ทรรศนะ(ว่าที่)ซีไรต์ ต่อปรากฏการณ์ กวีกระเพื่อม
การตัดสินรางวัลซีไรต์ในแต่ละปี มักจะมีเรื่องราวเกิดขึ้น ให้ได้วิพากษ์วิจารณ์กันในแวดวงวรรณกรรมอยู่สม่ำเสมอ และในปี พ.ศ.2550 ที่เฟ้นหากวีซีไรต์คนที่ 10 นี้ ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่เกิดแรงกระเพื่อมค่อนข้างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่เห็นด้วยที่กวีบางเล่มได้เข้ารอบ จึงพุ่งเป้าโจมตีไปยังคณะกรรมการรอบคัดเลือก
และเหตุทั้งหมดได้ก่อเกิดกลุ่ม ประชาคมวรรณกรรมแห่งประเทศไทย ที่นำโดยวรภ วรภา, กานติ ณ ศรัทธา และวิสุทธิ์ ขาวเนียม ขึ้นมาโดยออก แถลงการณ์ตรวจสอบคณะกรรมการรางวัลซีไรต์รอบคัดเลือก พ.ศ.2550 และเสนอ 5 ประเด็นดังนี้ 1.กรรมการปีนี้เป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผิดระเบียบรางวัล 2.เล่นพรรคเล่นพวก 3.มีอคติและไม่เข้าใจกวีนิพนธ์ 4.ผูกขาดอำนาจ และ 5.ไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงในแวดวงวรรณกรรม
ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นของกวีกลุ่มหนึ่ง แล้วอีกกลุ่มอย่าง กวีที่เข้ารอบสุดท้าย ล่ะ คิดเห็นเช่นไร
มติชน มีคำตอบมาฝากกัน แบบไม่มีตัดต่อแม้แต่น้อย!
น้องเล็กสุดอย่าง โกสินทร์ ขาวงาม เจ้าของผลงาน หมู่บ้านในแสงเงา แสดงความเห็นสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า
'ผมได้ทำงานของผมแล้ว ได้ทำงานในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของกวี เรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องของคนอ่านและสาธารณชนที่ต้องตัดสินกันต่อไป'
ต่อกันที่กวีมาดเท่ มนตรี ศรียงค์ ผู้เขียน โลกในดวงตาข้าพเจ้า ก็มองว่า
'เห็นด้วยในกรณีที่มีการตรวจสอบเมื่อพบว่ามีอะไรน่าจะผิดปกติ ด้วยการตั้งคำถามและชี้ความผิดปกตินั้นให้เห็นชัดอย่างมีน้ำหนัก ไม่ว่าความผิดปกติที่เห็นนั้นจะต่อกรรมการหรือต่อหนังสือที่เข้ารอบ เราสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามได้
ด้วยเมื่อมันเป็นรางวัลที่มีคนจับตามองมากที่สุด มันย่อมอยู่กลางแจ้ง และความสง่างามเท่านั้นจึงจะทำให้รางวัลนี้ทรงเกียรติ ประชาคมฯที่เกิดขึ้นตามแถลงการณ์ก็ได้ระบุชัดแล้วว่าก่อตั้งขึ้นมาด้วยเหตุและเรื่องอะไร และแถลงการณ์ฉบับร่างเราก็ได้อ่านกันทั่วถึงแล้ว ก็เป็นหน้าที่ภาระของพวกเราที่จะตริตรองกัน เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ล้วนเป็นสิทธิส่วนบุคคล
'การปะทะกันทางความคิดเห็นครั้งนี้ อาจดูเหมือนรุนแรง ซึ่งจริงๆ ก็เพียงแค่ดูเหมือนเท่านั้น เหมือนน้ำนิ่งในกะละมัง เมื่อมีใครโยนอะไรลงไปสักหน่อย ก็กระเพื่อมวงกว้างออกไป กระทบต่อผู้คนในวงการอย่างทั่วถึง แต่เมื่อผ่านระยะ ก็จะกลับมาเป็นน้ำนิ่งๆ อีกครั้ง ที่เราทุกคนก็ต้องต่างทำงานของตัวเองกันไปตามลำพัง
'อย่างไรก็ตาม แรงกระเพื่อมของน้ำย่อมส่งผลแน่นอนในระดับหนึ่ง นั่นคือการครุ่นคิดไตร่ตรองต่อคำถามที่ประชาคมฯได้ตั้งขึ้น และเราก็ต่างมีคำตอบของตน เราต้องเชื่อในเจตนาของแถลงการณ์ เช่นที่ต้องเชื่อในความเห็นต่อหนังสือเข้ารอบแต่ละเล่มของกรรมการรอบแรก จากนั้นก็ต้องมาสังเคราะห์เอาเองว่าน้ำหนักฝ่ายไหนจะมากกว่ากัน ไม่ใช่การเลือกยืนข้างแต่มันเป็นการใช้ปัญญาอย่างที่สุดในการรับรู้อย่างฉลาด
'แถลงการณ์ฉบับนี้จะเป็นเรื่องเป็นราวได้ ก็ต่อเมื่อมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง ควรยื่นเรื่องไปยังสมาคมนักเขียนฯให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการ เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้แถลงการณ์นี้ปรากฏเป็นรูปธรรมได้จริง มีบทสรุปและมาตรการที่ดีจากผู้มีหน้าที่โดยตรง ลำพังออกแถลงการณ์ส่งผ่านไปยังกวีและสื่อ ไม่สามารถจะหาบทสรุปได้ และที่สุดก็จะผ่านเลยไปเงียบๆ'
ด้าน อังคาร จันทาทิพย์ ผู้เขียน ที่ที่เรายืนอยู่ ก็แสดงความเห็นได้อย่างน่าสนใจว่า
'กับสภาวการณ์นี้ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกวีที่เข้ารอบสุดท้าย และการออกมาตอบคำถามนี้ น่าจะเป็นเรื่องง่ายที่จะถูกเข้าใจผิด ถูกมองว่ามีอคติ หรือกระทั่งถูกมองว่าเป็นการพูดเพื่อปกป้องประโยชน์ตัวเอง
'โดยส่วนตัว เข้าใจว่าจริงๆ เป็นประเด็นที่ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แต่จะพูดยังไง แสดงจุดยืนยังไงถึงจะไม่ดูสาธารณ์ เพราะเรื่องของการที่จะตัดอคติออกจากความรู้สึก ที่ถูกทำให้เชื่อว่ามันไม่บริสุทธิ์ใจนั้น เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ฉะนั้น การที่จะพูดถึงสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อว่าไม่บริสุทธิ์ โดยไม่มีอคติเจือปนยิ่งเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า
'หากผ่านเลยเรื่องที่เป็นของตัวเองไปได้ อย่างที่กลุ่มผู้คัดค้านพยายามจะอ้างถึง โดยเป้าหมายการเรียกร้องยังประโยชน์แก่คนในวงกว้าง หรือส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรฉ้อฉล หรือแอบแฝงนั้นน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ทั้งหมดกับความเชื่อที่ว่า มีความไม่สมเหตุผลบางอย่างเกิดขึ้น และกลายเป็นข้อเรียกร้องนั้น ความรู้สึกและข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นมันมีพื้นฐานความสมเหตุสมผลรองรับอยู่มากแค่ไหน
'สุดท้ายมันจะนำไปสู่คำถามที่ว่า อะไรทำให้มนุษย์หรือคนเขียนบทกวีคนหนึ่ง ร้องทุกข์กล่าวโทษเอากับคนอื่น เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากคนอื่น โดยผ่านเลยข้อผิดพลาดบกพร่องตัวเอง มันจะนำไปสู่คำถามที่ว่าอะไรทำให้มนุษย์หรือคนเขียนบทกวีคนหนึ่ง เอาอะไรไปตัดสินสติปัญญา ความรู้สึกนึกคิด ขนาดความกว้างหัวใจของคนอีกคน โดยหลงลืมหรืออาจจะไม่เคยสำรวจตรวจสอบว่า ตัวเองมีต้นทุนทางสติปัญญา มีวุฒิภาวะทางความรู้สึกนึกคิดมากน้อยแค่ไหน ขนาดความกว้างของหัวใจเท่าไหร่
'และในที่สุดมันจะทำให้เกิดภาพและเกิดความรู้สึกว่า ไอ้คำพูดที่ได้ยินได้ฟังจากปากคนเขียนบทกวีมาตลอดว่า 'กวีนิพนธ์ในด้านหนึ่งแล้วมันเป็นการขัดเกลาผู้เขียนไปด้วย' เป็นคำพูดโกหกพกลมในสายตาของผู้อ่านและเฝ้ามองเหตุการณ์อยู่ภายนอกหรือเปล่า นี่ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจ
'กลับไปนั่งทำงานของใครของมันเงียบๆ อย่างเอาจริงเอาจังน่าจะดีกว่า และน่าจะเป็นคำตอบให้กับข้อเรียกร้องต่างๆ นานาในเรื่องของคุณภาพ พัฒนาการของชิ้นงาน ซึ่งแท้จริงแล้วควรเรียกร้องเป็นเบื้องแรกจากตัวเองมากกว่าคนอื่น'
ต่อที่กวีอารมณ์ดี กุดจี่-พรชัย แสนยะมูล ที่ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า
'หลายคืนมาแล้วที่ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของพี่กานติ ณ ศรัทธา รู้สึกว่าผมจะถูกพาดพิงด้วยว่า งานของผมสู้งานของ อ.ศิวกานท์ ไม่ได้ เพิ่งรู้ว่า เดี๋ยวนี้มีสนามแข่งขันวัวกวีด้วย คงคล้ายๆ วัวกระทิงมั้ง (หัวเราะ) ผมได้อ่านทั้งงานของ อ.ศิวกานท์เล่มที่เข้ารอบลึก แต่ผมชอบเล่มก่อนของแกมากกว่านะ 'ครอบครัวดวงตะวัน' และงานของทั้งสามคนผู้ร่วมก่อตั้งประชาคมวรรณกรรมฯขึ้นเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ผมก็ได้อ่าน ไม่ว่าจะงานของพี่กานติ งานของเพื่อนวิสุทธิ์ งานของพี่วรภ อ่านแล้วก็ชอบ ชอบเพราะภาษาด้วย โดยเฉพาะของเพื่อนวิสุทธิ์กับพี่วรภภาษาสวยฟุ้งฝัน แต่...แต่อะไรคงต้องไปถามกรรมการซีไรต์ เพราะผมก็เห็นด้วยกับกรรมการซีไรต์นะ ว่าทำไมไม่ให้สามคนเข้ารอบ ไม่เกี่ยวกับสัมพันธภาพของกวีที่ตีซี้ตีซั้วกับคณะกรรมการนะ แต่เกี่ยวกับพลังของบทกวีที่มีไม่มากพอ อ้าว! เผลอเฉลยซะงั้น (หัวเราะ)
'ส่วนงานแปดเล่มที่เข้ารอบมา ผมก็ได้อ่านทั้งหมดมีบ้างบางบทที่ไม่ชอบ รวมทั้งของผมด้วย แต่ชอบมากกว่าไม่ชอบ ที่ชอบเพราะไม่ใช่ว่าเพราะผมเข้ารอบนะ สมมุติว่าแปดเล่มที่เข้ารอบมาครั้งนี้อาจจะมีเล่มใดเล่มหนึ่งหรือทั้งแปดเล่มจะกอดคอกันตกรอบ ผมก็ยังชอบมากกว่าไม่ชอบอยู่ดี ชอบในความเป็นบทกวี ไม่ใช่ชอบในหน้าตาหรือดีกรีของกวี อ้าว! กวีก็มีดีกรีด้วยเหรอ ที่กวีมีดีกรีคงเป็นเพราะว่า กวีดื่มแอลกอฮอล์ (หัวเราะ)
'อยากถามกลับไปยังผู้ที่จะตรวจสอบกรรมการซีไรต์ว่า ก่อนจะตรวจสอบคนอื่น คุณได้ตรวจสอบตัวเองหรือยัง ตรวจสอบโดยการอ่าน หาข้อตำหนิงานของตัวเอง และที่สำคัญต้องอ่านงานของคนอื่นด้วย อ่านแบบหาข้อชื่นชม อย่ามัวแต่ตัดสินจากภาพบางภาพที่ติดตัวกวีบางคนมา หน้าตาดีขนาดนี้จะเขียนบทกวีดีๆ ได้อย่างไร เขียนบทกวีฮาๆ อย่างนี้ บทกวีจะมีพลังได้อย่างไร (หัวเราะ) อย่าลืมนะครับว่า พระเจ้าก็เคยหัวเราะ หรืออย่ามัวแต่มองว่าเพิ่งเขียนกวีเล่มแรก ไหนเลยจะเทียบชั้นกับกวีผู้เคี่ยวกรรม เอ๊ย! เคี่ยวกรำมาหลายรอบแล้ว
'อย่าให้รางวัลมาทำลายภาวะกวีที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในโลกมนุษย์นี้เลยครับ รางวัลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต ชีวิตก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต หันหน้ามาอ่านบทกวีของกันและกันเถอะครับ ชีวิตสั้นแต่บทกวีนั้นสั้นกว่า และก็อย่าลืมสร้างสรรค์กวีตามวิถีของแต่ละคน จะซีเรียส หวานซึ้ง ฟุ้งฝัน ขำขำ ก็เขียนกันไป แตกต่างกันได้แต่อย่าแตกกันครับ ขอสันติภาพจงมีแก่โลก
'และเมื่อส่งบทกวีลงแข่งในสนามนักสู้วัวกวีแล้ว เราก็ควรให้เกียรติกรรมการชุดนั้นๆ แม้ว่ากรรมการเหล่านั้นจะมีรสนิยมที่แตกต่างจากเราอย่างสุดขั้วก็ตาม ถึงตรงนี้ขอย้ำอีกทีครับว่า คำว่า 'นักสู้วัวกวี' นี่เป็นมุมมองของผมนะครับ วัว ต้นข้าว ต้นหญ้าดอกไม้ ผีเสื้อ แมลงปอ แมงมุม แมลงกุดจี่ แมงดา แมงง้องแง้ง ภูเขาหิมาลายาบูเก้ หรือจอมปลวกนิรนามก็เป็นกวีได้ ไม่เพียงแค่มนุษย์อุจจาระเหม็นที่เขียนบทกวีเท่านั้นหรอกครับที่มีสิทธิเป็นกวี'
และสุดท้าย ศิริวร แก้วกาญจน์ กวีซึ่งเพิ่งจะได้รับรางวัลคัดสรรอย่าง ศิลปาธร ที่พาบทกวี 2 เล่มอย่างเก็บ ความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก และ ลงเรือมาเมื่อวาน เข้ารอบ ก็แสดงทรรศนะที่เฉียบคมว่า
'ปัญหาของโลกทุกวันนี้ หลักใหญ่ใจความอยู่ที่ว่า เรามักประเมินค่าคนอื่นโดยขาดวุฒิภาวะ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า เราละเลยหลงลืมการประเมินค่าตัวเอง หรือไม่ก็ประเมินค่าของตัวเองภายใต้อาณัติของอัตตา
'คนเขียนหนังสือต้องเข้าใจธรรมชาติของรางวัล เพราะคุณค่าที่เป็นนามธรรม เป็นคุณค่าที่ลื่นไหล หากเข้าใจตรงนี้ได้เราก็จะไม่มีปัญหากับการประเมินค่าใดๆ เลยต่อสถานการณ์ดังกล่าว ผมนึกถึงบทสนทนาระหว่างอัลเลน กินสเบิร์ก, เกรเกอรี่ คอร์โซ และวิลเลี่ยม เอส.เบอร์โรห์ส นักเขียนกลุ่มวรรณกรรม BEAT ที่บอกว่า อย่าไปสนใจเลยครับ พวกเขาติดอยู่ในโลกเมื่อสหัสวรรษก่อน'
ส่วนกวีอีก 2 คนที่เหลือคือ กฤช เหลือลมัย และอุเทน มหามิตร ขอไม่แสดงความคิดเห็น
ทั้งหมดก็เป็นความเห็นส่วนหนึ่งของกลุ่มกวี ที่ได้รับผลกระทบจากแรงกระเพื่อมนี้โดยตรง
อาจถูกใจหรือแทงใจประการใด แต่อย่างน้อยก็เป็นทรรศนะดีๆ ที่ควรเปิดใจรับฟัง
จาก www.matichon.co.th/news_detail.php?id=2351&catid=8 โดย มติชนออนไลน์ : วันที่ 25 สิงหาคม 2550 - เวลา 20:22:41 น.
Relate topics
- บทสัมภาษณ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
- บทวิจาร์ณโลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย สุภาพ พิมพ์ชน
- บทสัมภาษณ์ต่อปัญหาภาคใต้
- มี ก อ ง วั ส ดุ บ น ไ ห ล่ ท า ง
- การสร้างสรรค์วรรณกรรมในภาวะวิกฤติสังคมไทย: บทวิเคราะห์กรณีศึกษาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ,บ้านทรายทองและปีศาจ
- สุดดิน เพลงปลุกใจที่ยังอยู่ในความทรงจำ
- บทสัมภาษณ์ใน วารสารโรงเรียนนางรองพิทยาคม
- บทสัมภาษณ์ใน ศิลปวัฒนธรรม
- บทวิจาร์โลกในดวงตาข้าพเจ้า โดย ภาคย์ จินตนมัย
- บทสัมภาษณ์ใน the nation.