู้ว่าใคร จำนวนเท่าใด จะกล่าวคำนี้บ้าง  ที่พี่รู้ คือพี่เป็นคนหนึ่งที่พูดคำนี้ (อย่างน้อยพี่เคยให้สัมภาษณ์แก้วกับกานต์ ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อประมาณ 4 – 5 ปีก่อน) เลยทำให้พี่สะดุ้งสะเทือนขึ้นมา         ตอนแรกเข้าใจว่าอังคารคง ‘ศอกกลับ’ พี่เข้าแล้ว (เพราะบังอาจไม่ตรวจสอบต้นทุนทางสติปัญญา  วุฒิภาวะทางความนึกคิด  ขนาดของหัวใจ ว่ามีอยู่เท่าใด)  แต่เมื่ออ่านทวนจึงเห็นว่าอังคารบอกว่า ‘สุดท้ายมันจะนำไปสู่คำถาม’  ซึ่งแสดงว่าเป็นการคาดการณ์ ยังไม่เป็นความจริง....เฮ้อ...โล่งใจไปจิ๊ดนึง         พี่จึงไม่แย้งกับอังคาร แต่ขอระบายกับหมี่ (เอาน่า...ไหนๆ ก็อนุญาตให้พี่มาเล่นที่นี่แล้ว) คือ...ถ้าอังคารคิดยังงั้นจริงๆ (ถ้าไม่ใช่ก็แล้วไป)  พี่ข้องใจว่า ‘การขัดเกลาจิตใจ’ ดังว่า นั่นคือการนิ่งเงียบ  เฉยเมย  ต่อความ อยุติธรรมที่พบเห็นหรือ?         พี่เข้าใจว่า ‘การขัดเกลาจิตใจ’ มันควรหมายถึงการใช้ชีวิตให้ดีงาม เปี่ยมความสง่าภาคภูมิในการอยู่ร่วมกับสังคมและเอื้อต่อชีวิตอื่นๆ ตามควรแก่กรณี  รวมทั้งเมื่อพบเห็นความอยุติธรรมตำตาตำใจ ก็ควรหาญกล้าลุกขึ้นมา ‘ร้องทุกข์’ และ ‘เรียกร้อง’ อย่างจริงใจ  ตรงไปตรงมา  มิใช่หรือ?         ต่อประเด็นให้สัมภาษณ์ของกุดจี่และศิริวร พี่จะไม่เจาะประเด็นเป็นจุดเฉพาะ (พี่กลัวศิริวรน่ะ  เราเคยนั่งถกกันจนสว่างก็ยังสรุปไม่ลง  เดี๋ยวเกิดพี่เจาะเฉพาะจุด เว็บของหมี่จะระเบิดอีก)  แต่พูดรวมๆ ว่าความเข้าใจของน้องๆ เค้าน่าจะคลาดเคลื่อนไปนิดหนึ่ง – ตอนนี้ยังไม่มีใคร ‘ประเมินค่า’ งานของใครเลย  คำถามที่ผู้ตรวจสอบตั้งไว้ คือข้อสังเกตจาก ‘พฤติกรรม’ ต่างหาก  ตัวอย่างเช่น         หรือจะปฏิเสธว่า ‘หมู่บ้านในแสงเงา’ ไม่ได้จัดพิมพ์โดย ‘เครือข่ายนักเขียนฯ’         หรือจะปฏิเสธว่า ‘กรรมการซีไรต์ 2 ท่านนั้น’ ไม่ได้เป็นกรรมการ ‘เครือข่ายนักเขียนฯ’                                   ฯลฯ           ย้ำว่า....กลุ่มตรวจสอบไม่ได้ประเมินค่างานที่เข้ารอบว่าดีหรือไม่ดี  ไม่ได้ประเมินหัวใจว่าของใครกว้างกี่คืบ กี่ศอก กี่โยชน์  ไม่ได้ประเมินว่าบทกวีของใครมีหรือไม่มีพลังกวี  ไม่ได้ประเมินว่าใครมีการใช้ชีวิตแบบไหนและไม่ได้ประเมินว่างานแบบสหัสวรรษก่อนจะด้อยกว่าหรือดีกว่างานในสหัสวรรษหน้า           แต่...เรากำลังตรวจสอบว่ากรรมการ ‘ทำอะไร’ ต่างหาก....           หมี่เอ๊ย...ตอนนี้พี่รอเหตุการณ์อยู่ 3 อย่าง คือ 1.  สมาคมฯ ทั้งสอง ดูแลให้ข้อสงสัยของคนวรรณกรรมเกิดความกระจ่างชัด  2.  นำไปสู่การถกวิจารณ์เพื่อพัฒนา.....           และ 3.  ลุ้นหมี่รับซีไรต์ปีนี้!!!!!!!!!!!!.......ไชโย!!!

Comment #3
Posted @26 ส.ค.50 21.51 ip : 125...41

ขอบคุณครับพี่ ที่มาชี้แจงกรณีบทสัมภาษณ์ของแต่ละคน


ส่วนข้อ3นั่น  แหะๆ 


ผมจะไปกทม.หลายวันอยู่ครับ(พับผ่าสิ ดันต้องขึ้นช่วงประกาศผลซีไรต์) เดี๋ยวกลับมาจะพูดคัยกันนะครับพี่


อันนี้มาประทับรอยไว้ก่อน  ว่าเข้ามาอ่านแล้วครับ


ด้วยความเคารพ-รักเสมอ

Comment #4
จอมปลอม (Not Member)
Posted @27 ส.ค.50 17.26 ip : 203...251

คุณพี่วะรบ(วรภ)บอกว่า

ตอนนี้ยังไม่มีใคร ‘ประเมินค่า’ งานของใครเลย

แล้วข้างล่างนี้คืออิหยังค่ะพี่ๆ

การเป็นกรรมการของบุคคลทั้งสอง(พิเชฐ-พินิจ)ทำให้ผลงานของสมาชิกกลุ่มหน้ารามด้วยกันคือ ศิริวร  แก้วกาญจน์  กับ อังคาร  จันทาทิพย์  เข้ารอบรวม ๓ เล่ม
(งานของผู้ที่ท่านเอ่ยนามและเข้ารอบมา ไร้คุณค่าขนาดนั้นเลยหรือจ๊ะพี่ขา)

และนี่ๆๆๆอีกล่ะ

๕. กรรมการไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง คณะกรรมการส่วนหนึ่งไม่เคยมีผลงานด้านการเขียนกวีนิพนธ์  การวิจารณ์กวีนิพนธ์  หรือการวิจัยกวีนิพนธ์  ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงในวงการวรรณกรรม  หรือแสดงให้เห็นว่า  เป็นผู้ “รู้จริง” ในสาขากวีนิพนธ์  แต่สามารถเข้ามาเป็นกรรมการได้เพราะมีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  หรือคณะกรรมการสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  หรือมีสายสัมพันธ์อยู่กับสมาคมทั้งสองนี้ ตัวอย่างเช่น นายพินิจ  นิลรัตน์  เป็นกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  แต่ไม่เคยมีงานเขียนหรืองานวิชาการใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า  เป็นผู้มีความรู้  ความเข้าใจด้านวรรณกรรมพอเพียงที่จะเป็นกรรมการในรางวัลระดับประเทศ  แต่กลับได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์ถึง ๒ สมัยติดกัน  พิจารณาผลงานทั้งประเภทนวนิยายและกวีนิพนธ์  รวมทั้งเป็นกรรมการในรางวัลอื่น ๆ อีกมาก  ดังกล่าวแล้ว ผลงานในปัจจุบันของ นายพินิจ  นิลรัตน์ คือเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ลงในคอลัมน์รายงานวรรณกรรมของหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับในวันอาทิตย์  เขียนข่าวความเคลื่อนไหววรรณกรรมในหนังสือบางเล่ม  และใช้นามปากกา ฝุ่นฟ้า  ธุลีดิน  เขียนบทกวีลงพิมพ์ตามนิตยสารอยู่บ้าง

ส่วนผลงานในอดีตคือใช้นามปากกา นิด  ระโนด  เขียนบทกวีชื่อ กูคือคอลัมนิสต์  ได้รับรางวัลยกย่อง (ชมเชย) จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  กับเป็นผู้ดูแลคอลัมน์บทกวีในนิตยสาร “ฐานสัปดาห์วิจารณ์”  และหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ”  อยู่ระยะหนึ่ง ผลงานเหล่านี้  โดยเฉพาะการได้รับรางวัลยกย่อง (ชมเชย) จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  กับการดูแลคอลัมน์บทกวี  อาจนำมาใช้ยืนยันความรู้  ความเข้าใจด้านกวีนิพนธ์ได้อยู่บ้าง  แต่คำถามคือ

ทำไมผู้ที่เขียนกวีนิพนธ์  วิจารณ์กวีนิพนธ์  หรือวิจัยกวีนิพนธ์  ซึ่งแสดงภูมิปัญญาที่เหนือกว่า นายพินิจ  นิลรัตน์ อยู่มาก  จึงไม่ได้รับโอกาสจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยให้เข้ามาเป็นกรรมการ?

นี่ๆๆๆๆ เรียกว่าประเมิณได้ป่าวเนี่ยคุณพี่ขา


ในปีที่ผ่านมา  นายพินิจ  นิลรัตน์ ในฐานะกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยาย (ทั้ง ๆ ที่ไม่น่าจะมีความรู้เพียงพอเช่นกัน)

คำว่า[color=#330033](ทั้ง ๆ ที่ไม่น่าจะมีความรู้เพียงพอเช่นกัน) นี่ไม่เรียกว่าประเมิณค่าหรือคะ หากว่าเป็นเพียงข้อสังเกต สังเกตจากอะไรคะ[/color]

และนี่ก็อีกแระ

บุคคลที่ความรู้  ความสามารถ และวุฒิภาวะยังไม่เพียงพอเช่นนี้  สมควรเพียงใดต่อการเป็นกรรมการคัดเลือกรางวัลซีไรต์?

สรุปความได้ว่า  คณะกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์ในปีนี้  เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน  ผิดระเบียบของรางวัล  เล่นพรรคเล่นพวก  มีอคติ  ไม่เข้าใจกวีนิพนธ์อย่างถ่องแท้    ผูกขาดอำนาจ  และไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงในวงการวรรณกรรม ...

นี่ยังไม่พูดถึงบทสัมพลาดของคุณพี่อคติ อ๊ะๆ คุณพี่กานติ ติ ในคมชัดลึก แระจดหมายของจอมปลวก อ๊ะๆ ของภูเขาใหญ่อย่างศิวกานท์อีกล่ะ จดหมายศิกานท์นั้นเห็นเลยว่าเต็มไปด้วยการประเมิณค่าและอารมส ย์เคืองแค้นแน่นทรวง และจะเอาตัวอย่างไหนอีกคะ แต่พอแค่นี้ก่อนดีก่า...กิ๊บๆ

Comment #5
ไอ้ปลง (Not Member)
Posted @27 ส.ค.50 22.08 ip : 203...251

พี่วรภบอกว่า

"หรือจะปฏิเสธว่า ‘กรรมการซีไรต์ 2 ท่านนั้น’ ไม่ได้เป็นกรรมการ ‘เครือข่ายนักเขียนฯ’"

ในทางนิตินัย หรือลายลักษณ์อักษร ยากที่จะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยแน่แท้ครับ กรรมการทั้งสองเคย "มีชื่อ" เป็นกรรมการ "เครือข่ายนักขียนฯ" จริง
แต่ยาวนานแค่ไหนไม่รู้...

เหมือนที่ผมเองก็ "เคยเป็น" ถึงรองประธานฝ่ายวิชาการ แน่ะ สุภาพ พิมพ์ชน ก็เคยเป็น ภาคย์ จินตนมัย (ที่ส่งซีไรต์ปีนี้ด้วย) ก็เคยเป็น จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ก็เคยเป็น พิเชฐ แสงทอง ก็เคยเป็น กระทั่งพี่วุฒิ - เริงวุฒิ มิตรสุริยะ ก็เคยเป็น ที่ว่ามา ตำแหน่งเดียวกันทั้งหมดแหละครับ

และผมเชื่อว่าในทาง "พฤตินัย" นั้น พี่วุฒิ ผม พี่พิเชฐ และสุภาพ (อาจรวมถึงรองประธานทั้งหมด) คงไม่เคยเข้าร่วมประชุมอะไรกับทางเครือข่ายฯ เลยสักครั้ง ยกเว้นวันเปิดตัว (ซึ่งบางคนก็ไม่ได้มา)

ไม่เชื่อ พี่ลองถามพี่เริงวุฒิดูก็ได้ ผมว่าไม่น่าจะแตกต่างกับผม สุภาพ หรือพี่พิเชฐนัก

ถ้าเป็นองค์กรอื่นข้างนอก การไม่เข้าร่วมประชุมเลยแม้สักครั้ง อาจทำให้สมาชิกภาพขององค์กร รวมถึงตำแหน่งกรรมการสิ้นสุดลงแล้วก็ได้ จนแล้วจนรอดถึงป่านนี้ ผมยังไม่รู้ว่าผมยังเป็นรองประธานฝ่ายวิชาการอยู่หรือเปล่า เขายังอนุญาตให้ผมเป็นหรือเปล่า...

ตอนไปมีชื่อในตำแหน่งดังกล่าว
ผมได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมกับเครือข่ายผ่านใครสักคน ซึ่งผมเองก็จำไม่ได้แล้ว ซึ่งผมได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นเจตนาในการรวมกลุ่มของคนวรรณกรรมที่ดี ๆ ต้องการขับเคลื่อนวงการวรรณกรรมด้วยกิจกรรมอันเป็นความริเริ่มประการต่าง ๆ
นอกเหนือจากองค์กรทางวรรณกรรมอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว

และแน่นอนเป็นเรื่องของคนหนุ่ม ๆ ที่ควรค่าแก่การสนับสนุนส่งเสริม

ผมจึงบอกเขาไปว่า ถ้าหวังว่าจะได้ "ตัว" ไปช่วยงานอาจจะลำบาก แต่ถ้าคิดว่าจะเอา "ชื่อ" ผมไปใช้ เพื่อเพิ่มความคึกคัก และทำให้เห็นว่าเครือข่ายมีแนวร่วมทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง ผมก็ยินดี...

นี่คือที่มา... (เข้าใจว่าเครือข่ายเองก็เคยติดต่อกลุ่มคลื่นใหม่ให้เข้าร่วมด้วย)

ผมคิดว่าโดย "พฤตินัย" ผมหรือพี่วุฒิ หรือ พี่พิเชฐ แม้สุภาพเอง ก็ไม่เคยสร้างประโยชน์อะไรให้เครือข่ายเท่าไหร่นัก
(จนกระทั่งเครือข่ายต้องตัดหางปล่อยวัดโดยปริยาย) และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการได้รับประโยชน์โภชน์ผลใด ๆ
ที่เนื่องอยู่กับกิจกรรมของเครือข่ายด้วย

นอกจากผมแล้ว เผลอ ๆ คนอื่นๆ อาจ "มีชื่อ" ติดเข้าไปในเครือข่ายแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรนักเลยก็ได้ เหมือนที่ลงชื่อเรียกร้องกับประชาคมคราวนี้แหละครับ
ผมทราบว่าบางคนก็ไม่รู้เรื่องราวอะไรเลยด้วยซ้ำ

เรื่องทำนองนี้ ผมอยากยกตัวอย่างในส่วนของผมให้ฟังต่อ ถ้าจำไม่ผิดเมื่อไม่นานมานี้ ผมมีชื่อเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ "กองทุนปราศ ราหุล" ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งนั่นคงเป็นความไว้วางใจที่พี่กานติ พี่ดวงแก้ว พี่มาโนช ครูไก่ รมณา ที่มีต่อผม มากกว่าอย่างอื่น ผมมารู้เรื่องนี้เมื่อมีใครสักคนบอกผมว่า
ท้ายเล่ม "เสรีภาพในกล่องของขวัญ" ฉบับพิมพ์กับสยามอินเตอร์บุ๊ก
มีรายชื่อของผมปรากฏเป็นคณะกรรมการกองทุนปราศ ราหุลอยู่ด้วย (ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติที่ผมยังระลึกได้จนบัดนี้)

อย่างไรก็ตาม การ "มีชื่อ" อยู่ในตำแหน่งตรงนั้น ในทาง "นิตินัย" ผมย่อมปฏิเสธไม่ได้เลย

แต่ในทาง "พฤตินัย" ผมสามารถพูดได้ว่า ผมไม่เคยทำประโยชน์อะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้กับ กองทุนปราศ ราหุล เลย และผมเองก็ไม่ได้รับประโยชน์โภชน์ผลใด ๆ กับตำแหน่งดังกล่าวด้วย

ย้อนเวลากลับไป ถ้าจับพลัดจับผลูปีนี้ ผมได้เป็นกรรมการซีไรต์ไปกับเขาด้วยคนหนึ่ง และถ้าผมเลือกงานของพี่กานติ หรือของครูไก่ ผ่านเข้ารอบสุดท้าย เผลอ ๆ อาจมีใครสักคนเอาความเป็นคณะกรรมการกองทุน ปราศ ราหุลของผม มากล่าวหาว่าผมเล่นพรรคเล่นพวกด้วยก็ได้ (มันพวกเดียวกันนี่หว่า)

(ผมดีใจที่ในปีซึ่ง "ที่ซึ่งขุนเขาทะลุเมฆ" ของพี่กานติ และ "WAR เรามีพระเจ้าคนละองค์" ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ เข้ารอบสุดท้าย มีงานพี่วรภด้วย โดยมีพี่พิเชฐ เป็นกรรมการ ไม่มีใครตั้งเรื่องเล่นพรรคเล่นพวกขึ้นมาให้ต้องป่วนปั่นลั่นทุ่งขนาดนี้-ทั้งที่ "โดยรูปการณ์" เขาย่อมทำได้ เพราะพี่การติก็รู้จักสนิทชิดเชื้อกับพี่กานติ และเป็นรุ่นพี่ละแวกหน้ารามของพิเชษฐ์ศักดิ์)

อันนี้เป็นการเล่าสู่กันฟังครับพี่ ส่วนจะฟังขึ้นไม่ขึ้น เป็นแนวเทียบที่ใช้ได้หรือไม่ได้ ก็สุดแท้แต่ใจแล้วแหละครับ ว่าตั้งเรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาด้วยฐานคติแบบใด

ผมขอ "เคลียร์" เรื่องนี้เรื่องเดียว
เพราะเป็นเรื่องเข้ามาใหม่ในแถลงการณ์ นอกนั้นคิดว่าได้พูดถึงไปเกือบหมดแล้วครับ

โดยความนับถือ

ไอ้ปลง

Comment #6
ไอ้ปลง (Not Member)
Posted @27 ส.ค.50 22.12 ip : 203...251

(ผมดีใจที่ในปีซึ่ง "ที่ซึ่งขุนเขาทะลุเมฆ" ของพี่กานติ และ "WAR เรามีพระเจ้าคนละองค์" ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ เข้ารอบสุดท้าย มีงานพี่วรภด้วย โดยมีพี่พิเชฐ เป็นกรรมการ ไม่มีใครตั้งเรื่องเล่นพรรคเล่นพวกขึ้นมาให้ต้องป่วนปั่นลั่นทุ่งขนาดนี้-ทั้งที่ "โดยรูปการณ์" เขาย่อมทำได้ เพราะพี่การติก็รู้จักสนิทชิดเชื้อกับพี่กานติ และเป็นรุ่นพี่ละแวกหน้ารามของพิเชษฐ์ศักดิ์)

แก้ "พี่การติ" เป็น "พี่พิเชฐ"

Comment #7
ไอ้ปลง (Not Member)
Posted @27 ส.ค.50 22.14 ip : 203...251

อ้อ...ลืมไป ปีนั้นมีงานของพี่วอน ศิริวร แก้วกาญจน์ - ประเทศที่สาบสูญ เข้ารอบด้วย ซึ่งนั่นย่อมเพิ่มน้ำหนักให้กวีที่ตกรอบปีนั้น หยิบมาใช้ได้เช่นกัน-หากต้องการ

Comment #8
ไอ้ปลง (Not Member)
Posted @27 ส.ค.50 23.40 ip : 203...251

ผมสังเกตว่า... เลขไอพีของผมกับผู้ที่ใช้ชื่อ "จอมปลอม" ข้างบน ตรงกันนะครับ
ซึ่งจากการถามผู้เชี่ยวชาญ ทราบว่าเกิดขึ้นได้จาการแชร์ไอพี
หรือหมุนเวียนใช้ไอพีของเครือข่ายที่ให้บริการ (ผมใช้ทรูไฮสปีด)

ยืนยันว่า "คนละคน" และไม่ได้ใช้ "เครื่องเดียวกัน" โพสต์แน่นอน

Comment #9
Posted @28 ส.ค.50 6.20 ip : 203...234

ขอบคุณพี่หมี่ที่มาโพสให้อ่าน
ทำให้รู้ข่าวในแวดวงวรรณกรรม

Comment #10
วิฯ (Not Member)
Posted @28 ส.ค.50 9.37 ip : 58...53

รบกวนพี่หมี่เป็ดโชว์ IP ให้ละเอียดทุกตัวได้ไหมครับ - อย่างนี้ก็มีด้วย-อ่านเพลินเลยครับ

Comment #11
กว่าชื่น บางคมบาง (Not Member)
Posted @28 ส.ค.50 9.52 ip : 125...67

เรียน พี่หมีเป็ด ขออนุญาตใช้พื่นที่ส่วนตัว แสดงความเห็น "ส่วนตัว" นะคะ

กรณีที่เกิดขึ้น ได้มีการใช้ทฤษฎีสมคมคิด ในการเชื่อมโยงผลประโยชน์กับกลุ่มเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย ข้าพเจ้าเองซึ่งก็มีชื่อในคณะทำงานเช่นกัน (ก็ไม่แน่ใจว่าถูกถอดถอนไปหรือยังนะคะ) ขออนุญาตเล่าถึงเรื่องราวของเครือข่ายนักเขียนสักเล็กน้อย

อันว่าเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีชื่อใหญ่โตโก้หรูอลังการนั้น ก่อตั้งขึ้นโดยไอเดียบรรเจิดของนักเขียนนักกิจกรรม โดยมีเรืองกิตต์ รักกาญจนันท์ ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มใบไม้ป่าอยู่เดิม ได้ร่วมใจประสานนักเขียนให้ตั้งองค์กรเพื่อสรางกิจจกรรมวงการนักเขียน ทั้งนี้เพราะช่วงนั้นสมาคมนักเขียนเองก็มีกิจกรรมน้อย เด็กๆ ก็อยากทำกิจกรรมบ้าง โดยมีแนวคิดว่า หากเปรียบสมาคมนักเขียนเหมือนภาครัฐ เครือข่ายนักเขียนก็เหมือนองค์กรเอ็นจีโอ ที่จะทำกิจกรรมนอกระบบ คณะประชุมวันก่อตั้ง มีนักเขียนหลายคนรวมทั้งพี่วุฒิ และพี่เอกด้วย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าแต่ละคนมีผลประโยชน์ แต่แสดงให้เห็นว่า หลายคนต้องการเห็นกลุ่มกิจกรรมเกิดขึ้น

แม้ภาพการก่อตั้งค่อนข้างสวยหรู แต่ในความเป็นจริงก็เป็นดังที่คุณไอ้ปลงได้กล่าวไว้ นั่นคือ ชื่อของคณะทำงานส่วนใหญ่เป็นการเชื้อเชิญ เพื่อให้เกิดความคึกคัก บางคนเราทาบทามทางโทรศัพท์ และลงชื่อไปในชื่อคณะทำงานที่เห็นว่าเหมาะสม ที่สำคัญส่วนใหญ่เป็น "คนรุ่นเดียวกัน" เพื่อที่ว่าเราจะได้คุยกันง่ายๆ ภาษาเดียวกัน ไม่ต้องอธิบายกันมาก ส่วนประธานเครือข่ายก็เชิญ นกป่า อุษาคเนย์รับหน้าไปก่อน

ในการดำเนินการกิจกรรม ในความเป็นจริงก็คือ เรื่องกิตติ์รับหน้าที่หนัก พร้อมด้วยกลุ่มใบไม้ป่าเดิม เช่น ป๋อง พี่เอ คุณซีน มาช่วยงาน ส่วนผู้มีชื่อในคณะทำงานของเครือข่ายนั้น ส่วนใหญ่จะไม่มา ยกเว้นได้รับเชิญเป็นพิเศษ เช่น เป็นกรรมการตัดสินรางวัล หรือ เป็นวิทยากร เสวนา ถ้าหากยกเอาชื่อสุภาพ กับ พิเชฐ มากล่าวถึง คุณพิเชฐ ไปประชุมสมาคมนักเขียนบ่อยครั้งมาก แต่ไม่เคยมาประชุมที่เครือข่ายเลย ยกเว้นการประชุมเพื่อตัดสินรางวัล

ที่สำคัญคือ เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นการรวมตัวกันโดยยังไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย เป็นการรวมกลุ่มกิจกรรมทั่วไป ไม่ต่างจากกลุ่มหน้าราม กลุ่มนาคร เพียงแต่เราพยายามจัดตั้งองค์กรให้มีรูปแบบที่ชัดเจน ป้องกันการล้มครืนแบบองค์กรนักเขียนทั่วๆ ไป ที่เกิดๆ ดับๆ มาบ่อยครั้ง ทำให้กิจกรรมไม่สืบเนื่อง ล้มพับกลางคัน เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง

ส่วนโครงการพิมพ์หนังสือของโกสินทร์ ก็เป็นโครงการของเครือข่าย ที่ต้องการสนับสนุนนักเขียนหน้าใหม่ ที่ทำงานจริงจัง การส่งรางวัลต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสให้นักเขียน มิใช่โอกาสของเครือข่ายหรอก ว่ากันตามจริง เอาเถอะ ถามจริงๆ การพิมพ์กวีนิพนธ์น่ะ มันสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำหรือคะ เราทำสำนักพิมพ์มายาวนาน ขนาดพิมพ์งานของเรวัตร เล่มแรก บ้านแม่น้ำ กี่ปีแล้วคะ จะยี่สิบปีแล้วมั้ง ป่านนี้ยังขายไม่หมด เครือข่ายมิได้หวังว่าโกสินทร์จะได้ซีไรต์หรอกค่ะ และถ้าถามความเห็นส่วนตัว เราก็คิดงาน งานโกสินทร์ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่น่าจะได้รางวัล เหมือนที่เราในนามสำนักพิมพ์ส่วนตัวเคยพิมพ์งานของอุทิศ เหมะมูล เราเชื่อว่างานของเขาดี แต่ก็รู้ว่าไม่น่าจะได้รางวัล แต่เราก็ส่งประกวด เพื่อให้โอกาสนักเขียน มันก็เป็นไปตามกระบวนการค่ะ

เครือข่ายถูกโจมตีหนัก ในประเด็นผลประโยชน์ ก็แล้วแต่จะคิดกันนะคะ ว่ามันมีผลประโยชน์แค่ไหน คนที่ทำงานอย่างพี่กิตติ์ ทำงานหนักมาก ๆๆๆๆๆ มากเกินกว่าที่เราจะจินตนาการเลยล่ะ เพื่อสร้างภาพและสร้างความมั่นคงให้เครือข่าย แบกหน้าไปขอเงินองค์กรต่างๆ มาจัดกิจกรรม  มันจึงเกิดกิจกรรม อาจจะออกนอกหน้า เกินหน้าเกินตา แต่ทั้งหมดเกิดจากความตั้งใจจริง ของทั้ง นกป่า และเรืองกิตต์ ยกความดีให้ จริงๆ

ข้าพเจ้าเอง ในฐานะที่ร่วมงานกับเครือข่ายบ้างในบางโอกาส (บอกตามตรง อินดี้บุคส์ 4 ภาค เราไม่เคยไปไหนกับเขาแม้แต่ครั้งเดียว) มองเห็นความพยายามที่จะสรางองค์กรของเครือข่าย และมองเห็นความพยายามจะสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้รักการอ่าน ด้สัมผัสความรู้สึกดีๆ เวลาได้อ่านและได้พบนักเขียน นี่เป็นเหมือนเป้าหมายหลักของกลุ่ม

ทำอย่างไร ให้คนอ่านหนังสือมากๆ อ่านอย่างมีคุณภาพ รู้จักอ่านงานชั้นดี อ่านวรรณกรรม อ่านกวี ก็ต้องทำให้เขารู้จัก สัมผัสได้ ถึงคุณค่า และหัวใจของการอ่าน หัวใจของนักอ่าน และหัวใจของนักเขียน

เรื่องรางวัล เป็นปัจจัยนอก ที่ช่วยส่งเสริมนักเขียน แต่นักอ่านตัวจริง เขามองกันที่งานค่ะ ถามเราสิ เราเป็นแม่ค้าขายหนังสือมาตลอด นับถึงปีนี้ก็ 10 ปีแล้ว นักอ่านจริงๆ เขาอ่านแล้วเขาก็รักหนังสือ และรักนักเขียน เขารักนักเขียนหรอกนะคะ เขาจึงอ่านหนังสือของคนนั้นๆ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เขาลืมเรื่องรางวัลไปเลยค่ะ ตอนที่เขาติดตามผลงานใหม่ๆ ของนักเขียนที่เขารัก

เชื่อแม่ค้าเถอะค่ะ

ด้วยรักและเคารพพี่หมี่เป็ด
ปล. ขอให้วันนี้พี่ได้รับข่าวดีนะคะ

ด้วยเคารพกวีและนักเขียนทุกท่าน

กว่าชื่น บางคมบาง

Comment #12
เกรียนบอย (Not Member)
Posted @28 ส.ค.50 11.39 ip : 58...205

กรณี IP ซ้ำในยุคปัจจุบันมิใช่เรื่องแปลกประหลาดอนาถใจแต่ประการใด เนื่องจาก เส้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตระบบเช่า-เหมาจ่ายรายเดือนนั้น จะปรากฏเลข IP เพียงหมายเลขเดียว ต่างจากระบบการหมุน MODEM สมัยก่อน สาเหตุหลักมี 2 ประการด้วยกัน... 1. NAT ของผู้ POST 2 คนที่ซ้ำกันนั้น อาจเป็นไปได้ว่ามีการเช่าเส้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตแบบเหมาจ่ายรายเดือนกับ ISP เจ้าเดียวกัน ซึ่งใช้เทคนิค NAT โดย IP ที่แสดงใน WEBBOARD นั้นจะถูกส่งผ่านมาจาก GATEWAY เดียวกัน ดังนั้นจึงแสดงหมายเลข IP เบอร์เดียวกัน

2.DHCP ของผู้ POST ที่มีการเช่าเส้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตแบบเหมาจ่ายรายเดือนกับ ISP เจ้าเดียวกัน เมื่อคนแรกเชื่อมสัญญาณ สมมุติว่าได้ IP : 123 แล้วไป POST ข้อความใน WEBBOARD พอคนที่ 2 เชื่อมสัญญาณ ก็จะได้ IP : 123 เหมือนกัน

เหตุดังนั้น กรณี "ไอ้ปลง" ที่หากว่าใช้ ISP เจ้าเดียวกันกับ "จอมปลอม" แล้วมา POST ใน WEBBOARD ของ DUCK RAMEN ในกระทู้เดียวกัน ชาวบ้านจึงหมายเลข IP เดียวกัน ซึ่งมิใช่เรื่องแปลกประหลาดอนาถใจแต่ประการใดในยุคปัจจุบันอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น.

Comment #13
ผู้สังเกตุการณ์ (Not Member)
Posted @28 ส.ค.50 12.30 ip : 202...79

เหมือนที่ผมเองก็ "เคยเป็น" ถึงรองประธานฝ่ายวิชาการ แน่ะ สุภาพ พิมพ์ชน ก็เคยเป็น ภาคย์ จินตนมัย (ที่ส่งซีไรต์ปีนี้ด้วย) ก็เคยเป็น จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ก็เคยเป็น พิเชฐ แสงทอง ก็เคยเป็น กระทั่งพี่วุฒิ - เริงวุฒิ มิตรสุริยะ ก็เคยเป็น ที่ว่ามา ตำแหน่งเดียวกันทั้งหมดแหละครับ

ไอ้ปลงหลงลืมไปอีกท่านหนึ่ง นั่นก็คือ เวียง วชิระ บัวสนธ์ หนึ่งในที่ปรึกษาเครือข่ายนักเขียน และประชาคมวรรณกรรมก็ไม่ได้นำมากล่าวถึง (น่าแปลกใจที่ไม่กล่าวถึง ในขณะที่กล่าวถึงพิเชฐกับสุภาพว่ามีสายใยผูกพันกับเครือข่ายนักเขียน เลยส่งผลให้งานของโกสินทร์เข้ารอบ) ประชาคมวรรณกรรมคงหลงลืมไปว่าสามัญชนพิมพ์งานของหมี่เป็ดซึ่งเข้ารอบ 8 เล่มสุดท้ายเช่นกัน  หรือในกรณีนี้ถือเป็นข้อยกเว้น (เลือกปฏิบัติ) ไม่จำเป็นต้องนำมาชี้แจงในแถลงการณ์!!

หรือหากประชาคมวรรณกรรมคิดไปเองว่า "ดอนเวียง" ไม่มีเอี่ยว เลยไม่พาดพิง แล้วเหตุใดถึงคิดว่าพิเชฐกับสุภาพมีเอี่ยวก็ไม่อาจทราบได้

ขออภัยหมี่เป็ด ที่จำเป็นต้องกล่าวถึง เนื่องจากความสงสัยในการเลือกปฏิบัติของกลุ่มประชาคมวรรณกรรม

Comment #14
ไอ้ปลง (Not Member)
Posted @28 ส.ค.50 14.55 ip : 210...35

ซีไรต์ในดวงตาข้าพเจ้า ---มนตรี ศรียงค์

ยินดีด้วยครับพี่หมี่เผ็ด

เหมาะและสมควร (ไม่ด้วย)

Comment #15
วิกมล (Not Member)
Posted @28 ส.ค.50 15.08 ip : 203...48

ยินดีด้วยเช่นกันครับ

Comment #16
พันธกานท์ ตฤณราษฎร์ (Not Member)
Posted @28 ส.ค.50 21.56 ip : 203...9

ครับยินดีด้วยคนครับผ้ม

Comment #17
แป้งร่ำ (Not Member)
Posted @29 ส.ค.50 9.21 ip : 203...251

ดีใจด้วยนะคะพี่ ลางดี ชุ่มฉ่ำตั้งแต่ก่อนคืนวันประกาศแล้วนี่นา

Comment #18
ไอ้ปลง (Not Member)
Posted @29 ส.ค.50 10.22 ip : 210...35

ข้อสังเกต ของ ผู้สังเกตการณ์ เป็นประเด็นเดียวกับที่ผมตั้งประเด็นคำถามไว้แล้วตั้งแต่ต้นต่อแถลงการณ์ของกลุ่มกวีใต้

เพียงแต่อาจตกหล่นข้อมูลส่วนนี้ ขอขอบคุณที่ช่วยเติมเต็ม

นั่นเป็นการยืนยันว่า
แถลงการณ์มุ่งโจมตีกรรมการบางราย และกวีบางกลุ่ม โดยเฉพาะเจาะจง และเจตนาละเลยรายละเอียดหลาย ๆ ประการ จนยากที่จะเชื่อว่ามีเจตนาที่บริสุทธิ์ เพราะเนื้อนัยของแถลงการณ์เต็มไปด้วยอคติ เลือกปฏิบัติ และเล่นพรรคเล่นพวก ด้วยเช่นกัน

Comment #19
ผู้สังเกตุการณ์ (Not Member)
Posted @30 ส.ค.50 0.16 ip : 202...62

ขอก็อปปี้ข้อความของลุ่มน้ำ ณฯ จากกระทู้ไทยไรเตอร์เพื่อขยายความของไอ้ปลง เผื่อสะกิดต่อมสำนึกใครบางคน

ผิดพลาดขนานใหญ่เลยออกมาแบบนี้ ตัดสินใจเร็วไปหน่อย
ถ้าจับประเด็นลึกลงไปคร่าวๆนี่เห็นจะพุ่งไปที่ประเด็นเล่มของโกสินทร์มากกว่าน่ะนี่ คนอื่นๆไม่ค่อยเห็นพูดถึงเท่าไหร่คงเพราะรู้ฝีมือกันดีอยู่แล้ว แต่โกสินทร์น้องใหม่ต้องโดนข้อหาเด็กเส้นมั้งงานนี้

งานนี้ถ้าไม่จงใจเล่นน้องโกสินทร์ก็คงตั้งใจเล่นเครือข่ายนักเขียนเป็นแน่ ตีวัวกระทบคราดกันทำไมละท่าน

Comment #20
จร (Not Member)
Posted @30 ส.ค.50 17.03 ip : 202...11

สวัสดีคุณไอ้ปลง  (ปลงซะเถอะ)

......................... คุณผู้สังเกตการณ์ครับ เกี่ยวอะไรกับพี่เวียง  พี่เวียงเป็นกรรมซีไรท์กะเค้าเหรอจ๊ะ... ..และที่เค้าพูดถึงโกสินท์ก็เพราะ กรรมการซีไรท์ เป็นกรรมการสำนักพิมพ์ที่ส่งงานด้วย แล้วดันเข้ารอบมา ซึ่งมันผิดกฎระเบียบซีไรท์! ชัดเจนจ้า

Post new comment

« 3575
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง

งานเขียนของข้าพเจ้า

personมุมสมาชิก

Last 10 Member Post

Web Statistics : online 0 member(s) of 7 user(s)

User count is 2287876 person(s) and 9320144 hit(s) since 8 พ.ค. 2024 , Total 550 member(s).