แด่เด็กหนุ่ม
แด่เด็กหนุ่ม
เย็นในฤดูมรสุมหนึ่ง เรา- ผมกับเพื่อนอีก 3-4 คน ต่างกระโจนลงน้ำด้วยความคะนอง ผมว่ายออกไปเรื่อยๆสู่ความเวิ้งว้าง ท่ามกลางเสียงเรียกกลับและตะโกนเตือน ครั้นเหลียวหลังกลับก็ต้องใจหายวาบเมื่อมองฝั่ง ระยะทางนั้นไกลเกินกว่าแรงที่เหลือจะกลับถึง ผมตัดสินใจดำลงไปใต้น้ำแล้วโผล่ขึ้นมาหายใจ จนเมื่อมือสัมผัสกับทรายจึงได้รู้ว่าปลอดภัยแล้ว ผมใช้มือจิกผืนทราย แล้วลากตัวเองเคลื่อนไปข้างหน้า และขึ้นฝั่งที่ห่างจากจุดตอนลงเล่นน้ำไปหลายสิบเมตร
วัยหนุ่ม วัยที่ทรงพลังอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง ผมเคยตะลึงกับลูกนิ้วของริชชี แบล็กมอร์ ที่ไล่สเกลบนกีตาร์ เคยนิ่งจังงังกับภาพที่มาราโดนาเลี้ยงฟุตบอลครึ่งสนาม หลายต่อหลายคนที่สร้างความมหัศจรรย์ให้โลกตะลึงได้ด้วยวัย 20 กว่าปี เช่นกัน ที่ผมพบเห็นการทำลายล้างอันน่าสะพรึงกลัวสยดสยองของคนอายุ 20 ต้นๆ มันเป็นพลังที่พวยพุ่งออกมาจากเรี่ยวแรงแห่งวัยอันสดใหม่ เรี่ยวแรงที่ถูกใช้ไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งจะชั่วหรือดีขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณของคนผู้นั้นเอง
ย้อนคิดกลับไปตอนเขียนหนังสือใหม่ๆ ความอยากได้ชื่อว่านักเขียนมันถั่งท้นจุกอยู่ในทรวงแทบทะลัก ผมอ่านหนังสืออย่างบ้าคลั่ง อ่านอย่างหิวกระหายกับเรื่องราวต่างๆ การรับรู้โลกกว้างที่ไม่เคยพบเห็นทำให้ผมจ่อมจมอยู่ได้เป็นคืน วัยขณะนั้น 20 กว่าๆ ผมอ่านหนังสือจนเลยเวลานอน ครั้นหลับตาลงด้วยความอ่อนเพลีย เพียง 2-3 ชั่วโมงก็ต้องลุกมาทำงานเตรียมตั้งร้าน ทั้งวันกับความเหน็ดเหนื่อยนั้น เมื่อเก็บร้านเสร็จในเวลาเย็น ผมก็ยังมีแรงอ่านหนังสือต่อจากเมื่อคืนได้อีก เช่นนี้เป็นปีๆ ปีแล้วปีเล่า จนหลงลืมเวลาว่าโลกผ่านไปแล้วเกือบ 10 ปี
มิอาจตอบได้ว่าหนังสืออะไรที่ผมอ่าน หากจะประเมินคร่าวๆในขณะนั้นผมเรียกหนังสือเหล่านั้นว่าหนังสือฝ่ายซ้าย ซึ่งการกระจัดกระจายหลายหลากของมันและการค้นคว้าเพียงลำพังของผม ย่อมมีความสะเปะสะปะเจือปนอยู่ไม่น้อยเลย ขณะนั้นผมรู้สึกหงุดหงิด เมื่อหยิบเล่มที่คิดว่าน่าจะซ้ายมากกว่าที่เคยอ่าน แล้วปรากฏว่ามันไม่ใช่ หาดใหญ่มีร้านหนังสือใหญ่ๆขณะนั้นเพียงไม่กี่ร้าน ผมเดินเข้าออกหยิบพลิกเปิดดู คำนำเป็นสิ่งแรกที่ผมกระหายรู้ว่าเนื้อในคืออะไร ละเลียดเล็มอ่านอย่างดื่มด่ำจนรู้สึกว่าสายตาเจ้าของร้านจับจ้อง นั่นแหละที่ผมจะควักเงินออกมาจ่ายเพื่อครอบครอง
ชีวิตในขวบปีแห่งการอ่านวรรณกรรม ผมไม่รู้จักใครเลยไม่ว่านักเขียนหรือเพื่อนนักอ่าน พบเจอคนบางคนเข้าออกร้านหนังสือบ่อยๆจนคุ้นตา แต่ก็ไม่ได้พยายามที่จะทำความรู้จักพูดคุย ผมเกรงว่ารสนิยมการอ่านของเราจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง และพูดคุยด้วยลำบาก ผมค่อนข้างไว้ตัวเมื่อพูดถึงหนังสือที่ชอบสักเล่ม “ปีศาจ” ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” “ท๊อปบูธทมิฬ” ของ “แจ๊ก ลอนดอน” “แม่” ของ “แมกซิม กอร์กี้” “ผลพวงแห่งความคับแค้น” ของ “ จอห์น สไตน์เบก” โอ้ ไหนจะ “นายผี” “จิตร ภูมิศักดิ์” อีกล่ะ “รมย์ รติวัน” “อิศรา อมันตกุล” เรื่อยไปจนถึง “The communist manifesto” “ว่าด้วยทุน” แล้วผมก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังเลื่อนไหลไปสู่ความคิดเช่นนั้น และเกิดความไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ผมจะคุยเรื่องหนังสือกับคนอื่น เราจะพูดคุยไปในทิศทางเดียวกัน
ครั้นเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 อุบัติขึ้น ดวงตาผมลุกโชนด้วยเพลิงแค้น ความเกลียดชังหลั่งไหลทะลักท่วมท้นหัวใจ ผมออกไปร่วมชุมนุมที่สถานีรถไฟ ตะโกนก่นด่าเผด็จการทหารที่บังอาจใช้อาวุธเข่นฆ่าประชาชนของผม สิ่งที่ผมทำได้ก็คือเขียนมันออกมา เขียนออกมาด้วยหัวใจรุ่มร้อนโกรธแค้น คำใดที่สาปแช่งกี่คำผมขุดขึ้นมาใช้ในเนื้องาน และตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ถาวรกับเผด็จการทุกรูปแบบ ปี 2536 บทกวีผมหลั่งไหลสู่สายตาสาธารณชนต่อเนื่อง ผ่านทางนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์ต่างๆ ผมอ่านวรรณกรรมหนักยิ่งขึ้น และจมตัวเองลงในหนังสือนาๆเล่มอย่างกระหายหิว
ความรู้สึกเมื่อเห็นงานและชื่อปรากฏในนิตยสารนั้น ยากที่จะบรรยายให้เป็นรูปธรรมได้ ผมซื้อและนั่งอ่านงานของตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า พยายามค้นหาข้อบกพร่องของมัน ซึ่งมักจะพบว่ามีเยอะเหลือเกิน เรี่ยวแรงกวีหนุ่มคนหนึ่ง ถูกใช้ไปกับการคิดหาประเด็นเรื่อง ใช้ไปกับการเดินเรื่องอย่างละเมียดละไมที่สุดตามบริบทที่กำหนดไว้ ผมเคยใช้เวลาที่มีน้อยนิดในแต่ละวันเขียนขึ้นมา 3 ชิ้น สั้นบ้างยาวบ้างตามแต่เนื้อเรื่องและความรู้สึก เคยเขียนรวดเดียวจบในบทกวีมากกว่า 30 บทต่อ 1 ชิ้นงาน ผมมองทุกอย่างเป็นบทกวี เสียงทุกเสียงที่ได้ยินคือท่วงทำนองและจังหวะ ผมแก้งานแล้วแก้งานอีกอย่างไม่รู้เบื่อ จนผมกับบทกวีเป็นเนื้อเดียวกันแนบแน่น
ช่วงวัยหนุ่มของผมหายไปจากเพื่อนฝูง นานๆพบเจอกันแต่ละครั้ง ผมรู้สึกประดักประเดิก การพูดคุยในวงสนทนานั้นผมตามไม่ทันสักเรื่อง แล้วผมเลือกที่จะเร้นกายหายออกจากมิตร แอบตนตามลำพังอยู่กับหนังสือที่กองพะเนินเทินทึกท่วมหัว จนเมื่อชีวิตย่างเข้าวัยกลางคน
เราไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ในโลกใบนี้ พระเจ้าไม่ได้ประทานเขานอเขี้ยวเล็บมาให้เรา การรวมกลุ่มจึงเป็นกฎธรรมดาที่เราดำเนินไปตามวิถี เพื่อป้องกันตนเอง และเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเราแต่ละคน ผมเก็บหนังสือแล้วเดินไปหาเพื่อนฝูงอีกครั้ง เปิดตัวการกลับมาอีกครั้งให้พวกเขาเห็น ผมเดินสู่ถนนให้โลกรับรู้ สายตาที่มองโลกของผมไม่เป็นปฏิปักษ์กันอีกต่อไป ผมรับรู้ว่าสรรพสิ่งมีความขัดแย้ง ไม่ว่าจะมองด้วยคติพุทธหรือมาร์กซิสต์ ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาโลกที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
เมื่อรวมบทกวีเล่มแรกออกมา “ดอกฝัน: ฤดูฝนที่แสนธรรมดา” พิมพ์กับ แพรวสำนักพิมพ์ ปี 2541 นั้น คำว่านักเขียน, กวีที่เคยเหนียมอายเมื่อใครเรียก ก็กลับเป็นความปลาบปลื้มปีติใหญ่หลวงเกินจะอธิบายได้ ความเชื่อมั่นในเรี่ยวแรงยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยม ผมก้มหน้าก้มตาทำงานควบคู่ไปกับการมีชีวิตในโลกที่เป็นจริง หลายสิ่งที่เคยเชื่อมั่น หลายสิ่งที่เคยใฝ่ฝัน โลกที่เป็นจริงเบื้องหน้านี่แหละที่กระตุกเตือนให้พิจารณาใหม่อีกครั้ง โลกที่อยู่เบื้องหน้านี่แหละ
หลายคนที่ไม่รู้ตัวว่าตนมีศักยภาพเพียงพอต่อสิ่งหนึ่ง จนกว่าจะมีอะไรสักอย่างมากระทบกระตุ้นเตือนหรือบอกกล่าวให้ตนตื่นรู้ เมื่อนั้นความสามารถที่ถูกแฝงเร้นในวิญญาณก็จะฟูฟ่องขยายใหญ่ครอบคลุมเรา กำหนดวิธีคิดทิศทางการใช้ชีวิตของเราขึ้นมาในบัดดล คือการมีชีวิตขึ้นใหม่จากชีวิตที่มีอยู่ คือการทลายเปลือกดักแด้ออกทิ้งแล้วสยายปีกเป็นผีเสื้อ คลี่ปีกอวดลายสีแล้วโบกบิน เหนือยอดหญ้าลู่ลม กลางท้องทุ่งเขียวขจี หรือแม้อาจจะมีคนใจร้ายคนหนึ่ง มาเด็ดปีกผีเสื้อแสนสวยของเราทิ้งก็ตาม
ผมขึ้นต้นเรื่องด้วยการกระโจนลงทะเลหน้ามรสุม และดำผุดดำโผล่เพื่อตะเกียกตะกายกลับฝั่งเอาชีวิตรอด วัยในปัจจุบันนี้ผมพบว่าเรี่ยวแรงวัยหนุ่มเป็นพลังขับเคลื่อนที่เปี่ยมสมรรถภาพสูงสุด แต่วัยหนุ่มมักหลงลืม “สติ” ที่จะต้องคอยกำกับเอาไว้ตลอดเวลา ความเชื่อมั่นในเรี่ยวแรงวัยหนุ่มนี่เอง ที่บางครั้งก็ทำให้เรามุทะลุ ไม่มีความอดทนเพียงพอต่ออะไรก็ตามที่ไม่พึงพอใจ
มีเด็กหนุ่มจำนวนมหาศาลที่กำลังกระโจนลงทะเลหน้ามรสุม เราตะโกนเรียกพวกเขากลับฝั่งด้วยเสียงที่ดังที่สุด เราก่นด่าสาปแช่งเมื่อพวกเขาไม่ใส่ใจ และปล่อยเขาลอยคอเท้งเต้งตามยถากรรมในทะเลที่ลึกสุดหยั่งเท้า
วันนั้นผมกลับเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย มันเป็นชัยชนะสำคัญยิ่งของวัยหนุ่ม คือความภาคภูมิใจที่ได้ล้อเล่นกับโชคชะตา ผมโชคดีที่ได้รับการให้อภัยในความดื้อรั้น โชคดีที่ได้รับโอกาสในการเหยียบยืนบนฝั่งได้เต็มเท้า ผมเชื่อว่าทั้งริชชี แบล็กมอร์ และมาราโดนา ล้วนเคยกระโจนลงทะเลหน้ามรสุมมาก่อนแล้ว
เรามองเด็กหนุ่มเหล่านั้นอีกครั้งสิ พวกเขาแค่กำลังล้อเล่นกับโชคชะตาด้วยความเชื่อมั่นในเรี่ยวแรง เอาใจช่วยพวกเขาให้กลับฝั่งอย่างปลอดภัยสิ หรือเราหลงลืมวันที่เราเคยกระโจนลงทะเลเสียแล้ว?